สิงคาลกสูตร
พลตรี มารวย ส่งทานินทร์
๒ เมษายน ๒๕๖๖
เกริ่นนำ
คหบดีบุตร เธอพึงทราบทิศ ๖ นี้ พึงทราบว่า มารดาบิดาเป็นทิศเบื้องหน้า พึงทราบว่า อาจารย์เป็นทิศเบื้องขวา พึงทราบว่า บุตรและภรรยาเป็นทิศเบื้องหลัง พึงทราบว่า มิตรสหายเป็นทิศเบื้องซ้าย พึงทราบว่า ทาสและกรรมกรเป็นทิศเบื้องล่าง พึงทราบว่า สมณพราหมณ์เป็นทิศเบื้องบน
สิงคาลกสูตร
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๓ [ฉบับมหาจุฬาฯ]
ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค
๘. สิงคาลกสูตร
ว่าด้วยสิงคาลกมาณพ
[๒๔๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น สิงคาลกะ คหบดีบุตร ลุกขึ้นแต่เช้า ออกจากกรุงราชคฤห์ มีผ้าเปียก มีผมเปียก ประคองอัญชลีไหว้ทิศทั้งหลาย คือ ทิศเบื้องหน้า(ทิศตะวันออก) ทิศเบื้องขวา(ทิศใต้) ทิศเบื้องหลัง(ทิศตะวันตก) ทิศเบื้องซ้าย(ทิศเหนือ) ทิศเบื้องล่าง ทิศเบื้องบน
[๒๔๓] ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์เพื่อบิณฑบาต ได้ทอดพระเนตรเห็นสิงคาลกะ คหบดีบุตร ผู้ลุกขึ้นแต่เช้า ออกจากกรุงราชคฤห์ มีผ้าเปียก มีผมเปียก ประคองอัญชลีไหว้ทิศทั้งหลาย คือ ทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องขวา ทิศเบื้องซ้าย ทิศเบื้องหลัง ทิศเบื้องล่าง ทิศเบื้องบนแล้ว ได้ตรัสถามสิงคาลกะ คหบดีบุตรดังนี้ว่า “คหบดีบุตร เธอลุกขึ้นแต่เช้า ออกจากกรุงราชคฤห์ มีผ้าเปียก มีผมเปียก ประคองอัญชลีไหว้ทิศทั้งหลาย คือ ทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องขวา ทิศเบื้องหลัง ทิศเบื้องซ้าย ทิศเบื้องล่าง ทิศเบื้องบนอยู่ เพราะเหตุไร”
สิงคาลกะ คหบดีบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บิดาของข้าพระองค์ก่อนจะตาย ได้กล่าวไว้อย่างนี้ว่า ‘นี่แน่ะลูก เจ้าพึงไหว้ทิศทั้งหลาย’ ข้าพระองค์สักการะ เคารพ นับถือ บูชาคำของบิดา จึงลุกขึ้นแต่เช้า ออกจากกรุงราชคฤห์ มีผ้าเปียก มีผมเปียก ประคองอัญชลี ไหว้ทิศทั้งหลาย คือ ทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องขวา ทิศเบื้องซ้าย ทิศเบื้องหลัง ทิศเบื้องล่าง ทิศเบื้องบนอยู่”
ทิศ ๖
[๒๔๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “คหบดีบุตร ในอริยวินัย(ธรรมเนียมแบบแผนของพระอริยะ) เขาไม่ไหว้ทิศ ๖ กันอย่างนี้”
สิงคาลกะ คหบดีบุตรทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในอริยวินัย เขาไหว้ทิศ ๖ กันอย่างไร ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ ตามวิธีการไหว้ทิศ ๖ ในอริยวินัยเถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “คหบดีบุตร ถ้าอย่างนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”
สิงคาลกะ คหบดีบุตรทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “คหบดีบุตร อริยสาวกละกรรมกิเลส (กรรมเครื่องเศร้าหมอง) ๔ ประการได้แล้ว ไม่ทำบาปกรรมโดยเหตุ ๔ ประการ และไม่ข้องแวะอบายมุข (ทางเสื่อม) ๖ ประการ แห่งโภคะทั้งหลาย อริยสาวกนั้นเป็นผู้ปราศจากบาปกรรม ๑๔ ประการนี้แล้ว ชื่อว่าเป็นผู้ปิดป้องทิศ ๖ (ปิดป้องทิศ ในที่นี้หมายถึงปกปิดช่องว่างระหว่างตนกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเรียกว่าทิศ ๖) ปฏิบัติเพื่อครองโลกทั้งสอง ทำให้เกิดความยินดีทั้งโลกนี้และโลกหน้า หลังจากตายแล้ว ย่อมไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
กรรมกิเลส ๔
[๒๔๕] กรรมกิเลส ๔ ประการที่อริยสาวกละได้แล้ว อะไรบ้าง คือ
๑. กรรมกิเลสคือปาณาติบาต
๒. กรรมกิเลสคืออทินนาทาน
๓. กรรมกิเลสคือกาเมสุมิจฉาจาร
๔. กรรมกิเลสคือมุสาวาท
กรรมกิเลส ๔ ประการนี้ ที่อริยสาวกนั้นละได้แล้ว”
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า “การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การล่วงละเมิดภรรยาผู้อื่น และการพูดเท็จ เรียกว่า เป็นกรรมกิเลส บัณฑิตทั้งหลายไม่สรรเสริญ”
เหตุ ๔ ประการ
[๒๔๖] อริยสาวกไม่ทำบาปกรรมโดยเหตุ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ปุถุชน
๑. ย่อมถึงฉันทาคติ (ลำเอียงเพราะรัก) ทำบาปกรรม
๒. ย่อมถึงโทสาคติ (ลำเอียงเพราะชัง) ทำบาปกรรม
๓. ย่อมถึงโมหาคติ (ลำเอียงเพราะเขลา) ทำบาปกรรม
๔. ย่อมถึงภยาคติ (ลำเอียงเพราะกลัว) ทำบาปกรรม
ส่วนอริยสาวก
๑. ย่อมไม่ถึงฉันทาคติ
๒. ย่อมไม่ถึงโทสาคติ
๓. ย่อมไม่ถึงโมหาคติ
๔. ย่อมไม่ถึงภยาคติ
อริยสาวกย่อมไม่ทำบาปกรรม โดยเหตุ ๔ ประการนี้
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า “บุคคลใดละเมิดความชอบธรรม เพราะฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ ยศของบุคคลนั้นย่อมเสื่อม เหมือนดวงจันทร์ข้างแรม ฉะนั้น บุคคลใดไม่ละเมิดความชอบธรรม เพราะฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ ยศของบุคคลนั้นย่อมเจริญ เหมือนดวงจันทร์ข้างขึ้น ฉะนั้น”
อบายมุข ๖ ประการ
[๒๔๗] อริยสาวกไม่ข้องแวะอบายมุข ๖ ประการ แห่งโภคะทั้งหลาย อะไรบ้าง คือ
๑. การหมกมุ่นในการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท เป็นอบายมุขแห่งโภคะทั้งหลาย
๒. การหมกมุ่นในการเที่ยวไปตามตรอกซอกซอย ในเวลากลางคืน เป็นอบายมุขแห่งโภคะทั้งหลาย
๓. การเที่ยวดูมหรสพ เป็นอบายมุขแห่งโภคะทั้งหลาย
๔. การหมกมุ่นในการเล่นการพนันอันเป็นเหตุแห่งความประมาท เป็นอบายมุขแห่งโภคะทั้งหลาย
๕. การหมกมุ่นในการคบคนชั่วเป็นมิตร เป็นอบายมุขแห่งโภคะทั้งหลาย
๖. การหมกมุ่นในความเกียจคร้าน เป็นอบายมุขแห่งโภคะทั้งหลาย
โทษแห่งสุราเมรัย ๖ ประการ
[๒๔๘] คหบดีบุตร การหมกมุ่นในการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาทมีโทษ ๖ ประการนี้ คือ
๑. เสียทรัพย์ทันตาเห็น
๒. ก่อการทะเลาะวิวาท
๓. เป็นบ่อเกิดแห่งโรค
๔. เป็นเหตุให้เสียชื่อเสียง
๕. เป็นเหตุให้ไม่รู้จักอาย
๖. เป็นเหตุทอนกำลังปัญญา
คหบดีบุตร การหมกมุ่นในการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาทมีโทษ ๖ ประการนี้แล
โทษแห่งการเที่ยวกลางคืน ๖ ประการ
[๒๔๙] คหบดีบุตร การหมกมุ่นในการเที่ยวไปตามตรอกซอกซอย ในเวลากลางคืนมีโทษ ๖ ประการนี้ คือ
๑. ชื่อว่าไม่คุ้มครอง ไม่รักษาตน
๒. ชื่อว่าไม่คุ้มครอง ไม่รักษาบุตรภรรยา
๓. ชื่อว่าไม่คุ้มครอง ไม่รักษาทรัพย์สมบัติ
๔. เป็นที่สงสัย (เป็นที่สงสัยในที่นี้หมายถึงถูกสงสัยว่าเป็นผู้ทำกรรมชั่วทั้งที่ไม่มีส่วนในกรรมชั่วนั้น) ของคนอื่นด้วยเหตุต่างๆ
๕. มักถูกใส่ร้ายด้วยเรื่องไม่เป็นจริง
๖. ทำให้เกิดความลำบากมากหลายอย่าง
คหบดีบุตร การหมกมุ่นในการเที่ยวไปตามตรอกซอกซอย ในเวลากลางคืนมีโทษ ๖ ประการนี้แล
โทษแห่งการเที่ยวดูมหรสพ ๖ ประการ
[๒๕๐] คหบดีบุตร การเที่ยวดูมหรสพมีโทษ ๖ ประการนี้ คือ
๑. มีการรำที่ไหน (ไปที่นั่น)
๒. มีการขับร้องที่ไหน (ไปที่นั่น)
๓. มีการประโคมที่ไหน (ไปที่นั่น)
๔. มีเสภาที่ไหน (ไปที่นั่น)
๕. มีการบรรเลงที่ไหน (ไปที่นั่น)
๖. มีเถิดเทิงที่ไหน (ไปที่นั่น)
คหบดีบุตร การเที่ยวดูมหรสพมีโทษ ๖ ประการนี้แล
โทษแห่งการเล่นการพนันอันเป็นเหตุแห่งความประมาท ๖ ประการ
[๒๕๑] คหบดีบุตร การหมกมุ่นในการเล่นการพนันอันเป็นเหตุแห่งความประมาทมีโทษ ๖ ประการนี้ คือ
๑. ผู้ชนะย่อมก่อเวร
๒. ผู้แพ้ย่อมเสียดายทรัพย์ที่เสียไป
๓. เสียทรัพย์ทันตาเห็น
๔. ถ้อยคำที่เป็นพยานในศาล ก็เชื่อถือไม่ได้
๕. ถูกมิตรอำมาตย์ (มิตรอำมาตย์ แยกอธิบายได้ดังนี้ มิตร ในที่นี้หมายถึงคนที่สามารถใช้สอยสิ่งของในบ้านเรือนของกันและกันได้ อำมาตย์ ในที่นี้หมายถึงเพื่อนร่วมงาน) ดูหมิ่น
๖. ไม่มีใครประสงค์จะแต่งงานด้วย เพราะเห็นว่าชายผู้นี้เป็นนักเลงการพนันไม่สามารถจะเลี้ยงดูภรรยาได้
คหบดีบุตร การหมกมุ่นในการเล่นการพนันอันเป็นเหตุแห่งความประมาทมีโทษ ๖ ประการนี้แล
โทษแห่งการคบคนชั่วเป็นมิตร ๖ ประการ
[๒๕๒] คหบดีบุตร การหมกมุ่นในการคบคนชั่วเป็นมิตรมีโทษ ๖ ประการนี้ คือ
๑. เขามีนักเลงการพนันเป็นมิตรสหาย
๒. เขามีนักเลงเจ้าชู้เป็นมิตรสหาย
๓. เขามีนักเลงเหล้าเป็นมิตรสหาย
๔. เขามีคนหลอกลวงเป็นมิตรสหาย
๕. เขามีคนโกงเป็นมิตรสหาย
๖. เขามีโจรเป็นมิตรสหาย
คหบดีบุตร การหมกมุ่นในการคบคนชั่วเป็นมิตรมีโทษ ๖ ประการนี้แล
โทษแห่งความเกียจคร้าน ๖ ประการ
[๒๕๓] คหบดีบุตร การหมกมุ่นในความเกียจคร้านมีโทษ ๖ ประการนี้ คือ
๑. มักอ้างว่า ‘หนาวเกินไป’ แล้วไม่ทำการงาน
๒. มักอ้างว่า ‘ร้อนเกินไป’ แล้วไม่ทำการงาน
๓. มักอ้างว่า ‘เวลาเย็นเกินไป’ แล้วไม่ทำการงาน
๔. มักอ้างว่า ‘เวลายังเช้าเกินไป’ แล้วไม่ทำการงาน
๕. มักอ้างว่า ‘หิวเกินไป’ แล้วไม่ทำการงาน
๖. มักอ้างว่า ‘กระหายเกินไป’ แล้วไม่ทำการงาน
เมื่อเขามากไปด้วยการอ้างเลศ ผัดเพี้ยนการงานอยู่อย่างนี้ โภคะที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็ถึงความเสื่อมสิ้นไป
คหบดีบุตร การหมกมุ่นในความเกียจคร้านมีโทษ ๖ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า “เพื่อนในโรงสุราก็มี เพื่อนดีแต่พูดก็มี เมื่อมีเรื่องเกิดขึ้น ผู้ใดเป็นเพื่อนได้ ผู้นั้นจัดว่าเป็นเพื่อนแท้”
เหตุ ๖ ประการนี้ คือ
(๑) การนอนตื่นสาย (๒) การเป็นชู้กับภรรยาผู้อื่น
(๓) การผูกเวร (๔) ความเป็นผู้ก่อแต่เรื่องเสียหาย
(๕) การมีมิตรชั่ว (๖) ความตระหนี่จัด
ย่อมทำลายบุรุษให้พินาศ
คนมีมิตรชั่ว มีเพื่อนชั่ว
มีมารยาทและความประพฤติชั่ว
ย่อมเสื่อมจากโลกทั้งสอง คือ
จากโลกนี้และจากโลกหน้า
เหตุ ๖ ประการนี้ คือ
(๑) นักเลงการพนันและนักเลงหญิง
(๒) นักเลงสุรา (๓) ฟ้อนรำขับร้อง
(๔) นอนหลับในกลางวัน เที่ยวกลางคืน
(๕) การมีมิตรชั่ว (๖) ความตระหนี่จัด
ย่อมทำลายบุรุษให้พินาศ
ผู้ใดเล่นการพนัน ดื่มสุรา
ล่วงละเมิดหญิงผู้เป็นที่รักเสมอด้วยชีวิตของผู้อื่น
คบแต่คนเลว และไม่คบหาคนเจริญ
ผู้นั้นย่อมเสื่อมดุจดวงจันทร์ข้างแรม ฉะนั้น
ผู้ใดดื่มสุรา ไร้ทรัพย์
ไม่ทำงานเลี้ยงชีพ เป็นคนขี้เมาหัวทิ่มบ่อ
ผู้นั้นจักจมลงสู่หนี้เหมือนก้อนหินจมน้ำ
จักทำความมัวหมองให้แก่ตนทันที
คนชอบนอนหลับในกลางวัน
ไม่ลุกขึ้นในกลางคืน เป็นนักเลงขี้เมาประจำ
ไม่สามารถครองเรือนได้
ประโยชน์ทั้งหลายย่อมล่วงเลย
หนุ่มสาวที่ละทิ้งการงาน
โดยอ้างว่า ‘เวลานี้หนาวเกินไป
เวลานี้ร้อนเกินไป เวลานี้เย็นเกินไป’ เป็นต้น
ส่วนผู้ใดทำหน้าที่ของบุรุษ
ไม่ใส่ใจความหนาว ความร้อน ยิ่งไปกว่าหญ้า
ผู้นั้นย่อมไม่เสื่อมจากความสุข
มิตรเทียม
[๒๕๔] คหบดีบุตร คน ๔ จำพวกนี้ เธอพึงทราบว่า ไม่ใช่มิตรแท้ เป็นมิตรเทียม คือ
๑. คนที่ถือเอาแต่ประโยชน์จากผู้อื่นฝ่ายเดียว พึงทราบว่า ไม่ใช่มิตรแท้ เป็นมิตรเทียม
๒. คนดีแต่พูด พึงทราบว่า ไม่ใช่มิตรแท้ เป็นมิตรเทียม
๓. คนพูดประจบ พึงทราบว่า ไม่ใช่มิตรแท้ เป็นมิตรเทียม
๔. คนที่เป็นเพื่อนชักนำในทางเสื่อม พึงทราบว่า ไม่ใช่มิตรแท้ เป็นมิตรเทียม
[๒๕๕] คหบดีบุตร คนที่ถือเอาแต่ประโยชน์จากผู้อื่นฝ่ายเดียว เธอพึงทราบว่าไม่ใช่มิตรแท้ เป็นมิตรเทียม โดยเหตุ ๔ ประการ คือ
(๑) เป็นผู้ถือเอาประโยชน์จากผู้อื่นฝ่ายเดียว
(๒) เสียน้อย ปรารถนาจะได้มาก
(๓) เมื่อตัวเองมีภัยจึงทำกิจของเพื่อน
(๔) คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ประโยชน์
คหบดีบุตร คนที่ถือเอาแต่ประโยชน์จากผู้อ่านฝ่ายเดียว เธอพึงทราบว่า ไม่ใช่มิตรแท้ เป็นมิตรเทียม โดยเหตุ ๔ ประการนี้แล
[๒๕๖] คหบดีบุตร คนดีแต่พูด เธอพึงทราบว่า ไม่ใช่มิตรแท้ เป็นมิตรเทียมโดยเหตุ ๔ ประการ คือ
๑. กล่าวต้อนรับด้วยเรื่องที่เป็นอดีตไปแล้ว
๒. กล่าวต้อนรับด้วยเรื่องที่ยังมาไม่ถึง
๓. สงเคราะห์ด้วยสิ่งที่หาประโยชน์มิได้
๔. เมื่อมีกิจเกิดขึ้นเฉพาะหน้าก็แสดงความขัดข้อง
คหบดีบุตร คนดีแต่พูด เธอพึงทราบว่า ไม่ใช่มิตรแท้ เป็นมิตรเทียม โดยเหตุ ๔ ประการนี้แล
[๒๕๗] คหบดีบุตร คนพูดประจบ เธอพึงทราบว่า ไม่ใช่มิตรแท้ เป็นมิตรเทียม โดยเหตุ ๔ ประการ คือ
๑. เพื่อนทำชั่ว ก็คล้อยตาม
๒. เพื่อนทำดี ก็คล้อยตาม
๓. สรรเสริญต่อหน้า
๔. นินทาลับหลัง
คหบดีบุตร คนพูดประจบ เธอพึงทราบว่า ไม่ใช่มิตรแท้ เป็นมิตรเทียมโดยเหตุ ๔ ประการนี้แล
[๒๕๘] คหบดีบุตร คนที่เป็นเพื่อนชักชวนไปในทางเสื่อม พึงทราบว่า ไม่ใช่มิตรแท้ เป็นมิตรเทียม โดยเหตุ ๔ ประการ คือ
๑. เป็นเพื่อนที่ชักชวนให้หมกมุ่นในการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัย อันเป็นเหตุแห่งความประมาท
๒. เป็นเพื่อนที่ชักชวนให้หมกมุ่นในการเที่ยวไปตามตรอกซอกซอยในเวลากลางคืน
๓. เป็นเพื่อนเที่ยวดูการเล่น
๔. เป็นเพื่อนที่ชักชวนให้หมกมุ่นในการเล่นการพนันอันเป็นเหตุแห่งความประมาท
คหบดีบุตร คนที่เป็นเพื่อนชักชวนไปในทางเสื่อม พึงทราบว่า ไม่ใช่มิตรแท้ เป็นมิตรเทียม โดยเหตุ ๔ ประการนี้แล”
[๒๕๙] พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
“บุคคลที่ไม่ใช่มิตรแท้ ๔ จำพวกนี้ คือ
(๑) มิตรที่ถือเอาแต่ประโยชน์จากผู้อื่นอย่างเดียว
(๒) มิตรดีแต่พูด (๓) มิตรพูดประจบ
(๔) มิตรชักนำในทางเสื่อม
บัณฑิตรู้อย่างนี้แล้ว พึงเว้นเสียให้ห่างไกล
เหมือนคนเว้นทางมีภัยเฉพาะหน้าเสียฉะนั้น”
มิตรมีใจดี
[๒๖๐] คหบดีบุตร คน ๔ จำพวกนี้ เธอพึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี(มิตรแท้) คือ
๑. มิตรมีอุปการะ พึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี
๒. มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ พึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี
๓. มิตรแนะนำประโยชน์ พึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี
๔. มิตรมีความรักใคร่ พึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี
[๒๖๑] คหบดีบุตร มิตรมีอุปการะ เธอพึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี โดยเหตุ ๔ ประการ คือ
๑. ป้องกันเพื่อนผู้ประมาทแล้ว
๒. ป้องกันทรัพย์สมบัติของเพื่อนผู้ประมาทแล้ว
๓. เมื่อมีภัยก็เป็นที่พึ่งพำนักได้
๔. เมื่อมีกิจที่จำเป็นเกิดขึ้น ก็ช่วยโภคทรัพย์ให้ ๒ เท่าของทรัพย์ที่ต้องการในกิจนั้น
คหบดีบุตร มิตรมีอุปการะ เธอพึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี โดยเหตุ ๔ ประการนี้แล
[๒๖๒] คหบดีบุตร มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ เธอพึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดีโดยเหตุ ๔ ประการ คือ
๑. บอกความลับแก่เพื่อน
๒. ปิดความลับของเพื่อน
๓. ไม่ละทิ้งในยามอันตราย
๔. แม้ชีวิตก็อาจจะสละเพื่อประโยชน์ของเพื่อนได้
คหบดีบุตร มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ เธอพึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี โดยเหตุ ๔ ประการนี้แล
[๒๖๓] คหบดีบุตร มิตรแนะนำประโยชน์ เธอพึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดีโดยเหตุ ๔ ประการ คือ
๑. ห้ามมิให้ทำความชั่ว
๒. แนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี
๓. ให้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
๔. บอกทางสวรรค์ให้
คหบดีบุตร มิตรแนะนำประโยชน์ เธอพึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี โดยเหตุ ๔ ประการนี้แล
[๒๖๔] คหบดีบุตร มิตรมีความรักใคร่ เธอพึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี โดยเหตุ ๔ ประการ คือ
๑. ไม่พอใจความเสื่อมของเพื่อน
๒. พอใจความเจริญของเพื่อน
๓. ห้ามปรามคนที่นินทาเพื่อน
๔. สนับสนุนคนที่สรรเสริญเพื่อน
คหบดีบุตร มิตรมีความรักใคร่ เธอพึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี โดยเหตุ ๔ ประการนี้แล”
[๒๖๕] พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้
ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
“บุคคลที่เป็นมิตรมีใจดี ๔ จำพวกนี้ คือ
(๑) มิตรมีอุปการะ (๒) มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์
(๓) มิตรแนะนำประโยชน์ (๔) มิตรมีความรักใคร่
บัณฑิตรู้อย่างนี้แล้ว
พึงเข้าไปคบหาโดยความจริงใจ
เหมือนมารดาคบหาบุตรผู้เกิดแต่อกฉะนั้น
บัณฑิตผู้สมบูรณ์ด้วยศีล
ย่อมสว่างโชติช่วงดังดวงไฟ
เมื่อบุคคลสะสมโภคทรัพย์อยู่ดังตัวผึ้งสร้างรัง
โภคทรัพย์ของเขาก็ย่อมเพิ่มพูนขึ้น
ดุจจอมปลวกที่ตัวปลวกก่อขึ้นฉะนั้น
คฤหัสถ์ในตระกูล ผู้สามารถ
ครั้นรวบรวมโภคทรัพย์ได้อย่างนี้แล้ว
พึงแบ่งโภคทรัพย์ออกเป็น ๔ ส่วน
คือส่วนหนึ่งใช้สอย ๒ ส่วนใช้ประกอบการงาน
ส่วนที่ ๔ เก็บไว้ด้วยหมายใจว่าจะใช้ในยามมีอันตราย
จึงผูกมิตรไว้ได้”
ฉทิสาปฏิจฉาทนกัณฑ์
ว่าด้วยการปิดป้องทิศ ๖
[๒๖๖] อริยสาวกเป็นผู้ปิดป้องทิศ ๖ เป็นอย่างไร
คหบดีบุตร เธอพึงทราบทิศ ๖ นี้ คือ พึงทราบว่า มารดาบิดาเป็นทิศเบื้องหน้า พึงทราบว่า อาจารย์เป็นทิศเบื้องขวา พึงทราบว่า บุตรและภรรยาเป็นทิศเบื้องหลัง พึงทราบว่า มิตรสหายเป็นทิศเบื้องซ้าย พึงทราบว่า ทาสและกรรมกรเป็นทิศเบื้องล่าง พึงทราบว่า สมณพราหมณ์เป็นทิศเบื้องบน
[๒๖๗] คหบดีบุตร บุตรพึงบำรุงมารดาบิดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้าโดยหน้าที่ ๕ ประการ คือ
๑. ท่านเลี้ยงเรามา เราจักเลี้ยงท่านตอบ
๒. จักทำกิจของท่าน
๓. จักดำรงวงศ์ตระกูล
๔. จักประพฤติตนให้เหมาะสมที่จะเป็นทายาท
๕. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน
มารดาบิดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้า บุตรบำรุงโดยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล ย่อมอนุเคราะห์บุตรโดยหน้าที่ ๕ ประการ คือ
๑. ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว
๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี
๓. ให้ศึกษาศิลปวิทยา
๔. หาภรรยา(สามี) ที่สมควรให้
๕. มอบทรัพย์สมบัติให้ในเวลาอันสมควร
คหบดีบุตร มารดาบิดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้า บุตรบำรุงโดยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล ย่อมอนุเคราะห์บุตรด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้ ทิศเบื้องหน้านั้นเป็นอันชื่อว่ากุลบุตรได้ปิดป้อง ทำให้เกษมปลอดภัยแล้ว ด้วยประการฉะนี้
[๒๖๘] คหบดีบุตร ศิษย์พึงบำรุงอาจารย์ผู้เป็นทิศเบื้องขวา โดยหน้าที่ ๕ ประการ คือ
๑. ลุกขึ้นยืนรับ
๒. เข้าไปคอยรับใช้
๓. เชื่อฟัง
๔. ดูแลปรนนิบัติ
๕. เรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ
อาจารย์ผู้เป็นทิศเบื้องขวา ศิษย์บำรุงด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์ด้วยหน้าที่ ๕ ประการ คือ
๑. แนะนำให้เป็นคนดี
๒. ให้เรียนดี
๓. บอกความรู้ในศิลปวิทยาทุกอย่างด้วยดี
๔. ยกย่องให้ปรากฏในมิตรสหาย
๕. ทำความป้องกันในทิศทั้งหลาย
คหบดีบุตร อาจารย์ผู้เป็นทิศเบื้องขวา ศิษย์บำรุงด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์ด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้ ทิศเบื้องขวานั้นเป็นอันชื่อว่าศิษย์ได้ปิดป้อง ทำให้เกษมปลอดภัยแล้ว ด้วยประการฉะนี้
[๒๖๙] คหบดีบุตร สามีพึงบำรุงภรรยาผู้เป็นทิศเบื้องหลังโดยหน้าที่ ๕ ประการ คือ
๑. ให้เกียรติยกย่อง
๒. ไม่ดูหมิ่น
๓. ไม่ประพฤตินอกใจ
๔. มอบความเป็นใหญ่ให้
๕. ให้เครื่องแต่งตัว
ภรรยาผู้เป็นทิศเบื้องหลัง สามีบำรุงด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล ย่อมอนุเคราะห์สามีด้วยหน้าที่ ๕ ประการ คือ
๑. จัดการงานดี
๒. สงเคราะห์คนข้างเคียงดี
๓. ไม่ประพฤตินอกใจ
๔. รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้
๕. ขยันไม่เกียจคร้านในกิจทั้งปวง
คหบดีบุตร ภรรยาผู้เป็นทิศเบื้องหลัง สามีบำรุงด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล ย่อมอนุเคราะห์สามีด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้ ทิศเบื้องหลังนั้นเป็นอันชื่อว่าสามีได้ปิดป้อง ทำให้เกษมปลอดภัยแล้ว ด้วยประการฉะนี้
[๒๗๐] คหบดีบุตร กุลบุตรพึงบำรุงมิตรสหายผู้เป็นทิศเบื้องซ้ายโดยหน้าที่ ๕ ประการ คือ
๑. การให้ (การแบ่งปันสิ่งของให้)
๒. กล่าววาจาเป็นที่รัก
๓. ประพฤติตนให้เป็นประโยชน์
๔. วางตนสม่ำเสมอ
๕. ไม่พูดจาหลอกลวงกัน
มิตรสหายผู้เป็นทิศเบื้องซ้าย กุลบุตรบำรุงโดยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยหน้าที่ ๕ ประการ คือ
๑. ป้องกันมิตรผู้ประมาทแล้ว
๒. ป้องกันทรัพย์ของมิตรผู้ประมาทแล้ว
๓. เมื่อมีภัยก็เป็นที่พึ่งพำนักได้
๔. ไม่ละทิ้งในยามอันตราย
๕. นับถือตลอดถึงวงศ์ตระกูลของมิตร
คหบดีบุตร มิตรผู้เป็นทิศเบื้องซ้าย กุลบุตรบำรุงด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้ ทิศเบื้องซ้ายนั้นเป็นอันชื่อว่ากุลบุตรได้ปิดป้อง ทำให้เกษมปลอดภัยแล้ว ด้วยประการฉะนี้
[๒๗๑] คหบดีบุตร นายพึงบำรุงทาสกรรมกร ผู้เป็นทิศเบื้องต่ำโดยหน้าที่ ๕ ประการ คือ
๑. จัดการงานให้ทำตามสมควรแก่กำลัง
๒. ให้อาหารและค่าจ้าง
๓. ดูแลรักษายามเจ็บป่วย
๔. ให้อาหารมีรสแปลก
๕. ให้หยุดงานตามโอกาส
ทาสกรรมกรผู้เป็นทิศเบื้องต่ำ นายบำรุงด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล ย่อมอนุเคราะห์นายด้วยหน้าที่ ๕ ประการ คือ
๑. ตื่นขึ้นทำงานก่อนนาย
๒. เลิกงานเข้านอนทีหลังนาย
๓. ถือเอาแต่ของที่นายให้
๔. ทำงานให้ดีขึ้น
๕. นำคุณของนายไปสรรเสริญ
คหบดีบุตร ทาสกรรมกรผู้เป็นทิศเบื้องต่ำ นายบำรุงด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล ย่อมอนุเคราะห์นายโดยหน้าที่ ๕ ประการนี้ ทิศเบื้องต่ำนั้นเป็นอันชื่อว่านายได้ปิดป้อง ทำให้เกษมปลอดภัยแล้ว ด้วยประการฉะนี้
[๒๗๒] คหบดีบุตร กุลบุตรพึงบำรุงสมณพราหมณ์ผู้เป็นทิศเบื้องบน โดยหน้าที่ ๕ ประการ คือ
๑. จะทำสิ่งใด ก็ทำด้วยเมตตา
๒. จะพูดสิ่งใด ก็พูดด้วยเมตตา
๓. จะคิดสิ่งใด ก็คิดด้วยเมตตา
๔. เปิดประตูต้อนรับ
๕. ถวายปัจจัยเครื่องยังชีพ
สมณพราหมณ์ผู้เป็นทิศเบื้องบน กุลบุตรบำรุงโดยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยหน้าที่ ๖ ประการ คือ
๑. ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว
๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี
๓. อนุเคราะห์ด้วยน้ำใจอันดีงาม
๔. ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
๕. อธิบายสิ่งที่เคยฟังแล้วให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
๖. บอกทางสวรรค์ให้
คหบดีบุตร สมณพราหมณ์ผู้เป็นทิศเบื้องบน กุลบุตรบำรุงโดยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรโดยหน้าที่ ๖ ประการนี้ ทิศเบื้องบนนั้น เป็นอันชื่อว่ากุลบุตรได้ปิดป้อง ทำให้เกษมปลอดภัยแล้ว ด้วยประการฉะนี้”
[๒๗๓] พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
“มารดาบิดาเป็นทิศเบื้องหน้า
อาจารย์เป็นทิศเบื้องขวา
บุตรภรรยาเป็นทิศเบื้องหลัง
มิตรสหายเป็นทิศเบื้องซ้าย
ทาสกรรมกรเป็นทิศเบื้องล่าง
สมณพราหมณ์เป็นทิศเบื้องบน
คฤหัสถ์ในตระกูลผู้มีความสามารถ (ผู้มีความสามารถ ในที่นี้หมายถึงผู้มีความสามารถที่จะครองเรือน คือเลี้ยงดูบุตรและภรรยาให้เป็นสุขได้) พึงไหว้ทิศเหล่านี้
บัณฑิตผู้สมบูรณ์ด้วยศีล
เป็นคนละเอียดและมีไหวพริบ (มีไหวพริบ ในที่นี้หมายถึงมีความเฉลียวฉลาดในการไหว้ทิศ คือเข้าใจความหมายของการไหว้อย่างถูกต้อง)
มีความประพฤติเจียมตน
ไม่แข็งกระด้าง เช่นนั้น ย่อมได้ยศ
คนขยัน ไม่เกียจคร้าน
ย่อมไม่หวั่นไหวในอันตรายทั้งหลาย
คนมีความประพฤติไม่ขาดตอน (ประพฤติไม่ขาดตอน ในที่นี้หมายถึงประพฤติต่อเนื่องกันไปไม่ขาดสาย)
มีปัญญาเช่นนั้น ย่อมได้ยศ
คนชอบสงเคราะห์
ชอบสร้างไมตรี รู้เรื่องที่เขาบอก (รู้เรื่องที่เขาบอก ในที่นี้หมายถึงรู้เรื่องที่บุพการีสั่งไว้ แล้วปฏิบัติตามนั้น)
ปราศจากความตระหนี่ เป็นผู้ชอบแนะนำ
ชี้แจงแสดงเหตุผล เช่นนั้น ย่อมได้ยศ
ทาน(การให้) เปยยวัชชะ(วาจาเป็นที่รัก)
อัตถจริยา(การประพฤติประโยชน์) ในโลกนี้
และสมานัตตตา(การวางตนสม่ำเสมอ)
ในธรรมนั้นๆ ตามสมควร
สังคหธรรมเหล่านี้แลช่วยอุ้มชูโลก
เหมือนลิ่มสลักเพลาคุมรถที่แล่นไปไว้ได้ฉะนั้น
ถ้าไม่มีสังคหธรรมเหล่านี้
มารดาหรือบิดาก็ไม่พึงได้การนับถือ
หรือการบูชาเพราะบุตรเป็นเหตุ
แต่เพราะบัณฑิตเล็งเห็นความสำคัญของสังคหธรรมเหล่านี้
ฉะนั้น บัณฑิตเหล่านี้จึงถึงความเป็นใหญ่และเป็นผู้น่าสรรเสริญ”
[๒๗๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สิงคาลกะ คหบดีบุตร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่างๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
สิงคาลกสูตรที่ ๘ จบ
--------------------------------
คำอธิบายเพิ่มเติมนี้ นำมาจากบางส่วนของอรรถกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค
สิงคาลกสูตร
อรรถกถาสิงคาลกสูตร
นิทานวณฺณนา
สิงคาลกสูตรมีบทเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ :-
ต่อไปจะพรรณนาบทที่ยาก ในสิงคาลกสูตรนั้น.
ณ พระวิหารเวฬุวัน อันเป็นที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เป็นชื่อของอุทยานนั้น. ได้ยินว่า อุทยานนั้นได้ล้อมด้วยไม้ไผ่ ประกอบด้วยซุ้มประตูและหอคอย โดยกำแพงสูง ๑๘ ศอก มีแสงเขียว เป็นที่น่ารื่นรมย์ ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงเรียกว่า เวฬุวัน
อนึ่ง ชนทั้งหลายได้ให้เหยื่อแก่กระแตในสวนเวฬุวันนี้ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า กลันทกนิวาป อันเป็นที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต.
มีเรื่องเล่าว่า ครั้งก่อน พระราชาพระองค์หนึ่งเสด็จประพาสสวน ณ ที่นั้น เสวยน้ำโสมจนทรงเมา บรรทมหลับในกลางวัน. แม้ชนบริวารของพระองค์ คิดกันว่า พระราชาบรรทมหลับแล้ว ถูกยั่วด้วยดอกไม้และผลไม้เป็นต้น จึงเลี่ยงออกไปจากที่นั้นๆ.
ครั้งนั้น งูเห่า เพราะได้กลิ่นเหล้าจึงเลื้อยออกจากโพรงไม้ต้นหนึ่ง มาอยู่เฉพาะพระพักตร์พระราชา. รุกขเทวดาเห็นงูนั้นคิดว่า เราจะให้ชีวิตพระราชาดังนี้ จึงแปลงเพศเป็นกระแตมาแล้ว ทำเสียงใกล้พระกรรณ. พระราชาทรงตื่น. งูเห่าก็เลื้อยหนีไป.
พระราชาทอดพระเนตรกระแตนั้น ทรงพระดำริว่ากระแตนี้ให้ชีวิตเรา จึงรับสั่งให้จัดหาเหยื่อมาตั้งไว้ ณ ที่นั้น รับสั่งให้ประกาศ ให้อภัยแก่กระแตทั้งหลาย. เพราะฉะนั้น ตั้งแต่นั้นมา ที่นั้นจึงถือว่าเป็นที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต.
บทว่า ก็โดยสมัยนั้นแล ความว่า โดยสมัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำกรุงราชคฤห์ ให้เป็นโคจรคามแล้ว ประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน อันเป็นที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต.
บทว่า บุตรของคฤหบดี คือ คฤหบดีบุตร.
ได้ยินว่า บิดาของคฤหบดีบุตรนั้น เป็นคฤหบดีมหาศาล. ก็คฤหบดีนั้นมีทรัพย์เก็บไว้ในเรือน ๔๐ โกฏิ. คฤหบดีนั้นถึงความเชื่อมั่นในพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นอุบาสกผู้โสดาบัน. แม้ภรรยาของเขาก็ได้เป็นโสดาบันเหมือนกัน. แต่บุตรของเขาไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส.
ครั้งนั้น มารดาและบิดาย่อมสั่งสอนบุตรนั้นเนืองๆ อย่างนี้ว่า นี่แน่ลูก ลูกจงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา เข้าไปหาพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ พระมหาสาวก ๘๐.
บุตรนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า การเข้าไปหาสมณะทั้งหลายของพ่อและแม่ย่อมไม่มีแก่ฉัน เพราะการเข้าไปหาสมณะทั้งหลายก็ต้องไหว้ เมื่อก้มลงไหว้หลังก็เจ็บ เข่าก็ด้าน จำเป็นต้องนั่งบนพื้นดิน เมื่อนั่งบนพื้นดินนั้น ผ้าก็จะเปื้อนจะเก่า จำเดิมแต่เวลานั่งใกล้ ย่อมมีการสนทนา เมื่อมีการสนทนา ย่อมเกิดความคุ้นเคย แต่นั้นย่อมต้องนิมนต์แล้วถวายจีวรและบิณฑบาตเป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนั้น ประโยชน์ย่อมเสื่อม การเข้าไปหาพวกสมณะของพ่อและแม่ย่อมไม่มีแก่ฉัน ดังนี้.
มารดาบิดา แม้สอนบุตรของเขาจนตลอดชีวิต ด้วยประการฉะนี้ ก็ไม่สามารถจะนำเข้าไปในศาสนาได้. ต่อมา บิดาของเขานอนบนเตียงมรณะคิดว่า ควรจะให้โอวาทแก่บุตรของเรา แล้วคิดต่อไปว่า เราจักให้โอวาทแก่บุตรอย่างนี้ว่า นี่แน่ลูก ลูกจงนอบน้อมทิศทั้งหลาย เขาไม่รู้ความหมาย จักนอบน้อมทิศทั้งหลาย ลำดับนั้น พระศาสดาหรือพระสาวกทั้งหลายเห็นเขาแล้ว จักถามว่า เธอทำอะไร แต่นั้น เขาก็จักกล่าวว่า บิดาของข้าพเจ้าสอนไว้ว่า เจ้าจงกระทำการนอบน้อมทิศทั้งหลาย ลำดับนั้น พระศาสดาหรือพระสาวกทั้งหลาย จักแสดงธรรมแก่เขาว่า บิดาของเธอจักไม่ให้เธอนอบน้อมทิศทั้งหลายเหล่านั้น แต่จักให้เธอนอบน้อมทิศเหล่านี้ เขารู้คุณในพระพุทธศาสนาแล้วจักทำบุญดังนี้.
ลำดับนั้น คฤหบดีให้คนเรียกบุตรมาแล้วกล่าวว่า นี่แน่ลูก ลูกควรลุกแต่เช้าตรู่ แล้วนอบน้อมทิศทั้งหลายดังนี้. ธรรมดาถ้อยคำของบิดาผู้ที่นอนบนเตียงมรณะ ย่อมเป็นถ้อยคำอันบุตรพึงระลึกถึงจนตลอดชีวิต. เพราะฉะนั้น คฤหบดีบุตรนั้น เมื่อระลึกถึงถ้อยคำของบิดา จึงได้กระทำอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า คฤหบดีบุตรลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ออกจากกรุงราชคฤห์เป็นต้น.
บทว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปแล้ว ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้ายังไม่เสด็จเข้าไปก่อน เพราะพระองค์ทรงดำริว่า เราจักเข้าไปแล้ว เสด็จออกไป แม้เป็นไปอยู่ในระหว่างทางจึงกล่าวอย่างนี้.
บทว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทอดพระเนตรเห็นแล้วแล ความว่า
ไม่ได้ทอดพระเนตรเห็นเดี๋ยวนั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ แม้ในตอนเช้าตรู่ ทอดพระเนตรเห็นสิงคาลกคฤหบดีบุตรนั้น กำลังนอบน้อมทิศทั้งหลายอยู่ ทรงดำริว่า วันนี้ เราจักกล่าวสิงคาลกสูตรอันเป็นวินัยของคฤหัสถ์แก่สิงคาลกคฤหบดีบุตร ถ้อยคำนั้นจึงมีผลแก่มหาชน เราควรไปในที่นั้น ดังนี้. เพราะฉะนั้น พระองค์เสด็จออกแต่เช้าตรู่ เสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์เพื่อบิณฑบาต.
อนึ่ง เมื่อเสด็จเข้าไป ได้ทอดพระเนตรเห็นสิงคาลกคฤหบดีบุตร เหมือนอย่างนั้น ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทอดพระเนตรเห็นแล้วแล.
บทว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะสิงคาลกคฤหบดีบุตร ความว่า
นัยว่า สิงคาลกคฤหบดีบุตรนั้นไม่เห็นพระศาสดา แม้ประทับยืนอยู่ไม่ไกล ยังนอบน้อมทิศทั้งหลายอยู่นั่นเอง.
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเผยพระโอฐดุจมหาปทุมกำลังแย้มโดยสัมผัสแสงพระอาทิตย์ฉะนั้น ได้ตรัสพระวาจานี้ว่า ดูก่อนคฤหบดีบุตร เธอทำอะไรหนอ ดังนี้ เป็นต้น.
ฉทิสาวณฺณนา
บทว่า ข้าแต่พระองค์ ก็ในวินัยของพระอริยเจ้าท่านนอบน้อมทิศกันอย่างไร ความว่า
นัยว่า สิงคาลกคฤหบดีบุตรสดับพระดำรัสนั้นของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว คิดว่า ได้ยินว่า ทิศที่บิดาของเรากล่าวควรนอบน้อมทิศ ๖ นั้น ไม่ใช่ทิศนี้ นัยว่า พระอริยสาวกนอบน้อมทิศ ๖ อย่างอื่น ช่างเถิด เราจะทูลถามถึงทิศที่พระอริยสาวกพึงนอบน้อมแล้ว จึงจักนอบน้อม ดังนี้.
สิงคาลกคฤหบดีบุตรนั้น เมื่อจะทูลถามถึงทิศเหล่านั้น จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ในวินัยของพระอริยเจ้าท่านนอบน้อมทิศกันอย่างไรเป็นต้น.
บทว่า กรรมกิเลสทั้งหลาย ความว่า สัตว์ทั้งหลายจักเศร้าหมอง ด้วยกรรมทั้งหลายเหล่านั้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า กรรมกิเลสทั้งหลาย.
บทว่า ผู้นั้น คือ พระอริยสาวกผู้เป็นโสดาบัน.
บทว่า และโลกนี้อันพระอริยสาวกนั้นปรารภแล้ว ความว่า
จริงอยู่ เวรทั้ง ๕ ในโลกนี้ ย่อมไม่มีแก่พระอริยสาวกเห็นปานนั้น ด้วยเหตุนั้น โลกนี้เป็นอันพระอริยสาวกนั้นปรารภแล้ว คือยินดีแล้ว และสำเร็จแล้ว เวรทั้งหลาย ๕ ย่อมไม่มีแม้ในโลกหน้า ด้วยเหตุนั้น โลกหน้าเป็นอันพระอริยสาวกยินดีแล้ว.
เพราะฉะนั้น พระอริยสาวกนั้นเบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์. ด้วยประการดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งแม่บทไว้โดยย่อ บัดนี้ เมื่อจะยังแม่บทนั้นให้พิสดารจึงตรัสว่า กรรมกิเลส ๔ ที่พระอริยสาวกละได้แล้ว เป็นไฉน เป็นต้น.
จริงอยู่ คนมีกิเลสเท่านั้นย่อมฆ่าสัตว์ คนไม่มีกิเลสย่อมไม่ฆ่าสัตว์ เพราะฉะนั้น ปาณาติบาต ท่านจึงกล่าวว่า เป็นกรรมกิเลส.
แม้ในกรรมกิเลสมีอทินนาทานเป็นต้น ก็มีนัยนี้แล.
จตุฐานวณฺณนา
บทว่า ย่อมทำกรรมอันลามก ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะเมื่อพระองค์ทรงแสดงถึงบุคคลผู้กระทำแล้ว ผู้ไม่กระทำย่อมปรากฏ ฉะนั้น แม้ทรงตั้งแม่บทว่า พระอริยสาวกย่อมไม่ทำกรรมอันลามก เพราะพระองค์ทรงฉลาดในเทศนา เมื่อจะทรงแสดงบุคคลผู้กระทำก่อน จึงตรัสบทนี้ว่า บุคคลย่อมกระทำกรรมอันลามก.
ในบททั้งหลายนั้น บทว่า ถึงฉันทาคติ ความว่า ถึงอคติด้วยความพอใจ คือด้วยความรัก กระทำสิ่งไม่ควรทำ. แม้ในบทอื่นก็มีนัยนี้แล.
ในบททั้งหลายนั้น ผู้ใดทำผู้ไม่เป็นเจ้าของให้เป็นเจ้าของด้วยสามารถความพอใจว่า ผู้นี้เป็นมิตรของเรา เป็นผู้ชอบพอกับเรา เป็นผู้คบหากันมา เป็นญาติสนิทของเรา หรือให้ของขวัญแก่เรา ดังนี้ ผู้นี้ถึงฉันทาคติ ชื่อว่าย่อมทำกรรมอันลามก.
ผู้ใดกระทำผู้ไม่เป็นเจ้าของให้เป็นเจ้าของด้วยสามารถมีเวรกันเป็นปกติว่า ผู้นี้เป็นผู้มีเวรกับเราดังนี้ หรือด้วยสามารถความโกรธอันเกิดขึ้นในขณะนั้น ผู้นี้ถึงโทสาคติ ชื่อว่าย่อมทำกรรมอันลามก.
อนึ่ง ผู้ใด เพราะความเป็นผู้มีปัญญาอ่อน เพราะความเป็นผู้โง่ทึบ พูดไม่เป็นเรื่อง กระทำผู้ไม่เป็นเจ้าของให้เป็นเจ้าของ ผู้นี้ถึงโมหาคติ ชื่อว่าย่อมกระทำกรรมอันลามก.
อนึ่ง ผู้ใดกลัวว่า ผู้นี้เป็นราชวัลลภหรือเป็นผู้อาศัยอยู่กับศัตรู พึงทำความฉิบหายแก่เราดังนี้ แล้วทำผู้ไม่เป็นเจ้าของให้เป็นเจ้าของ ผู้นี้ถึงภยาคติ ชื่อว่าย่อมทำกรรมอันลามก.
อนึ่ง ผู้ใด เมื่อแบ่งของอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมให้ของเกินเป็นพิเศษ ด้วยสามารถความรักว่า ผู้นี้เป็นเพื่อนของเราหรือร่วมกินร่วมนอนกับเรา ย่อมให้ของพร่องลงไปด้วยสามารถความโกรธว่า ผู้นี้เป็นศัตรูของเราดังนี้ เพราะความโง่เขลา ไม่รู้ของที่ให้แล้วและยังไม่ให้ ย่อมให้ของพร่องแก่บางคน ให้ของมากแก่บางคน กลัวว่าผู้นี้เมื่อเราไม่ให้สิ่งนี้ พึงทำแม้ความฉิบหายแก่เรา ย่อมให้ของเกินเป็นพิเศษแก่บางคน ผู้นั้นแม้เป็นผู้มีอคติ ๔ อย่างนี้ ก็ถึงอคติมีฉันทาคติเป็นต้นตามลำดับ ชื่อว่าย่อมทำกรรมอันลามก.
แต่พระอริยสาวก แม้จะถึงสิ้นชีวิต ก็ไม่ถึงอคติมีฉันทาคติเป็นต้น ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า พระอริยสาวกย่อมไม่ทำกรรมอันลามกโดยฐานะ ๔ เหล่านี้.
บทว่า ยศของผู้นั้นย่อมเสื่อม ความว่า แม้เกียรติยศ แม้บริวารยศของผู้ถึงอคตินั้น ย่อมเสื่อม คือย่อมเสียหาย.
ฉอปายมุขวณฺณนา
สุรา ๕ ชนิด คือ สุราทำด้วยขนม สุราทำด้วยแป้ง สุราทำด้วยข้าวสุก สุราใส่ส่าเหล้า สุราประกอบด้วยเชื้อ ชื่อว่า สุรา ในบทนี้ว่า ผู้ดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทดังนี้.
ของดอง ๕ ชนิด คือ ของดองด้วยดอกไม้ ของดองด้วยผลไม้ ของดองด้วยน้ำหวาน ของดองด้วยน้ำอ้อย ของดองประกอบด้วยเชื้อ ชื่อว่า เมรัย.
แม้ทั้งหมดนั้น ชื่อว่า มัชชะ ด้วยสามารถทำให้เมา.
บทว่า ประกอบเนืองๆ อธิบายว่า ประกอบเนืองๆ คือทำบ่อย ซึ่งการดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท. ก็เพราะเมื่อผู้ประกอบเนืองๆ ซึ่งการดื่มน้ำเมานี้ โภคะทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมและที่ยังไม่เกิดขึ้นย่อมไม่เกิด ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะทั้งหลาย.
บทว่า เที่ยวดูมหรสพ คือ ไปดูมหรสพด้วยสามารถการดูการฟ้อนเป็นต้น.
บทว่า ประกอบเนืองๆ ซึ่งความเกียจคร้าน อธิบายว่า เพราะความเป็นผู้ขวนขวายในการประกอบด้วยความเป็นผู้เกียจคร้านทางกาย.
สุราเมรยสฺส ฉอาทีนววณฺณน
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งแม่บทของทางแห่งความเสื่อม ๖ ประการอย่างนี้แล้ว เมื่อทรงจำแนกแม่บทเหล่านั้นในบัดนี้ จึงตรัสว่า ดูก่อนคฤหบดีบุตร โทษ ๖ ประการเหล่านี้แล ดังนี้ เป็นต้น.
ในบทเหล่านั้น บทว่า อันตนเห็นเอง คือ ความเป็นอยู่ในโลกนี้อันตนพึงเห็นเอง.
บทว่า ก่อการทะเลาะ ความว่า ก่อการทะเลาะด้วยวาจาและการทะเลาะด้วยการใช้มือเป็นต้น.
บทว่า น้ำเมาเป็นบ่อเกิดแห่งโรคทั้งหลาย ความว่า น้ำเมาเป็นเขตแดนแห่งโรคเหล่านั้น มีโรคตาเป็นต้น.
บทว่า น้ำเมาเป็นเหตุเสียชื่อเสียง ความว่า เพราะชนดื่มน้ำเมาแล้ว ย่อมประหารแม้มารดา แม้บิดาได้ ย่อมกล่าวคำที่ไม่ควรกล่าว แม้อื่นอีกมาก ย่อมทำสิ่งที่ไม่ควรทำ ด้วยเหตุนี้ ชนทั้งหลาย ถึงการติเตียนบ้าง ลงโทษบ้าง ตัดอวัยวะมีมือและเท้าเป็นต้นบ้าง ถึงความเสียชื่อเสียง ในโลกนี้บ้าง ในโลกหน้าบ้าง ด้วยประการฉะนี้ สุรานั้นจึงชื่อว่าเป็นเหตุเสียชื่อเสียงของชนเหล่านั้น.
บทว่า น้ำเมาเป็นเหตุไม่รู้จักละอาย ความว่า เพราะน้ำเมาย่อมยังความละอายอันเป็นที่ซึ่งควรซ่อนเร้น ควรปกปิด ให้กำเริบ ให้พินาศ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ยังหิริให้กำเริบ ดังนี้. อนึ่ง คนเมาสุราเปิดอวัยวะนั้นๆ แล้วเที่ยวไปได้. ด้วยเหตุนั้น สุรานั้น ท่านจึงกล่าวว่า เป็นเหตุไม่รู้จักละอาย เพราะทำหิริให้กำเริบ.
บทว่า น้ำเมาเป็นเหตุทอนกำลังปัญญา ความว่า น้ำเมาย่อมทำความรู้ว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตนให้อ่อนลง เหมือนปัญญาของพระสาคตเถระฉะนั้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่าน้ำเมาเป็นเหตุทอนกำลังปัญญา. แต่น้ำเมาไม่อาจทำให้ผู้ได้มรรคปัญญาให้อ่อนได้ เพราะสุรานั้นย่อมไม่เข้าไปภายในปากของท่านที่บรรลุมรรคแล้ว.
บทว่า ชื่อว่าไม่คุ้มครอง ไม่รักษาตัว อธิบายว่า เพราะบุคคลเที่ยวไปมิใช่เวลา ย่อมเหยียบตอและหนามเป็นต้นบ้าง พบงูบ้าง ยักษ์เป็นต้นบ้าง แม้ศัตรูรู้ว่าจะไปยังที่นั้นๆ ก็แอบจับตัวหรือฆ่า ด้วยเหตุนี้ จึงชื่อว่าไม่คุ้มครอง ไม่รักษาตัว. แม้บุตรและภรรยาคิดว่า บิดาของเรา สามีของเรา เที่ยวในกลางคืน จะกล่าวไปไยถึงตัวเราดังนี้ ด้วยเหตุนี้ แม้บุตรธิดา แม้ภรรยาของเขากระทำธุรกิจนอกบ้าน เที่ยวไปในกลางคืน ก็ย่อมถึงความพินาศ. แม้บุตรภรรยาของเขา ก็ชื่อว่าเป็นผู้ไม่คุ้มครองตัวไม่รักษาตัว ด้วยอาการอย่างนี้.
บทว่า ทรัพย์สมบัติ ความว่า พวกโจรรู้ความที่บริวารชนพร้อมด้วยบุตรภรรยานั้นเที่ยวในกลางคืน จะเข้าไปยังเรือนที่ว่างคน นำเอาของที่ต้องการไป. ด้วยอาการอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ไม่คุ้มครอง ไม่รักษาแม้ทรัพย์สมบัติ.
บทว่า เป็นที่ระแวง ความว่า เป็นผู้ที่ควรระแวงว่า คนนี้จักเป็นผู้กระทำแม้ในกรรมอันลามกที่คนอื่นทำ. เมื่อกล่าวคำว่า บุคคลไปโดยประตูเรือนของผู้ใดๆ โจรกรรมหรือปรทาริกกรรม การข่มขืนใดอันคนอื่นทำไว้ในที่นั้น กรรมนั้นเป็นอันว่าบุคคลผู้นี้กระทำกรรมนั้น แม้ไม่จริง ไม่มี ก็ย่อมปรากฏ คือย่อมตั้งอยู่ในบุคคลนั้น.
บทว่า การเที่ยวกลางคืนอันเป็นเหตุแห่งทุกข์เป็นอันมาก ความว่า ใครๆ ไม่อาจกล่าวว่าทุกข์มีประมาณเท่านี้ โทมนัสมีประมาณเท่านี้ ของผู้ที่ถูกเขารังเกียจในบุคคลอื่นนั้นแล. ด้วยประการดังนี้ ผู้เที่ยวกลางคืนนั้น จึงเป็นผู้ประสบเหตุแห่งทุกข์เป็นอันมาก คือได้รับความลำบากมาก.
บทว่า ฟ้อนที่ไหน ไปที่นั้น ความว่า การฟ้อนมีรำและละครเป็นต้นมีอยู่ในที่ไหน แล้วพึงไปในบ้านหรือนิคมที่มีการฟ้อนนั้น. เมื่อผู้ที่เตรียมผ้าของหอมและดอกไม้เป็นต้น ในวันนี้ด้วยคิดว่า พรุ่งนี้เราจักไปดูการฟ้อนของเขา เป็นอันทิ้งการงานตลอดวัน ย่อมปรากฏในที่นั้นตลอดวันหนึ่งบ้าง สองวันบ้าง สามวันบ้าง ด้วยการดูการฟ้อน. เมื่อผู้เที่ยวกลางคืน แม้ได้การถึงพร้อมด้วยฝนเป็นต้น ก็ไม่ทำการหว่าน เมื่อถึงกาลหว่านเป็นต้น โภคะทั้งหลายที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิด. เมื่อเรือนไม่มีคนเฝ้าพวกโจรรู้ความที่เจ้าของบ้านไปข้างนอก ย่อมลักของที่ต้องการไป. ด้วยเหตุนั้น โภคะแม้เกิดแก่เขาก็ย่อมพินาศ.
แม้ในบทว่า ขับร้องมีที่ไหน ไปในที่นั้น เป็นต้น ก็มีนัยนี้แล.
การกระทำต่างๆ ของชนเหล่านั้น ท่านกล่าวแล้วในพรหมชาลสูตร.
บทว่า ผู้ชนะย่อมก่อเวร ความว่า ผู้ชนะย่อมถือเอาซึ่งผ้าสาฎกหรือผ้าโพกของผู้อื่น ในท่ามกลางชุมชน ด้วยคิดว่า เราชนะแล้ว ดังนี้. ผู้ชนะย่อมผูกเวรในบุคคลนั้นว่า เขาดูหมิ่นเราในท่ามกลางชุมชน ช่างเถิด เราจักให้บทเรียนเขาดังนี้. เมื่อชนะอย่างนี้ย่อมประสบเวร.
บทว่า ผู้แพ้ ความว่า ผู้แพ้ย่อมเศร้าโศกถึงผ้าโพก ผ้าสาฎกหรือทรัพย์สินมีเงินและทองเป็นต้นอย่างอื่นของเขาที่ผู้อื่นได้ไป เขาย่อมเศร้าโศก เพราะทรัพย์นั้นเป็นเหตุว่า ทรัพย์นั้นได้มีแล้วแก่เราหนอ ทรัพย์นั้นย่อมไม่มีแก่เราหนอ ดังนี้ ด้วยอาการอย่างนี้ ผู้แพ้ย่อมเสียดายทรัพย์.
บทว่า คำพูดของนักการพนันที่ไปพูดในที่ประชุมฟังไม่ขึ้น ความว่า เมื่อเขาถูกถามเพราะเป็นพยานในที่วินิจฉัย ด้วยคำฟังไม่ขึ้น. ชนทั้งหลายจะพากันพูดว่า ผู้นี้เป็นนักเลงสะกา เล่นการพนัน พวกท่านอย่าเชื่อคำพูดของเขา.
บทว่า ถูกมิตรอมาตย์ดูหมิ่น ความว่า จริงอยู่ พวกมิตรอมาตย์จะพูดกะเขาอย่างนี้ว่า สหาย แม้ท่านก็เป็นบุตรของผู้มีตระกูล เล่นการพนัน เป็นผู้ตัด เป็นผู้ทำลาย เที่ยวไปนี้ไม่สมควรแก่ชาติและโคตรของท่าน ตั้งแต่นี้ไป ท่านไม่พึงทำอย่างนี้. นักการพนันนั้น แม้ถูกเขากล่าวอย่างนี้ก็ไม่เชื่อเขา. แต่นั้นพวกมิตรและสหายเหล่านั้นไม่ยืน ไม่นั่งร่วมกับเขา. แม้พวกเขาถูกถามเป็นพยานก็ไม่ยอมพูด เพราะเหตุนักการพนันนั้น. ด้วยอาการอย่างนี้ นักการพนันจึงเป็นผู้ถูกมิตรและสหายดูหมิ่น.
ปาปมิตฺตตาย ฉอาทีนววณฺณนา
บทว่า นำให้เป็นนักเลงหัวไม้ ความว่า เป็นผู้ทำการงานร่วมกับผู้ที่อยู่อาคารเดียวกัน เป็นต้น.
บทว่า พวกนั้นเป็นมิตรของเขา คือ เขาไม่ยินดีกับคนอื่นที่เป็นคนดี เข้าไปหามิตรลามกเหล่านั้นอย่างเดียว เหมือนสุกรที่เขาประดับด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น แล้วให้นอนบนที่นอนอย่างดี ก็ยังเข้าไปสู่หลุมคูถฉะนั้น เพราะฉะนั้น ผู้คบคนชั่วเป็นมิตร ย่อมเข้าถึงความฉิบหายเป็นอันมากทั้งในภพนี้ และภพหน้า.
บทว่า อ้างว่าเย็นนักแล้วไม่ทำการงาน ความว่า พวกมนุษย์ลุกขึ้นแต่เช้าตรู่พูดว่า พ่อมหาจำเริญ มาไปทำการงานกันเถิด คนเกียจคร้านจะพูดว่า ยังหนาวเหลือเกิน กระดูกจะแตก พวกท่านไปกันเถิด เราจักไปทีหลัง แล้วนั่งผิงไฟ. มนุษย์เหล่านั้นไปทำการงานกัน. การงานของคนเกียจคร้านย่อมเสื่อม.
แม้ในบททั้งหลายว่า ร้อนเหลือเกินก็มี นัยนี้แล.
บทว่า ชื่อว่าเพื่อนดื่มก็มี ความว่า บางคนเป็นสหายกันในโรงเหล้าอันเป็นที่ดื่มนั่นแหละ.
ปาฐะว่า ปนฺนสขา ดังนี้ก็มี. ความอย่างเดียวกัน.
บทว่า เพื่อนกล่าวแต่ปากว่า เพื่อนๆ ก็มี ความว่า บางคนพูดว่า เพื่อน เพื่อน เป็นเพื่อนต่อหน้าเท่านั้น ลับหลังเป็นเช่นศัตรู ย่อมแสวงหาช่องทางอย่างเดียว.
บทว่า เมื่อประโยชน์ทั้งหลายเกิดขึ้น ความว่า เมื่อกิจเห็นปานนั้นเกิดขึ้นแล้ว.
บทว่า ความเป็นผู้ตระหนี่เหนียวแน่น ความว่า ความเป็นผู้ตระหนี่เหนียวแน่น คือความเป็นผู้ตระหนี่จัด.
บทว่า เขาจักจมลงสู่หนี้ เหมือนก้อนหินจมน้ำฉะนั้น ความว่า เขาจมลงสู่หนี้ เหมือนก้อนหินจมน้ำฉะนั้น.
บทว่า เกลียดชังการลุกขึ้นในกลางคืน คือ ไม่ลุกขึ้นในกลางคืนเป็นปกติ.
บทว่า มักอ้างว่าเย็นเสียแล้ว คือ เขากล่าวอย่างนี้ว่า เวลานี้เย็นนักแล้ว ไม่ทำการงาน.
บทว่า สละการงาน คือ พูดอย่างนี้แล้ว ไม่ทำการงาน.
บทว่า ประโยชน์ย่อมล่วงเลยมาณพทั้งหลาย ความว่า ประโยชน์ทั้งหลาย ย่อมล่วงเลยบุคคลเห็นปานนี้ คือไม่ตั้งอยู่ในบุคคลเหล่านั้น.
บทว่า เขาย่อมไม่เสื่อมจากความสุข ความว่า บุรุษนั้นย่อมไม่ละความสุข ย่อมเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยความสุขทีเดียว.
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเนื้อความนี้ ด้วยกถามรรคนี้. อันผู้ครองเรือนไม่ควรทำกรรมนี้ ชื่อความเจริญย่อมไม่มีแก่ผู้กระทำ ผู้กระทำย่อมได้รับการติเตียนอย่างเดียวทั้งในโลกนี้และโลกหน้า.
มิตฺตปฏิรูปกวณฺณนา
บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อทรงแสดงถึงผู้ไม่ใช่มิตร เป็นมิตรเทียม เป็นคนพาลว่า
ผู้ใดกระทำอย่างนี้ ความฉิบหายย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้นั้น ก็หรือภัยอย่างอื่นๆ อันตรายใดๆ อุปสรรคใดๆ ทั้งหมดนั้นย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยคนพาล เพราะฉะนั้น ไม่ควรคบคนพาลเห็นปานนั้นดังนี้
จึงตรัสคำเป็นต้นว่า ดูก่อนคฤหบดีบุตร คนไม่ใช่มิตรมี ๔ จำพวกเหล่านี้ดังนี้.
ในบทเหล่านั้น บทว่า คนปอกลอก ความว่า ตนเองมีมือเปล่ามาแล้ว นำเอาของอย่างใดอย่างหนึ่ง ไปโดยส่วนเดียว.
บทว่า ดีแต่พูด ความว่า เป็นดุจผู้ให้กระทำ เพียงคำพูดเท่านั้น.
บทว่า คนหัวประจบ คือ ย่อมพูดคล้อยตาม.
บทว่า คนชักชวนในทางฉิบหาย คือ เป็นสหายในทางเสื่อมแห่งโภคะทั้งหลาย.
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงถึงคนที่ไม่ใช่มิตร ๔ จำพวกอย่างนี้แล้ว เมื่อจะทรงจำแนกเหตุอย่างหนึ่งๆ ในคนที่ไม่ใช่มิตรนั้นด้วยเหตุ ๔ อย่าง จึงตรัสคำเป็นต้นว่า ดูก่อนคฤหบดีบุตร ด้วยฐานะ ๔ อย่าง ดังนี้.
ในบททั้งหลายนั้น บทว่า เป็นคนปอกลอก ความว่า เป็นผู้นำไปโดยส่วนเดียวเท่านั้น. ความว่า เป็นผู้มีมือเปล่ามาสู่เรือนของสหายแล้วพูดถึงคุณของผ้าสาฎกที่ตนนุ่งเป็นต้น. คนปอกลอกพูดว่า ดูก่อนสหาย คนนั้นย่อมกล่าวถึงคุณของผ้าผืนนี้กะท่านเหลือเกินดังนี้แล้ว นุ่งผ้าผืนอื่นให้ผืนนั้นไป.
บทว่า เสียให้น้อยคิดเอาให้ได้มาก คือให้ของอย่างใดอย่างหนึ่งแต่น้อย แล้วปรารถนาของมากจากเขา.
บทว่า เมื่อมีภัยย่อมทำกิจ ความว่า เมื่อภัยเกิดขึ้นแก่ตน ย่อมทำกิจนั้นๆ เหมือนเป็นทาสของเขา คนปอกลอกนี้ ไม่ทำในกาลทั้งปวง เมื่อภัยเกิดขึ้นจึงทำ ไม่ทำด้วยความรัก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าเป็นผู้ไม่ใช่มิตร.
บทว่า คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ประโยชน์ ความว่า ไม่คบด้วยสามารถเป็นผู้คุ้นเคยฉันมิตร หวังประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว จึงคบ.
บทว่า อ้างเอาของที่ล่วงแล้วมาปราศรัย ความว่า คนดีแต่พูด ย่อมสงเคราะห์ด้วยสิ่งที่ล่วงแล้วอย่างนี้ว่า เมื่อสหายมา เมื่อวาระนี้ ท่านไม่มา วาระนี้ ข้าวกล้าของพวกเราสำเร็จเรียบร้อย พวกเราตั้งข้าวสาลี ข้าวเหนียวและพืชเป็นต้นเป็นอันมาก แล้วนั่งดูหนทาง แต่วันนี้สิ้นไปทั้งหมดแล้ว ดังนี้.
บทว่า อ้างสิ่งที่ยังไม่ถึงมาปราศรัย ความว่า คนดีแต่พูดย่อมสงเคราะห์ด้วยสิ่งที่ยังไม่มาถึงอย่างนี้ว่า ในวันนี้ ข้าวกล้าของเราจักเป็นที่ปลื้มใจ เมื่อเราทำการสงเคราะห์ด้วยข้าวกล้ามีข้าวสาลีเป็นต้น เป็นอันมีผลเต็มที่แล้ว เราจักสามารถเพื่อทำการสงเคราะห์แก่พวกท่านได้ดังนี้
บทว่า คนดีแต่พูดสงเคราะห์ด้วยสิ่งหาประโยชน์มิได้ ความว่า คนดีแต่พูด นั่งบนคอช้างหรือบนหลังม้า ครั้นเห็นสหายแล้ว กล่าวว่า เพื่อนเอ๋ย เพื่อนจงมานั่ง ณ ที่นี้เถิด คนดีแต่พูดนุ่งผ้าสาฎกผืนที่ชอบ แล้วกล่าวว่า ผ้าผืนนี้สมควรแก่สหายของเราจริงหนอ แต่เราไม่มีผ้าผืนอื่น. อย่างนี้ ชื่อว่าสงเคราะห์ด้วยสิ่งไม่มีประโยชน์.
บทว่า เมื่อกิจเกิดขึ้น แสดงความขัดข้อง ออกปากพึ่งไม่ได้ ความว่า เมื่อมีผู้กล่าวว่า ข้าพเจ้าต้องการเกวียน คนดีแต่พูดกล่าวคำเป็นต้นว่า เสียดายจริง ล้อเกวียน เพลาเกวียนหักเสียแล้ว.
บทว่า คนหัวประจบ ตามใจเพื่อนให้ทำความชั่ว ความว่า เมื่อเพื่อนพูดว่า พวกเราจะทำปาณาติบาตเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง คนหัวประจบตามใจเพื่อน ด้วยคำว่า ดีแล้วเพื่อน ทำกันเถิด. แม้ในการทำดี ก็มีนัยนี้แล.
บทว่า เป็นสหาย ความว่า เมื่อเพื่อนพูดว่า ชนทั้งหลายดื่มเหล้ากัน ณ ที่โน้น ท่านจงมา เราจะไปในที่นั้น คนชักชวนในทางฉิบหายรับว่าดีแล้ว แล้วก็ไป.
ในบททั้งปวงก็มีนัยนี้.
บทว่า บัณฑิตรู้แจ้งดังนี้แล้ว ความว่า รู้อย่างนี้ว่า พวกที่เป็นมิตรเทียมดังนี้.
สุหทมิตฺตวณฺณนา
พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงมิตรชั่ว ไม่ควรคบอย่างนี้แล้ว เมื่อจะทรงแสดงมิตรดี ควรคบในบัดนี้ จึงตรัสคำเป็นต้นว่า ดูก่อนคฤหบดีบุตร มิตรแท้ ๔ จำพวกเหล่านี้ อีก.
บทว่า ป้องกันเพื่อนผู้ประมาทแล้ว ความว่า มิตรมีอุปการะเห็นเพื่อนดื่มน้ำเมา แล้วนอนที่กลางบ้าน ที่ประตูบ้าน ที่หนทาง คิดว่าเมื่อเพื่อนนอนอย่างนี้ ใครๆ พึงลักแม้ผ้านุ่งและผ้าห่มไปดังนี้ จึงนั่งใกล้เพื่อน เมื่อเพื่อนตื่นพาไปส่ง.
บทว่า รักษาทรัพย์ของเพื่อนผู้ประมาทแล้ว ความว่า มิตรมีอุปการะคิดว่า เพื่อนไปข้างนอก หรือดื่มเหล้าเมา เรือนไม่มีคนเฝ้า ใครๆ จะพึงลักของอย่างใดอย่างหนึ่งไปดังนี้ จึงเข้าไปยังเรือน ป้องกันทรัพย์ของเพื่อนนั้น.
บทว่า เมื่อมีภัยเป็นที่พึ่งพำนักได้ ความว่า เมื่อภัยอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น มิตรมีอุปการะกล่าวว่า อย่ากลัว เมื่อสหายเช่นเรายังอยู่ ท่านจะกลัวอะไร แล้วขจัดภัยนั้นออกไป เป็นที่พึ่งพำนักได้.
บทว่า เพิ่มทรัพย์ให้สองเท่า ความว่า เมื่อกิจที่ควรทำเกิดขึ้น มิตรมีอุปการะเห็นสหายมาหาตน แล้วถามว่า เพราะเหตุไร ท่านจึงมา. มีการงานในราชตระกูล. ท่านควรจะได้อะไร. ขอ ๑ กหาปณะ. ธรรมดาการงานในเมืองจะไม่สำเร็จด้วยกหาปณะเดียว ท่านจงรับไป ๒ กหาปณะ. เขาให้ ๒ เท่าตามที่พูด.
บทว่า บอกความลับแก่เพื่อน ความว่า ไม่บอกเรื่องอันควรปกปิดความลับของตนแก่คนอื่นแล้ว บอกแก่เพื่อนเท่านั้น.
บทว่า ปิดความลับของเพื่อน ความว่า มิตรมีอุปการะย่อมรักษาความลับที่เพื่อนกล่าว โดยที่คนอื่นไม่รู้.
บทว่า ไม่ละทิ้งในยามมีอันตราย ความว่า เมื่อภัยเกิดขึ้น มิตรมีอุปการะย่อมไม่ทอดทิ้ง.
บทว่า แม้ชีวิตก็สละเพื่อประโยชน์แก่เพื่อนได้ ความว่า แม้ชีวิตของตน ก็เป็นอันมิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ สละเพื่อประโยชน์แก่เพื่อนได้ทีเดียว มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ไม่คำนึงถึงชีวิตของตน ทำการงานให้แก่เพื่อนอย่างเดียว.
บทว่า ห้ามจากความชั่ว ความว่า มิตรแนะประโยชน์ย่อมห้ามว่า เมื่อเราเห็นๆ อยู่ ท่านจะไม่ได้ทำอย่างนี้ ท่านอย่าทำเวรทั้ง ๕ อกุศลกรรมบถ ๑๐ เลย.
บทว่า ให้ตั้งอยู่ในความดี ความว่า มิตรแนะประโยชน์ย่อมให้ประกอบความดีอย่างนี้ว่า ท่านจงเป็นไปในกรรมดี ในสรณะ ๓ ในศีล ๕ ในกุศลกรรมบถ ๑๐ ท่านจงให้ทาน จงทำบุญ จงฟังธรรมดังนี้.
บทว่า ให้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง คือ ให้ฟังสิ่งที่ละเอียด ทำให้ฉลาด ซึ่งยังไม่เคยฟัง.
บทว่า บอกทางสวรรค์ให้ ความว่า มิตรแนะประโยชน์ย่อมบอกทางสวรรค์ อย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายกระทำกรรมนี้ ย่อมเกิดในสวรรค์.
บทว่า มิตรมีความรักใคร่ไม่ยินดีในความเสื่อมของเพื่อน ความว่า มิตรมีความรักใคร่ เห็นหรือได้ยิน ความสูญเสียเห็นปานนั้นของบุตรภรรยาหรือของบริวารชน เพราะความเสื่อม คือเพราะความไม่เจริญของเพื่อน ย่อมไม่ยินดี คือไม่ชอบใจ.
บทว่า ด้วยความเจริญ ความว่า มิตรมีความรักใคร่เห็นหรือได้ยิน ความสมบูรณ์ของข้าวกล้าเป็นต้น หรือการได้ความเป็นใหญ่ เพราะความเจริญของเพื่อนเห็นปานนั้น ย่อมยินดีชอบใจ.
บทว่า ห้ามคนที่ติเตียนเพื่อน ความว่า เมื่อคนพูดว่า คนโน้นรูปชั่ว ไม่น่าเลื่อมใส มีชาติทราม หรือเป็นคนทุศีล ดังนี้ มิตรมีความรักใคร่ ย่อมห้ามผู้อื่นที่กล่าวติเตียนเพื่อนของตนด้วยคำทั้งหลายเป็นต้นว่า ท่านอย่าพูดอย่างนี้ซิ เขามีรูปงามน่าเลื่อมใส มีชาติดีและถึงพร้อมด้วยศีล.
บทว่า สรรเสริญคนที่สรรเสริญเพื่อน ความว่า เมื่อคนพูดว่า คนชื่อโน้นมีรูปงามน่าเลื่อมใส มีชาติดี ถึงพร้อมด้วยศีล มิตรมีความรักใคร่ ย่อมสรรเสริญคนอื่นที่พูดสรรเสริญเพื่อนของตนอย่างนี้ว่า โอ ท่านพูดดี ท่านพูดถ้อยคำอย่างนี้ดีแล้ว ชายผู้นี้มีรูปงาม น่าเลื่อมใส มีชาติดี ถึงพร้อมแล้วด้วยศีล.
บทว่า บัณฑิตผู้สมบูรณ์ด้วยศีลย่อมรุ่งเรืองส่องสว่างเพียงดังไฟ ความว่า ย่อมรุ่งเรืองดุจไฟส่องแสงบนยอดเขาในกลางคืน.
บทว่า เมื่อบุคคลสะสมโภคะอยู่ ความว่า เมื่อบุคคลไม่เบียดเบียนตนบ้าง ผู้อื่นบ้าง รวบรวมโภคะโดยธรรม โดยเสมอ คือทำให้เป็นกอง.
บทว่า เหมือนแมลงผึ้งทำรัง ความว่า กระทำโภคะให้เป็นกองใหญ่โดยลำดับ เหมือนแมลงผึ้งไม่ทำลายสีและกลิ่นของดอกไม้ นำเกสรด้วยจะงอยปากบ้าง ด้วยปีกทั้งสองบ้างแล้วทำรวงผึ้ง ประมาณเท่าล้อโดยลำดับ.
บทว่า โภคะทั้งหลายย่อมถึงความเพิ่มพูน ความว่า โภคะทั้งหลายของเขาย่อมถึงความเพิ่มพูน.
อย่างไร.
เหมือนจอมปลวกอันตัวปลวกทั้งหลายก่อขึ้นโดยลำดับ ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ดุจจอมปลวก อันตัวปลวกก่อขึ้น. อธิบายว่า โภคะทั้งหลายย่อมถึงความเพิ่มพูน เหมือนจอมปลวกอันตัวปลวกก่อขึ้นฉะนั้น.
บทว่า ผู้สามารถ ความว่า คฤหัสถ์เป็นผู้มีสภาพเหมาะสม หรือเป็นผู้สามารถหรือเป็นผู้ใคร่ เพื่อดำรงการครองเรือน.
บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงประทานพระโอวาทโดยประการที่ผู้ครองเรือนพึงดำรงอยู่ จึงตรัสคำเป็นต้นว่า ผู้ครองเรือนพึงแบ่งโภคะออกเป็น ๔ ส่วนดังนี้.
ในบทเหล่านั้น บทว่า เขานั่นแหละย่อมผูกมิตรไว้ได้ ความว่า ผู้ครองเรือนนั้น เมื่อแบ่งโภคะอย่างนี้ชื่อว่า ย่อมผูกมิตรไว้ได้ คือตั้งไว้ซึ่งความไม่แตกกัน. ผู้ที่มีโภคะย่อมสามารถประสานมิตรไว้ได้ คนนอกนั้นไม่สามารถ.
บทว่า พึงบริโภคโภคะโดยส่วนเดียว ความว่า พึงบริโภคโภคะด้วยหนึ่งส่วน.
บทว่า พึงประกอบการงานด้วยสองส่วน ความว่า พึงประกอบการงานมีกสิกรรมและพาณิชยกรรมเป็นต้น ด้วยสองส่วน.
บทว่า พึงเก็บ คือ พึงเก็บส่วนที่สี่เอาไว้.
บทว่า จักมีในยามอันตราย ความว่า เพราะการงานนั้นย่อมไม่เป็นเช่นกับวันหนึ่งตลอดกาลของตระกูลทั้งหลาย. บางครั้ง แม้อันตรายก็ย่อมเกิดขึ้นได้ด้วยอำนาจราชภัยเป็นต้น. เพราะฉะนั้น โภคะจักมีในยามอันตรายทั้งหลายเกิดขึ้นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ผู้ครองเรือนพึงเก็บส่วนหนึ่งไว้ดังนี้.
ฉทิสาปฏิจฺฉาทนกณฺฑวณฺณนา
ด้วยกถามรรคเพียงเท่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานพระโอวาทเพื่อเว้นธรรมที่ควรเว้นและเพื่อเสพธรรมที่ควรเสพว่า ดูก่อนคฤหบดีบุตร อริยสาวกละอกุศลด้วยเหตุทั้งหลาย ๔ เว้นทางเสื่อมแห่งโภคะทั้งหลายด้วยเหตุทั้งหลาย ๖ เสพมิตร ๑๖ จำพวก ดำรงการครองเรือน กระทำการเลี้ยงดูภรรยา ย่อมเป็นอยู่ด้วยอาชีพอันเป็นธรรม และย่อมรุ่งเรืองดุจกองไฟในระหว่างเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย.
บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงทิศ ๖ ที่ควรนอบน้อม จึงตรัสคำเป็นต้นว่า ดูก่อนคฤหบดีบุตร ก็อริยสาวกเป็นผู้ปกปิดทิศทั้ง ๖ อย่างไร.
ในบทเหล่านั้น บทว่า พระอริยสาวกเป็นผู้ปกปิดทิศทั้ง ๖ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอยู่อย่างที่ภัยอันมาจากทิศทั้ง ๖ ย่อมไม่มาถึง เป็นแดนเกษมปราศจากภัย จึงตรัสว่า อริยสาวกเป็นผู้ปกปิดทิศทั้ง ๖ ดังนี้.
ในบททั้งหลายเป็นต้นว่า พึงทราบว่า มารดาบิดาเป็นทิศเบื้องหน้าดังนี้ คือ พึงทราบว่า มารดาบิดาเป็นทิศเบื้องหน้าเพราะเป็นผู้มีอุปการะก่อน อาจารย์เป็นทิศเบื้องขวา เพราะเป็นผู้ควรแก่ทักษิณา บุตรภรรยาเป็นทิศเบื้องหลัง ด้วยสามารถติดตามมาข้างหลัง มิตรสหายเป็นทิศเบื้องซ้าย เพราะแม้กุลบุตรนั้นอาศัยมิตรและสหาย จึงข้ามพ้นทุกข์พิเศษนั้นๆ ทาสและกรรมกรเป็นทิศเบื้องต่ำ ด้วยสามารถตั้งอยู่ ณ แทบเท้า สมณพราหมณ์เป็นทิศเบื้องบน เพราะความเป็นผู้ตั้งอยู่ในเบื้องบนด้วยคุณธรรมทั้งหลาย.
บทว่า ท่านเลี้ยงเรามา เราจักเลี้ยงท่านตอบ ความว่า เราอันมารดาบิดาให้ดื่มน้ำนมยังมือและเท้าให้เจริญ ดูดน้ำมูกให้ ให้อาบน้ำ ตกแต่งให้ เลี้ยงดูและประคับประคอง เราจักเลี้ยงมารดาบิดาเหล่านั้น ผู้แก่เฒ่าด้วยการล้างเท้า อาบน้ำให้ข้าวต้มและข้าวสวยเป็นต้น.
บทว่า เราจักทำกิจของมารดาบิดา ความว่า เราจักเว้นการงานของตน ไปทำกิจที่เกิดขึ้นในราชสำนักเป็นต้นแก่มารดาบิดา.
บทว่า เราจักดำรงวงศ์ตระกูล ความว่า บุตรไม่ทำให้นาวัตถุเงินและทองเป็นต้นอันเป็นของมารดาบิดาให้พินาศ แม้รักษาอยู่ ก็ชื่อว่าดำรงวงศ์ตระกูล บุตรทำให้มารดาบิดาเสื่อมจากวงศ์ที่ประกอบด้วยอธรรม แม้ให้ตั้งอยู่ในวงศ์ที่ประกอบด้วยธรรม ไม่เข้าไปตัดสลากภัตรเป็นต้น อันมาถึงแล้วโดยวงศ์ตระกูล แม้ให้เป็นไปอยู่ ก็ชื่อว่าดำรงวงศ์ตระกูล. ท่านกล่าวหมายถึงบทนี้จึงกล่าวว่า เราจักดำรงวงศ์ตระกูล ดังนี้.
บทว่า เราจักปฏิบัติตนให้สมควรเป็นผู้รับทรัพย์มรดก ความว่า มารดาบิดาไปถึงโรงศาล กระทำทารกผู้ไม่ประพฤติในโอวาทของตน ผู้ปฏิบัติผิด มิให้ถือว่าเป็นบุตร บุตรเหล่านั้นก็เป็นผู้ไม่สมควรรับมรดก แต่มารดาบิดาย่อมกระทำทารกผู้ประพฤติในโอวาท ให้เป็นเจ้าของทรัพย์อันมีอยู่ในตระกูล ท่านกล่าวว่า เราจักปฏิบัติตนให้เป็นผู้สมควรรับมรดก ด้วยประสงค์ว่าเราจักประพฤติอย่างนี้ ดังนี้.
บทว่า เมื่อท่านล่วงลับไปแล้วจักทำบุญอุทิศให้ท่าน ความว่า เราจักทำทานแผ่ส่วนบุญให้แก่ท่านเหล่านั้น แล้วจักเพิ่มทานอุทิศให้ตั้งแต่วันที่สาม.
บทว่า มารดาบิดาห้ามบุตรจากความชั่ว ความว่า มารดาบิดากล่าวถึงโทษ อันเป็นไปในปัจจุบันและภพหน้าของปาณาติบาตเป็นต้น แล้วห้ามว่า ลูกเอ๋ย เจ้าอย่าทำกรรมเห็นปานนั้นเลยดังนี้ ติเตียนบุตรที่ทำแล้ว.
บทว่า ให้ตั้งอยู่ในความดี ความว่า มารดาบิดา แม้ให้สินจ้าง เหมือนอนาถปิณฑิกเศรษฐีก็ยังให้บุตรตั้งอยู่ในการสมาทานศีลเป็นต้น.
บทว่า ให้เรียนศิลปะ ความว่า มารดาบิดารู้ความที่บุตรตั้งอยู่ในโอวาทของตนแล้ว ยังบุตรให้ศึกษาศิลปะมีการคำนวณชั้นยอดเป็นต้น อันไปตามวงศ์ตระกูล.
บทว่า หาภรรยาที่สมควรให้ คือ สมควรด้วยตระกูล ศีลและรูปเป็นต้น.
บทว่า มอบทรัพย์ให้ในสมัย ความว่า ให้ทรัพย์ในสมัย.
ในบทนั้น สมัย ๒ อย่าง คือ นิจสมัย ๑ กาลสมัย ๑.
มารดาบิดาให้ด้วยคำว่า เจ้าจงกระวีกระวาดถือเอาสิ่งที่ควรถือเอานี้ นี้จงเป็นรายจ่ายของเจ้า เจ้าจงทำกุศลด้วยรายจ่ายนี้ ดังนี้ชื่อว่าให้ในนิจสมัย ให้เป็นนิจ.
มารดาบิดาย่อมให้ในสมัยตัดจุกแต่งงานเป็นต้น ชื่อว่าให้ในกาลสมัย. อีกอย่างหนึ่ง มารดาบิดาแม้ให้ด้วยคำว่า เจ้าจงทำกุศลด้วยทรัพย์นี้แก่บุตรผู้นอนบนเตียงมรณะในครั้งสุดท้าย ก็ชื่อว่าให้ในสมัย.
บทว่า ทิศเบื้องหน้านั้นอันบุตรปกปิดแล้ว ความว่า ทิศเบื้องหน้าอันบุตรปกปิดแล้ว โดยที่ภัยพึงมาจากทิศเบื้องหน้า ย่อมไม่มาถึง. ก็ถ้าบุตรทั้งหลายพึงเป็นผู้ปฏิบัติผิด มารดาบิดาเป็นผู้ปฏิบัติชอบด้วยการเลี้ยงดูเป็นต้น ตั้งแต่ยังเป็นหนุ่ม ทารกเหล่านั้นเป็นผู้ไม่สมควรแก่มารดาบิดา เพราะฉะนั้น ภัยนั้นพึงมาถึง. บุตรทั้งหลายเป็นผู้ปฏิบัติชอบ มารดาบิดาเป็นผู้ปฏิบัติผิด มารดาบิดาก็ไม่สมควรแก่บุตรทั้งหลาย ดังนั้น ภัยนี้พึงมาถึง. เมื่อทั้งสองปฏิบัติผิด ก็มีภัยทั้งสองอย่าง. เมื่อทั้งสองปฏิบัติชอบ ก็ไม่มีภัยทั้งหมด. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ทิศเบื้องหน้านั้นอันบุตรปกปิดให้เกษมสำราญ ไม่ให้มีภัยดังนี้.
ก็แลพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว ได้ตรัสกะสิงคาลกะว่า ดูก่อนคฤหบดีบุตร บิดาของเธอไม่ได้ให้เธอนอบน้อมทิศเบื้องหน้าที่โลกสมมติกัน แต่บิดาของเธอกระทำมารดาบิดาให้เป็นเช่นกับทิศเบื้องหน้าแล้วให้เธอนอบน้อม บิดาของเธอกล่าวถึงทิศเบื้องหน้าอย่างนี้ ไม่ใช่อย่างอื่น.
บทว่า ด้วยการลุกขึ้น คือด้วยลุกขึ้นจากที่นั่ง. จริงอยู่ ศิษย์เห็นอาจารย์มาแต่ไกล ลุกจากที่นั่งทำการต้อนรับ รับสิ่งของจากมือ ปูอาสนะให้อาจารย์นั่งแล้ว พึงทำการพัด ล้างเท้า นวดเท้าเป็นต้นนั้น ท่านกล่าวหมายถึงบทว่า ด้วยการลุกขึ้น ดังนี้.
บทว่า ด้วยการรับใช้ ความว่า ด้วยเข้าไปรับใช้วันละ ๓ ครั้ง. แต่ที่แน่ๆ ก็ควรไปในกาลเรียนศิลปะ.
บทว่า ด้วยการเชื่อฟัง ความว่า ก็ศิษย์เมื่อไม่เชื่อฟัง ย่อมไม่บรรลุคุณวิเศษ.
บทว่า ด้วยการปรนนิบัติ คือ ด้วยการปรนนิบัติเล็กๆ น้อยๆ ไม่เหลือบ่ากว่าแรง. จริงอยู่ ศิษย์ควรลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ให้น้ำบ้วนปาก แปรงสีฟัน แม้ในเวลาอาหารก็ถือเอาน้ำดื่มไปให้ แล้วทำการรับใช้ เสร็จแล้วไหว้ ควรกลับได้ ควรซักผ้าที่มัวหมอง ควรตั้งน้ำอาบในตอนเย็น ควรอุปฐากในเวลาที่ท่านไม่สบาย. แม้บรรพชิตก็ควรทำอันเตวาสิกวัตรทุกอย่าง. นี้ท่านหมายถึงบทว่า ด้วยการปรนนิบัติ.
บทว่า ด้วยการเรียนศิลปะโดยเคารพ ความว่า การเรียนนิดหน่อยแล้วท่องหลายๆ ครั้งแม้บทเดียว ก็ควรเรียนให้รู้จริงชื่อว่า เรียนด้วยความเคารพ.
บทว่า แนะนำดี ความว่า อาจารย์ทั้งหลายย่อมให้ศิษย์ศึกษา คือ แนะนำมารยาทนี้ว่า เธอควรนั่งอย่างนี้ ควรยืนอย่างนี้ ควรเคี้ยวอย่างนี้ ควรบริโภคอย่างนี้ ควรเว้นมิตรชั่ว ควรคบมิตรดีดังนี้.
บทว่า ให้เรียนดี ความว่า อาจารย์ทั้งหลายชำระอรรถและพยัญชนะชี้แจงประโยคแล้ว ให้ศิษย์เรียนโดยอาการที่ศิษย์จะเรียนได้ดี.
บทว่า ยกย่องให้ปรากฏในเพื่อนฝูง ความว่า อาจารย์ทั้งหลายกล่าวถึงคุณของศิษย์อย่างนี้ว่า ศิษย์ของเราคนนี้ฉลาดเป็นพหูสูตร เท่าๆ กับเรา พวกท่านพึงยึดเหนี่ยวศิษย์นี้ไว้แล้ว ให้ศิษย์ปรากฏในเพื่อนฝูงทั้งหลาย.
บทว่า ทำการป้องกันในทิศทั้งหลาย ความว่า อาจารย์ย่อมทำการป้องกันศิษย์ในทิศทั้งปวงด้วยให้ศึกษาศิลปะ. เพราะว่า ลาภสักการะย่อมเกิดแก่ผู้เรียนศิลปะในทิศที่ไปแสดงศิลปะ ลาภสักการะนั้นเป็นอันชื่อว่า อาจารย์กระทำแล้ว. มหาชน แม้เมื่อจะกล่าวถึงคุณของศิษย์นั้น ย่อมกล่าวถึงคุณของอาจารย์ก่อนโดยแท้ว่า ศิษย์ของท่านนี้เป็นศิษย์ที่ล้างเท้าอาจารย์อยู่แล้วดังนี้. ลาภเกิดขึ้นแก่ศิษย์นั้นแม้ประมาณถึงพรหมโลก ก็เป็นของอาจารย์นั่นเอง.
อีกอย่างหนึ่ง โจรทั้งหลายในดงย่อมไม่เห็น อมนุษย์ก็ดี งูเป็นต้นก็ดี ย่อมไม่เบียดเบียนศิษย์คนใด ผู้อยากได้วิชาเดินไป อาจารย์แม้ให้ศิษย์คนนั้นศึกษา ก็ชื่อว่าย่อมทำความป้องกันในทิศทั้งหลาย.
อาจารย์ทั้งหลายแม้ยกย่องศิษย์อย่างนี้ว่า ศิษย์ของเราอยู่ในทิศนี้ ไม่มีต่างกันในศิลปะนี้ของศิษย์และของเรา พวกท่านจงไปถามศิษย์นั้นเถิด แก่มนุษย์ผู้เกิดความสงสัยจากทิศที่ศิษย์นั้นไปแล้วมาหาตน ก็ชื่อว่าย่อมทำการป้องกันเพราะลาภสักการะเกิดขึ้นแก่ศิษย์ในที่นั้น. อธิบายว่า ย่อมทำให้เป็นที่พึ่ง.
บทที่เหลือในเรื่องนี้พึงประกอบโดยนัยก่อนนั่นแล.
พึงทราบความในวาระทิศที่ ๓.
บทว่า ด้วยยกย่อง ความว่า ด้วยกล่าวถ้อยคำยกย่องอย่างนี้ว่า แม่เทพ แม่ดิศ ดังนี้.
บทว่า ด้วยไม่ดูหมิ่น ความว่า ด้วยไม่กล่าวดูถูก ดูหมิ่นเหมือนโบยเบียดเบียน แล้วพูดกะทาสและกรรมกรเป็นต้น ฉะนั้น.
บทว่า ด้วยไม่ประพฤตินอกใจ ความว่า สามีละเลยภรรยาแล้ว บำเรอกับหญิงอื่น ชื่อว่าประพฤตินอกใจภรรยา ด้วยไม่ทำอย่างนั้น.
บทว่า ด้วยสละความเป็นใหญ่ให้ มอบความเป็นใหญ่ให้ ความว่า จริงอยู่ หญิงทั้งหลายได้อาภรณ์แม้เช่นเครื่องประดับมหาลดา เมื่อไม่ได้จัดอาหารย่อมโกรธ เมื่อสามีวางทัพพีในมือแล้วกล่าวว่า แม่จงทำตามชอบใจของแม่เถิด ดังนี้ แล้วมอบครัวให้ชื่อว่ามอบความเป็นใหญ่ทั้งหมดให้. อธิบายว่า ด้วยทำอย่างนั้น.
บทว่า ด้วยมอบเครื่องประดับให้ ความว่า ด้วยมอบเครื่องประดับตามสมควรแก่สมบัติของตน.
บทว่า ภรรยาจัดการงานดี ความว่า ภรรยาไม่ละเลยเวลาต้มข้าวต้มและหุงข้าวสวยเป็นต้น แล้วจัดการงานให้ดี ด้วยการทำความดีแก่สามีนั้นๆ.
บทว่า สงเคราะห์บริชน ความว่า สงเคราะห์บริชนด้วยความนับถือเป็นต้น และด้วยการส่งข่าวเป็นต้น. ชนผู้เป็นญาติของสามีและของตน ชื่อบริชนในที่นี้.
บทว่า ไม่ประพฤตินอกใจสามี ความว่า ไม่ทิ้งขว้างสามีแล้ว ปรารถนาชายอื่นแม้ด้วยใจ.
บทว่า รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ ความว่า ทรัพย์ที่สามีทำกสิกรรมและพาณิชยกรรมเป็นต้นแล้วนำมารักษาไว้.
บทว่า เป็นผู้ขยัน ความว่า เป็นผู้ฉลาดละเอียดละออในการจัดข้าวยาคูแลภัตรเป็นต้น.
บทว่า ไม่เกียจคร้าน ความว่า ไม่ขี้เกียจ ภรรยาไม่เป็นเหมือนอย่างหญิงพวกอื่น ซึ่งเกียจคร้าน นั่งจมอยู่กับที่ที่ตนนั่ง ยืนและอยู่กับที่ที่ตนยืนฉะนั้น ย่อมยังกิจทั้งปวงให้สำเร็จด้วยใจกว้างขวาง.
พึงประกอบบทที่เหลือในเรื่องนี้ โดยนัยก่อนนั่นแล.
พึงทราบความในวาระทิศที่ ๔.
บทว่า ด้วยไม่แกล้งกล่าวให้คลาดจากความเป็นจริง ความว่า ด้วยไม่แกล้งกล่าวให้คลาดจากความเป็นจริง ถึงผู้ที่ยึดถือไว้แล้ว ไม่แกล้งกล่าวให้คลาดจากความเป็นจริง แล้วให้อย่างนี้ว่า แม้ชื่อนี้ก็มีอยู่ในบ้านของพวกเรา แม้ชื่อนี้ก็มี ท่านจงรับเอาไปเถิด.
บทว่า นับถือตลอดถึงวงศ์ของมิตร ความว่า บุตรธิดาของสหาย ชื่อประชา ก็บุตรธิดาของบุตรธิดาเหล่านั้น เป็นหลานและเป็นเหลน ชื่อว่า ประชาอื่นๆ ย่อมบูชา ย่อมยินดี ย่อมนับถือพวกเขา กระทำการมงคลเป็นต้น แก่พวกเขาในการทำพิธีมงคลเป็นต้น. บทที่เหลือในเรื่องนี้พึงประกอบ โดยนัยก่อนนั้นแล.
บทว่า ด้วยจัดการงานตามกำลัง ความว่า ด้วยไม่ให้คนแก่ทำงานที่คนหนุ่มทำ หรือไม่ให้คนหนุ่มทำงานที่คนแก่ทำ ไม่ให้ชายทำงานที่หญิงทำ หรือไม่ให้หญิงทำงานที่ชายทำ แล้วจัดการงานตามกำลังของคนนั้นๆ.
บทว่า ด้วยให้อาหารและรางวัล ความว่า ด้วยกำหนดความสมควรของคนนั้นๆ ว่า คนนี้เป็นลูกคนเล็ก คนนี้อยู่ร่วมกันมา ดังนี้ แล้วให้อาหารและให้ค่าใช้จ่าย.
บทว่า ด้วยรักษาในเวลาเจ็บไข้ ความว่า ด้วยไม่ให้ทำงานในเวลาไม่สบาย แล้วให้ยาทำให้สบายเป็นต้น แล้วดูแลรักษา.
บทว่า ด้วยแจกของมีรสแปลกประหลาดให้กิน ความว่า ด้วยเมื่อได้ของมีรสอร่อยแปลกๆ แล้วไม่กินเสียเองทั้งหมด แจกให้ทาสและกรรมกรเหล่านั้น.
บทว่า ด้วยปล่อยในสมัย ความว่า ด้วยปล่อยในนิจสมัยและกาลสมัย.
ทาสและกรรมกรทำงานตลอดวันย่อมเหน็ดเหนื่อย เพราะฉะนั้น การรู้เวลาแล้วปล่อย โดยประการที่ทาสและกรรมกรไม่เหน็ดเหนื่อย ชื่อว่าปล่อยในนิจสมัย. การให้ของตบแต่งของเคี้ยวแลของบริโภคเป็นต้น ในวันมีมหรสพนักขัตฤกษ์ และเล่นกีฬาเป็นต้นแล้วปล่อย ชื่อว่าปล่อยในกาลสมัย.
บทว่า ถือเอาแต่ของที่นายให้ ความว่า ไม่หยิบฉวยอะไรๆ เยี่ยงโจร ถือเอาแต่ของที่นายให้เท่านั้น.
บทว่า ทำการงานให้ดีขึ้น ความว่า ไม่เพ่งโทษว่า เรื่องอะไรที่เราจะทำงานให้แก่เขา เราไม่เห็นได้อะไรๆ เลย แล้วมีใจยินดีทำงาน เป็นผู้กระทำงานอย่างที่ทำดีแล้ว.
บทว่า นำคุณของนายไปสรรเสริญ ความว่า เมื่อถึงคราวสนทนากันในท่ามกลางบริษัท นำคุณของนายไปสรรเสริญว่า ไม่มีใครเช่นกับนายของเรา เราไม่รู้แม้ความเป็นทาสของตน ไม่รู้ความที่ท่านเหล่านั้นเป็นนาย นายอนุเคราะห์พวกเราถึงอย่างนี้.
บทที่เหลือแม้ในเรื่องนี้ พึงประกอบโดยนัยก่อนนั้นแล.
ท่านกล่าวเมตตากายกรรมเป็นต้นที่กุลบุตร เข้าไปตั้งเมตตาจิต กระทำแล้วในบททั้งหลายเป็นต้นว่า ด้วยกายกรรมประกอบด้วยเมตตาดังนี้. ในบทเหล่านั้น การไปวัดด้วยคิดว่า เราจักนิมนต์ภิกษุทั้งหลาย การถือธัมกรกรองน้ำและการกระทำมีการนวดหลังและนวดเท้าเป็นต้น ชื่อว่ากายกรรมประกอบด้วยเมตตา.
การเห็นภิกษุทั้งหลายเข้าไปบิณฑบาต แล้วกล่าวคำเป็นต้นว่า พวกท่านจงถวายข้าวต้ม พวกท่านจงถวายข้าวสวยโดยความเคารพดังนี้ การให้สาธุการ แล้วฟังธรรมและการกระทำการปฏิสันถารเป็นต้นโดยความเคารพ ชื่อว่า วจีกรรมประกอบด้วยเมตตา.
การคิดอย่างนี้ว่า พระเถระผู้เข้าไปสู่ตระกูลของพวกเรา ขอจงเป็นผู้ไม่มีเวร ขอจงเป็นผู้ไม่เบียดเบียนเถิด ชื่อว่า มโนกรรมประกอบด้วยเมตตา.
ในบทนั้น อธิบายว่า กุลบุตรแม้เปิดประตูทั้งหมด ไม่ให้ ไม่ต้อนรับผู้มีศีลทั้งหลาย ก็ชื่อว่าเป็นผู้ปิดประตูอยู่นั่นเอง. ก็แต่ว่ากุลบุตรแม้ปิดประตูทั้งหมด ให้ต้อนรับ ผู้มีศีลเหล่านั้น ก็ชื่อว่าเป็นผู้เปิดประตูอยู่นั้นเอง. เมื่อผู้มีศีลมาถึงประตูเรือน ไม่ควรกล่าวสิ่งที่มีอยู่ว่าไม่มี แล้วถวาย อย่างนี้ชื่อว่า ความเป็นผู้ไม่ปิดประตู.
บทว่า ด้วยให้อามิสทานเนืองๆ อธิบายว่า ของที่ควรบริโภคก่อนภัตตาหาร ชื่อว่าอามิส เพราะฉะนั้น ด้วยการถวายข้าวยาคูและภัตแด่ผู้มีศีลทั้งหลาย ดังนี้.
บทว่า อนุเคราะห์ด้วยใจงาม ความว่า ด้วยแผ่ประโยชน์เกื้อกูลอย่างนี้ว่า ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงเป็นผู้มีความสุข ไม่มีเวร ไม่มีโรค ไม่เบียดเบียนกันเถิด.
อีกอย่างหนึ่ง สมณพราหมณ์ แม้พาเพื่อนพรหมจรรย์ผู้มีศีลเหล่าอื่น แล้วเข้าไปสู่เรือนของอุปฐากทั้งหลาย ก็ชื่อว่า อนุเคราะห์ด้วยใจงาม.
บทว่า ทำสิ่งที่ฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง ความว่า มีสิ่งใดที่กุลบุตรเหล่านั้นฟังแล้วตามปกติ สมณพราหมณ์ทั้งหลายบอกเนื้อความของสิ่งนั้น แล้วบรรเทาความสงสัยหรือให้ปฏิบัติตามที่เป็นจริง.
บทที่เหลือแม้ในเรื่องนี้ ก็พึงประกอบโดยนัยก่อนนั้นแล.
บทว่า คฤหัสถ์ผู้สามารถ ความว่า คฤหัสถ์ผู้สามารถกระทำการเลี้ยงดูบุตรภรรยา แล้วให้ครองเรือน.
บทว่า บัณฑิต คือเป็นผู้ฉลาดในฐานะนอบน้อมทิศทั้งหลาย.
บทว่า เป็นผู้ละเอียด คือ เป็นผู้ละเอียดด้วยการเห็นความอันสุขุม หรือด้วยกล่าววาจานุ่มนวล.
บทว่า มีไหวพริบ คือ เป็นผู้มีไหวพริบในฐานะนอบน้อมทิศทั้งหลาย.
บทว่า ถ่อมตน คือ ประพฤติต่ำ.
บทว่า ไม่กระด้าง คือ เว้นจากความดื้อรั้น.
บทว่า มีความเพียร คือ ถึงพร้อมด้วยความขยันและความเพียร.
บทว่า ไม่เกียจคร้าน ความว่า ผู้ปราศจากความเกียจคร้าน.
บทว่า มีความประพฤติไม่ขาดสาย คือ มีความประพฤติไม่ขาดด้วยสามารถกระทำติดต่อกันไป.
บทว่า มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญาอันทำให้เกิดฐานะ.
บทว่า เป็นผู้สงเคราะห์ คือ ทำการสงเคราะห์ด้วยสังคหวัตถุ ๔.
บทว่า ทำให้เป็นมิตร คือ แสวงหามิตร.
บทว่า เป็นผู้รู้ถ้อยคำ คือ รู้คำอันบุพพการีกล่าว. อธิบายว่า ในเวลาไปเรือนสหาย ระลึกถึงคำพูดที่บุพพการีพูดว่า พวกท่านจงให้ผ้าโพก จงให้ผ้าสาฎกแก่สหายของเรา จงให้อาหารและค่าจ้างแก่มนุษย์ทั้งหลาย เมื่อเขามาเรือนของตน เป็นผู้กระทำตอบเพียงเท่านั้น หรือยิ่งกว่านั้น.
อีกอย่างหนึ่ง รู้คำพูดของสหายนั้น แม้เป็นคำพูดที่ประพฤติตามกันต่อๆ กันมา ไม่สามารถจะรับได้ด้วยความละอาย สหายผู้มาด้วยคิดว่า เราจักไปเรือนของสหายแล้วจักถือเอาสิ่งนี้ดังนี้ เขามาด้วยประโยชน์อันใด ยังประโยชน์อันนั้นให้สำเร็จ ชื่อว่ารู้คำพูด.
แม้ตรวจตราดูแล้วให้สิ่งที่สหายพร่อง ก็ชื่อว่า เป็นผู้รู้คำพูดเหมือนกัน.
บทว่า เป็นผู้แนะนำ ความว่า เมื่อจะชี้แจงเนื้อความนั้นๆ เป็นผู้แนะนำด้วยปัญญา. ชี้แจงเหตุหลายๆ อย่าง แนะนำ ชื่อว่าเป็นผู้แนะนำเหตุผล. แนะนำบ่อยๆ ชื่อว่าตามแนะนำ.
บทว่า เหมือนสลักรถอันแล่นไปอยู่ ความว่า เมื่อการสงเคราะห์เหล่านี้ยังมีอยู่โดยแท้ โลกยังเป็นไปได้ เมื่อไม่มีโลกก็เป็นไปไม่ได้ เหมือนสลักยังมีอยู่ รถย่อมแล่นไปได้ เมื่อสลักไม่มี รถก็แล่นไปไม่ได้ ฉะนั้น
เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า การสงเคราะห์เหล่านี้แลในโลก เหมือนสลักรถแล่นไปอยู่ฉะนั้น.
บทว่า มารดาไม่ได้รับความนับถือบูชาเพราะเหตุแห่งบุตร ความว่า ผิว่า มารดาไม่พึงทำการสงเคราะห์เหล่านี้แก่บุตร มารดาไม่พึงได้ความนับถือหรือความบูชาเพราะเหตุแห่งบุตร.
ด้วยประการดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนคฤหบดีบุตร เธอจงนอบน้อมทิศที่บิดาของเธอกล่าวหมายถึง แล้วทรงแสดงทิศ ๖ เหล่านี้นั้นว่า ผิว่าเธอทำตามคำบิดา เธอจงนอบน้อมทิศเหล่านี้ ทรงตั้งคำถามแก่สิงคาลกะ ยังเทศนาให้ถึงที่สุดแล้ว เสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์เพื่อบิณฑบาต.
แม้สิงคาลกะก็ได้ตั้งอยู่ในสรณะทั้งหลาย แล้วเฉลี่ยทรัพย์ ๔๐ โกฏิ ไว้ในพระพุทธศาสนากระทำกรรมอันเป็นบุญ ได้เป็นผู้มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า.
ก็ในสูตรนี้ ชื่อว่า กรรมใดที่คฤหัสถ์ควรทำอย่างใดอย่างหนึ่ง กรรมนั้นอันพระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ตรัสไว้ ย่อมไม่มี พระสูตรนี้ ชื่อว่าคิหิวินัย เพราะฉะนั้น เมื่อฟังพระสูตรนี้แล้วปฏิบัติตามที่ได้สอนไว้ ความเจริญเท่านั้นเป็นอันหวังได้ ไม่มีความเสื่อมฉะนี้.
จบอรรถกถาสิงคาลกสูตร ที่ ๘ ในทีฆนิกายอรรถกถา
ชื่อ สุมังคลวิลาสินี ด้วยประการฉะนี้.
-----------------------------------------------------
ขอขอบพระคุณที่อุตสาหะนำพระสูตรฯ ที่แม้จะยาว แต่ก็เป็นที่ผู้ใฝ่ในธรรม พึงสดับเสมอ….วิโรจน์ ครับ