ขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ โดย ศ. นพ. ประเวศ วะสี


การขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ

ระเบียบวาระแห่งชาติ

         

  1. หลักการและเหตุผล ความยากจนและความเหลื่อมล้ำเป็นศัตรูที่ร้ายแรงที่สุดของชาติ เพราะทำร้ายทุกองคาพยพของประเทศ ทำให้ประเทศติดอยู่ใน “หลุมดำ” แห่งวิกฤตการณ์ 
    ไม่สามารถเคลื่อนไปสู่อนาคตที่ถูกต้องดีงามได้ 

            ฉะนั้น คนไทยทุกหมู่เหล่าควรจะถือเป็นหน้าที่ ที่จะทำสงครามเอาชนะความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ หรือเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ (National Agenda)

  1. ยุทธศาสตร์หลัก คือ ยุทธศาสตร์ “ชุมชนเข้มแข็ง” ชุมชนเข้มแข็งเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดในการขจัดความยากจนลดความเหลื่อมล้ำ ชุมชนเข้มแข็งเกิดจากการมีองค์กรชุมชนที่มีสมรรถนะสูงในการระดมการร่วมจัดการ พัฒนาชุมชนอย่างบูรณาการโดยมีการ สร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ เป็นจุดคานงัด เมื่อมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่ความยากจนก็จะเป็นศูนย์ การว่างงานก็จะเป็นศูนย์ การปล่อยมลภาวะก็จะเป็นศูนย์ ทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข และเป็นฐานให้เศรษฐกิจของประเทศแข็งแรงมั่นคง นอกเหนือจากยุทธศาสตร์หลักอาจมียุทธศาสตร์เสริม (Complementary strategies) อื่น ๆ
  2. การบริหารยุทธศาสตร์แบบใหม่ แบบเก่า คือ รัฐนำ เช่น รัฐบาลตั้งคณะกรรมการแห่งชาติ ซึ่งมักไม่ค่อยสำเร็จ เพราะระบบรัฐมีข้อจำกัดหลายอย่าง การบริหารยุทธศาสตร์แบบใหม่ คือ “ประชาชาตินำ รัฐอำนวย” กลไกที่มีคุณภาพสูง เกิดจากการก่อตัวขึ้นเอง (Self – organized) ของกลุ่มคนที่มีฉันทะและสมรรถนะเหมาะสม โดยวิธีนี้จะได้ของแท้หรือผู้ที่ตั้งใจจริง และมีคุณภาพเหมาะสมมากกว่าคณะกรรมการที่ผู้มีอำนาจแต่งตั้ง เพราะผู้มีอำนาจมักไม่รู้พอ มีการวิ่งเต้นเส้นสาย และผู้อยากได้รับการแต่งตั้ง แต่ไม่ใช่ผู้เหมาะสมกับภารกิจ กลไกที่เป็นทางการจึงมักล้มเหลวตั้งแต่แรก แต่หากมีการก่อตัวขึ้นโดยอิสระ และรัฐบาลสนับสนุน และอำนวยความสะดวก รัฐบาลจะได้กำไรอย่างงาม
  3. ภาคีเครือข่ายขจัดความยากจนลดความเหลื่อมล้ำ มีองค์กรจำนวนมากที่กำลังทำงานหรือเหมาะที่จะทำงานขจัดความยากจนลดความเหลื่อมล้ำ ควรจะเข้ามาทำงานเชื่อมโยงกันเป็นภาคีเครือข่ายขจัดความยากจนลดความเหลื่อมล้ำ องค์กรที่ควรจะทำหน้าที่หลักในการขับเคลื่อนภาคีเครือข่าย คือ 

           สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) อันมี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล เป็นประธาน เพราะยุทธศาสตร์หลัก คือ ชุมชนเข้มแข็ง และชุมชนเข้มแข็งขึ้นกับการมีองค์กรชุมชนเข้มแข็งอันเป็นหน้าที่ตรงของพอช.อยู่แล้ว และดร.กอบศักดิ์เองก็เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่เชี่ยวชาญเรื่องระบบการเงิน การเงินเพื่อขจัดความยากจนลดความเหลื่อมล้ำก็เป็นพลังสำคัญ ดร.กอบศักดิ์ เองก็ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากสังคมอย่างกว้างขวางว่าเป็นคนดีและคนเก่ง ถ้าอุทิศตัวเพื่อทำหน้าที่ประดุจแม่ทัพของกองทัพประชาชาติ ทำสงครามเอาชนะความยากจนลดความเหลื่อมล้ำ น่าจะได้รับความร่วมมือสูงจากทุกฝ่าย

  1. ภาคีขจัดความยากจนลดความเหลื่อมล้ำ เริ่มต้นประกอบด้วย 
  2. ชุมชนท้องถิ่น คือ ผู้ปฏิบัติหลักในชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ ประกอบด้วยองค์กรชุมชนและองค์กรท้องถิ่นทั้งหมด กำลังที่สำคัญและใหญ่มาก คือ ผู้นำชุมชนตามธรรมชาติ ซึ่งมีหมู่บ้านละประมาณ ๕๐ คน รวมกันทั้งประเทศประมาณ ๔ ล้านคน คนเหล่านี้เป็นคนเก่งและคนดี ถ้าได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ จะเป็นกำลังมหาศาลที่ฐานของประเทศ และเป็นผู้นำระดับสูงขึ้นมา
  3. เบญจภาคี ซึ่งร่วมกันทำงานอยู่แล้วในการสนับสนุนชุมชนเข้มแข็ง ได้แก่ พอช. สสส. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมพัฒนาชุมชน กรมการปกครอง
  4. ภาคีระบบสุขภาพขจัดความยากจนลดความเหลื่อมล้ำ
  5. ภาคีการศึกษาเพื่อขจัดความยากจนลดความเหลื่อมล้ำ ได้แก่ โรงเรียนทั้งหมด
  6. ภาคีอุดมศึกษาเพื่อขจัดความยากจนลดความเหลื่อมล้ำ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สำคัญยิ่งในการสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่
  7. ภาคีภาคประชาสังคมเพื่อขจัดความยากจนลดความเหลื่อมล้ำ กลุ่ม ชมรม สมาคม มูลนิธิ
  8. ภาคีภาคธุรกิจเพื่อขจัดความยากจนลดความเหลื่อมล้ำ
  9. ภาคีภาคการเงินเพื่อขจัดความยากจนลดความเหลื่อมล้ำ
  10. ภาคีพระสงฆ์เพื่อขจัดความยากจนลดความเหลื่อมล้ำ
  11. ภาคีกองทัพเพื่อขจัดความยากจนลดความเหลื่อมล้ำ
  12. ภาคีเครือข่ายศิลปินเพื่อขจัดความยากจนลดความเหลื่อมล้ำ ศิลปินมีในทุกพื้นที่ มี  บทบาทใช้ศิลปะสื่อสารเข้าสู่จิตสำนึกของคนทั้งประเทศ
  13. ภาคีการสื่อสารเพื่อขจัดความยากจนลดความเหลื่อมล้ำ
  14. สถาบันพระปกเกล้า
  15. เครือข่ายนิสิตนักศึกษาและคนรุ่นใหม่
  16. คณะกรรมาธิการขจัดความยากจนลดความเหลื่อมล้ำของวุฒิสภา
  17. การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนลดความเหลื่อมล้ำ
  18. สร้างความมุ่งมั่นร่วมกันในการขจัดความยากจนลดความเหลื่อมล้ำของคนทั้งชาติ
  19. ทำแผนที่ข้อมูลของการขจัดความยากจนลดความเหลื่อมล้ำ ให้เห็นทั้งหมดว่า ใครทำอะไร ที่ไหน ได้ผลอย่างไร
  20. สร้างเป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วมของภาคี
  21. จากข้อมูลและเป้าหมาย จัดทำแผนโดยการมีส่วนร่วมของภาคีทั้งหมด
  22. ทุกภาคีขับเคลื่อนการปฏิบัติตามแผน
  23. จัดให้มีการติดตามการปฏิบัติ เพื่อขจัดอุปสรรคขัดขวางเพื่อให้ปฏิบัติได้
  24. จัดให้มีการประชุมสมัชชาขจัดความยากจนลดความเหลื่อมล้ำ โดยภาคีทั้งหมด รัฐบาล รัฐสภา ฯลฯ เพื่อติดตามความก้าวหน้าแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และกำหนดก้าวต่อไป
  25. การประเมินผลการปฏิบัติตามแผน เป็นข้อมูลป้อนกลับไปสู่กระบวนการขับเคลื่อนทั้งหมด

๘ ขั้นตอนนี้ เป็นการจัดการครบวงจร ทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้เป็นไปได้

  1. กลไกขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ จัดให้มีกลุ่มขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนลดความเหลื่อมล้ำ (กขนย.) มีทั้งกขนย.กลาง และกขนย.ตามภาคี และกขนย.ตามภาค กขนย.ต้องประกอบด้วย กลุ่มคนที่มีประสบการณ์และความสามารถสูงในการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์

           ที่สำคัญยิ่งยวด คือ กขนย.กลางถ้าได้กลุ่มบุคคลที่เหมาะสมจะสามารถจัดตั้งกขนย.ภาคีต่าง ๆ และกขนย.ภาค ร่วมกันเป็นเครือข่ายกขนย.ที่มีพลังในการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ ซึ่งเมื่อขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำสำเร็จ ยังสามารถเป็นกลไกขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะอื่น ๆ ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป

            ขอเสนอนายแพทย์สุภกร บัวสาย ปฐมผู้จัดการและผู้ก่อตั้งสสส. ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์สูง และเป็นนักยุทธศาสตร์ชั้นเยี่ยม ให้เป็นผู้ประสานงานหลักในกลุ่มขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์กลาง พร้อมด้วยนางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ อดีตผู้อำนวยการสำนัก ๓ ของสสส. ที่ร่วมขับเคลื่อนตำบลเข้มแข็งกว่า ๒,๐๐๐ ตำบล และมีเครือข่ายผู้นำชุมชนท้องถิ่นอย่างกว้างขวาง

  1. บทบาทของรัฐบาล สนับสนุนและเอื้ออำนวยความสะดวกทุกประการ แก่กระบวนการประชาชาติขจัดความยากจนลดความเหลื่อมล้ำ เช่น สนับสนุนงบประมาณให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งสนับสนุน แก้กฎหมายกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค และออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง นโยบายและยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนลดความเหลื่อมล้ำที่ทรงพลังในการคิด และมาตรการทำนองเดียวกับคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ ๖๖/๒๕๒๓ ที่มีผลยุติการสู้รบระหว่างคนไทยด้วยกันทันที ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีใหม่นี้ก็จะเอาชนะความยากจนลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างเบ็ดเสร็จและถาวร
    • ยิ่งรักกันมากขึ้น เพราะมีความเสมอภาค ภราดรภาพ และสามัคคีธรรม

           หน้าที่อีกอย่างหนึ่งของรัฐบาล คือ รับผลของความสำเร็จ และเฉลิมฉลองชัยชนะของประเทศไทย

 

คำอวยชัย

 

ที่กล่าวมา คือ “กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม” หรือ P4 (Participatory Public Policy Process) ที่คนไทยทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ในที่นี้ คือ นโยบาย ขจัดความยากจนลดความเหลื่อมล้ำ โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติในสถานการณ์จริง หรือ PILA เป็นเครื่องมือขับเคลื่อน PILA (Participatory Interactive Learning through Action) เป็นเครื่องมือใหม่ที่ทรงพลังในการทำเรื่องยากให้สำเร็จ ในปัญหาที่ซับซ้อนและยาก เครื่องมือเก่า ๆ ใช้ไม่ได้ผลแล้ว นั่นคือ การใช้อำนาจ ใช้เงิน ใช้การวิพากษ์วิจารณ์ รวมทั้งการใช้ความรู้สำเร็จรูป

PILA ทรงพลังยิ่งในการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Transformation) ในทุกมิติ ที่ยิ่งทำ

  • ยิ่งเชื่อถือไว้วางใจกันมากขึ้น
  • ยิ่งฉลาดขึ้นและฉลาดร่วมกัน
  • เกิดปัญญาร่วม (Collective wisdom) นวัตกรรม และอัจฉริยภาพกลุ่ม (Group genius)
  • ทั้งหมดทำให้เกิดพลังมหาศาล ฝ่าความยากไปสู่ความสำเร็จ
  • และมีความสุขประดุจบรรลุนิพพานร่วมกัน

ประเทศไทยจะพลิกโฉมโดยสิ้นเชิง ก้าวข้ามความแตกแยกทุกชนิด รวมตัวร่วมคิดร่วมทำอย่างสร้างสรรค์ได้ทุกเรื่อง เป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ที่คนไทยทั้งหมดมีส่วนร่วมขับเคลื่อนประเทศไทย ที่มีอนาคตอันดีงามร่วมกัน ประเทศจะลงตัวทุก ๆ ทาง ทั้งทางเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม และการเมือง บรรลุความถูกต้องดีงาม ที่คนไทยทุกคนจะภูมิใจในบ้านเมืองของตน

“ความจริงมีชัยเหนือทุกสิ่ง”

สัตยเมว ชยเต จารึกเสาพระเจ้าอโศก ต้นที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน สถานที่แสดงปฐมเทศนาของพระบรมศาสดา

ที่กล่าวมาทั้งหมด คือ การพัฒนาด้วยทางสายกลาง การเมืองก็เป็นทางสายกลาง ซึ่งเป็นทาง สายปัญญา ไม่เป็นปฏิปักษ์ ไม่แยกข้างแยกขั้ว แต่ร่วมกันโดยใช้ปัญญาและความดีงาม

ทางสายกลาง คือ ทางสายใช้ความจริงเป็นที่ตั้ง ความจริงมีชัยเหนือทุกสิ่ง

 

ขอให้คนไทยประสบชัยชนะ ขอให้ประเทศไทยประสบชัยชนะ

 

ประเวศ วะสี

ราษฎรอาวุโส ผู้อวยชัย

หมายเลขบันทึก: 710767เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2022 20:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ธันวาคม 2022 20:16 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท