๑,๓๑๘ ศิลปินเดี่ยว....


ด้วยครูและนักเรียนมีความตั้งใจ และผอ.ก็จะเกษียณแล้ว จึงไม่ควรขัดขวางเส้นทางแห่งความก้าวหน้าของบุคลากร ที่ช่วยสะท้อนความเป็นตัวตนของโรงเรียนได้อีกทางหนึ่ง

     วันนั้น...ที่จำได้ เป็นปีพ.ศ.๒๕๖๒ ผมเดินทางไปที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯ พบเห็นการส่งมอบวัสดุอุปกรณ์ทางการศึกษามากมาย มีร้านค้าเดินทางมาส่งมอบและเขตฯทำการตรวจรับ

     หนึ่งในวัสดุอุปกรณ์เหล่านั้น มีเครื่องดนตรีไทยอยู่ด้วย จำนวนหลายชิ้นแบบเต็มวง ผมเดินชมและลูบคลำอยู่สักพัก ก็เห็นว่ามีผู้บริหารโรงเรียนเข้ามาลงนามรับเครื่องดนตรีทั้งหมดกลับไป

     ณ เวลานั้น..ความรู้สึกของผม อยากได้อยากมีขึ้นมาทันที ลองถามใจตัวเองตอนนั้นว่าทำไมต้องอยากด้วย ทำไมจะต้องมีแบบเขา...เรามันก็แค่โรงเรียนเล็กๆ

     โรงเรียนก็มีวงดุริยางค์กับกลองยาวแล้ว แต่จะมีอีกสักวงจะเป็นไรไป ใจก็ยังอยากอยู่ดี ยิ่งนึกย้อนไปไกลในอดีตที่ยาวนาน เมื่อครั้งเรียนปริญญาตรี ยังมีความประทับใจไม่รู้ลืม

     ที่วิทยาลัยครูพระนคร ตอนเรียนวิชาเอกภาษาไทย พอเลือกวิชาโทบรรณารักษ์ เพราะชอบห้องสมุด ที่จุดประกายให้รักการอ่าน แต่ใจก็ยังรักดนตรีไทย เหมือนรักพี่เสียดายน้อง

     ตัดสินใจขั้นเด็ดขาด คลานเข่าเข้าไปกราบหัวหน้าภาควิชาดนตรี ขอสมัครเป็นลูกศิษย์นอกเวลาด้วยสักคน ท่านอาจารย์ก็ใจดีรับไว้ ปีแรกให้มีหน้าที่ตีฉิ่งตีฉาบและแบกกลองเวลามีงาน

     พอขึ้นปีสอง ท่านอาจารย์เห็นว่าเอาจริง จึงสอนวิชาตีกลอง(เครื่องหนัง)ทุกอย่าง มีเวลาว่างก็เรียนเครื่องดนตรีอื่นไปด้วย แต่ไม่เก่งสักอย่าง ยกเว้นกลองที่ชอบและถนัดที่สุด

     ความรักฝังใจในเรื่องราวของดนตรีไทย...ถึงขนาดส่งลูกชาย เข้าศึกษาในสถาบันด้านดนตรีตั้งแต่อยู่ชั้นมัธยม พอลูกชายเกิดชอบขึ้นมาจริงๆ จึงสามารถเรียนจนจบหลักสูตร

    วันนั้น..หลังจากลูบคลำเครื่องดนตรีเสร็จแล้ว ก็เดินทางกลับโรงเรียน ฝันหวานมาตลอดทาง โดยคิดว่าจะต้องของบประมาณจากเขตฯบ้าง พอถึงโรงเรียน ก็รีบทำเอกสารของบประมาณทันที

      ปีพ.ศ.๒๕๖๓ ได้รับการอนุมัติและได้รับจัดสรรเครื่องดนตรีไทยในเดือนสิงหาคม ๒๕๖๓ ท่ามกลางความตื่นเต้นของคณะครูและนักเรียน ที่เห็นความอลังการภายในห้องดนตรี

      ๑ ปีผ่านไป...นักเรียนฝึกซ้อมอย่างหนัก โดยมีครูควบคุมอย่างใกล้ชิด บางสัปดาห์ก็ต้องเพิ่มรอบเช้าวันเสาร์อาทิตย์ เพื่อให้ลูกศิษย์มีความชำนาญ แต่นานเหลือเกินกว่าจะต่อเพลงได้จนจบ

      ปี ๒๕๖๕ จึงได้เวลาออกงาน หาประสบการณ์บนเวทีใหญ่ๆ ใช้ดนตรีไทยไปสัมพันธ์ชุมชน ทั้งงานวัด ผ้าป่ากฐิน งานท้องถิ่นเช่นงานลอยกระทง ตลอดจนงานต้อนรับแขกของโรงเรียน

      พอผ่านเวทีมากขึ้น นักเรียนก็มีความมั่นใจ และเริ่มจะบรรเลงได้หลายเพลง ทำให้วงดนตรีไทยของโรงเรียนเข้มแข็ง มีผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาผู้ปกครองมากขึ้น

      ปีนี้ ครูผู้สอนดนตรีมาขอเข้าร่วมการแข่งขันทักษะทางวิชาการ งานศิลปหัตถกรรมนักเรียนประจำปีการศึกษา ๒๕๖๕ ซึ่งผอ.ไม่เคยสนใจเข้าร่วมงานแบบนี้เลยตลอดหลายปีที่ผ่านมา

      แต่ด้วยครูและนักเรียนมีความตั้งใจ และผอ.ก็จะเกษียณแล้ว จึงไม่ควรขัดขวางเส้นทางแห่งความก้าวหน้าของบุคลากร ที่ช่วยสะท้อนความเป็นตัวตนของโรงเรียนได้อีกทางหนึ่ง

    จึงสอบถามข้อมูลความต้องการของครูว่าจะส่งกี่รายการ ประเภทอะไรบ้าง ผอ.จะได้ช่วยสนับสนุน หรือไม่ก็ช่วยลุ้นเพื่อเป็นกำลังใจให้ประสบความสำเร็จ

     ครูบอกว่า...ส่งเข้าแข่งขันในระดับเขต ๓ รายการ ประกอบด้วย เดี่ยวระนาดทุ้ม ชั้น ป.๕ เดี่ยวฆ้องวงใหญ่และฆ้องวงเล็ก โดยนักเรียนชายและหญิงชั้น ป.๔

     ผมนึกในใจ ณ ตอนนั้น ขนาดเล่นเป็นวงก็ยังยาก หากจะไปเล่นเป็นศิลปินเดี่ยว นักเรียนคงตื่นเต้นมิใช่น้อย แต่เอาเถอะแพ้ชนะก็ถือว่าเป็นบทเรียนที่ล้ำค่า จะหาในหลักสูตรก็คงไม่มีอีกแล้ว

     วันนี้..นักเรียนผู้เป็นศิลปินน้อยทั้งสามคนกลับมารายงาน ผ่านการเดี่ยวโชว์ให้คณะกรรมการที่เขตฯฟังเป็นที่เรียบร้อยโรงเรียนบ้านหนองผือ

     ถือรางวัลชนะเลิศกลับมาทุกคน ผมขนลุกซู่...คิดถึงครูบาอาจารย์ขึ้นมาทันที ปีพ.ศ. ๒๕๖๖ ที่จะเกษียณอายุราชการ พัฒนางานดนตรีไทย..จนได้ไปต่อในระดับประเทศถึง ๓ รายการ..งานนี้ไม่ธรรมดาเลยจริงๆ

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๒๓  ธันวาคม  ๒๕๖๕

 

 

หมายเลขบันทึก: 710977เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2022 22:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 ธันวาคม 2022 22:10 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท