ชีวิตที่พอเพียง  4407. วุฒิภาวะทางจิตใจ


 

เย็นวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๖๖ ผมจะติดตามลูกชายไปคุยกับคุณ Victoria Subirana    โดยผมรู้จักเธอทางออนไลน์ในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕   ในการประชุม  The Virtual Conference.  Mindfulness in Action: From Classroom to Community Enhancementจัดโดยศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันอาศรมศิลป์    และเธอเป็น keynote speaker เรื่อง  “The Evolution of the Mind; the only revolution of 21st Century.” 

ผมจึงเตรียมไปเรียนรู้จากคุณ วิกตอเรีย    โดยเข้าไปอ่าน PowerPoint ที่เธอนำเสนอในการประชุม ที่ผมถ่ายรูปเก็บไว้    และเข้าไปฟังเสียงการบรรยาย ที่ผมบันทึกเสียงเก็บไว้   โชคดีที่การประชุมของผม ในวันที่ ๕ มกราคมที่เขานัดไว้งดไป    ผมจึงมีเวลาละเลียดข้อมูลที่เก็บไว้จากวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ได้อย่างไม่รีบร้อน   

มาสะกิดใจกับคำว่า maturity of the mind – วุฒิภาวะทางจิตใจ ที่คุณวิกตอเรียใช้   ในทำนองสื่อสารว่ามนุษย์เราต้องมีกระบวนการวิวัฒนาการทางจิตใจ เป็นการปฏิวัติสำหรับศตวรรษที่ ๒๑   สู่ Pedagogy for Transformation and Evolution  -  เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง    ที่ผมตีความว่า เป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติ สู่การใคร่ครวญสะท้อนคิด – Experiential Learning    ที่ทำอย่างเป็นวงจร ที่สะท้อนคิดสู่การเรียนรู้ทั้งเรียนรู้วิธีการ และเรียนรู้หลักการ    ตามแนวทางของ Kolb’s Experiential Learning Cycle    

ผมตีความว่า คุณวิกตอเรียเน้นการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง   เน้นทักษะการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงของตนเอง สู่การเปลี่ยนแปลงภายในของตน    สู่วุฒิภาวะทางจิตใจ   

คุณวิกตอเรีย บอกว่า การเรียนรู้แบบนี้ต้องการ พื้นที่การเรียนรู้, วัสดุการเรียนรู้ที่จำเพาะ,    กิจกรรมประจำวัน,  ครูที่รู้บทบาทหน้าที่,  และการประเมินแบบพิเศษ  ตาม PowerPoint

เท่ากับคุณวิกตอเรียมองว่า การศึกษาในรูปแบบ (Formal Education) ไม่เพียงพอต่อการพัฒนาวุฒิภาวะทางจิตใจของมนุษย์    ต้องเสริมด้วยการเรียนรู้แบบพิเศษ ที่เธอเสนอ   ซึ่งผมทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย   เห็นด้วยว่าเด็กและเยาวชน (และคนทุกช่วงชีวิต) ต้องเรียนรู้สู่วุฒิภาวะทางจิตใจ    แต่ไม่เห็นด้วยว่าควรแยกออกจากการศึกษาในรูปแบบ    กล่าวใหม่ว่า การศึกษาในรูปแบบต้องบูรณาการการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง ที่รวมทั้งการพัฒนาวุฒิภาวะทางจิตใจ    เมื่อคุยกับลูกชายในภายหลังจึงทราบว่า ข้อนี้เธอคิดแบบเดียวกัน   คือต้องบูรณาการการเรียนรู้แบบพิเศษนี้ เข้ากับระบบการศึกษาตามปกติ    และที่เธอทำที่เนปาลก็ทำในโรงเรียนที่เป็นของรัฐ    โดยระดมทรัพยากรจากภาคอื่นๆ เข้ามาสนับสนุน   

กลับมาฟังการบรรยายของเธออีกครั้งหนึ่ง ผมจึงนึกออกว่า    การเรียนรู้ของเธอเป็น การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Transformative Learning) สำหรับเธอ เพราะเธอย้ายจากสเปนไปอยู่ที่เนปาล    ที่ประชากรร้อยละ ๗๕ ไม่รู้หนังสือ    เด็กและเยาวชนถูกกระทำสารพัดด้าน ได้แก่ ถูกกระทำ   ถูกใช้เป็นคนขอทาน   เป็นแรงงานเด็ก   ถูกขายเป็นเป็นโสเภณี    ถูกนำไปตัดอวัยวะเอาไปขาย   ถูกขายเอาไปเลี้ยงเป็นลูก   และถูกกระทำในรูปแบบอื่นๆ   ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งใจจิตใจอย่างรุนแรง    นำสู่การกระทำเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กจำนวนหนึ่งมีชีวิตที่ดี    เกิดการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน ทั้งต่อตัวเธอ และตัวเด็ก   

โชคดีที่ก่อนไปเนปาล  เธอเรียนและทำงานด้านการเรียนรู้หลากหลายแบบ ในหลายประเทศ    จนวุฒิภาวะด้านจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (agency / change agent) สุกงอม     เมื่อพบปัญหาที่เนปาล จึงลุกขึ้นดำเนินการกิจกรรมหรือพื้นที่พัฒนาวุฒิภาวะด้านจิตใจ ให้แก่เยาวชนเนปาลอย่างเห็นผล   โดยวิธีการทั้งหมดนั้น ผมตีความว่า เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง    ตามด้วยการใคร่ครวญสะท้อนคิด    ตามแนวทางของ Kolb’s Experiential Learning Cycle    

 ผมเตรียมไปถามคุณวิกตอเรียว่า    วิธีการฝึกให้เกิด “วุฒิภาวะด้านจิตใจ” (maturity of the mind) เยาวชนในโลกตะวันตก   กับต่อเยาวชนในโลกตะวันออก ต่างกันอย่างไร    โดยผมเข้าใจว่าหลักการเหมือนกัน   

ข้างบนนั้น เขียนก่อนการไปพบปะพูดคุย    ที่บ้านของเธอที่เป็นทาวน์โฮม อยู่ในซอยปุณณวิถี ๒๑ ใกล้สถานีรถไฟฟ้า บีทีเอส ปุณณวิถี   โดยลูกชายขับรถขึ้นทางด่วนจากบ้านผมไป ๔ ต่อ         

ตอนไปคุย ตั้งแต่ราวๆ ๑๕.๓๐ ถึง ราวๆ ๑๙.๓๐ น. สนุกกว่าที่คิดไว้มาก   เธอเป็นคนมีพลังมาก และ hyper-extrovert อย่างหาตัวจับยาก    ลูกชายช่วยตีความให้ตอนเขาขับรถกลับ ว่าเธอมีทั้งส่วนที่มีทฤษฎีแม่นยำชัดเจน และส่วนที่ mystic เว่อร์ๆ   ที่ผมตีความว่า เป็น diversified mode of creativity    ทำให้เธอทำงานสร้างสรรค์ด้านการศึกษาได้ผลจริง    และเป็นวิทยากรเรียนรู้ด้านใน ที่คนนิยมมาก   ลูกชายจะจัดอบรมเรื่องชีวิตกับความตาย ๕ วัน    ระหว่างวันที่ ๑ - ๕ มีนาคม ๒๕๖๖ ที่อาศรมวงศ์สนิท โดย Victoria Subirana เป็นวิทยากร    ลูกชายชวนผมไปเข้า แต่ผมมีนัดแล้วในวันที่ ๓, ๔, ๕ จึงอดเข้าเรียนรู้ประสบการณ์ช่วงใกล้ตายของตนเอง     

เราคุยกันแบบ non-stop เพราะความช่างพูดของเธอ   และความช่างถามของผม    จึงมีเรื่องให้ผมเรียนรู้มาก   แต่เรื่องที่จะนำสู่โอกาสทำประโยชน์แก่วงการศึกษาไทย    คือการฝึกครูไทยให้มีสมรรถนะในการจัดการ Pedagogy for Transformation and Evolution ของเธอ    ที่ผมถามว่า โรงเรียนรุ่งอรุณดำเนินการตามแนวนี้ไหม    เธอตอบว่าไม่    แล้วอธิบายวิธีการตามแนวของเธอ    

เป็นการประยุกต์ The Tao of Teaching  ต่อการเรียนรู้ด้านใน   โดยการถามตนเองในเรื่องที่เกี่ยวกับตนเอง    ในเรื่องเกี่ยวกับครอบครัว   เกี่ยวกับสังคม    ถามคำถามที่ชวนให้ตนเองสะท้อนคิด    ที่ในที่สุดเกิดการเปลี่ยนแปลงภายใน สู่การเป็นผู้ลงมือกระทำ    ที่เป็นด้านบวก เป็นประโยชน์ต่อตนเอง  ครอบครัว  ผู้อื่น และสังคม       

 เธอไม่ใช้คำว่า Reflection   แต่ใช้คำว่า contemplation ซึ่งแปลว่าไตร่ตรองเหมือนกัน   แต่ทางศาสนาทางตะวันออกใช้คำ contemplation เป็นหลัก     ผมชอบที่เธอบอกว่า การเรียนที่สนุกไม่ใช่ว่าจะได้ความรู้จริงจังเสมอไป    บางครั้งการร้องไห้คร่ำครวญ จะนำสู่การเรียนรู้ในระดับเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน หากครูผู้เป็นโค้ชตั้งคำถามชวนไตร่ตรองหรือใคร่ครวญสะท้อนคิดสู่ประเด็นสำคัญที่ควรได้เรียนรู้จากเหตุการณ์นั้น    เธอบอกว่า ความรู้สึก (feeling) ไม่ใช่ของจริง  อาจเกิดจากจิตใจที่โง่งมงายก็ได้   สิ่งที่เป็นของจริงคือการเรียนรู้และเกิดพัฒนาการด้านใน    ที่เมื่อคุยมาถึงตรงนี้ผมก็นึกถึงมายาคติในวงการศึกษาไทยที่คิดว่า    ห้องเรียนที่สนุกเฮฮา มีกิจกรรมให้เห็น เป็นเป้าหมายของการจัดการห้องเรียนที่พึงประสงค์    โดยไม่คำนึงว่าเด็กได้เรียนรู้อะไร    ผมอดนึกในใจไม่ได้ว่า สงสัยจะได้เรียนความผิวเผิน         

ลูกชายเล่าผลกระทบที่ตนเองได้รับ จากการไปเข้าคอร์ส Life Mission (ความมุ่งมั่นในชีวิต)  (๒ วัน) ที่มูลนิธิวัชรสิทธาจัด และเธอเป็นวิทยากร   ใช้แนวคิดเรื่องชีวิตแบบทิเบต ว่าคนเรามีหลายชาติภพ โดยมี Life Mission ต่อเนื่องกัน   เธอช่วยตั้งคำถามจนลูกชายหลุดออกจากความไม่พอใจพื้นฐานชีวิตของตนเอง    ที่ตกอยู่ใต้ร่มเงาชื่อเสียงของปู่ (ท่านพุทธทาส)  และของพ่อ   เพราะเขาต้องการให้ผู้คนมองเขาในฐานะที่เป็นนายวิจักขณ์ พานิช    ไม่ใช่มองเป็นหลานท่านพุทธทาส  เป็นลูกหมอวิจารณ์   ตอนนี้เขายอมรับความจริงว่าเป็นหลานท่านพุทธทาส เป็นลูกหมอวิจารณ์   โดยไม่รู้สึกว่าตกอยู่ใต้ร่มเงาชื่อเสียงของผู้อื่นอีกต่อไปแล้ว    นี่คือตัวอย่างของ transformation ที่เกิดจากการ facilitate โดยคุณวิกตอเรีย  

เธอบอกว่า ความทุกข์ (suffering) ในชีวิต คือโอกาสเรียนรู้    การหลีกเลี่ยงการเกิดความทุกข์เป็นการปิดโอกาส   แต่เมื่อมีโอกาสแล้วต้องรู้จักเรียนรู้จากโอกาสนั้น       

ผมออกความเห็นว่า วุฒิภาวะทางจิตใจต้องเริ่มฝึกตั้งแต่เป็นเด็กเล็ก    เธอตอบว่า ใช่แล้ว    และบอกว่าได้เคยทดลองทำในเด็กอนุบาล เป็นคอร์ส ๓ เดือน    ให้เด็กอธิบาย ฉันคือใคร    อธิบายเรื่องครอบครัว เรื่องปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่       โดยผมมีข้อสังเกตว่า การตั้งคำถามนำของเธอ เป็นคำถามเชิงบวก เชิงบอกเป้าหมายในชีวิต    ใช้คำถาม “อย่างไร” (how) และ “ทำไม” (why) บ่อยๆ    และพบว่า วุฒิภาวะทางจิตใจของเด็กที่เข้าคอร์ส ๓ เดือน   เท่ากับวุฒิภาวะทางจิตใจของผู้ใหญ่ที่เข้าคอร์ส ๓ เดือน     เธอตีความว่า วุฒิภาวะทางจิตใจคนไม่ขึ้นกับอายุของเจ้าตัว   แต่ขึ้นอยู่กับการฝึกฝนเรียนรู้   เธอบอกว่า หากได้ฝึกให้แก่เด็กทุกคนในโลก  จะเกิดการปฏิวัติโลกหรือมนุษยชาติ

ผมจึงเกิดความคิดว่า    น่าจะมีการฝึกในหลักสูตรพ่อแม่    แก่คู่สมรสที่สังคมและเศรษฐฐานะต่ำ ที่เตรียมมีลูก    หรือกำลังจะมีลูก   ดูว่าผลของการฝึกวุฒิภาวะของจิตใจ ส่งผลต่อการเลี้ยงลูกอย่างไร   ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กทั้งทางกายและทางจิตใจ ความประพฤติอย่างไร   ติดตามเด็กเป็น long-term cohort   ว่า intervention นี้ส่งผลต่อคุณภาพพลเมืองอย่างไร   คุ้มค่าของการลงทุนฝึกหรือไม่     

เธอบอกว่า เธอมีหนังสือ หลักสูตรฝึกวุฒิภาวะทางจิตใจแก่เด็กตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมปลาย รวมทั้งวิธีประเมินผล    เป้าหมายคือให้เด็กมีเป้าหมายในชีวิต (life objective)    เริ่มจากการถามตนเอง ว่าฉันเป็นคนแบบไหน   เป็นจอมโกหกหรือไม่    พอใจกับสภาพเป็นนักโกหกหรือไม่    จะเปลี่ยนแปลงตัวฉันเองอย่างไร    ครอบครัวของฉันเป็นอย่างไร  พอใจกับสภาพในครอบครัวไหม    ฉันจะช่วยทำให้ครอบครัวมีความสุขเพิ่มขึ้นได้อย่างไร   ทำอย่างไรความสัมพันธ์ในครอบครัวของฉันจะดีขึ้น     ห้องเรียนของฉันเป็นอย่างไร ฉันจะช่วยยกระดับหรือพัฒนาสภาพในห้องเรียนของฉันได้อย่างไร   ต้องไม่เอาแต่บ่น ต้องมุ่งเป็นผู้ร่วมปรับปรุง    สภาพในชุมชนใกล้บ้าน (neighborhood) เป็นอย่างไร    ฉันจะมีส่วนเล็กๆ ที่จะทำให้ชุมชนของฉันน่าอยู่ยิ่งขึ้นได้อย่างไร    เมืองที่ฉันอยู่เป็นอย่างไร ฉันจะสร้างผลกระทบที่ดีให้แก่เมืองได้อย่างไร    ไล่ไปจนถึงระดับประเทศ  และโลก   กระบวนการนี้ทำต่อเนื่อง วันละครึ่งชั่วโมง     มีผลให้เด็กเข้าใจว่า การเปลี่ยนนิสัยต้องใช้เวลา การเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างกันต้องใช้เวลา   ต้องอดทน   ต้องเข้าใจคนอื่น  ต้องไม่เห็นแก่ตัว   

เมื่อผมถามว่า คิดใคร่ครวญอยู่ในใจคนเดียวเท่านั้นหรือ   ไม่แชร์ให้เพื่อนร่วมเรียนรู้บ้างหรือ   ได้รับคำตอบว่า มี   โดยครูบอกนักเรียนว่า มีใครอยากแชร์ความคิดของตนแก่เพื่อนในชั้นบ้างไหม    โดยให้เป็นการแชร์โดยสมัครใจ    ไม่จี้ตัว   ทั้งหมดนั้นผมตีความว่า ใช้จิตวิทยาเชิงบวก    เพื่อเป็นระบบนิเวศเพื่อการเติบโตจากภายในของตนเอง     

คุณลักษณะที่พัฒนาตั้งแต่ชั้นอนุบาลคือ ความซื่อสัตย์  ตรงต่อเวลา  เห็นอกเห็นใจผู้อื่น  รู้คุณ รู้จักให้อภัย  เป็นต้น    เป็นการเรียนรู้ที่ยากกว่าเรียนวิชา    และครูต้องเรียนรู้ก่อน  จึงจะโค้ชศิษย์ได้   คุณวิกตอเรียเรียนรู้เรื่องนี้จากการเผชิญความยากลำบากที่เนปาลอยู่หลายปี    เมื่อจนปัญญาก็ไปปรึกษาพระลามะ ที่เรียกว่าพระอาจารย์ (รินโปเช)   ก็ได้รับคำแนะนำว่าต้องฝึกตัวเอง หรือเรียนรู้ด้วยตัวเองก่อน    เรียนรู้จากการปฏิบัติ ด้วยจิตใจเชิงบวก แล้วไตร่ตรอง (contemplate)    โดยท่านรินโปเชแนะนำให้วิเคราะห์ความคิดของตนเอง    ซึ่งเมื่อทำ ก็พบว่าตนเองพูดโกหกบ่อยๆ จนเป็นนิสัย   เมื่อนำไปปรึกษารินโปเช   ท่านก็บอกว่า เปลี่ยนตัวเองไม่ได้แล้วจะไปสอนเด็กได้อย่างไร   จะเห็นว่าท่านรินโปเชช่วยโค้ชให้คุณวิกตอเรียเปลี่ยนแปลงตนเองระดับรากฐานโดยไม่ได้บอกวิธีปฏิบัติ    ปล่อยให้ค้นหาทดลองเอง    จนคิด Pedagogy for Transformation and Evolution ขึ้นได้เอง    

คุณวิกตอเรียบอกว่าจิตใจคนเราถูกครอบงำ (condition) โดยความกลัว (fear)  และโดยหลักคำสอน (doctrine)    ตนเองเรียนจากประสบการณ์ของตนเอง    ไม่เชื่อคำสอน และไม่กลัวที่จะคิดเอง แล้วทดลอง     เป็นครูสอนไปด้วย และเรียนรู้ไปด้วยพร้อมๆ กัน    แต่ก็ต้องเผชิญความขัดแย้ง ว่าที่ตนทำไม่ตรงตามตำราหรือคำสอน   ต้องกล้ายืนหยัด   

เมื่อผมเสนอว่า ควรฝึกพ่อแม่   เธอก็บอกว่ากำลังมีโครงการฝึกพ่อแม่และลูกวัยรุ่นพร้อมๆ กัน    เป็นโครงการที่เจ็บปวดมากสำหรับพ่อแม่ ที่จะยอมปลดปล่อยมายาคติที่ยึดถือมานาน    นำสู่การนัดแนะมาคุยกับทีมของ กสศ.  เรื่องการพัฒนาครู   

เทวดาช่วยแนะให้ผมบันทึกเสียงการสนทนาช่วงนี้ไว้     เอากลับมาฟังที่บ้านอย่างชุ่มชื่นหัวใจ  ได้รายละเอียดตามที่บันทึกข้างบน                           

วิจารณ์ พานิช

๖ ม. ค. ๖๖

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 711737เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2023 16:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2023 16:37 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

This reads like an ‘ascent of human’ (a lotus out of the water in Buddhists’ term).
I salute Victoria Subirana.

We really need more like her in this world.

ขอบคุณอาจารย์ที่บันทึกเรื่องยากๆ ให้เข้าใจได้ง่ายค่ะ

ขอบคุณเทวดาที่ชี้แนะให้ อาจารย์วิจารณ์ บันทึกเสียงเรื่องที่เล่ามา เลยทำให้พวกเราได้อ่านบันทึกนี้อย่างจุใจครับ….วิโรจน์ ครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท