๑,๓๑๖ โรงเรียนด้อยโอกาส


ดังนั้น...จึงเชื่อว่าน่าจะได้เปลี่ยนมุมมองใหม่ในอีกไม่ช้าไม่นานนี้ ที่โรงเรียนด้อยโอกาสคือโรงเรียนที่มีเด็กอ่านหนังสือไม่ออก หรืออ่านเขียนไม่คล่องอยู่เป็นจำนวนมากมาย

          คำนี้ไม่มีความหมายในพจนานุกรมไทย แต่เป็นที่เข้าใจได้ในกลุ่มนักการศึกษา และเริ่มจะเป็นที่รู้กันในหมู่ประชาชน คนทั่วไปที่เป็นผู้ปกครองนักเรียน

          เมื่อหลายปีก่อน..ผมเข้าถึงคำนี้และมีโอกาสสัมผัสอย่างเนิ่นนาน กว่าจะหลุดพ้นและก้าวข้ามไปได้ ต้องอดทนและอดกลั้น มันไม่ถึงกับทุกข์ยากและเจ็บปวด แต่เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบที่เกือบจะเกินกำลังความรู้ความสามารถ

          ความที่เป็นโรงเรียนขนาดเล็กมากและด้อยโอกาสด้วย ทำให้ผู้ปกครองในหมู่บ้านขับรถส่งลูกผ่านหน้าโรงเรียนไปเรียนที่อื่น คือความชัดเจนที่พูดไม่ออก แต่เข้าใจได้ในความรู้สึก

          อาคารเรียนไม่พอ และครูไม่ครบชั้น สื่อการสอนอัตคัดขัดสน แหล่งเรียนเรียนรู้และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนอาคารประกอบที่มีแบบโทรมๆ คือความคิดรวบยอดอันแท้จริงของคำว่าด้อยโอกาสในยุคนั้น ที่มีความแตกต่างจากโรงเรียนใหญ่ๆอย่างเห็นได้ชัด

          ผมจึงต้องบันทึกความเป็นมาเป็นไปในเรื่องนี้อยู่หลายครั้ง เพื่อเคารพตนเองและงานที่ทำ เคารพผู้คนที่เคยให้การสนับสนุนช่วยเหลือ จนทำให้มีวันนี้...ที่ไม่คำว่าด้อยโอกาสอีกแล้ว

          อาคารเรียนเพียงพอ ครูครบชั้น มีบ้านพักครู อาคารประกอบ เช่น โรงอาหาร ห้องสมุด ห้องดนตรี และห้องพัสดุเพียบพร้อม สิ่งแวดล้อมที่เป็นเป็นแหล่งเรียนรู้ดูดี มีความมั่นคงและยั่งยืน

          ในระหว่างทางที่พัฒนาเพื่อจะก้าวข้ามความด้อยโอกาส ก็ได้มุ่งเน้นการเรียนการสอน ทำให้ผู้ปกครองดู อยู่ทำงานให้ผู้ปกครองเห็น เป็นแบบอย่างแก่ครูในเรื่องของการสู้ชีวิต

          นักเรียนจึงเริ่มมากขึ้น ซึ่งก็แน่ใจว่า ไม่ได้เกิดขึ้นจากความพร้อมของอาคารเรียนและจำนวนครูเพียงอย่างเดียว อาจจะเกิดจากภาพรวมของการลงมือทำงานวิชาการอย่างจริงจังก็เป็นไปได้

          ความสม่ำเสมอและต่อเนื่องของการพัฒนาจนถึงวันนี้ อีก ๑๐ เดือนครึ่งจึงจะเกษียณ ยังมีโอกาสสร้างสรรค์ดีๆ ทั้งการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเรียนหลังเก่าให้มีสีสัน ปรับปรุงห้องคอมพิวเตอร์ให้ทันสมัย นอกจากจะไม่ด้อยโอกาสแล้ว ยังสามารถขยายโอกาสให้โรงเรียนอีกด้วย

          นับวัน..โรงเรียนด้อยโอกาสเริ่มจะน้อยลง เป็นเพราะการบริหารจัดการงบประมาณภาครัฐ และโรงเรียนชายขอบได้รับการดูแลจากสถาบันการศึกษาในพื้นที่ มีการเข้าถึงซึ่งโครงการพระราชดำริ และมีภาคเอกชนแบ่งปันน้ำใจเข้าไปดูแล ให้ครูและนักเรียนมีกำลังใจในการเรียนรู้

          ในอนาคตอันใกล้ ไม่ไกลเกิน ๕ – ๑๐ ปี โรงเรียนที่ด้อยโอกาสจริงๆจะถูกยุบควบรวม ยกเว้นโรงเรียนในป่าเขาลำเนาไพร โรงเรียนในเขตเมืองนั่นแหละจะเป็นโรงเรียนที่ด้อยโอกาส

          คำว่าโรงเรียนด้อยโอกาสจะไม่เกิดจากความขาดแคลน เพราะเกือบทุกโรงเรียนสังกัด สพฐ. อาคารจะเลิศหรู ครูมีตามเกณฑ์ ปัญหาที่เกิดจากการแก้กฎหมายทำให้งานด้านโครงสร้างบุคลากร มีความล่าช้าก็อาจส่งผลต่อการบริหารจัดการตำแหน่งผู้บริหารและครูบ้างไม่มากก็น้อย

          การบริหารการเปลี่ยนแปลงที่ไม่จบสิ้น การให้นักการเมืองนำการศึกษา และการพัฒนาบนวัตถุแบบแก่งแย่งแข่งดี เพื่อจะได้มีมากกว่าคนอื่น จนหลงลืมแก่นแท้ของการศึกษาที่ต้องยึดเด็กเป็นสำคัญ

          ดังนั้น...จึงเชื่อว่าน่าจะได้เปลี่ยนมุมมองใหม่ในอีกไม่ช้าไม่นานนี้ ที่โรงเรียนด้อยโอกาสคือโรงเรียนที่มีเด็กอ่านหนังสือไม่ออก หรืออ่านเขียนไม่คล่องอยู่เป็นจำนวนมากมาย

          สพฐ.ทราบเรื่องนี้ดี เพราะโควิดและพิษเศรษฐกิจทำให้การเรียนรู้ถดถอย เนื้อหาและกิจกรรมที่มากมายที่สุดในโลก บั่นทอนครูและนักเรียนไทยไม่รู้จบ

          ข้อมูลโรงเรียนที่มีครูแต่ไม่มีผู้บริหาร มากที่สุดในประวัติศาสตร์การศึกษา หากครูไม่จับมือกันพัฒนา “การอ่าน”ของเด็ก ประเทศชาติจะอ่อนแอลงอย่างแน่นอน

          ถึงแม้จะมีผู้บริหารและครูครบครัน เป็นโรงเรียนคุณภาพของชุมชน แต่ได้คนที่เป็นผู้นำด้านความเลิศหรูอลังการของอาคารเรียน แต่ขาดจิตสำนึกทางวิชาการ..เชื่อว่าไม่นานเกินรอ

          โรงเรียนด้อยโอกาส..จะผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด...และยากที่จะแก้ไข

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๑๓  พฤศจิกายน  ๒๕๖๕

         

หมายเลขบันทึก: 710303เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2022 07:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2022 07:45 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท