อานาปานัสสติสูตร
พลตรี มารวย ส่งทานินทร์
๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๖
เกริ่นนำ
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ในภิกษุสงฆ์นี้ มีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรในการเจริญอานาปานสติอยู่ อานาปานสติที่ภิกษุเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก อานาปานสติที่ภิกษุเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ สติปัฏฐาน ๔ ที่ภิกษุเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ โพชฌงค์ ๗ ที่ภิกษุเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์
อานาปานัสสติสูตร
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ [ฉบับมหาจุฬาฯ]
มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
๘. อานาปานัสสติสูตร
ว่าด้วยวิธีเจริญอานาปานสติ
[๑๔๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปราสาทของมิคารมาตา ในบุพพาราม เขตกรุงสาวัตถี พร้อมด้วยพระสาวกผู้เป็นเถระ มีชื่อเสียงหลายรูปด้วยกัน คือ ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระมหากัสสปะ ท่านพระมหากัจจายนะ ท่านพระมหาโกฏฐิตะ ท่านพระมหากัปปินะ ท่านพระมหาจุนทะ ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระเรวตะ ท่านพระอานนท์ และพระสาวกผู้เป็นเถระที่มีชื่อเสียงรูปอื่นๆ
ก็สมัยนั้น พระเถระทั้งหลายสั่งสอน พร่ำสอน (สั่งสอน พร่ำสอน หมายความว่า สงเคราะห์ด้วยอามิสและธรรมแล้วจึงสั่งสอน พร่ำสอนเกี่ยวกับกัมมัฏฐานต่อไป) ภิกษุใหม่ทั้งหลาย คือ ภิกษุผู้เป็นเถระบางพวกสั่งสอน พร่ำสอนภิกษุ ๑๐ รูปบ้าง บางพวกสั่งสอน พร่ำสอนภิกษุ ๒๐ รูปบ้าง บางพวกสั่งสอน พร่ำสอนภิกษุ ๓๐ รูปบ้าง บางพวกสั่งสอน พร่ำสอนภิกษุ ๔๐ รูปบ้าง ฝ่ายภิกษุใหม่เหล่านั้น ผู้อันภิกษุผู้เป็นเถระสั่งสอน พร่ำสอนอยู่ ย่อมรู้ชัดธรรมวิเศษอย่างกว้างขวางกว่าที่ตนรู้มาก่อน
[๑๔๕] ก็สมัยนั้น ในวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ คืนดวงจันทร์เต็มดวง ในวันปวารณา พระผู้มีพระภาคทรงมีภิกษุสงฆ์แวดล้อม ประทับนั่ง ณ ที่กลางแจ้ง ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูภิกษุสงฆ์ ซึ่งนิ่งเงียบอยู่ จึงได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เรายินดีปฏิปทานี้ เรามีใจยินดีปฏิปทานี้ เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายในธรรมวินัยนี้จงปรารภความเพียร (ปรารภความเพียร ในที่นี้หมายถึงมีความเพียรที่บริบูรณ์ และมีความเพียรที่ประคับประคองไว้สม่ำเสมอไม่หย่อนนัก ไม่ตึงนัก ไม่ให้จิตปรุงแต่งภายใน ไม่ให้ฟุ้งซ่านภายนอก คำว่า ความเพียร ในที่นี้หมายถึงความเพียรทางกาย เช่น ความเพียรพยายามทางกายตลอดคืนและวัน ดุจในประโยคว่า “ภิกษุในธรรมวินัยนี้ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุความดีด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่งตลอดวัน” และ ความเพียรทางจิต เช่นความเพียรพยายามผูกจิตไว้ด้วยการกำหนดสถานที่เป็นต้น ดุจในประโยคว่า “เราจะไม่ออกจากถ้ำนี้จนกว่าจิตของเราจะหลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน”) เพื่อถึงธรรมที่ตนยังไม่ถึง (ธรรมที่ตนยังไม่ถึง ในที่นี้หมายถึงอรหัตตผล) เพื่อบรรลุธรรมที่ตนยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ตนยังไม่ทำให้แจ้งให้ยิ่งๆ ขึ้นไปเถิด เราจักรออยู่ในกรุงสาวัตถีนี้แหละ จนถึงวันครบ ๔ เดือนแห่งฤดูฝน อันเป็นเดือนที่มีดอกโกมุท”
ภิกษุชาวชนบทได้ฟังข่าวว่า “ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคจักทรงรออยู่ในกรุงสาวัตถีนั้น จนถึงวันครบ ๔ เดือนแห่งฤดูฝน อันเป็นเดือนที่มีดอกโกมุท” จึงพากันหลั่งไหลมายังกรุงสาวัตถี เพื่อเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ฝ่ายภิกษุผู้เป็นเถระเหล่านั้นก็พากันสั่งสอน พร่ำสอนภิกษุใหม่เพิ่มประมาณมากขึ้น คือ ภิกษุผู้เป็นเถระบางพวกสั่งสอน พร่ำสอนภิกษุ ๑๐ รูปบ้าง บางพวกสั่งสอน พร่ำสอนภิกษุ ๒๐ รูปบ้าง บางพวกสั่งสอน พร่ำสอนภิกษุ ๓๐ รูปบ้าง บางพวกสั่งสอน พร่ำสอนภิกษุ ๔๐ รูปบ้าง และภิกษุใหม่เหล่านั้นผู้อันภิกษุผู้เป็นเถระสั่งสอน พร่ำสอนอยู่ ย่อมรู้ชัดธรรมวิเศษอย่างกว้างขวางกว่าที่ตนรู้มาก่อน
[๑๔๖] ก็สมัยนั้น ในวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ คืนดวงจันทร์เต็มดวง อันเป็นวันครบ ๔ เดือนแห่งฤดูฝน เป็นเดือนที่มีดอกโกมุท พระผู้มีพระภาคทรงมีภิกษุสงฆ์แวดล้อม ประทับนั่ง ณ ที่กลางแจ้ง ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูภิกษุสงฆ์ ซึ่งนิ่งเงียบอยู่ จึงได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย บริษัทนี้ไม่สนทนากัน บริษัทนี้เงียบเสียงสนทนากัน ดำรงอยู่ในสารธรรมอันบริสุทธิ์ ภิกษุสงฆ์บริษัทนี้เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัทที่ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณาทาน ควรแก่การทำอัญชลี เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก ภิกษุสงฆ์นี้เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัทที่เขาถวายของน้อยแต่มีผลมาก และถวายของมากก็ยิ่งมีผลมากขึ้น ภิกษุสงฆ์นี้เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัทที่ชาวโลกยากจะได้พบเห็น ภิกษุสงฆ์นี้เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัทที่แม้คนผู้เอาเสบียงคล้องบ่าควรเดินทางไปเป็นโยชน์ๆ เพื่อพบเห็น
[๑๔๗] ภิกษุทั้งหลาย ในภิกษุสงฆ์นี้ มีภิกษุผู้เป็นอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ในภิกษุสงฆ์นี้ก็มีภิกษุแม้เช่นนั้นอยู่
ในภิกษุสงฆ์นี้ มีภิกษุผู้เป็นอนาคามี เพราะสิ้นโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ (โอรัมภาคิยสังโยชน์ หมายถึงสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ คือ (๑) สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตัวของตน (๒) วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย (๓) สีลัพพตปรามาส ความถือมั่นศีลพรต (๔) กามราคะ ความพอใจในกามคุณ (๕) พยาบาทหรือปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งในใจ อันเป็นเหตุให้เกิดในกามภพ) จะเกิดเป็นโอปปาติกะ จะปรินิพพานในโลกนั้นๆ ไม่กลับมาจากโลกนั้นอีกเป็นธรรมดา ในภิกษุสงฆ์นี้ก็มีภิกษุแม้เช่นนั้นอยู่
ในภิกษุสงฆ์นี้ มีภิกษุผู้เป็นสกทาคามี เพราะสิ้นสังโยชน์ (สังโยชน์ หมายถึงกิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์ ธรรมที่มัดใจสัตว์ไว้กับทุกข์ มี ๑๐ คือ (๑) สักกายทิฏฐิ (๒) วิจิกิจฉา (๓) สีลัพพตปรามาส (๔) กามฉันทะหรือกามราคะ (๕) พยาบาทหรือปฏิฆะ (๖) รูปราคะ (๗) อรูปราคะ (๘) มานะ (๙) อุทธัจจะ (๑๐) อวิชชา ๕ ข้อต้นชื่อโอรัมภาคิยสังโยชน์ ส่วน ๕ ข้อหลังชื่ออุทธัมภาคิยสังโยชน์ พระโสดาบันละสังโยชน์ ๓ ข้อต้นได้ พระสกทาคามีทำสังโยชน์ข้อ ๔ และข้อ ๕ ให้เบาบาง พระอนาคามีละสังโยชน์ ๕ ข้อข้างต้นได้ พระอรหันต์ละสังโยชน์ได้หมด) ๓ และเพราะทำราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบาง จะกลับมายังโลกนี้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น แล้วทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ในภิกษุสงฆ์นี้ก็มีภิกษุแม้เช่นนั้นอยู่
ในภิกษุสงฆ์นี้ มีภิกษุผู้เป็นโสดาบัน (โสดาบัน หมายถึงผู้ประกอบด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ เพราะคำว่า โสตะ เป็นชื่อของอริยมรรคมีองค์ ๘) เพราะสิ้นสังโยชน์ ๓ ไม่มีทางตกต่ำ (ไม่มีทางตกต่ำ หมายถึงไม่ตกไปในอบาย ๔ คือ นรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เปรต อสูร) มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิ (สัมโพธิ ในที่นี้หมายถึงมรรค ๓ เบื้องสูง (คือ สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค)) ในวันข้างหน้า ในภิกษุสงฆ์นี้ก็มีภิกษุแม้เช่นนั้นอยู่
ในภิกษุสงฆ์นี้ มีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรในการเจริญสติปัฏฐาน ๔ อยู่ ในภิกษุสงฆ์นี้ก็มีภิกษุแม้เช่นนั้นอยู่
ในภิกษุสงฆ์นี้ มีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรในการเจริญสัมมัปปธาน ๔ อยู่ ในภิกษุสงฆ์นี้ก็มีภิกษุแม้เช่นนั้นอยู่
ในภิกษุสงฆ์นี้ มีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรในการเจริญอิทธิบาท ๔ อยู่ ในภิกษุสงฆ์นี้ก็มีภิกษุเช่นนั้นอยู่
ในภิกษุสงฆ์นี้ มีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรในการเจริญอินทรีย์ ๕ อยู่ ... เจริญพละ ๕ อยู่ ... เจริญโพชฌงค์ ๗ อยู่ ... มีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรในการเจริญมรรคมีองค์ ๘ อยู่ ในภิกษุสงฆ์นี้ก็มีภิกษุแม้เช่นนั้นอยู่
ในภิกษุสงฆ์นี้ มีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรในการเจริญเมตตาอยู่ ในภิกษุสงฆ์นี้ก็มีภิกษุแม้เช่นนั้นอยู่ ... มีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรในการเจริญกรุณาอยู่ ... มีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรในการเจริญมุทิตาอยู่ ... มีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรในการเจริญอุเบกขาอยู่ ... มีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรในการเจริญอสุภสัญญาอยู่ ... มีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรในการเจริญอนิจจสัญญาอยู่ ในภิกษุสงฆ์นี้ก็มีภิกษุแม้เช่นนั้นอยู่
ภิกษุทั้งหลาย ในภิกษุสงฆ์นี้ มีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรในการเจริญอานาปานสติอยู่ อานาปานสติที่ภิกษุเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก อานาปานสติที่ภิกษุเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ สติปัฏฐาน ๔ ที่ภิกษุเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ โพชฌงค์ ๗ ที่ภิกษุเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์
[๑๔๘] อานาปานสติที่ภิกษุเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่าง (เรือนว่าง หมายถึงเสนาสนะ ๗ อย่าง เว้นป่าและโคนไม้ ได้แก่ (๑) ภูเขา (๒) ซอกเขา (๓) ถ้ำในภูเขา (๔) ป่าช้า (๕) ป่าละเมาะ (๖) ที่โล่งแจ้ง (๘) ลอมฟาง) ก็ดี นั่งขัดสมาธิ (นั่งขัดสมาธิ หมายถึงนั่งพับขาเข้าหากันทั้ง ๒ ข้าง เรียกว่า นั่งขัดสมาธิ) ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า (ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า หมายถึงตั้งสติกำหนดอารมณ์กัมมัฏฐาน) มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก (อัสสาสะ หมายถึงหายใจเข้า ปัสสาสะ หมายถึงหายใจออก)
อานาปานสติ ๑๖ ขั้น
๑. เมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้ายาว’
เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกยาว’
๒. เมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้าสั้น’
เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกสั้น’
๓. สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก’
๔. สำเหนียกว่า ‘เราระงับกายสังขาร หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราระงับกายสังขาร หายใจออก’
๕. สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้ปีติ หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้ปีติ หายใจออก’
๖. สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้สุข หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้สุข หายใจออก’
๗. สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้จิตตสังขาร หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้จิตตสังขาร หายใจออก’
๘. สำเหนียกว่า ‘เราระงับจิตตสังขาร หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราระงับจิตตสังขาร หายใจออก’
๙. สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้จิต หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้จิต หายใจออก’
๑๐. สำเหนียกว่า ‘เราทำจิตให้บันเทิง หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราทำจิตให้บันเทิง หายใจออก’
๑๑. สำเหนียกว่า ‘เราตั้งจิตมั่น หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราตั้งจิตมั่น หายใจออก’
๑๒. สำเหนียกว่า ‘เราเปลื้องจิต หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราเปลื้องจิต หายใจออก’
๑๓. สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง หายใจออก’
๑๔. สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นความคลายออกได้ หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นความคลายออกได้ หายใจออก’
๑๕. สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นความดับไป หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นความดับไป หายใจออก’
๑๖. สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นความสละคืน หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นความสละคืน หายใจออก’
ภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติที่ภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
[๑๔๙] อานาปานสติที่ภิกษุเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงทำให้สติปัฏฐาน ๔ บริบูรณ์ได้ คือ
๑. สมัยใด ภิกษุเมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้ายาว’
เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกยาว’
เมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้าสั้น’
เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกสั้น’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก’
สำเหนียกว่า ‘เราระงับกายสังขาร หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราระงับกายสังขาร หายใจออก’
สมัยนั้น ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ เรากล่าวลมหายใจเข้า ลมหายใจออกนี้ว่าเป็นกายชนิดหนึ่งในบรรดากายทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น สมัยนั้น ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกอยู่
๒. สมัยใดภิกษุสำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้ปีติ หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้ปีติ หายใจออก’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้สุข หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้สุข หายใจออก’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้จิตตสังขาร หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้จิตตสังขาร หายใจออก’
สำเหนียกว่า ‘เราระงับจิตตสังขาร หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราระงับจิตตสังขาร หายใจออก’
สมัยนั้น ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ เรากล่าวการใส่ใจลมหายใจเข้าลมหายใจออกเป็นอย่างดีนี้ว่า เป็นเวทนาชนิดหนึ่งในบรรดาเวทนาทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น สมัยนั้น ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกอยู่
๓. สมัยใด ภิกษุสำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้จิต หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้จิต หายใจออก’
สำเหนียกว่า ‘เราทำจิตให้บันเทิง หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราทำจิตให้บันเทิง หายใจออก’
สำเหนียกว่า ‘เราตั้งจิตมั่น หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราตั้งจิตมั่น หายใจออก’
สำเหนียกว่า ‘เราเปลื้องจิต หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราเปลื้องจิต หายใจออก’
สมัยนั้น ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิต มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ เราไม่บอกอานาปานสติแก่ภิกษุผู้หลงลืม ไม่มีสัมปชัญญะ เพราะเหตุนั้น สมัยนั้น ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นจิตในจิต มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกอยู่
๔. สมัยใด ภิกษุสำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง หายใจออก’
สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นความคลายออกได้ หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นความคลายออกได้ หายใจออก’
สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นความดับไป หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นความดับไป หายใจออก’
สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นความสละคืน หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นความสละคืน หายใจออก’
สมัยนั้น ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ เธอเห็นการละอภิชฌาและโทมนัสด้วยปัญญาแล้ว ย่อมเป็นผู้วางเฉยได้ดี เพราะเหตุนั้น สมัยนั้น ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกอยู่
ภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติที่ภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ จึงทำให้สติปัฏฐาน ๔ บริบูรณ์ได้
สติปัฏฐาน ๔
[๑๕๐] สติปัฏฐาน ๔ ที่ภิกษุเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงทำให้โพชฌงค์ ๗ บริบูรณ์ คือ
๑. สมัยใด ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ สมัยนั้น ภิกษุนั้นมีสติตั้งมั่น ไม่หลงลืม สมัยใด ภิกษุมีสติตั้งมั่น ไม่หลงลืม สมัยนั้นสติสัมโพชฌงค์(ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความระลึกได้) ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าเจริญสติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึงความเจริญเต็มที่
๒. ภิกษุนั้นเป็นผู้มีสติอย่างนั้น ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงการพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา สมัยใด ภิกษุเป็นผู้มีสติอย่างนั้น ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงการพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา สมัยนั้น ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์(ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ คือความเลือกเฟ้นธรรม) ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึงความเจริญเต็มที่
๓. ภิกษุนั้นค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงการพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน สมัยใด ภิกษุค้นคว้า ไตร่ตรองถึงการพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ปรารภความเพียร ไม่ย่อหย่อน สมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์(ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความเพียร) ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึงความเจริญเต็มที่
๔. ปีติที่ปราศจากอามิสเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว สมัยใด ปีติที่ปราศจากอามิสเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว สมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์(ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความอิ่มใจ) ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าเจริญปีติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึงความเจริญเต็มที่
๕. เมื่อภิกษุมีจิตเกิดปีติ กายและจิตย่อมสงบ สมัยใด ภิกษุมีจิตเกิดปีติ กายและจิตย่อมสงบ สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ (ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความสงบกายสงบจิต) ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึงความเจริญเต็มที่
๖. เมื่อภิกษุมีกายสงบแล้ว มีความสุข จิตย่อมตั้งมั่น สมัยใด เมื่อภิกษุมีกายสงบ มีความสุข จิตย่อมตั้งมั่น สมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์(ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความตั้งใจมั่น) ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึงความเจริญเต็มที่
๗. ภิกษุนั้นเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี สมัยใด ภิกษุเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี สมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์(ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความมีใจเป็นกลาง) ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึงความเจริญเต็มที่
[๑๕๑] ภิกษุทั้งหลาย
๑. สมัยใด ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย ... พิจารณาเห็นจิตในจิต ... พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ สมัยนั้น ภิกษุนั้นมีสติตั้งมั่น ไม่หลงลืม สมัยใด ภิกษุมีสติตั้งมั่น ไม่หลงลืม สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าเจริญสติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึงความเจริญเต็มที่
๒. ภิกษุนั้นเป็นผู้มีสติอย่างนั้น ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงการพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา สมัยใด ภิกษุเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงการพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา สมัยนั้น ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึงความเจริญเต็มที่
๓. ภิกษุนั้นค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงการพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา เป็นอันปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อนแล้ว สมัยใด ภิกษุย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงการพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญาปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน สมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึงความเจริญเต็มที่
๔. ปีติอันปราศจากอามิส เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว สมัยใด ปีติอันปราศจากอามิสเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว สมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าเจริญปีติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึงความเจริญเต็มที่
๕. เมื่อภิกษุมีจิตเกิดปีติ กายและจิตย่อมสงบ สมัยใด เมื่อภิกษุมีจิตเกิดปีติ กายและจิตย่อมสงบ สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึงความเจริญเต็มที่
๖. เมื่อภิกษุผู้มีกายสงบแล้ว มีความสุข จิตย่อมตั้งมั่น สมัยใด เมื่อภิกษุผู้มีกายสงบแล้ว มีความสุข จิตย่อมตั้งมั่น สมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึงความเจริญเต็มที่
๗. ภิกษุนั้นเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้อย่างดี สมัยใด ภิกษุเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้อย่างดี สมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึงความเจริญเต็มที่
ภิกษุทั้งหลาย สติปัฏฐาน ๔ ที่ภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ จึงทำให้โพชฌงค์ ๗ บริบูรณ์
โพชฌงค์ ๗
[๑๕๒] โพชฌงค์ ๗ ที่ภิกษุเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงทำให้วิชชาและวิมุตติบริบูรณ์
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก(ความสงัด) อาศัยวิราคะ(ความคลายกำหนัด) อาศัยนิโรธ(ความดับ) อันน้อมไปเพื่อความปล่อยวาง
๒. เจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ...
๓. เจริญวิริยสัมโพชฌงค์ ...
๔. เจริญปีติสัมโพชฌงค์ ...
๕. เจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ...
๖. เจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ ...
๗. เจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อความปล่อยวาง
ภิกษุทั้งหลาย โพชฌงค์ ๗ ที่ภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ จึงทำให้วิชชาและวิมุตติบริบูรณ์”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
อานาปานัสสติสูตรที่ ๘ จบ
----------------------------------------------
คำอธิบายเพิ่มเติมนี้ นำมาจากบางส่วนของอรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ อนุปทวรรค
อานาปานสติสูตร
๘. อรรถกถาอานาปานสติสูตร
อานาปานสติสูตร มีคำเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้.
พระสาวกเป็นอันมากผู้มีชื่อเสียงแม้เหล่าอื่น ยกเว้นพระเถระ ๑๐ รูปที่มาในพระบาลี. ว่ากันว่า ในคราวนั้น ได้มีภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่นับจำนวนไม่ได้.
ดิถีที่มีพระจันทร์เพ็ญครบ ๔ เดือน ท้ายเดือน ๑๒ ชื่อว่า โกมุที เพราะมีดอกโกมุทบาน. เรียกว่า จาตุมาสินี (ครบ ๔ เดือน) เพราะเป็นวันสุดท้ายของเดือนอันมีในฤดูฝน ๔ เดือน. จักอยู่ในที่นี้แหละจนกว่าดิถีนั้น (คือวันเพ็ญเดือน ๑๒) จะมาถึง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตปวารณาสงเคราะห์ (สงเคราะห์ด้วยปวารณากรรม) แก่ภิกษุทั้งหลายด้วยประการดังนี้ จึงได้ตรัสอย่างนั้น.
อนึ่ง ไม่ให้แก่ภิกษุผู้มีสมถะหรือวิปัสสนายังอ่อน. ในคราวนั้น แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ทรงพิจารณาวาระจิตของภิกษุทั้งหลาย ทรงทราบว่าสมถะและวิปัสสนายังอ่อน จึงทรงพระดำริว่า เมื่อเราไม่ปวารณาในวันนี้ ภิกษุทั้งหลายออกพรรษาแล้ว จักเที่ยวไปในกรุงสาวัตถีนี้ (ต่างรูปต่างไป) ในทิศทั้งหลาย แต่นั้น ภิกษุเหล่านี้จักไม่สามารถทำคุณวิเศษให้เกิดขึ้นได้ ในเมื่อภิกษุทั้งหลายผู้แก่พรรษากว่า ถือเอาเสนาสนะเสียเต็มหมด (ธรรมเนียมที่ทรงอนุญาตให้ผู้แก่พรรษากว่าจับจองเสนาสนะได้ก่อน) ถ้าแม้เราออกจาริกไป ภิกษุเหล่านี้ก็จักหาสถานที่อยู่ได้ยาก แต่เมื่อเราไม่ปวารณา แม้ภิกษุเหล่านี้จักไม่เที่ยวไป ตลอดกรุงสาวัตถีนี้ แม้เราก็จักยังไม่ออกจาริก เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุเหล่านี้ก็จักไม่เป็นกังวล (เรื่อง) สถานที่อยู่ เธอทั้งหลายจักอยู่เป็นผาสุกในสถานที่อยู่ของตนๆ สามารถเพื่อจะทำสมถะและวิปัสสนาให้แก่กล้า แล้วยังคุณวิเศษให้เกิดขึ้นได้.
พระองค์จึงไม่ทรงทำปวารณาในวันนั้น ทรงอนุญาตปวารณาสงเคราะห์แก่ภิกษุทั้งหลายว่า เราจักปวารณาในวันเพ็ญเดือน ๑๒ ก็เมื่อภิกษุทั้งหลายได้ปวารณาสงเคราะห์แล้ว อาจารย์และอุปัชฌาย์ของภิกษุรูปใดผู้ยังถือนิสัย พากันหลีกไปเสีย แม้ภิกษุรูปนั้นก็จะอยู่ได้จนถึงเดือนสุดท้ายของฤดูร้อน. ด้วยความหวังว่า ถ้า (จักมี) ภิกษุผู้สมควรให้นิสัยมา เราจักถือนิสัยในสำนักของภิกษุนั้น. ถึงแม้จะมีภิกษุ ๖๐ พรรษามา ก็จะถือเอาเสนาสนะของเธอไม่ได้. ก็แหละปวารณาสงเคราะห์ นี้แม้จะให้แก่ภิกษุรูปเดียว ก็ย่อมเป็นการให้แก่ภิกษุทุกรูปทีเดียว.
โดยถือพวกผู้อยู่ได้เดือนหนึ่ง ตามภาวะของตน ในที่ที่พอได้ทราบข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานปวารณาสงเคราะห์ จึงพากันทำอุโบสถกรรม ในวันเพ็ญเดือน ๑๑ แล้วพากันหลั่งไหลมา.
ภิกษุทั้งหลายกระทำกรรมในสมถะและวิปัสสนาที่ยังอ่อน ได้ทำให้สมถะและวิปัสสนาทั้งหลายมีกำลังขึ้นในที่นี้ นี้ชื่อว่าคุณวิเศษในกาลก่อน. ต่อแต่นั้น ภิกษุทั้งหลายมีจิตตั้งมั่นพิจารณาสังขารทั้งหลาย บางเหล่าทำให้แจ้งโสดาปัตติผล ฯลฯ บางเหล่าทำให้แจ้งอรหัตผล. นี้ชื่อว่าคุณวิเศษอันกว้างขวางยิ่ง.
เพื่อทรงแสดงกรรมฐานที่ภิกษุทั้งหลายนั้นสนใจมาก บรรดาธรรมเหล่านั้น ตรัสโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการอันเป็นทั้งโลกิยะและโลกุตระ. ก็ในข้อนั้น ภิกษุเหล่าใดยังมรรคให้เกิดในขณะนั้น โพธิปักขิยธรรมเหล่านั้นย่อมเป็นโลกุตระสำหรับภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น เป็นโลกิยะสำหรับภิกษุทั้งหลายผู้เจริญวิปัสสนา.
ก็เพราะเหตุที่ในที่นี้ภิกษุทั้งหลายสนใจมาก ด้วยอำนาจแห่งอานาปานกรรมฐานเท่านั้นมี (จำนวน) มาก เพราะฉะนั้น เมื่อจะตรัสกรรมฐานที่เหลือโดยสังเขป แล้วตรัสอานาปานกรรมฐานโดยพิสดาร จึงตรัสคำว่า อานาปานสติ ภิกฺขเว เป็นต้นไป.
สติในกายนั้นของภิกษุนั้น ผู้กำหนดกายด้วยอาการ ๑๔ อย่างด้วยประการอย่างนี้ เป็นสติสัมโพชฌงค์, ญาณอันสัมปยุตด้วยสติ เป็นธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์, ความเพียรทางกายและทางใจอันสัมปยุตด้วยธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์นั้นนั่นแหละ เป็นวิริยสัมโพชฌงค์, ปีติ ปัสสัทธิและเอกัคคตาจิต เป็นสมาธิสัมโพชฌงค์, อาการเป็นกลางๆ กล่าวคือสัมโพชฌงค์ ๖ ประการ ดังพรรณนามานี้ ไม่ถดถอยและไม่ดำเนินเกินไปเป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ เหมือนอย่างว่า เมื่อม้าทั้งหลายวิ่งไปได้เรียบ สารถีย่อมไม่มีการกระตุ้นว่าม้านี้วิ่งช้า หรือไม่มีการรั้งไว้ว่าม้านี้วิ่งเร็วไป สารถีจะมีอาการมองดูอย่างนั้นอย่างเดียวเท่านั้นฉันใด อาการเป็นกลางๆ กล่าวคือสัมโพชฌงค์ ๖ ประการเหล่านี้ไม่ถดถอยและไม่ดำเนินเกินไป เหมือนอย่างนั้นนั่นแหละ ย่อมชื่อว่าอุเบกขาสัมโพชฌงค์.
ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้ ท่านกล่าวถึงอะไร? กล่าวถึงวิปัสสนา พร้อมด้วยลักษณะต่างๆ ที่เป็นชั่วขณะจิตเดียวว่า ชื่อว่าสัมโพชฌงค์.
ก็ในที่นี้ สติกำหนดลมหายใจเข้าออกเป็นโลกิยะ. อานาปานสติอันเป็นโลกิยะ ย่อมทำสติปัฏฐานอันเป็นโลกิยะให้บริบูรณ์ โลกิยสติปัฏฐานทำโลกุตรโพชฌงค์ให้บริบูรณ์ โลกุตรโพชฌงค์ทำวิชชา วิมุตติ ผลและนิพพานให้บริบูรณ์. ดังนั้น จึงเป็นอันท่านกล่าวถึงโลกิยะในอาคตสถานของโลกิยะ กล่าวถึงโลกุตระในอาคตสถานของโลกุตระแล.
ส่วนพระเถระกล่าวว่า ในสูตรอื่นเป็นอย่างนั้น แต่ในสูตรนี้ โลกุตระจะมาข้างหน้า (ต่อไป) โลกิยอานาปานะทำโลกิยสติปัฏฐานให้บริบูรณ์ โลกิยสติปัฏฐานทำโลกิยโพชฌงค์ให้บริบูรณ์ โลกิยโพชฌงค์ทำวิชชา วิมุตติ ผล และนิพพานอันเป็นโลกุตระให้บริบูรณ์. เพราะในพระสูตรนี้วิชชา ผล และนิพพาน ท่านประสงค์เอาด้วยบทว่า วิชชาและวิมุตติแล.
จบอรรถกถาอานาปานสติสูตรที่ ๘
-----------------------------------------------------
Thank you for the post.
Though I have read versions of this sutta many times. It’s always refreshing to read again. This time I came to realize that I have blurred memory and vision –not able to recall and see some details clearly. Learning about oneself can be scary.