เรียนรู้จากการทำหน้าที่นายกสภา สบช.  11. โอกาสพัฒนาชาลาการเรียนรู้กลับทางในระดับหลักสูตร


 

สภาสถาบัน สบช. ในการประชุมครั้งที่ ๘/๒๕๖๕  วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๖๕   มีวาระเรื่อง หลักสูตรฉุกเฉินการแพทย์บัณฑิต หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2565 (ด้วยรูปแบบการจัดการศึกษา ที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา) ที่กล่าวได้ว่าเป็นหลักสูตร sandbox ตามนโยบายของกระทรวง อว.   ที่จะเร่งรัดผลิตบัณฑิตปริญญาตรีสาขานี้ ๑๕,๐๐๐ คน ใน ๕ ปี (จริงๆ แล้ว จะผลิตได้ ใน ๙ ปี)   

เมื่อผมอ่านเอกสารของวาระมาถึงหลักการของหลักสูตรที่ไม่ใช้วิธีจัดการเรียนรู้แบบมาตรฐานการเรียนทั่วๆ ไป    แต่จัดแบบ หน่วยการเรียน ที่เรียกว่า “หน่วยกิจกรรม” (modular system)   ไม่ใช่ระบบหน่วยกิต (credit system)    ผมก็ปิ๊งแว้บทันทีว่า    นี่คือโอกาสที่ สบช. จะพัฒนา “ชาลาการเรียนรู้” (learning platform) แนวนวัตกรรม … innovative learning platform   

เป็นการพัฒนา “ชาลาการเรียนรู้แบบกลับทาง” (reversed learning platform)   คือกลับทางจากแนวทางเดิม ที่เรียนปฏิบัติต่อจากความรู้ทฤษฎี (theoretical learning ตามด้วยการฝึกปฏิบัติ)    เปลี่ยนมาเป็นเรียนทฤษฎีจากการปฏิบัติ (experiential learning)    คือใช้การปฏิบัตินำ     เรียนรู้หรือทำความเข้าใจทฤษฎีในมิติที่ลึก จากการปฏิบัติ 

การเรียนรู้แนวปฏิบัตินำ ต้องต้องรู้จักหมุนวงจรการเรียนรู้สู่ความเข้าใจหลักการหรือทฤษฎี    ที่เรียกว่า Kolb’s Experiential Learning Cycle   เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ระดับลึกและเชื่อมโยง (deep and transfer learning)     ไม่หยุดอยู่แค่เรียนรู้ระดับผิว (superficial learning)  คือรู้แค่ปฏิบัติได้ (what & how) ไม่รู้คำอธิบาย (why)    การจะรู้คำอธิบายว่าทำไมต้องทำอย่างนั้น ไม่ทำอีกอย่างหนึ่ง ต้องการความรู้เชิงทฤษฎี   และ Kolb’s Experiential Learning Cycle จะช่วยให้เข้าใจทฤษฎี (ในมิติที่ลึกและเชื่อมโยง) จากการปฏิบัติ   

เท่ากับคณะสาธารณสุขและสหเวชศาสตร์ ผู้รับผิดชอบหลักสูตรนี้ของ สบช.   ควรดำเนินการเรียนรู้จากการดำเนินการหลักสูตรนี้ด้วย Kolb’s Experiential Learning Cycle   เพื่อพัฒนา ชาลาเรียนรู้ที่เน้นการปฏิบัตินำ  สู่ความเข้าใจทฤษฎีในมิติที่ลึกโดยใช้  Kolb’s Experiential Learning Cycle ในการเรียนรู้ของนักศึกษา     

เป็นการพัฒนาวิธีประยุกต์ใช้ Kolb’s Experiential Learning Cycle แบบสองชั้น    คือชั้นของอาจารย์ กับชั้นของนักศึกษา 

การใช้ Kolb’s Experiential Learning Cycle พัฒนา “ชาลาการเรียนรู้แนวปฏิบัตินำ”    จะมีผลให้ทั้งอาจารย์และนักศึกษา เกิดทักษะเรียนรู้ ทฤษฎีจากการปฏิบัติ ติดตัวไปตลอดชีวิต   เอาไปใช้ยกระดับความรู้เชิงหลักการหรือเชิงทฤษฎีของตน จากประสบการณ์ตรง    ช่วยสร้างความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และในชีวิต     

สำหรับอาจารย์  ควรร่วมกันสร้าง “ชาลาสร้างสรรค์งานวิชาการจากการปฏิบัติ” (Experiential Academic Platform)     ที่จะช่วยให้อาจารย์มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ และได้รับตำแหน่งวิชาการ                

วิจารณ์ พานิช

๖ ต.ค. ๖๕     

  

   

 

 

หมายเลขบันทึก: 710779เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2022 14:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 ธันวาคม 2022 14:59 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท