พระประวัติในอดีตชาติของพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก ตอนที่ ๑๐ ปิณโฑลภารทวาชเถราปทาน


เมื่อพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดม ทรงประกาศธรรมวินัย ผู้นี้จักเกิดเป็นบุตรของพราหมณ์ ออกจากตระกูลพราหมณ์แล้วบวชในขณะนั้น เขามีจิตเด็ดเดี่ยวเพื่อบำเพ็ญเพียร เป็นผู้สงบระงับ ไม่มีอุปธิ กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน

พระประวัติในอดีตชาติของพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก

ตอนที่ ๑๐ ปิณโฑลภารทวาชเถราปทาน

พลตรี มารวย ส่งทานินทร์

๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๖

 

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑

๘. ปิณโฑลภารทวาชเถราปทาน

ประวัติในอดีตชาติของพระปิณโฑลภารทวาชเถระ

 

เกริ่นนำ

            เมื่อพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดมพระองค์นั้น ทรงประกาศธรรมวินัย ผู้นี้จักเกิดเป็นบุตรของพราหมณ์ ออกจากตระกูลพราหมณ์แล้วบวช เขามีจิตเด็ดเดี่ยวเพื่อบำเพ็ญเพียร เป็นผู้สงบระงับ ไม่มีอุปธิ กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน

 

            (พระปิณโฑลภารทวาชเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)

            [๖๑๓] ครั้งนั้น พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้เป็นพระสยัมภู ทรงเป็นบุคคลผู้เลิศ ประทับอยู่บนภูเขาจิตรกูฏ เบื้องหน้าภูเขาหิมพานต์

            [๖๑๔] ข้าพเจ้าได้เกิดเป็นพญาเนื้อ ไม่มีความกลัวเกรง สามารถวิ่งไปได้ทั้ง ๔ ทิศ อยู่ ณ ที่นั้น ซึ่งสัตว์จำนวนมากได้ฟังเสียงแล้วย่อมครั่นคร้าม

            [๖๑๕] ข้าพเจ้าได้คาบดอกปทุมที่บานดีแล้ว เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้องอาจกว่านรชน ได้บูชาพระพุทธเจ้าผู้เสด็จออกจากสมาธิ

            [๖๑๖] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้นมัสการพระพุทธเจ้า ผู้ประเสริฐที่สุด ผู้สูงสุดแห่งนรชน ในทิศทั้ง ๔ ทำจิตของตนให้เลื่อมใส ได้บันลือสีหนาท

            [๖๑๗] พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา ประทับนั่งบนอาสนะของพระองค์ ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า

            [๖๑๘] เทวดาทั้งปวง พอทราบพระดำรัสของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็มาประชุมกันด้วยคิดว่า พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลายเสด็จมาแล้ว พวกเราจักฟังธรรมของพระองค์

            [๖๑๙] พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระมหามุนี ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ทรงเห็นกาลไกล ทรงประกาศเสียงของข้าพเจ้าข้างหน้าของเทวดา และมนุษย์เหล่านั้นผู้มีความร่าเริงว่า

            [๖๒๐] เราจักพยากรณ์ผู้ที่ได้ถวายดอกปทุมนี้และได้บันลือสีหนาท ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด

            [๖๒๑] ในกัปที่ ๘ นับจากกัปนี้ไป ผู้นั้นจักเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ เป็นใหญ่ในทวีปทั้ง ๔

            [๖๒๒] จักครองความเป็นใหญ่ในแผ่นดินถึง ๖๔ ชาติ จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าปทุม ตามโคตร มีพลานุภาพมาก

            [๖๒๓] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป) พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก

            [๖๒๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดมพระองค์นั้น ทรงประกาศธรรมวินัย ผู้นี้จักเกิดเป็นบุตรของพราหมณ์ ออกจากตระกูลพราหมณ์แล้วบวชในขณะนั้น

            [๖๒๕] เขามีจิตเด็ดเดี่ยวเพื่อบำเพ็ญเพียร เป็นผู้สงบระงับ ไม่มีอุปธิ กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน

            [๖๒๖] ณ เสนาสนะที่สงัด เว้นจากผู้คน พลุกพล่านด้วยเนื้อร้าย เขากำหนดรู้อาสวะทั้งปวงเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน

            [๖๒๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล

            ได้ทราบว่า ท่านพระปิณโฑลภารทวาชเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วประการฉะนี้

ปิณโฑลภารทวาชเถราปทานที่ ๘ จบ

---------------------------------------------------

 

คำอธิบายเพิ่มเติมนี้นำมาจากบางส่วนของอรรถกถา ขุททกนิกายอปทาน ภาค ๑ 

เถราปทาน ๑. พุทธวรรค

               พรรณนาปิณโฑลภารทวาชเถราปทาน     

          

               แม้พระเถระนี้ก็ได้กระทำบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ก่อสร้างบุญทั้งหลายอันเป็นอุปนิสัยแก่วิวัฏฏะไว้ในภพนั้นๆ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ บังเกิดในกำเนิดราชสีห์อยู่ในถ้ำที่เชิงภูเขา. เพื่อจะทรงกระทำความอนุเคราะห์แก่ราชสีห์นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงเสด็จเข้าไปยังถ้ำเป็นที่อยู่ของราชสีห์นั้น ในเวลาที่ออกไปหาเหยื่อ ทรงนั่งเข้านิโรธสมาบัติอยู่.
               ราชสีห์จับเหยื่อแล้วกลับมายืนอยู่ที่ประตูถ้ำ เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วทั้งร่าเริงและยินดี จึงบูชาด้วยดอกไม้ที่เกิดในน้ำและบนบก ทำจิตให้เลื่อมใส. เพื่อต้องการจะอารักขาพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงบันลือสีหนาท ๓ เวลา เพื่อให้เนื้อร้ายอื่นๆ หนีไป ได้ยืนอยู่ด้วยสติอันไปแล้วในพระพุทธเจ้า. บูชาอยู่ตลอด ๗ วัน เหมือนในวันแรก.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำริว่า เมื่อล่วง ๗ วันแล้วควรออกจากนิโรธสมาบัติ ส่วนแห่งบุญมีประมาณเท่านี้จักเป็นอุปนิสัยแก่ราชสีห์นี้ ดังนี้ เมื่อราชสีห์นั้นเห็นอยู่นั่นแหละ จึงเหาะขึ้นไปสู่อากาศ เสด็จไปยังพระวิหารทีเดียว.
               ราชสีห์ไม่อาจอดกลั้นความทุกข์ เพราะพลัดพรากจากพระพุทธเจ้า จึงกระทำกาละแล้วบังเกิดในตระกูลมีโภคะมากในนครหังสวดี พอเจริญวัยแล้ว ได้ไปยังพระวิหารกับชาวเมือง ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้วเลื่อมใส ยังมหาทานให้เป็นไปแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานตลอด ๗ วัน ทำบุญทั้งหลายจนชั่วชีวิต ท่องเที่ยวไปๆ มาๆ อยู่ในเทวดาและและมนุษย์.
               ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย จึงบังเกิดเป็นบุตรของปุโรหิตแห่งพระเจ้าอุเทน.
               เขาได้มีชื่อว่า ภารทวาชะ. ภารทวาชะนั้นเจริญวัยแล้ว เรียนจบไตรเพทสอนมนต์แก่มาณพ ๕๐๐ คน เพราะความที่ตนเป็นผู้มีความประพฤติไม่เหมาะสม โดยความเป็นผู้กินจุ ถูกพวกมาณพเหล่านั้นละทิ้ง จึงไปยังนครราชคฤห์ ได้เห็นลาภสักการะของพระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสงฆ์ จึงบวชในพระศาสนา เป็นผู้ไม่รู้ประมาณในการบริโภคอยู่.
               พระศาสดาทรงให้ตั้งอยู่ในความเป็นผู้รู้จักประมาณด้วยอุบาย ท่านจึงเริ่มตั้งวิปัสสนา ไม่นานนัก ก็ได้อภิญญา ๖.
               ก็ครั้นเป็นผู้ได้อภิญญา ๖ แล้ว จึงบันลือสีหนาทว่า ผู้ใดมีความสงสัยในมรรคและผล ผู้นั้นจงถามเราดังนี้ ทั้งต่อพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าและในหมู่ภิกษุ ด้วยคิดว่า สิ่งใดที่สาวกทั้งหลายพึงบรรลุ สิ่งนั้นเราบรรลุแล้ว. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในเอตทัคคะว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปิณโฑลภารทวาชะนี้เป็นเลิศแห่งภิกษุสาวกทั้งหลายของเราผู้บันลือสีหนาท.
               พระเถระนั้นครั้นได้ตำแหน่งเอตทัคคะอย่างนี้แล้ว ระลึกถึงบุญสมภารที่ได้กระทำไว้ในชาติก่อน เมื่อจะทำให้แจ้งซึ่งอปทานแห่งบุญกรรมของตนด้วยความโสมนัส จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ปทุมุตฺตโร ดังนี้.
               

               จบพรรณนาปิณโฑลภารทวาชเถราปทาน               
               -----------------------------------------------------     

หมายเลขบันทึก: 712813เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2023 17:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2023 17:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท