เสียงจากชาวค่าย : มือใหม่ออกค่าย (นางสาวฐนิชา กีธันวา)


ตอนแรกๆ ดิฉันคิดว่าการทำลาน BBL คงจะทำง่ายๆ แต่เอาเข้าจริงกลับไม่ได้ง่ายเหมือนที่คิด เป็นงานที่ค่อนข้างยาก เป็นงานที่ต้องละเอียดเอามากๆ เริ่มตั้งแต่การลงพื้นที่ไปดูว่าสามารถวาดได้กี่รูป ดูความยาว ความกว้างของพื้นที่ หลังจากนั้นก็ศึกษารูปแบบที่เหมาะสม ศึกษาลักษณะของสีที่เหมาะสม ออกแบบเสร็จก็ส่งให้ครูได้ช่วยพิจารณาติชมเสนอแนะ จากนั้นก็เตรียมสี เตรียมแปรงทาสีให้เพียงพอกับจำนวนสมาชิก

เมื่อปีที่ผ่านมา ดิฉันได้เข้าไปร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้ของกลุ่มนิสิตชาวดิน (พรรคชาวดิน) ภายใต้ชื่อโครงการ “ปลูกป่า ปลูกต้นไม้ สร้างใจชุมชน” ในวันที่ 9 กันยายน 2565 ณ โรงเรียนป่างิ้ววิจิตรวิทยา และวัดโนนทองฉายยาราม ตำบลโนนน้ำเกลี้ยง อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ นอกจากการปลูกต้นไม้แล้วยังพาน้องนักเรียนทำกิจกรรมอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง เช่น เล่นกีฬา การละเล่นพื้นบ้าน 

 

 

กิจกรรมครั้งนี้ นอกจากกิจกรรมที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว ดิฉันได้เรียนรู้เรื่องราวอันเป็นความรู้ใหม่ของพื้นที่ เป็นต้นว่า อำเภอสหัสขันธ์เป็นพื้นที่ตั้งของสถานที่สำคัญๆ หลายแห่งเช่น พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ สะพานเทพสุดาฯ เขื่อนลำปาว วัดวาอารามขึ้นชื่อหลายวัด เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ที่ครบครันชวนศึกษาทั้งที่เป็นภูเขา แม่น้ำ ต้นไม้ ศาสนา ประวัติศาสตร์ โบราณคดี สมกับที่เรียกกันว่า “กาฬสินธุ์ เมืองดินดำ น้ำชุ่ม” 

และยังเป็นพื้นที่ที่เชื่อมโยงไปยังอำเภอคำม่วง ที่มีชื่อเสียงเรื่องผ้าแพรวาและชาติพันธุ์ผู้ไท หรือ “ภูไท”

 

 

ถัดจากกิจกรรมปลูกต้นไม้ ดิฉันมีโอกาสได้เข้ามาร่วมทำกิจกรรมอย่างมีตัวตนมากขึ้น เป็นการทำงานในนามศูนย์ประสานงานเครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม 

งานแรกที่ลงมือทำร่วมกับเพื่อนๆ พี่ๆ อย่างจริงจังก็คือการช่วยเหลือชาวบ้านและชุมชนที่ประสบอุทกภัย (น้ำท่วม) ช่วงแรกเน้นไปที่ชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัยเป็นหลัก 

กิจกรรมที่ทำมีทั้งช่วยขนข้าวของหนีน้ำ สร้างสะพาน กรอกกระสอบทรายกั้นน้ำ บรรจุถุงยังชีพ มอบถุงยังชีพ มอบยาเวชภัณฑ์ ออกไปพบปะพูดคุยให้กำลังใจชาวบ้าน หรือแม้แต่การกรอกกระสอบทรายกั้นน้ำบริเวณหอประชุมฯ ของมหาวิทยาลัย (ที่ตั้งในเมือง)

 

 

ช่วงที่ทำกิจกรรมช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม  ดิฉันเริ่มได้เรียนรู้ระบบการทำงานมากขึ้นกว่าแต่ก่อน โดยเฉพาะการเรียนรู้ที่จะทำงานบนฐานข้อมูลอันเป็นจริง การทำงานบนฐานบริบทของพื้นที่ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะงานช่วยน้ำท่วม เป็นงานที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบ หรือกำหนดการอยู่ตลอดเวลา เรียกว่า เป็นกระบวนการทำงานภายใต้แนวคิดการยึดเอาชุมชน หรือสถานการณ์เป็นตัวตั้งก็ไม่ผิด 

บางวันกว่าจะได้ทำจริงก็รอหลายชั่วโมง จำกัดด้วยวัสดุอุปกรณ์ เพราะขนส่งเข้ามาไม่ได้ เนื่องจากถนนถูกน้ำท่วมขัง-ตัดขาด บางทีจำต้องรอผู้นำชุมชนมาร่วมทำ-ร่วมสั่งการ บางครั้งก็มีงานด่วนแทรกเข้ามาแบบไม่ได้ตั้งตัว จนต้องรีบแบ่งคนออกไปช่วยชาวบ้าน ตรงนี้ช่วยให้ดิฉันได้เห็นความจริงของการทำงานในภาวะภัยพิบัติที่ค่อยข้างชัดเจน 

 

 

พอน้ำเริ่มลดลงก็เข้าสู่ช่วงการจัดกิจกรรมเยียวยาฟื้นฟู คราวนี้ดิฉันร่วมกับเพื่อนๆ อีก 5 คน ได้ร่วมกันทำโครงการของศูนย์ประสานงานเครือข่ายจิตอาสาเพื่อสังคมในชื่อโครงการ “ค่ายเครือข่ายจิตอาสาเพื่อสังคม” เมื่อวันที่3-4 มีนาคม 2566 ณ โรงเรียนบ้านวังแคน ตำบลสวนหม่อน อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วมต่อเนื่องมาสองปี 

 

ค่ายๆ นี้ดิฉันได้ลงสำรวจพื้นที่ด้วยตนเอง ได้ร่วมคิดร่วมตัดสินใจกับเพื่อนนิสิต ตลอดจนคณะครู ชาวบ้านและอาจารย์ที่ปรึกษาว่าจะทำกิจกรรมอะไรบ้าง  หรือที่เรียกเป็นวิชาการว่า “พัฒนาโจทย์บนความต้องการของชุมชน” กิจกรรมที่สรุปว่าจะจัดขึ้นก็มีหลากหลาย เช่น 

  • สร้างลาน BBL 
  • ซ่อมสนามเด็กเล่น 
  • ทาสีโต๊ะในโรงอาหาร ตกแต่งห้องสมุด 
  • มอบอุปกรณ์การเรียนรู้ 
  • ฐานการเรียนรู้ เพื่อสร้างทักษะการเรียนรู้แก่นักเรียน
  • ฯลฯ

 

 

ค่ายๆ นี้ ดิฉันได้รับมอบหมายให้เป็นหนึ่งในแกนนำ พวกเรามีแกนนำเพียง 5-6 คน ทุกคนต่างล้วนเป็น “มือใหม่” ด้วยกันทั้งนั้น พวกเราพยายามทำงานโดยการ “สร้างทีม” ด้วยการหา “คู่หู” มาร่วมรับผิดชอบ 1-2 คน โดยหวังว่าถ้าทำได้ก็จะมีแกนนำค่ายในราว 10-12 คน ซึ่งครั้งนี้ ดิฉันได้รับผิดชอบหลักในกิจกรรมสร้างลาน BBL ที่โรงเรียนยังไม่เคยมีลาน BBL มาก่อนเลย

 

 

ตอนแรกๆ ดิฉันคิดว่าการทำลาน BBL คงจะทำง่ายๆ แต่เอาเข้าจริงกลับไม่ได้ง่ายเหมือนที่คิด เป็นงานที่ค่อนข้างยาก เป็นงานที่ต้องละเอียดเอามากๆ เริ่มตั้งแต่การลงพื้นที่ไปดูว่าสามารถวาดได้กี่รูป ดูความยาว ความกว้างของพื้นที่ หลังจากนั้นก็ศึกษารูปแบบที่เหมาะสม ศึกษาลักษณะของสีที่เหมาะสม ออกแบบเสร็จก็ส่งให้ครูได้ช่วยพิจารณาติชมเสนอแนะ จากนั้นก็เตรียมสี เตรียมแปรงทาสีให้เพียงพอกับจำนวนสมาชิก 

และก่อนวันที่จะไปค่ายก็มีการพูดคุยกับสมาชิก มีการแบ่งงานแบ่งหน้าที่และทำความเข้าใจร่วมกันในเรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

 

พอถึงวันทำงานจริงก็เรียนรู้ที่จะแบ่งงานให้สมาชิกค่ายอย่างเป็นรูปธรรมอีกครั้ง มีการจัดสรรพื้นที่รองรับการสร้างลาน BBL เรียนรู้ที่จะผสมสี เรียนรู้ที่จะร่างภาพ-ระบายสี ทุกๆ อย่างล้วนเป็นประสบการณ์ใหม่ล้วนๆ 

พอเริ่มลงมือทำจริง ปรากฏว่าดินสอและสีชอล์กที่เตรียมมากลับใช้ร่างภาพไม่ได้ เดือดร้อนต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเร่งด่วนด้วยการนำ “ถ่านไม้” ก้อนเล็กๆ ที่หาได้ในโรงเรียนมาร่างภาพที่จะระบายสี 

พอทำงานได้สักพักก็มาเจอกับอากาศที่ร้อนแสนร้อน เกรงว่าจะทำให้สมาชิกไม่สบาย จึงตัดสินใจปรับเปลี่ยนกำหนดการและรูปแบบการทำงานทันที จากเดิมจะให้แล้วเสร็จภายในวันเดียวก็ผ่อนปรนขยายเวลาเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งวัน สิ่งเหล่านี้สอนให้ดิฉันและสมาชิกค่ายได้เรียนรู้เรื่องหลักการทำงานเป็นทีมและการทำงานที่ต้องยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์

 

 

แต่ทั้งปวงนั้นก็ผ่านมาด้วยดี แม้ดิฉันและเพื่อนๆ จะเป็นมือใหม่ แต่ก็ช่วยกันทำงานให้บรรลุตามเป้าหมายได้ แม้จะไม่สมบูรณ์แบบก็ถือว่าไม่ขี้เหร่สักเท่าไหร่ ความสำเร็จก็มาจากหลายประเด็น ทั้งความมุ่งมั่นตั้งใจ ความสามัคคี ความเป็นทึม ความกล้าที่จะเผชิญกับปัญหา การมีส่วนร่วมของครู นักเรียน ชาวบ้าน 

หรือแม้กระทั่งการนำความรู้จากเวทีปฐมนิเทศมาปรับใช้ เช่น การวางแผนงาน การแบ่งงานอย่างเป็นสัดเป็นส่วนให้เหมาะกับแต่ละคน การแลกเปลี่ยนความคิดร่วมกัน     

 

 

ท้ายที่สุดนี้ ดิฉันอยากจะบอกว่า การได้ทำงานโดยการลงมือทำจริงด้วยตนเองและการลงมือทำเป็นหมู่คณะนั้น ช่วยทำให้การงานราบรื่นและเป็นระบบอย่างที่วางไว้ 

และนั่นคืออีกหนึ่งความภาคภูมิใจที่ดิฉันค้นพบจากค่ายๆ นี้

 

------------------------------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ

ต้นเรื่อง : นางสาวฐนิชา กีธันวา 
นิสิตชั้นปีที่ 2 วิทยาลัยการเมืองการปกครอง ชั้นปีที่ 2 
คณะกรรมการบริหารศูนย์ประสานงานเครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม

เรียบเรียง : พนัส  ปรีวาสนา

 

 

หมายเลขบันทึก: 712722เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2023 14:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2023 14:31 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท