"ครูผู้สอน"


"ครูผู้สอน"

  “ครูผู้สอน” คือ ผู้ที่มีความสามารถให้คำแนะนำ เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางการเรียน สำหรับนักเรียน หรือ นักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั้งของรัฐและเอกชน มีหน้าที่ หรือมีอาชีพในการสอนกับวิชาความรู้ หลักการคิดการอ่าน รวมถึงการปฏิบัติและแนวทางในการทำงาน โดยวิธีในการสอนจะแตกต่างกันออกไปโดยคำนึงถึงพื้นฐานความรู้ ความสามารถ และเป้าหมายของนักเรียนแต่ละคน และนอกจากการสอนแล้วครูยังเป็นผู้ยกระดับวิญญาณมนุษย์ ให้รู้จักผิดชอบชั่วดี สอนในคุณงามความดีเพื่อเป็นแม่แบบให้เด็กได้ปฏิบัติตามทั้งต่อหน้าและลับหลัง

“บทบาทของครูผู้สอนในการจัดการเรียนการสอน 5 ประเภท”

  -บทบาทของครูผู้สอนนั้น ถือว่าเป็นตัวแปรที่สำคัญอย่างหนึ่ง ในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งการที่ครูผู้สอนมีการแสดงบทบาทในการเรียนการสอนที่แตกต่างกันนั้น มีผลทำให้บรรยากาศในการเรียนรู้ รวมถึงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนนั้นมีความแตกต่างกันตามไปด้วย

  -ต่อไปนี้คือบทบาทของครูผู้สอนในรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่แตกต่างกัน 5 ประเภท ซึ่งแต่ละประเภทล้วนมีจุดเด่นและจุดด้อย รวมถึงความสอดคล้องกับยุคสมัยที่แตกต่างกัน ซึ่งควรที่จะพิจารณาในการนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม

*ครูผู้สอนในฐานะผู้มีอำนาจ

   -บทบาทของครูผู้สอนในลักษณะนี้ เป็นลักษณะที่พบเจอได้โดยทั่วไป ตั้งแต่ยุคอดีตจวบจนถึงยุคปัจจุบันก็ยังมีพบเห็นกันได้อยู่ ซึ่งครูผู้สอนลักษณะนี้จะเป็นผู้ควบคุมชั้นเรียนแบบเบ็ดเสร็จ โดยนักเรียนเป็นเพียงผู้ถูกควบคุม และไม่มีความเท่าเทียมกับครูผู้สอน ครูผู้สอนจึงไม่ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือในการเรียนรู้ แต่เป็นเพียงผู้ป้อนความรู้ให้กับนักเรียน ซึ่งข้อดีของการจัดการเรียนการสอนที่ครูผู้สอนมีบทบาทเช่นนี้ คือการที่นักเรียนได้รับความรู้โดยตรงจากครูผู้สอน เน้นให้นักเรียนท่องจำ โดยไม่จำเป็นต้องสนใจความคิดเห็นปลีกย่อยอื่น ๆ ทำให้นักเรียนจดจำสาระความรู้ต่าง ๆ ได้อย่างดี

   -แต่อย่างไรก็ตาม บทบาทของครูผู้สอนเช่นนี้ ไม่ใช่บทบาทที่เหมาะสมสำหรับรูปแบบของการศึกษาสมัยใหม่ เพราะไม่ได้สร้างให้นักเรียนเกิดกระบวนการคิด ขาดความคิดสร้างสรรค์ ไม่สามารถเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ ด้วยความห่างเหินของครูผู้สอนกับนักเรียน จึงทำให้นักเรียนขาดความมั่นใจในตัวเอง มีทัศนคติทางลบต่อการเรียน และขาดอิสระในการเรียนรู้อีกด้วย

  *ครูผู้สอนในฐานะผู้สาธิต

  -เป็นบทบาทของครูผู้สอนที่มุ่งให้นักเรียนแสดงออกทางพฤติกรรมในรูปแบบที่กำหนด ผ่านการสาธิต ซึ่งมีทั้งที่ครูผู้สอนสาธิตด้วยตัวเอง หรือใช้สื่อการเรียนการสอน เช่น คลิปวีดีโอในสื่อมัลติมีเดียต่าง ๆ เป็นเครื่องในการสาธิต ซึ่งรูปแบบนี้ยังคงเป็นลักษณะของการที่ครูผู้สอนเป็นผู้ควบคุมอยู่ แต่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนเรียนรู้จากการสังเกตและแสดงออกด้วยตัวเอง

  -ครูผู้สอนในฐานะผู้สาธิตนั้น เหมาะสมอย่างมากสำหรับการเรียนการสอนที่เน้นให้นักเรียนเกิดทักษะและแสดงออกด้านพฤติกรรมที่ถูกต้อง เพราะบทบาทนี้จะช่วยให้นักเรียนเรียนรู้และปฏิบัติตามขั้นตอนต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม เป็นขั้นเป็นตอน และลดข้อผิดพลาด แต่อย่างไรก็ดี บทบาทนี้มีข้อจำกัดในเรื่องของปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนที่มีการปฏิสัมพันธ์กันค่อนข้างน้อย

  *ครูผู้สอนในฐานะผู้อำนวยความสะดวก

   -บทบาทของครูผู้สอนในฐานะผู้อำนวยความสะดวก จะทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการเรียนการสอน และในขณะเดียวกันก็ดำเนินการกระตุ้นกระบวนการเรียนรู้ โดยการสร้างสภาพแวดล้อมและสนับสนุนทางจิตวิทยาให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งเป็นรูปแบบที่อยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า นักเรียนมีความสามารถในการในการค้นหาคำตอบผ่านการสำรวจด้วยตัวเอง โดยครูผู้สอนช่วยในการกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์รวมไปถึงสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายและเป็นอิสระ เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนเรียนรู้และรู้จักแก้ปัญหา

  -บทบาทของครูผู้สอนในฐานะผู้อำนวยความสะดวกนี้ เป็นรูปแบบที่กำลังได้รับความนิยม และถูกยกย่องว่าเป็นรูปแบบที่เป็นผลดีต่อการศึกษายุคใหม่ เพราะเป็นบทบาทที่กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดองค์ความรู้ด้วยตัวเอง และเพื่อให้การสอนมีประสิทธิภาพสูงสุด ควรใช้เทคนิคนี้ในกลุ่มย่อย เพราะการที่ครูผู้สอนปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนเป็นรายบุคคลจะทำให้เขาเรียนรู้และมีความมั่นใจมากขึ้น

 *ครูผู้สอนในฐานะตัวแทน

  -เป็นบทบาทที่ครูผู้สอนจะเป็นส่วนหนึ่งในทีมที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนในกิจกรรมต่าง ๆ และคอยสังเกตการณ์ ซึ่งเหมาะสมอย่างมากกับการทำงานกลุ่ม โดยข้อดีของกลยุทธ์การสอนนี้ คือนักเรียนจะรู้สึกว่าเป็นอิสระ มีอิสระในการเลือกด้วยตัวเอง โดยไม่โดนบังคับ
   -แต่อย่างไรก็ดี การที่บทบาทนี้ นักเรียนจะไม่ถูกบังคับจากระบบการเรียนรู้หรือตัวครูผู้สอน แต่ในทางกลับกัน การที่นักเรียนไม่ได้ถูกบังคับนี้กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์พอสมควร เพราะเป็นการแสดงให้เห็นว่าอิทธิผลและอำนาจของครูผู้สอนนั้นไม่สำคัญและถูกตัดทอนลง

 *ครูผู้สอนในฐานะผู้ควบคุมสื่อ

  -บทบาทของครูผู้สอนในฐานะผู้ควบคุมสื่อนั้น จะเน้นรูปแบบการเรียนรู้แบบผสมผสาน โดยใช้สื่อเทคโนโลยีดิจิตอลที่ทันสมัยเข้ามาผสมผสานกับเทคนิคการเรียนการสอนแบบดั้งเดิม ซึ่งทำให้การเรียนการสอนตามปกติมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นรูปแบบที่เหมาะสมกับการเรียนเป็นกลุ่มใหญ่ เพราะสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการเข้าถึงนักเรียนจำนวนมากได้อย่างดี และช่วยให้นักเรียนสามารถเข้าถึงเนื้อหาหลักสูตรต่าง ๆ ในเวลาและสถานที่ที่สะดวกได้อีกด้วย
   -บทบาทนี้แม้จะเป็นรูปแบบที่มุ่งสู่อนาคต แต่ในทางตรงกันข้ามกลับมีข้อโต้แย้งมากมายเกี่ยวกับวิธีการเรียนรู้เพราะมองว่าวิธีนี้ส่งผลกระทบทางลบต่อนักเรียนและครู ซึ่งนักเรียนบางคนอาจไม่สามารถเข้าถึงสื่อได้ทัดเทียมกับเพื่อน ทำให้วิธีนี้เป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ของเขา ในขณะที่ครูผู้สอนอาจจำเป็นต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อที่จะพัฒนาเนื้อหลักสูตรให้เข้ากับความต้องการของนักเรียน

   “ทั้งหมดนี้คือบทบาทของครูผู้สอนในการจัดการเรียนการสอนทั้ง 5 ประเภท ที่มีการนำมาประยุกต์ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งแต่ละประเภทนั้นล้วนมีจุดเด่นจุดด้อยที่แตกต่างกัน จึงควรเลือกบทบาทให้เหมาะสมกับบริบทของนักเรียน สภาพแวดล้อม รวมถึงยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเหมาะสม”

“ครูในระดับต่ำกว่าอุดมศึกษา”

   *ครูประจำการ…

   “ครูประจำการ” หมายถึง ข้าราชการครูผู้ดูแลนักเรียนในห้องเรียนหรือชั้นเรียนหนึ่ง ๆ เป็นเวลาหนึ่งภาคเรียนหรือหนึ่งปีการศึกษา พร้อมทั้งทำหน้าที่ธุรการประจำห้องเรียน ในโรงเรียนของรัฐบาล

  -ในอดีตความสัมพันธ์ของครูประจำชั้นจะเปรียบเสมือนผู้ปกครองคนที่สอง ต้องคอยดูแลเอาใจใส่ อบรมสั่งสอน ช่วยแก้ปัญหา และเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับบ้าน อันเป็นผลทำให้ครูและโรงเรียนได้รับความศรัทธาพร้อมทั้งมีบุญคุณต่อนักเรียนและครอบครัว

   -ระบบการศึกษาส่วนใหญ่ในโรงเรียนทั่วโลกมีการนักเรียนออกเป็นชั้น ๆ เป็นห้อง ๆ เพื่อความสะดวกต่อการเรียนการสอน และการดูแลปกครอง รวมทั้งทำกิจกรรมอื่น ๆ โดยเรียกเรียกว่า "ห้องเรียน" หรือ "ชั้นเรียน" (Classroom) และเรียกเพื่อนร่วมชั้นเรียนเดียวกันว่า "เพื่อนร่วมชั้น" (Classmates)

  *ครูในระดับอุดมศึกษา*

   -ผู้สอนในวิทยาลัย มหาวิทยาลัย หรือระดับอุดมศึกษา จะมีตำแหน่ง อาจารย์ โดยอาจารย์ที่ได้รับตำแหน่งทางวิชาการ ได้แก่ อาจารย์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ ตามลำดับ การได้รับตำแหน่งทางวิชาการเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา

 *ครูในระดับอาชีวศึกษา*

    -ผู้สอนในวิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยการอาชีพ วิทยาลัยเกษตร จะมีตำแหน่ง ครู โดยครูที่ได้รับตำแหน่งทางวิชาการ ได้แก่ ครู, ครูผู้ช่วย, ครูปฏิบัติการ, ครูชำนาญการ, ครูชำนาญการพิเศษ , ครูเชี่ยวชาญ ตามลำดับ การได้รับตำแหน่งทางวิชาการเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา

*ครูผู้ดูแลระบบจัดการโรงเรียน*

     -ครูที่ทำหน้าที่ดูแลระบบทั้งโรงเรียนจะเรียกว่า “ครูใหญ่” ซึ่งคล้ายคลึงกับคณบดี หรืออธิการบดี ในระดับอุดมศึกษา โดยหน้าที่ของครูใหญ่มักจะทำหน้าที่ดูแลระบบการจัดการของโรงเรียนมากกว่าการสอนในห้องเรียน ต่อมาเป็นตำแหน่ง “ผู้บริหารสถานศึกษา” ทำหน้าที่บริหารสถานศึกษา

*ครูในศตวรรษที่ 21*

(การเรียนรู้แบบบูรณาการโดยโครงงาน)

  -ในยุคศตวรรษที่ 21 นี้ กระบวนการเรียนอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก   ผู้เรียนจะเรียนด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ทันสมัยมีความก้าวหน้า และสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มากและรวดเร็วขึ้น ปัญหาที่สืบเนื่องมาจากจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้นต่อห้องเรียน

   -จนทำให้วิธีการสอนแบบเดิมๆ ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ สื่อที่แสดงมีขนาดใหญ่ไม่เพียงพอสำหรับ ผู้เรียนที่อยู่หลังห้อง ความจดจ่อกับผู้สอนถูกเบี่ยงเบนจากพฤติกรรมและสภาพแวดล้อมในชั้นเรียนขนาดใหญ่ ผู้เรียนมีการนำเอาคอมพิวเตอร์พกพาเข้ามาสืบค้นความรู้ในชั้นเรียน ผู้เรียนถามคำถามเกี่ยวกับเรื่องที่ครูกำลังสอน หรือนำข้อมูลเหล่านั้นมาพูดคุย โดยที่ครูตอบไม่ได้ หรือไม่เคยรู้มาก่อน

  -เมื่อเป็นเช่นนี้ ครูจึงต้องพร้อมที่จะปรับตัวและพัฒนาตนเองให้ทันยุคที่เปลี่ยนไป และต้องไม่ขาดความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาทักษะและวิทยาการให้ทันสมัย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้เทคนิควิธีการเรียนการสอนแบบใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ได้เด็กมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามที่สังคมไทยและสังคมโลกต้องการ

  -ในการนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communications Technology :ICT) มาใช้ในการศึกษา ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อการยกระดับคุณภาพทางการศึกษา ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอนและการพัฒนาครูได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งยังช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนครูผู้สอน ตลอดจนลดความไม่เท่าเทียมทางการศึกษาในโรงเรียนที่ห่างไกลอีกด้วย

 

คำสำคัญ (Tags): #"ครูผู้สอน"
หมายเลขบันทึก: 711339เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2023 14:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มกราคม 2023 17:08 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท