หลักเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง


 

จากการสะท้อนคิดกับตนเอง เพื่อเตรียมตัวบรรยายเรื่องครู กับเรื่องการเรียนรู้    ผมค่อยๆ ชัดเจนในทฤษฎีหรือหลักการ “เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง”    ไม่ว่าต่อเรื่องใด    ทั้งเรื่องความรู้ในตำรา  ความรู้ที่ครูสอน  ที่ปราชญ์ระบุไว้    ที่ในภาษาของ “การจัดการความรู้” (KM – Knowledge Management) เรียกว่า “ความรู้แจ้งชัด” (Explicit Knowledge)    และรวมทั้งเรื่องที่ตนเองตกผลึก (conceptualize) จากประสบการณ์ตรงของตนเอง (experiential learning)      

ปราชญ์อาจเข้าใจเรื่องนั้นแจ้งชัดแจ๋วแหวว  เข้าใจลึกไปถึงก้นบึ้ง    แต่เมื่อถ่ายทอดมาถึงตัวเรา  เราอาจเข้าใจเพียงครึ่งเดียวหรือไม่ถึง  ที่ร้ายกว่านั้นคือ เราอาจเข้าใจผิดๆ    ดังนั้น เราจึงต้องตั้งหลักในใจไว้ก่อนว่า ที่เราเข้าใจนั้น มีโอกาสถูกก็ได้ ผิดก็ได้    และที่เข้าใจถูกนั้น ก็อาจเข้าใจไม่ลึก  หรือเข้าใจไม่ถึงครึ่ง   

โปรดสังเกตว่า  “เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง” เป็นเรื่องของความเชื่อต่อความเข้าใจหรือการตีความของตนเอง    ในเรื่องนั้นๆ ว่าอาจเข้าใจเพียงครึ่งเดียวของความรู้เรื่องนั้นทั้งหมด    เป็นการปูทางสู่การเรียนรู้อีกครึ่งหนึ่งที่เหลือ     การมีความคิดหรือกระบวนทัศน์แบบนี้ จึงเท่ากับเป็นการสมาทาน Growth Mindset    เพราะนำพาให้เรามุ่งมั่นเรียนรู้ให้เข้าใจลึกซึ้งครบถ้วนยิ่งขึ้น    ไม่พอใจอยู่กับผลการเรียนรู้จากการรับถ่ายทอดเท่านั้น    

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็ต้องหาทางทดสอบความเข้าใจของตัวเราเอง โดยเอาความรู้ความเข้าใจนั้นไปทดลองใช้   การเรียนรู้ที่ดีจึงไม่ใช่การรับถ่ายทอดความรู้หรือเทคนิค    แต่อยู่ที่การลองนำความรู้หรือเทคนิคนั้นไปลองใช้    ดีที่สุดคือใช้ในสถานการณ์จริง     แล้วดูผลว่าเป็นอย่างไร    หาทางสร้างหลักการจากผลที่ได้รับนั้น ตาม Kolb’s Experiential Learning Cycle    เพื่อหมุนวงจรการเรียนรู้ต่อไป    หมุนหลายๆ วงจร จนมั่นใจว่าเข้าใจเรื่องนั้นดีในระดับนำไปใช้ได้  และใช้ในสถานการณ์หลายๆ แบบได้ ที่เรียกว่า รู้ระดับเชื่อมโยง (transfer learning)     ตามที่อธิบายไว้ในหนังสือ ครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยง     

มองในมุมหนึ่ง Kolb’s Experiential Learning Cycle เป็นเครื่องมือตรวจสอบความรู้    ผ่านการนำไปทดลองใช้  ตรวจสอบด้วย reflective observation   ที่ไม่ใช่แค่ทดสอบตัวความรู้    แต่เป็นการทดสอบว่าตัวเราเข้าใจเรื่องนั้นตรงกับที่เขาบอกหรือไม่      

ถึงแม้ว่า จะหมุนวงจรเรียนรู้ Kolb’s Experiential Learning Cycle   หลายรอบจนใช้ความรู้นั้นได้คล่องแคล่วแล้ว    ก็ต้องไม่คิดว่า ตนรอบรู้เรื่องนั้นเต็มร้อยแล้ว  เจนจบแล้ว    ต้องบอกตัวเองว่า ความรู้ก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงไม่สิ้นสุด   เพราะความรู้มีธรรมชาติเป็นสิ่งซับซ้อน (complexity)   ไม่มีทางที่เราจะเข้าใจแจ่มแจ้งทุกแง่ทุกมุมได้    หากคิดเช่นนี้ เราจะเป็นมนุษย์ “น้ำไม่เต็มแก้ว”    จะดำรงความสงสัยใคร่รู้ไว้ตลอดไป   เป็นเชื้อเชื่อมต่อความรู้ที่จะวิ่งมาชนเราในอนาคต   

ประสบการณ์ชีวิต ๘๐ ปีสอนผมว่า ความรู้ และโอกาสวิ่งมาชนเราเป็นระยะๆ    โดยที่เรารู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้าง    หากเราดำรงความเป็นคน “รู้ไม่เต็มร้อย” หรือคนมีนิสัยสงสัยใคร่รู้   เราจะไวต่อการรับรู้ความรู้และโอกาสใหม่ๆ    ช่วยให้มีชีวิตที่ดี มีความเจริญก้าวหน้า   

เชื่อเต็มร้อย หรือศรัทธาเต็มร้อย นำสู่ความมืดบอดทางปัญญา

การศึกษาที่สอนให้คนเชื่อ    จึงเป็นการศึกษาที่เดินสวนทางกับปัญญา   

วิจารณ์ พานิช

๒๐ ก.ย. ๖๕    

 

หมายเลขบันทึก: 710227เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2022 18:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2022 18:36 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท