ชีวิตที่พอเพียง  4388. ใช้ใบสั่งทางสังคม คู่กับใบสั่งยา  เคลื่อนสู่การสร้างระบบนิเวศสุขภาวะ


 

ในการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ IHPP เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๕ ที่โรงแรมบั๊ดดี้ ปากเกร็ด    นพ. ยศ. ตีระวัฒนานนท์ เล่าว่า ในประเทศแคนาดา    มีการริเริ่มใช้ “ใบสั่งทางสังคม” (social prescription) คู่กับใบสั่งยา (drug prescription) ในการบำบัดโรคเรื้อรัง    โดยกำหนดให้แพทย์ต้องตรวจสอบกรองหรือหาข้อมูลของผู้ป่วย ๕ ด้าน เช่น อาหาร  ที่อยู่อาศัย  อาชีพ ความรุนแรงที่เผชิญ    แล้วหาทางให้มีการช่วยเหลือทางสังคมที่เหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละราย   

เป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินเรื่อง  “ใบสั่งทางสังคม”    และเข้าใจทันทีว่า โรคเรื้อรังมักมีสาเหตุระดับ root cause อยู่ที่พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม หรือสภาพแวดล้อมในการดำรงชีวิตที่ไม่เหมาะสม ซ่อนอยู่    การให้ยาโดยไม่หาทางแก้ไข root cause จึงได้ผลน้อย    จึงกลับมาค้นที่บ้าน พบข้อมูลมากมาย เช่น (๑)  (๒)    ได้เรียนรู้ว่าเรื่องนี้ริเริ่มโดยสหราชอาณาจักร    

ทำให้ผมเกิดความคิดว่า   น่าจะมีการพัฒนาและวิจัย “มาตรการสังคมบำบัด” (social support) (เป็นชื่อที่ผมคิดขึ้นเอง) ให้แก่ผู้เป็นโรคเรื้อรังของไทย   ในลักษณะที่จำเพาะตามสภาพของผู้ป่วยแต่ละคน    ขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพปฐมภูมิ หรือระบบสุขภาพชุมชน   โดยที่ส่วนใหญ่ของมาตรการนี้ ดำเนินการโดยอาสาสมัคร ที่จัดการเองโดยชุมชน   

เนื่องจาก สบช. ประกาศตัวเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อระบบสุขภาพชุมชน    ผมจึงขอเสนอให้ผู้บริหารของ สบช. พิจารณา ดำเนินการทำความรู้จักเรื่อง social prescribing    และปรึกษาหารือกับ สสป. (สำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ)  สสส. และ สวรส.   หาทางทดลองทำโครงการนำร่องในอำเภอที่มีผู้นำพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ    อาจทดลองทำพร้อมๆ กันสัก ๑๐ อำเภอ (พื้นที่)    โดยอาจปรึกษา นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ    และ นพ. สันติ ลาภเบญจกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลำสนธิ    ในการคิดโมเดลที่เหมาะสม    และพิจารณาหาทางร่วมมือกันริเริ่มพัฒนาระบบ “สังคมบำบัด” ขึ้นในระบบสุขภาพปฐมภูมิของไทย 

แหล่งทุนเพื่อการนี้อาจเป็น สวรส. ร่วมกับ สสส.  และอาจชักชวนองค์การอนามัยโลก มูลนิธิ ร็อกกีเฟลเล่อร์    ไชน่า เมดิคัล บอร์ด ร่วมสนับสนุนด้วย   

การดำเนินการในแต่ละพื้นที่ ของ สบช.    น่าจะมอบหมายให้วิทยาลัย (วิทยาลัยพยาบาลฯ  หรือวิทยาลัยสาธารณสุขฯ) ในพื้นที่อาสาเข้ามารับผิดชอบ   มีอิสระในการตัดสินใจดำเนินการอย่างสร้างสรรค์ ภายใต้กรอบเป้าหมายและคุณค่าที่ร่วมกันกำหนด 

อาจปรึกษา ดร. นพ. วิรุฬ ลิ้มสวาท สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (SHI) IHPP  เพื่อหาทางร่วมทำวิจัยด้านมานุษยวิทยาสังคมการแพทย์ สนับสนุนการสร้างความรู้ความเข้าใจมิติด้านความเป็นมนุษย์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในการพัฒนาระบบสังคมบำบัด ในระบบสุขภาพปฐมภูมิ

โดยต้องไปไกลกว่า “สังคมบำบัด” สู่ “สังคมสร้างเสริมสุขภาวะและป้องกันโรค”    คือเคลื่อนกระบวนทัศน์จากการตั้งรับสู่การดำเนินการเชิงรุก    โดยมีการเรียนรู้จาก ผู้ที่เป็นโรคแล้ว    จาก “ใบสั่งทางสังคม” และจาก “มาตรการสังคมบำบัด” สู่การร่วมกันสร้างมาตรการสร้างเสริมสุขภาวะและป้องกันโรค โดยชุมชนร่วมกันดำเนินการ   หนุนโดยภาควิชาการและภาควิชาชีพ   

เป็นการสร้างมาตรการทางสังคมโดยมีผู้เป็นโรคเป็นพลังขับเคลื่อนร่วมกับภาคีทุกภาคส่วน หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ในชุมชน   เพื่อสร้างระบบนิเวศการดำรงชีวิต ที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพ    ต่อการมีสุขภาวะที่ดี ไปตลอดชีวิต   

ย้ำว่า โครงการนำร่อง พัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิระดับอำเภอ น่าจะพิจารณาใช้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังเป็น actor   ร่วมกับ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญ คือเยาวชน   เพราะเขาจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากระบบนิเวศนี้   

นั่นคือ โครงการนำร่อง ต้องดึงโรงเรียนและนักเรียน เข้ามาเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย   ซึ่งก็คือ เข้ามาร่วมเป็น actor ในการร่วมกันคิด และพัฒนา ระบบนิเวศการดำรงชีวิตเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะของทุกคนในชุมชน    ร่วมกับผู้นำชุมชน และทีมพัฒนาและวิจัยของ สบช.   

ข้อสะท้อนคิดนี้   เริ่มจากการเรียนรู้เรื่องใบสั่งทางสังคม คู่กับใบสั่งยา     ที่เป็นมาตรการบำบัดโรคเรื้อรัง     ที่อยู่ในกระบวนทัศน์ตั้งรับหรือบำบัดโรค   เคลื่อนสู่กระบวนทัศน์เชิงรุกของการป้องกันโรคและสร้างเสริมสุขภาพ    ที่ชุมชนลุกขึ้นมาดำเนินการเพื่อสุขภาวะของผู้คนในชุมชน    โดยมีทีมนักวิชาการ และนักวิชาชีพเป็นกองหนุน

คำถามคือ จะออกแบบโครงการทดลองหรือนำร่องอย่างไร    ดำเนินการในระดับใด ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ หรือระดับตำบล    ทดลองเป็นเวลานานเท่าไร (ผมคิดไว้ว่า ๓ ปี)    มีการเก็บข้อมูลอะไรบ้าง    เพื่อการเรียนรู้ตอบโจทย์อะไรบ้าง     เป็นโจทย์ระดับปฏิบัติ   ระดับหลักการ   และระดับวิชาการลึกๆ เชิงมิติของความเป็นมนุษย์ มิติของการรวมตัวกันเพื่อความอยู่รอดและอยู่ดี    หรือ มิติของชุมชนเข้มแข็ง   อย่างไรบ้าง        

เป็นเรื่องที่ผู้ดำเนินการโครงการต้องคิดเอง   

บันทึกนี้สะท้อน reflection ของผม    ที่เริ่มจาก นวัตกรรม social prescription   ที่อยู่ในกระบวนทัศน์ตั้งรับหรือบำบัดโรค   ที่เชื่อมสังคมหรือชุมชนเข้ามาหาทางหนุนให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังเปลี่ยนพฤติกรรม   

เชื่อมสู่แนวคิดในกระบวนทัศน์สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยชุมชน    เน้นโรคเรื้อรัง    โดยใช้พลังของผู้ที่ป่วยแล้วเป็น actor ร่วมกับภาคีเครือข่าย หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลาย    ดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นในชุมชนต้องเป็นโรคเรื้อรังเหล่านั้น    และเพื่อให้เกิดระบบนิเวศของชุมชน    ที่ช่วยสร้างเสริมสุขภาวะของคนในชุมชน 

เป็น social well-being promotion   ที่ไปไกลกว่า social prescription   

โปรดสังเกตว่า   มองเฉพาะสุขภาพที่ฝรั่งเรียกว่า health ยังแคบไป    ต้องไปให้ถึง สุขภาวะ (well-being)    ที่มีสภาพเป็นองค์รวม ทั้งมิติทางกายภาพ (physical)  จิตใจ (mental)  และวิญญาณ (spiritual)     โดยผมขอเติมมิติด้านการเรียนรู้จากการปฏิบัติ หรือการดำรงชีวิตเข้าไปด้วย   

สุขภาวะของมนุษย์ต้องมีมิติของการเรียนรู้จากประสบการณ์ (experiential learning)  ฝังแฝงอยู่ภายใน    เหมือนกับที่คอมพิวเตอร์มี intel inside    หากไม่มีการเรียนรู้และปรับตัว    มนุษย์จะไม่มีวันมีสุขภาวะที่แท้จริงได้    เพราะจะตกเป็นเหยื่อของสภาพแวดล้อมที่ “สุดโหด” (wicked) ได้ง่าย    แทนที่จะใช้ ภาวะ “สุดโหด” เป็นเครื่องมือ สร้างปัญญา สู่การสร้างเสริมสุขภาพให้แก่ตนเอง และเผื่อแผ่แก่สังคมหรือชุมชน 

การเรียนรู้จากประสบการณ์ คือเครื่องมือสร้างปัญญา    และนำมาใช้เพื่อการสร้างระบบนิเวศชุมชน  สู่การสร้างเสริมสุขภาวะได้    โครงการนำร่องที่เอ่ยถึง จะนำไปบูรณาการในโครงการอย่างไร   ต้องคิดเอง

โดยต้องตระหนักว่า ระบบนิเวศชุมชน ในหลายกรณี ไม่ได้ราบรื่น    แต่มี “ปัญหาสุดโหด” (wicked problem)   แฝงอยู่    หาก สบช. ดำเนินการโครงการนำร่อง ๑๐ พื้นที่    จะเลือกพื้นที่ “สุดโหด” ที่มีปัญหาท้าทายสุขภาวะ แบบไหน เอามาท้าทายตนเอง   

นี่คือข้อสะท้อนคิด โดยเน้น creative mode ของการสร้างสรรค์   จึงไม่รับรองว่าวิธีคิดที่เสนอถูกต้อง หรือเหมาะสมหรือไม่    หากจะนำไปดำเนินการ ต้องปรับปรุงเพิ่มเติมอีกมาก   โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับให้เหมาะต่อสภาพบริบทที่แตกต่างกัน   

วิจารณ์ พานิช

๒๑ ธ.ค. ๖๕

 

หมายเลขบันทึก: 711428เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2023 17:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มกราคม 2023 17:21 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท