เสียงจากคนค่าย : Staff เทา-งาม (นางสาวอารียา โอษฐสัตย์)


เป็นโอกาสอันดีที่จะได้เรียนรู้และฝึกฝนตัวเองในหลายๆ ด้าน เพราะการเป็นสต๊าฟจะได้ทำงานกับเจ้าหน้าที่ จะได้เจอกับปัญหาหน้างาน เจอกับความกดดัน เจอกับความเครียด และความรับผิดชอบ ยิ่งเป็นงานใหญ่ระหว่างมหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัย หนูยิ่งรู้สึกว่าอะไรๆ ก็ย่อมยิ่งใหญ่และท้าทายขึ้นเท่าตัว

พอรู้ข่าวว่ามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพโครงการ “เทา-งาม สัมพันธ์ ครั้งที่ 25” หนูใช้เวลาขบคิดในช่วงสั้นๆ ว่าจะสมัครเป็นผู้เข้าร่วมกิจกรรม หรือสมัครเป็นสต๊าฟทำงานดี จนในที่สุดก็ตัดสินใจแบบไม่ลังเลว่าจะสมัครเข้าเป็นสต๊าฟทำงานในฝ่ายเลขานุการ

 

 

โดยส่วนตัวหนูมองว่าการเป็นสต๊าฟน่าจะให้อะไรมากกว่าการเป็นผู้เข้าร่วมกิจกรรม (ลูกค่าย) หลายอย่าง เนื่องจากเป็นส่วนสำคัญที่ต้องขับเคลื่อนให้งานดำเนินไปได้ตามกำหนดการ 

อีกทั้งยังเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เรียนรู้และฝึกฝนตัวเองในหลายๆ ด้าน เพราะการเป็นสต๊าฟจะได้ทำงานกับเจ้าหน้าที่ จะได้เจอกับปัญหาหน้างาน เจอกับความกดดัน เจอกับความเครียด และความรับผิดชอบ ยิ่งเป็นงานใหญ่ระหว่างมหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัย หนูยิ่งรู้สึกว่าอะไรๆ ก็ย่อมยิ่งใหญ่และท้าทายขึ้นเท่าตัว

 

 

เช่นเดียวกับการมองว่า ถ้าหนูไม่สมัครเป็นสต๊าฟในปีนี้ต้องรออย่างน้อย 4-5 ปีถึงจะเวียนกลับมาเป็นเจ้าภาพอีกครั้ง ถึงเวลานั้นหนูก็คงเรียนจบไปแล้ว การสมัครเป็นสต๊าฟตอนนี้จึงเหมาะที่สุด 

ยิ่งได้อยู่ในฝ่ายเลขานุการแล้วยิ่งน่าจะได้พัฒนาตัวเองอย่างเต็มที่ เพราะฝ่ายนี้คือหัวใจหลักในการดำเนินงาน คือแกนหลักในการประสานงานและคือกลุ่มคนที่จะได้ทำงานใกล้ชิดกับพี่ๆ เจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้รับผิดชอบโครงการฯ นั่นคือมุมมองของหนู

 

 

ช่วงเวลาของการเตรียมพื้นที่โครงการเทา-งาม สัมพันธ์ ครั้งที่ 25 หนูขันอาสาเป็นหนึ่งในทีมงานที่จะลงพื้นที่ไปช่วยตระเตรียมสิ่งต่างๆ ทั้งเดินทาง “ไป-กลับ” และการไปพักค้างในโรงเรียน 

งานที่ต้องทำร่วมกับพี่เจ้าหน้าที่และนิสิตก็มีทั้งที่เป็นกิจกรรมทำความสะอาดและจัดเตรียมสถานที่พัก ปัดกวาดถนน โรงอาหาร หอประชุม ห้องน้ำ ตลอดจนบริเวณโดยรอบทั่วทั้งโรงเรียน นับว่าเป็นงานที่เหนื่อยและไม่จบไม่สิ้นเอาซะเลย แต่ก็ยอมรับว่ามันเป็นงานที่สนุกมากๆ เพราะได้ทำงานร่วมกับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ จากหลายคณะหลายชมรม 

ที่สำคัญคือได้ไปเจอคุณครูและเด็กๆ ที่ต่างก็กระตือรือร้นช่วยกันอย่างไม่ย่อท้อ เช่นเดียวกับอีกวันที่ต้องไปเตรียมสถานที่ปลูกต้นไม้ที่โรงเรียนบ้านโกทานั่นก็เป็นอีกห้วงเวลาที่สนุกมาก ทั้งครูและนักเรียนน่ารักมากๆ ทุกคนให้ความสนใจและให้ความร่วมมือกับกิจกรรมเป็นอย่างดียิ่ง

 

 

วันแรกของกิจกรรมที่จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยฯ หนูก็ได้ทำงานอย่างหลากหลาย มีตั้งแต่ต้อนรับ ลงทะเบียน พาทุกคนไปทำกิจกรรม ขึ้นมอบของที่ระลึกต่างๆ พอถึงช่วงต้องเดินทางไปทัศนศึกษาสถานที่สำคัญๆ ภายในจังหวัดมหาสารคาม หนูเดินทางไปพร้อมกับลูกค่ายทุกคน เพื่อนหลายคนได้เป็นไกด์คอยแนะนำสถานที่สำคัญๆ ในจังหวัดมหาสารคาม

 

 

ส่วนงานหลักๆ ในพื้นที่โรงเรียนดงบังฯ และโรงเรียนบ้านโกทา ก็จะเป็นการจัดเตรียมสถานที่ เก็บขยะ ตรวจตราความเรียบร้อยบริเวณรอบๆ โดยเฉพาะห้องน้ำ เนื่องจากโรงเรียนใช้ประปาหมู่บ้าน จึงค่อนข้างมีปัญหาในเรื่องน้ำพอสมควร หนูจึงรับหน้าที่คอยรับข้อมูลและการประสานงานจากพี่ๆ เจ้าหน้าที่กองกิจการนิสิต รวมถึงคอยประสานงานกับเพื่อนฝ่ายต่างๆ ในการทำกิจกรรม 

ตลอดจนให้ความช่วยเหลือและดูแลความเรียบร้อยอื่นๆ เรียกได้ว่าทำเกือบทุกอย่าง เบ็ดเตล็ดแบบสุดๆ เลยทีเดียว

 

 

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า การทำงานครั้งนี้ เป็นงานใหญ่ เพราะเป็นงานเครือข่ายร่วมกับอีก 5 สถาบัน ความรับผิดชอบจึงมีมากกว่างานในระดับชมรม หรืองานภายในมหาวิทยาลัยที่เคยทำมา  รวมถึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเจอกับปัญหา ความกดดัน ความเครียดที่ถาโถมเข้ามาท้าทายเป็นระยะๆ 

แต่สิ่งที่ได้รับก็เพิ่มขึ้นมากตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการได้เรียนรู้และฝึกทักษะความเป็นผู้นำ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า การตัดสินใจ การรับมือกับสถานการณ์ที่กดดัน การจัดการกับอารมณ์ของตนเอง การบริหารจัดการเวลา การปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมและเพื่อการทำงานร่วมกับผู้อื่น การมีความคิดในเชิงบวก สำคัญที่สุดเลยคือ ความมีจิตอาสา นั่นคือสิ่งที่หนูสัมผัสได้จากการเป็นสต๊าฟในครั้งนี้ 

 

 

และสิ่งหนึ่งที่หนูอดที่จะเล่าไม่ได้ก็คือ เนื่องจากการเป็นสต๊าฟทำให้ลูกค่ายมองว่าเราคือฝ่ายที่จะต้องดำเนินงาน ประสานงาน ให้ความช่วยเหลือชาวค่ายในทุกๆ กรณี ใครมีปัญหาอะไรก็จะนำมาบอกเล่ามาไหว้วานให้หนูและทีมงานช่วยจัดการแทบทุกเรื่อง 

พอเจอบ่อยเข้าก็กลายเป็นความกดดันในตัวเอง งานก็หนักอยู่แล้ว ยิ่งมาเจอแบบนี้ก็ยอมรับว่าหลายครั้งก็เครียดและกดดัน แต่ก็อย่างว่ามันเป็นหน้าที่และเป็นสิ่งที่หนูต้องเปิดใจเรียนรู้ เพราะหนูก็รู้แต่แรกแล้วว่าการเป็นสต๊าฟในฝ่ายเลขานุการมันหนักหนาสาหัสอยู่แล้ว 

เสียดายก็แต่ก่อนงานจะเริ่มขึ้น เรามีกระบวนการเตรียมความพร้อมให้กับสต๊าฟน้อยจนเกินไป โดยเฉพาะในเรื่องการมอบหมายงานในแต่ละสายงานและการละลายพฤติกรรมของสต๊าฟนั้นมีน้อยมาก ทำให้รู้จักกันไม่ลึกซึ้งพอ

 

 

ตลอดระยะเวลาของการทำงานในค่ายเทา-งามฯ หนูพยายามเตือนตัวเองเป็นระยะๆ ว่า ปัญหาทุกปัญหาล้วนมีทางออกเสมอ ต่อเมื่อเราผ่านมันไปได้ เราจะเป็นคนที่เก่งขึ้น ปัญหาไม่ใช่แค่มีไว้ให้เราปวดหัวกับมัน แต่ปัญหาได้ทิ้งอะไรหลายอย่างให้เราเรียนรู้และแก้ไขกับมัน

การเป็นสต๊าฟเทา-งาม แม้จะหนักหน่วง แต่คุ้มค่าที่ได้เรียนรู้ เพราะทำให้หนูได้เจอเพื่อนใหม่ สังคมใหม่ บรรยากาศใหม่ๆ ที่ต่างก็ส่งผลให้หนูได้พัฒนาตัวเองในหลายๆ เรื่อง การมีส่วนร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ ถือเป็นประสบการณ์และความทรงจำที่ดี 

อีกทั้งยังได้เพื่อนใหม่ที่ปัจจุบันยังคงติดต่อพูดคุยกันเสมอ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่เหนือจากความคาดหวังมาก และหนูกล้าพูดได้ว่าพวกเราทุกคนภูมิใจที่ได้ผ่านการเป็น “สต๊าฟเทา-งาม”

 

 

และครั้งหน้า หนูก็ไม่ลังเลที่จะสมัครไปค่ายเทา-งาม เพียงแต่ไม่ใช่การสมัครเป็นสต๊าฟเหมือนครั้งนี้ แต่หมายถึงจะสมัครเป็นผู้เข้าร่วมกิจกรรม หรือที่เรียก “ลูกค่าย” ในสายงานด้านกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์

------------------------------------

หมายเหตุ

ต้นเรื่อง : นางสาวอารียา โอษฐสัตย์
นิสิตชั้นปีที่ 2 วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
เลขานุการกลุ่มนิสิตพลังสังคม

เรียบเรียง : พนัส ปรีวาสนา

 

 

หมายเลขบันทึก: 712723เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2023 15:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2023 15:26 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท