สังคมท้องถิ่นในมิติวัฒนธรรมการเมืองที่หลากหลาย


สังคมท้องถิ่นในมิติวัฒนธรรมการเมืองที่หลากหลาย

4 พฤศจิกายน 2565

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) [1]

 

รากเหง้าสังคมไทย ยังมีอิทธิพลต่อการเมืองในระดับท้องถิ่น ที่เป็นพื้นฐานของการเมืองระดับชาติที่ไม่สามารถตัดขาดจากกันได้ เพราะสังคมไทยแต่โบราณมา เป็นสังคมเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ ช่วยเหลือ แบ่งปัน ที่เรียกว่า สังคมอุปถัมภ์ เป็นสังคมที่คนแข็งแรงจะคอยดูแลคนอ่อนแอ คนร่ำรวยจะคอยช่วยเหลือสังคม คนเด่นคนดัง คนมีอิทธิพลทางความคิดผู้คน ต่างมีจิตอาสาในการออกมาช่วยเหลือส่งเสริมพัฒนาบ้านเมือง[2] จะว่าเป็นจุดแข็งของสังคมไทยก็ยังไม่เต็มปาก 

รากเหง้าเดิมๆ “สังคมเครือญาติ” [3] ช่วยหนุนให้เกิดความร่วมไม้ร่วมมือกันในระดับชุมชนพื้นที่ ก่อให้เกิดกิจกรรมต่างๆ มากมาย ทั้งเรื่องประเพณี วัฒนธรรม การสังคม การรวมกลุ่ม ที่ยังเหลืออยู่เห็นได้ชัดในสังคมบ้านนอก โดยเฉพาะในสมัยก่อนย้อนไปราว 40-50 ปีจะเหนียวแน่นมาก เดี๋ยวนี้เห็นยาก เพราะต่อมาการเมืองได้พัฒนาเป็น “ธุรกิจการเมือง” [4] ที่ต้องใช้เงินซื้อ ใช้เงินขับเคลื่อน สังคมพี่น้องแบบบ้านนอกจึงสู้ธุรกิจการเมืองไม่ได้ ซึ่งคนเล่นการเมืองที่อยู่ได้นานต้องปรับตัวรอบด้าน เพื่อให้อยู่รอดในเส้นทางทางการเมือง

บทความนี้แรกๆ ผู้เขียนยังนึกไม่ออกว่าจะเขียนอะไรดี เพราะได้เขียนไปมากแล้ว ซ้ำๆ วนกลับไปกลับมาในเรื่องเก่าๆ เดิมๆ ลองมาทบทวนหาประเด็นวิพากษ์ เช่น อำนาจมืดในท้องถิ่นมีเพียงใด ท้องถิ่นรู้จักใช้ คำว่าบ้านใหญ่ คำว่าสลิ่ม[5] “ตรรกะวิบัติ” หรือ “เหตุผลวิบัติ” (logical fallacy)[6] หรือไม่ เพราะบริบทท้องถิ่นมีต่างๆ กัน อาจเป็น “ความพอดีที่ยังเข้าไม่ถึง” (ท้องถิ่นไม่มี) เพราะสองขั้วความคิด คนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ คนหัวก้าวหน้ากับคนหัวอนุรักษ์ ยังยืนกันอยู่คนละมุม การยกวาทกรรมต่างขั้วการเมืองเข้าห้ำหั่นด้อยค่าด่ากัน วกไปวนมาซ้ำๆ คำเดิมๆ ไม่สร้างสรรค์ ไม่มีประโยชน์อันใด รังแต่จะสร้างสะสมความขัดแย้งให้พอกพูน 

มีคำกล่าวว่า “อคติบดบังปัญญา คนมีอคติย่อมมองไม่เห็นความจริง” ยังเป็นความจริง มิใช่เพียงวาทกรรมที่เพ้อฝัน หากพิจารณาว่าท้องถิ่นเป็นฐานราก (foundations) ของสังคม ของบ้านเมือง เหมือนเป็นรากหญ้า (grass roots) ของสิ่งต่างๆ ในเชิง “การบริหารเพื่อการพัฒนาสังคม” (Development Administration) [7] ต้องมาทบทวน และเปลี่ยนแปลงแนวคิดกันใหม่ ให้สอดคล้องกับสภาพสังคมโซเชียลปัจจุบันที่ disrupt ไปไกลเกินกว่าที่ก้าวทันอย่างธรรมดาๆ ซึ่งระยะหลังๆ สังคมไทย disrupt เปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะเกิดแนวคิดของคนรุ่นใหม่มีไฟ คนหัวก้าวหน้ามีแนวโน้มรักชาติรักประชาธิปไตย มีจำนวนที่มากขึ้น

สังคมไทยมีคน 2 ซีก[8] คือ (1)ซีกอนุรักษ์ อ้างของเดิมดีแล้ว (2)ซีกปฏิรูป หัวก้าวหน้า อยากแก้ไขเปลี่ยนแปลงปรับปรุง แต่ฝ่ายอำนาจนิยมมองเพียงเบื้องต้นว่า สิ่งใดที่ยากหรือง่าย สิ่งใดที่ตนเองจะครองอำนาจ ตำแหน่ง ได้อย่างยั่งยืน แต่เพราะสิ่งดีย่อมมีปนกันในทุกซีก “ในดีย่อมมีเสีย ในเสียย่อมมีดี” [9] เช่น ในซีกอนุรักษ์ ระบบอาวุโส(บริหารงานบุคคล) ยังมีส่วนดีกว่าระบบ fast track[10] (โตแบบก้าวกระโดด) ตราบใดที่มีคำตอบว่า ยังมีความสงบสุขเที่ยงธรรมที่ยอมรับได้ เป็นแบบอย่างที่ยึดถือได้ยังมีอยู่ในสังคมนี้ แต่ทว่าในท้องถิ่นโดยเฉพาะในเขตบ้านนอกชนบทยังไม่ชัดเจน มีเพียงในชุมชนเขตเมืองเท่านั้นที่พบเห็นการปะทะความคิดต่างขั้วนี้ 

อย่างไรก็ตาม การวิพากษ์ นำเสนอข้อมูลแบบไม่รอบด้าน ทำให้มีแนวโน้มได้ข้อสรุปตกขอบไปทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าด้านลบ หรือด้านบวกก็ตาม อีกฝ่ายต้องทำใจ และรับฟังในความเห็นต่าง เพราะเป็นข้อสรุปที่เป็นแนวโน้มมาจาก “ความน่าจะเป็น” ที่สูงกว่า มิใช่เพียงความน่าจะเป็นแบบครึ่งต่อครึ่ง หรือความน่าจะเป็นมีโอกาสน้อยกว่าปกติ ทั้งนี้อยู่บนสมมติฐาน บนพื้นฐานของข้อมูลข่าวสารที่ปกติ ข้อมูลมิได้วิบัติผิดเพี้ยน (abusive)[11] เท็จ ปลอม สร้าง เสริมแต่ง หลอกลวง ชี้นำ ไอโอ ปั่น สร้างกระแส พูดเอามัน ใส่ความ มีอคติ เหยียดหยัน บูลลี่ ฯลฯ อันเป็นปฐมเหตุแห่ง “เหตุผลวิบัติ” อาทิ เหตุผลลวง, ทุตรรกบท, ตรรกะวิบัติ, ปฤจฉวาที, มิจฉาทิฐิ (อคติมากเกิน), ความผิดพลาดเชิงตรรกะ, การอ้างเหตุผลบกพร่อง เป็นต้น หลายคนเริ่มพูดว่า สังคมไทยนี่ตรรกะวิบัติจริงๆ เพราะในระยะหลังๆ นี้ สภาพปัญหาโครงสร้างไทยทั้งหมดทั้งมวล นำไปสู่วาทกรรมยอดฮิตปัจจุบัน คือวาทกรรม “ชังชาติ” [12] (Hate Speech not Free Speech) ชังโลก ชังคน แล้วก็ ด่าชาติ ขายชาติ ขายแผ่นดิน มันเกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นนัยยะความขัดแย้งทางความคิดของคนสองขั้วสองซีกอย่างชัดเจน

มีข้อจำกัดในการนำเสนอสิ่งใดที่ไม่ควรเป็นการให้ท้าย หรือปล่อยปละในสิ่งที่ไม่ถูกต้องแก่คน อปท. โดยเฉพาะฝ่ายผู้บริหารท้องถิ่น (ฝ่ายการเมือง) และ ยอมรับในข้อสรุปประการหนึ่งว่า “คน อปท.ในส่วนดีมีจำนวนที่เยอะกว่าในส่วนที่เสีย” เช่น คำกล่าวว่าท้องถิ่นมีการทุจริตคอรัปชั่นมาก ซึ่งจากสถิติข้อมูลพบว่า ไม่เป็นความจริง เป็นต้น ลองมองสังคมการเมืองท้องถิ่นในมิติวัฒนธรรมที่หลากหลาย มาแยกแยะมุมมองในหลากๆ มิติ ที่นอกเหนือจากมิติทางวัฒนธรรมแบบอุปถัมภ์ตามที่กล่าวข้างต้น

 

แนวคิดเรื่องการกระจายอำนาจ มิใช่อำนาจมืด

พูดไปไกลเกินวกมาที่ท้องถิ่น ตามหลักฝรั่งเศสคือ “การเอาอำนาจออกไปจากศูนย์กลาง” [13] การกระจายอำนาจ หมายถึง กระจาย “อำนาจอธิปไตย” ที่ไม่สามารถแบ่งแยกได้ การกระจายอำนาจใน “การตัดสินใจ” (decision making)[14] มิใช่การแบ่งอำนาจอธิปไตยของชาติ การกระจายอำนาจสู่ภูมิภาคและท้องถิ่นมิใช่การสร้างอธิปไตย หากแต่เป็นการให้ (ยอมรับ) สิทธิในการปกครองตนเองของชุมชนและภูมิภาคภายใต้อธิปไตยของชาติหนึ่งๆ ร่วมกัน เป็นเรื่องของ “การจัดสรรแบ่งปันอำนาจ” (Distribution of Power) [15]มิใช่การ “แบ่งแยกอำนาจ” (Division) ภายใต้บริบทของการบริหารปกครองในพื้นที่เรียกว่า ท้องถิ่น (Local Governance) Samuel Humes (1991) เสนอว่า ควรเป็นเรื่องของ “จัดสรรหรือแบ่งปันอำนาจ” (Distribution) มิใช่การ “แบ่งแยกอำนาจ” (Division) เช่น แนวคิดในเรื่อง (De)centralization, (De)concentration, Devolution และ Delegation

สรุป การกระจายอำนาจในความหมายอย่างกว้าง[16] คือ การจัดสรรหรือแบ่งปันอำนาจการตัดสินใจ (การวินิจฉัยสั่งการ) เกี่ยวกับกิจการสาธารณะ (Public Affairs) ของรัฐส่วนกลางไปยังหน่วยงานหรือองค์กรอื่นๆ 

ฉะนั้นจึงเป็นอำนาจ “การตัดสินใจในการพัฒนาบ้านเมือง” “การบริหารจัดการ กิจกรรมสาธารณ” ที่มิใช่”อำนาจมืด” “อำนาจอิทธิพล” “อำนาจอภิสิทธิอยู่เหนือคนอื่น” “มือมืด” “มือที่มองไม่เห็น” [17] อะไรทำนองนั้นแต่อย่างใด

ตามกฎหมายท้องถิ่นเป็นกฎหมายปกครอง แม้บางฉบับมีเนื้อหาทางอาญา (มีอัตราบทลงโทษทางอาญา) บ้าง แต่การใช้บังคับ “เกี่ยวกับการครอบครองทรัพย์สิน” มิใช่ “บังคับสิทธิส่วนร่างกายของบุคคล” ท้องถิ่นมีอิสระในการบริหารงาน ไม่มีการบังคับในเรื่อง “การแต่งกาย” “ทรงผม” หรือ “จัดระเบียบแถว” “การเกณฑ์แรงงาน” “การเกณฑ์ทหาร” “ฝึกกองกำลังรบ” 

กฎหมายจัดตั้ง อปท.บัญญัติให้ นายก อปท.และ คน อปท.เป็น “เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา” [18] แต่คน อปท.มิได้เป็น “เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความอาญา” ที่มีอำนาจจับกุมคุมขังบุคคล แม้แต่การกำหนดให้แต่งกาย ด้วยผ้าไทย ก็กำหนดโดยผู้ว่าราชการจังหวัด การกำหนดเครื่องแบบเจ้าหน้าที่ อปท. ก็กำหนดโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ท้องถิ่น เห็นว่า อำนาจสำหรับตัวคน ไม่ได้อยู่กับ อปท. แถมคนลงสมัครรับเลือกตั้งยังหาเสียงว่า “มารับใช้ประชาชน” ไม่จำต้องหาเสียงว่า “บังคับใช้กฎหมายท้องถิ่นอย่างเป็นธรรม” หรือ “จะเก็บภาษี และใช้เงินงบประมาณ อย่างสุจริต เที่ยงธรรม” เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น จึงต้องไปรับใช้ชาวบ้าน (service) ตามที่นักการเมืองท้องถิ่นหาเสียงไว้ เช่น น้ำท่วมบ้าน งูเข้าบ้าน ลอกท่อน้ำ กวาดพื้น ล้างพื้น ตัดต้นไม้ ขุดดิน ถมดิน ทาสี ฯลฯ สิ่งสาธารณประโยชน์ เพื่อการรับใช้สาธารณะ ครั้น พอหันมาเรื่อง การบังคับใช้กฎหมาย (Law enforcement) [19] ชาวบ้านจึงไม่เคยฟัง 

อปท.มีหน้าที่และอำนาจสำคัญคือ[20] (1)บริการสาธารณะ แต่มิใช่ไปจัดงานศพ กางเต็นท์ โต๊ะ เก้าอี้ ไฟฟ้า ในงานศพ เพราะนั่นเป็นงานสงเคราะห์ อนุเคราะห์ (2)การพัฒนารายได้ (3)การบังคับใช้กฎหมายในหน้าที่ของ อปท.อย่างเท่าเทียมเป็นธรรม

ส่วนแบ่งค่าปรับของกฎหมายท้องถิ่นที่ให้อำนาจตำรวจหรือฝ่ายปกครองเปรียบเทียบปรับนั้น มีข้อพิจารณาว่า จะทำให้ระบบของท้องถิ่นเสียหายเพียงใดหรือไม่ เมื่อเทียบกับกรณีเช่น การจับกุมยึดยาเสพติด สินค้าหนีภาษีศุลกากร เพื่อหวังสินบนนำจับของเจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. ตำรวจ ทหาร ศุลกากร เพื่อขั้น ตำแหน่ง และสินบนรางวัลนำจับ ฯลฯ ที่อาจมีการสร้างเรื่อง นิยาย ในการวางแผนล่อซื้อ นกต่อ สายลับ เลี้ยงโจรไว้เป็นสาย มีจับกุมที่ซิกแซก ซ่อนเงื่อน นอกแบบ ไม่โปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ ฯลฯ เป็นต้น เพราะในคดีอาญาตามกฎหมายจราจร เจ้าพนักงานตำรวจได้รางวัลค่าปรับครึ่งหนึ่ง[21] หรือกฎหมายสาธารณสุขนั้น ผู้เปรียบเทียบปรับ คือเจ้าพนักงานเทศกิจได้รางวัลส่วนแบ่งจากค่าปรับเช่นกัน[22] เหมือนตำรวจจราจรผู้จับกุม เป็นต้น

การเป็น จพง.ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทำให้เกิดความแตกต่าง เลือกปฏิบัติ อาจเป็นการใช้อำนาจดุลพินิจที่ไม่ถูกต้อง เกิดความฉ้อราษฎร์บังหลวงได้ เพราะอำนาจ อปท. มีแต่พระคุณ ไม่มีอำนาจพระเดช ในทางอาญาทั่วๆ ไปที่จะไปเอาโทษชาวบ้านประชาชน เหมือนอย่างฝ่ายตำรวจ หรือฝ่ายปกครอง นายก อปท. และ ปลัด อปท.มิได้เป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 

แต่ในวงการเพียงทราบว่า มันมีการใช้อิทธิพล หรือการใช้อิทธิพลข่มขู่ อำนาจมืดของนักการเมืองท้องถิ่น (สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือ สถ.ผถ.) ในทางผิดกฎหมาย ครอบงำ เอื้อประโยชน์ อยู่บ้าง ถามย้อนว่า หากบุคคลเหล่านี้ไม่มีตำแหน่ง เขายังจะใช้อำนาจอิทธิพลนั้นได้อยู่อีกหรือไม่ นี่เป็นประเด็น คำตอบก็คือ ต่อให้มีตำแหน่ง หรือไม่มีตำแหน่งเขาก็ยังคงดำรงตนเป็นผู้มีอิทธิพลอยู่เหมือนเดิมในสายตาของชาวบ้านทั่วไป เพราะ เขาเป็นคนในพื้นที่มีทั้งด้านลบและด้านบวก หากเป็นด้านบวกชาวบ้านก็จะเคารพเชื่อถือศรัทธา (charismatic) มาก ในทางการเมืองในระดับพื้นที่จึงเกิดคำว่า "บ้านใหญ่" (big house) เป็นระบบการเมืองแบบบ้านใหญ่[23] ที่มีความหมายเชิงอิทธิพลบารมีในพื้นที่ ที่ทุกคนยอมรับ เคารพนบนอบ ฉะนั้นเมื่อมีการเลือกตั้งครั้งใด บ้านใหญ่ก็สามารถใช้อิทธิพลบารมีเพื่อให้ชนะการเลือกตั้งอย่างง่าย เพราะมีต้นทุนเดิมทางสังคมมากอยู่แล้วในระดับพื้นที่

มิติอิทธิพลอำนาจมืดบารมีในท้องถิ่น ในมิติของการกระจายอำนาจรวมทั้งมิติอื่นๆ ยังมีได้ในท้องถิ่น ที่ภาพลบเป็นตัวบั่นทอน อปท.ให้ย่ำแย่ คนดีอยู่ยากหลายคนอยู่ไม่ได้ ทั้งสายข้าราชการฝ่ายประจำ และในสายผู้มีอำนาจทางการเมือง หากมองกลับอีกด้านอาจสร้างบ้านแปงเมืองได้ดีกว่าที่ไม่มีอำนาจมืด หากมีบ้างพอดี 

นั่นหมายความว่า สังคมไทย ถูกบีบให้ประชาชนมีทางเลือกผู้นำน้อยลง ที่ต่างจากสังคมฝรั่งตะวันตก 

คำว่า “กบในกะลา” [24]ยังนำมาใช้กับสังคมไทยได้ เปรียบว่าคนในสังคมยังอยู่ในโลกแคบ ปิดกั้นความคิดจากภายนอก อยู่ในโลกของตนเอง ไม่รับรู้โลกของคนอื่น ถือเป็นจุดอ่อนยิ่ง การแช่แข็ง ปิดประเทศ ลากยาวการเลือกตั้งเป็นการกระทำเดิมๆ ที่ผลตามมาคือการฉุดรั้งประชาธิปไตย และ การพัฒนาให้หยุดอยู่กับที่ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มบุคคลที่มีกรอบความคิดที่ไม่รับความเห็นต่าง คอยเหยียด ทำลาย บูลลี่อีกฝ่ายไม่ให้โต ที่เรียกฉายาว่า “สลิ่ม” ยังคงมีอยู่ในสังคมโลกโซเซียลปัจจุบัน ทำให้พัฒนาการทางการเมืองของไทยมีข้อจำกัดในสิทธิเสรีภาพ โดยเฉพาะเรื่องความถูกต้องและเป็นธรรม 

นักการเมืองที่ยึดเอาการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เพื่อความอยู่รอด ความสะดวก สบาย ของตนเอง แม้จะชั่วคราว ไม่จีรัง ก็ยังมีอยู่ เพราะการเมืองไทยรวมไปถึงการเมืองท้องถิ่นด้วย ยังอยู่ในวังวนของธุรกิจการเมือง คนที่ตั้งพรรคได้ กลุ่มการเมืองได้ คนที่เป็นบ้านใหญ่ ต้องมีทุนหนา อุปถัมภ์สมาชิกพวกพ้องได้ แต่บางพรรคมีแต่ใจ มีแต่อุดมการณ์ความดี ทุนบาง หรือทำผิดพลาดกฎหมายพรรคการเมือง หรือในระยะต่อมาไม่ได้รับเลือกตั้ง ก็ต้องล้มเลิก ถูกยุบพรรคไป กว่าสังคมจะตัดสินชี้ขาด มอบความนิยมให้แก่พรรคการเมืองที่มีความดียาก ต้องใช้ระยะเวลา เพราะกฎหมายพรรคการเมืองไทยยังไม่ส่งเสริมระบบพรรคการเมืองให้โตได้ตามระบอบประชาธิปไตย[25] สังเกตได้จากการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว หรือสองใบ การจัดสรรระบบบัญชีเลือกตั้ง (บัญชีพรรค Party List) หรือ กติกาเงื่อนไขในการยุบเลิกพรรคการเมือง เป็นต้น 

 

หลากมิติในสังคมการเมืองท้องถิ่น

ท้องถิ่นมีความหลากหลายในแนวคิด ในแง่มุม หรือมิติต่างๆ นอกเหนือจากมิติ “อำนาจมืดอิทธิพลบารมี” ดังกล่าวข้างต้น ขอยกตัวอย่างในมิติ “ความมั่นคง” ให้เปรียบเทียบความมั่นคงที่แตกต่างกันในอีกหลายๆ มิติ ที่ย่อมมีสายตาที่แตกต่างกัน เช่น ความมั่นคงในสายตาของรัฐตำรวจ (ใช้กระบวนการยุติธรรมสยบกร้าว) ของฝ่ายความมั่นคง (ทหาร) ความมั่นคงในสายตาของเกษตรกรผู้ผลิตอาหาร ความมั่นคงในสายตาของนักเศรษฐกิจ ด้านการลงทุน การสร้างงาน การซื้อการขาย การอาชีพ 

ความมั่นคงในสายตา ของ อปท.เช่น ในด้านสังคม จะเห็นว่าต่างก็มีจุดยืนและแนวคิดที่ต่างกันมาก เรียกว่าต่างยืนกันคนละมุม ที่ต่างฝ่ายมีเป้าหมายจุดสำคัญคิดกันคนละทางคนละด้าน ที่นำมาเปรียบเทียบกันในเชิงสัมฤทธิ์แบบหวังผลไม่ได้ เพราะในบริบทของ อปท. หมายถึง ความมั่นคงในบทบาท องค์กร สังคม หรือตัวบุคคล ความมั่นคงในสังคม อปท. เป็นความไว้วางใจกันในเพื่อนบ้าน ลดความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน และยอมรับการแก้ไข เยียวยาปัญหาจากสาธารณะ ที่รวดเร็ว ทันกาล และตรงจุด

ด้านสังคม ความมั่นคงทางครอบครัวท้องถิ่นเริ่มหดหายไป เศรษฐกิจพอเพียงแบบในหลวง ร.9 เริ่มติดขัด เพราะการดำเนินชีวิตที่ “ต้องพึ่งพา ปัจจัยภายนอกครอบครัว” [26] สังคมครอบครัวแตกแยกมาก เพราะพึ่งพาภายนอกมากเกิน นักปราชญ์เพลโตกล่าวว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เมื่อศีลธรรมเสื่อม จิตใจมนุษย์เข้าใกล้สัตว์เดรัจฉาน มากขึ้น ความเป็นปัจเจกชน ถูกรุกล้ำด้วยระบบทุน ไม่มีทุนก็แสวงหาด้วยการสร้างหนี้ (กู้) เพื่อนำเงินในอนาคตมาใช้ก่อน “ค่าครองชีพ” ประชาชนสูงขึ้น รายได้ ไม่พอกับรายจ่ายเกิดภาวะหนี้สินในระยะยาว เป็นปัญหาสังคมแน่นอน รัฐสวัสดิการไทยยังห่างไกล พูดไปเหมือนบ่น เพราะในระยะที่ผ่านมา และในอนาคตอันใกล้ทางออกยังตันเช่นเดิม 

สังคมชั้นยศ เจ้ายศเจ้าอย่างของไทยยังมีอยู่ คำพังเพย ตรรกะเพี้ยนๆ “ขุนพลอยพยัก” [27] เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด, อาบน้ำร้อนมาก่อน, เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย, พูดไปสองไพเบี้ยนิ่งเสียตำลึงทอง, ช้างเหยียบนา พญาเหยียบเมือง, สิบพ่อค้า หรือจะเท่าพญาเลี้ยง ฯลฯ วาทกรรมหรือวลีเหล่านี้ เป็นสำนวน ที่ขัดเกลาสังคมไทยและสังคมการเมืองไทยมาช้านาน หลายอย่างน่าจะใช้ไม่ได้ในโลกปัจจุบัน แต่ก็ยังท่องสั่งสอนลูกหลานมาตลอด 

“การแถ” [28] หรือ แถกแถ ตะแบง อัตตา อคติ ไม่ฟังใคร มีมานานแล้ว และ ปัจจุบันยังมีคำว่า “บกพร่องโดยสุจริต” [29] นี่ก็แถเช่นกัน เป็นการให้ยอมรับในตัวผู้นำ, ให้อภัย, มองข้ามไป, หยวนๆ ยุติเรื่อง โดยอ้างวัตถุประสงค์เป้าหมายใหญ่ที่ฝ่ายตนคิดว่าสำคัญกว่า ถูกต้องกว่า และดีกว่า

 

ข้อห่วงใยสำหรับการเลือกตั้งงวดหน้าเกรงว่า ชาวบ้านตาสีตาสาจะถูกจูงจมูกเหมือนเดิม เพราะการรับรู้ทางการเมือง และโอกาสที่ถูกปิดกั้นต่างๆ[30] ยังมีอยู่ การปลูกฝังถ่ายทอดค่านิยมทางการเมือง[31] ที่ถูกต้องยังมีข้อจำกัด นี่คือภาพการเมืองไทย ที่ย่อมส่งผลไปถึงการเลือกตั้ง หรือการเมืองท้องถิ่นแน่นอน


 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), บทความพิเศษ, สยามรัฐออนไลน์, 4 พฤศจิกายน 2565, https://siamrath.co.th/n/396364 

[2]อ้างจากเฟซบุ๊ก วินเซนต์, 21 ตุลาคม 2565 .ในกรณีโตโน่ (ภาคิน คำวิลัยศักดิ์) ดารานักแสดงไทย ในภารกิจ “ว่ายน้ำข้ามโขง ONE MAN AND THE RIVER” หนึ่งคนว่าย หลายคนให้ ระดมทุนไปช่วยเหลือโรงพยาบาลทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง ระยะทางกว่า 15 กม. ณ บริเวณแม่โขง จากจังหวัดนครพนม ข้ามไปยังฝั่งเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว เพื่อระดมทุนจัดหาเครื่องมือแพทย์ให้ โรงพยาบาล ไทย-ลาว ให้กับ โรงพยาบาล นครพนม และ โรงพยาบาลแขวงคำม่วน สปป.ลาว เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2565

[3]ระบบเครือญาติ (Kinship systems)หมายถึง ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ได้จากความสัมพันธ์ทางสายเลือดหรือการแต่งงาน เครือญาติ (kinship) หมายถึงเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมที่สร้างบทบาทและสถานภาพให้กับสมาชิกในครอบครัวซึ่งเกิดจากสายโลหิตหรือจากการแต่งงาน ความคิดเกี่ยวกับระบบเครือญาติ เป็นความคิดเกี่ยวกับกฎเกณฑ์การจัดระเบียบสังคมของมนุษย์ขั้นพื้นฐานที่สุด ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 อิซิโดเร่ เขียนหนังสือเรื่อง Etymologiae อธิบายเกี่ยวกับคำเรียกชื่อญาติและแบบแผนการแต่งงานของชาวโรมัน ดู คำศัพท์ทางมานุษยวิทยา โดย ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

[4]ธุรกิจการเมือง เป็นการสะสมทุนเพื่อซื้ออำนาจในรอบต่อๆ ไปด้วยการทุจริตจากโครงการต่างๆ ของรัฐ อ.ใจ อึ้งภากรณ์ (25 สิงหาคม 2553) เท้าความว่า การเปลี่ยนแปลงจากเผด็จการทหารมากลายเป็นการปกครองที่มีนายทุน หรือการใช้เงิน หรือที่เรียกกันว่า money politic สิทธิโชค ลางคุลานนท์ (2552) ระบุว่า กลุ่มธุรกิจการเมือง นั้น เริ่มมีบทบาททางการเมืองตั้งแต่ในสมัยที่เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลก คือ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2398 เป็นต้นมา หลังจากประเทศไทยได้ทำสนธิสัญญา เบาว์ริ่ง โดยเริ่มแรกเป็นกลุ่มทุนจากยุโรป และกลุ่มทุนจีนที่เข้ามาทำธุรกิจโรงสีข้าว โรงเลื่อย เหมืองแร่ดีบุก การเดินเรือ และธนาคารพาณิชย์ แต่ด้วยการมีอยู่ของระบบอุปถัมภ์ (Patronage system) ในสังคม และในระบบราชการไทย ทำให้กลุ่มทุนต่างชาติเหล่านี้ใช้วิธีการให้ผลประโยชน์ต่างตอบแทน เพื่อให้ทางราชการ กลุ่มเจ้านาย และกลุ่มขุนนางอำนวยความสะดวก หรือช่วยเหลือในด้านต่างๆ 

ดู พัฒนาการและบทบาททางการเมืองของกลุ่มธุรกิจการเมืองในประเทศไทย โดย สิทธิโชค ลางคุลานนท์, วิทยานิพนธ์ รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร, 2552, http://libdcms.nida.ac.th/thesis6/2552/b166703.pdf & ธุรกิจการเมืองคือปัญหา, บทบรรณาธิการ, ไทยรัฐ, 6 สิงหาคม 2557, https://www.thairath.co.th/news/politic/441198 & ธุรกิจการเมือง, บทบรรณาธิการ, สยามรัฐออนไลน์, 25 พฤศจิกายน 2559, 06:00 น., https://siamrath.co.th/n/5664

[5]สลิ่ม ในบริบทการเมืองไทยร่วมสมัย เป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มคนหรือพฤติกรรมของบุคคลที่ถูกมองว่าคลางแคลงในระบอบประชาธิปไตยและสนับสนุนบทบาทของกองทัพในพื้นที่การเมือง นักรัฐศาสตร์ สุรชาติ บำรุงสุข มองว่าสลิ่มคือตัวแทนชนชั้นกลางปีกขวา คำนี้ในตอนแรกใช้เรียกเฉพาะ “กลุ่มเสื้อหลากสี” หรือ กลุ่มประชาชนเพื่อพิทักษ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ (วิกิพีเดีย) กลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของสลิ่มได้ถือกำเนิดในปี 2548 เพื่อไล่นายกทักษิณ เบื้องแรกสลิ่มจะถูกใช้ขนานนามให้ “คนเสื้อหลากสี” โดยคนเสื้อดงที่เป็นฝ่ายตรงข้าม

ดู อะไรคือสลิ่ม? ว่าด้วยที่มา บริบทความหมาย และคุณลักษณะเฉพาะ, โดย Faris Yothasamuth, 21 พฤศจิกายน 2554, https://prachatai.com/journal/2011/11/37957

[6]เหตุผลวิบัติ (fallacy)หมายถึง การพิสูจน์โดยการอ้างเหตุผลที่มีน้ำหนักอ่อนเพื่อสนับสนุนในข้อสรุป การให้เหตุผลวิบัติมีความแตกต่างจากการให้เหตุผลแบบอื่นๆ เนื่องจากหลายคนมักจะพบว่าการให้เหตุผลนั้นมีความน่าเชื่อถือในทางจิตวิทยา ซึ่งจะส่งผลให้คนจำนวนมากเกิดความเข้าใจผิดและยกเหตุผลอย่างผิดๆ โดยใช้เป็นเหตุผลที่จะเชื่อในข้อสรุปนั้น การให้เหตุผลอาจจะกลายเป็น “เหตุผลวิบัติ” ได้ แม้ว่าข้อสรุปนั้นจะเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม (วิกิพีเดีย)

หรือ ตรรกะวิบัติ(fallacy)เป็นการอ้างเหตุผลที่บกพร่อง ไม่สมเหตุสมผล โดยในบทความนี้เราจะขอพูดถึงตรรกะวิบัติทางจิตวิทยา (Psychological Fallacy) ซึ่งเป็นเหตุผลที่ฟังเผินๆ แล้วดูเหมือนจะน่าเชื่อถือ หรือชวนให้เรารู้สึกคล้อยตาม แต่จริงๆ แล้วไม่ได้สมเหตุสมผลในเชิงตรรกะ หากแต่เป็นการอ้างเหตุผลทางความรู้สึก (emotional appeal) แทน เช่น การใช้ความสงสาร การใช้ความกลัว เพื่อให้ผู้ฟังยอมรับเหตุผลนั้น แม้จะไม่สมเหตุสมผล โดยตรรกะวิบัติทางจิตวิทยานี้ สามารถพบเห็นได้บ่อยๆ ในชีวิตประจำวันตั้งแต่โฆษณาชวนเชื่อไปจนถึงบทสนทนาระหว่างวันเลยทีเดียว (อ้างจาก starfishlabz.com)

[7]บริหารการพัฒนา (Development Administration) จากบทความ “Development Administration: A New Focus for Research” ของไวด์เนอร์ที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1962 เป็นบทความแรกที่กระตุ้นให้นักวิชาการหันมาสนใจการบริหารการพัฒนากันอย่างแพร่หลายและจริงจัง ในประเทศไทยมีมาตั้งแต่ในสมัยจอมพล ถนอม กิตติขจร (พ.ศ.2509) โดยเฉพาะเมื่อมีการจัดตั้งสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (National Institute of Development Administration หรือ NIDA) ในปีพ.ศ. 2509 และมีการสอนหลักสูตรปริญญาโทด้านการบริหารการพัฒนาในคณะรัฐประศาสนศาสตร์ แบ่งออกเป็นการพัฒนาปัจจัยสี่ประการ คือ การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและการบริหาร 

การบริหารการพัฒนา (Development Administration) หมายถึงสาขาวิชาและยังหมายถึงกิจกรรมหรือกระบวนการ การบริหารการพัฒนา ยังหมายถึง การพัฒนาการบริหาร (Development of Administration / D of A) และการบริหารเพื่อการพัฒนา (Administration of Development / A of D)

การบริหารการพัฒนาจะมีองค์ประกอบหลักๆ อยู่ 2 ประการ คือ (1) องค์ประกอบหลักการพัฒนาการบริหาร หมายถึง การจัดเตรียมเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง หรือปฏิรูปสิ่งแวดล้อม นิเวศวิทยา รวมถึงเทคโนโลยี พฤติกรรมการบริหาร (2) องค์ประกอบหลักการบริหารเพื่อการพัฒนา (Development of Administration) หมายถึง การน าเสนอสมรรถนะหรือ ความสามารถที่มีอยู่ในระบบ บริหารมาลงมือปฏิบัติตามนโยบาย แผน แผนงาน โครงการหรือกิจกรรมพัฒนาจริงๆ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามที่วางแผนไว้ล่วงหน้า

สรุปประเทศไทยกับการบริหารการพัฒนา (กรรณิการ์ สุวรรณศรี, มรภ.นครปฐม) ประการแรก การพัฒนาหมายถึง “ความก้าวหน้า” ซึ่งถ้าเป็นเรื่องเศรษฐกิจก็เรียกว่าความเจริญทางเศรษฐกิจ ถ้าเป็นด้านสังคมก็เป็นเรื่องของการมีเหตุผล ตลอดจนระบบกลไกที่เอื้ออำนวยให้สามารถใช้เหตุผลเป็นหลักในการตัดสินใจ ประการที่สอง การพัฒนายังรวมความถึง “ความมั่นคง” ด้วย เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้เรื่องอื่นถ้าเป็นในทางเศรษฐกิจ เราต้องการให้ระบบเศรษฐกิจของเราเป็นระบบเศรษฐกิจที่ม่านคง มีเสถียรภาพ ในทางสังคมก็เช่นเดียวกัน เราต้องการความมั่นคงทางสังคม เป็นสังคมที่สบงสุข ประการที่สาม การพัฒนายังมีความหมายว่า “ความเป็นธรรม”โดยเฉพาะความเป็นธรรม ลักษณะที่ว่าประชาชนทุกคนเป็นสมาชิกของสังคม ได้เข้ามามีส่วนร่วม และได้รับผลตอบแทนจากการมีส่วนร่วมในการพัฒนาตามควร

ดู 

การบริหารการพัฒนา : แนวคิด ความหมายความสำคัญ และตัวแบบการประยุกต์ โดย วิรัช วิรัชนิภาวรรณ, ปรับปรุงล่าสุด 28 สิงหาคม 2551, http://www.wiruch.com/articles%20for%20article/article%20development%20admin_concept_meaning_significance_and_applied_model.pdf & การบริหารการพัฒนากับการประเมินสถานการณ์ประเทศไทยตามแนวทฤษฎีเคนส์ โดย วีณา พึงวิวัฒน์นิกุล, วารสารนวัตกรรมการจัดการภาครัฐและภาคเอกชน ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 : กรกฎาคม-ธันวาคม 2557, http://www.ppmic.ru.ac.th/journals/1567572453_5.วีณา%20พึงวิวัฒน์นิกุล.pdf & แนวคิดเกี่ยวกับการบริหารการพัฒนา, มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา, 2564, https://elcpg.ssru.ac.th/tawat_ph/pluginfile.php/85/mod_resource/content/0/เอกสารประกอบการสอน%20การบริหารการพัฒนา.pdf & เอกสารรายวิชา 9013107การบริหารการพัฒนา, กรรณิการ์ สุวรรณศรี, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

[8]อุดมการณ์ทางการเมืองไทยมี 2 ประเภทที่สำคัญคือ อุดมการณ์อนุรักษ์นิยม และเสรีนิยม พบว่า อุดมการณ์ทางการเมืองไทย มีลักษณะอนุรักษ์นิยมมากกว่าเสรีนิยม ดู อุดมการณ์ทางการเมืองไทย (The Political Ideology), โดย พชรวัฒน์ เส้นทอง, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา, 2562, ใน ThaiJo, https://so02.tci-thaijo.org/index.php/JournalGradVRU/article/download/161357/156712/772996

[9]หมายความว่า ทุกสิ่งมีดีมีเสียในตัวเอง ไม่มีสิ่งใดสมบูรณ์ อย่างที่เรียกว่า perfectionist บรรดาสิ่งของที่มีอยู่ในโลกนี้ มักจะมีอยู่สองด้านเสมอ คือทั้งด้านที่ดีและไม่ดี เพราะไม่มีอะไรที่สมบูรณ์พร้อมไปทุกอย่าง คนฉลาดจะต้องรู้จักเลือกเอาด้านดีของทุกสิ่ง เพื่อจะได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ดู มงคลที่ 5 มีบุญวาสนามาก่อน - ในดีไม่มีเสียในเสียมีดี, บทความธรรมะ, โดย พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย), 8 กรกฎาคม 2550, https://buddha.dmc.tv/dhamma/1705

[10]การแต่งตั้งบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งโดยระบบ Fast track ในช่องทางพิเศษ หรือ "ระบบข้าราชการผู้มีผลสัมฤทธิ์สูง” หรือ High Performance and Potential System : HiPPS เรียกตามภาษาพูดว่า ระบบ Fast track ที่ สำนักงาน ก.พ.ริเริ่มให้นำมาใช้ จากแนวคิดเพื่อดึงดูด รักษา และจูงใจคนดีมีผลงานที่ก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐให้อยู่ในระบบราชการ เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่ไฟแรง ตามคุณสมบัติพิเศษที่กำหนดไว้ เช่น คนที่มีประสบการณ์พิเศษต่างๆ ที่หลากหลายมาจากธุรกิจเอกชน หรืออื่นๆ เพื่อให้ส่วนราชการมีคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะ รู้รอบ รู้ลึก หลากหลาย (มีความรู้ความสามารถทักษะสูง) ได้มีโอกาสเติบโตในตำแหน่งหน้าที่ราชการแบบเร่งรัด ก้าวกระโดดได้ โดยไม่ใช้ระบบอาวุโสหรือประสบการณ์อายุการครองงาน (Seniority) ซึ่งเป็นเส้นทางความก้าวหน้าราชการ (Career Path) รูปแบบหนึ่ง
ในระบบการคัดเลือกคนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยก็มีการใช้แนวคิดนี้ ในการคัดเลือกนักศึกษาด้วยช่องทางพิเศษ เช่น ม.มหิดลหลักสูตรอินเตอร์ เป็นต้น 

[11]นัยยะว่า ข้อมูลที่ใช้อ้างอิงวิบัติ จึงมีแนวโน้มที่นำไปสู่ตรรกะวิบัติ และนำไปสู่การเหยียดหยันด้อยค่า (bullying) ได้ในที่สุด มีการศึกษาผู้โต้แย้งมักเลือกการใช้เหตุผลวิบัติประเภทการโจมตีบุคคล /กลุ่ม และการใช้เหตุผลวิบัติประเภทการสรุปไม่เหมาะสมในทุกกลุ่มการแสดงความคิดเห็น มีการใช้กลวิธีการประชดประชันมากที่สุดเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ กลวิธีการใช้เหตุผลตามความรู้สึกของตนเอง และอันดับ 3 คือ กลวิธีการแบ่งพวกและกลวิธีการยกตัวอย่าง สรุปผลการศึกษา กลวิธีการประชดประชันและกลวิธีการใช้เหตุผลตามความรู้สึกของตนเองซึ่งเป็นกลวิธีที่มีการใช้มาก และเป็นกลวิธีที่เน้นเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึกส่วนตัวมาก จึงสามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่าการใช้เหตุผลวิบัติน่าจะเกิดขึ้นจากการโต้แย้งที่ใช้ความรู้สึกของตนเองเป็นส่วนใหญ่ มีผลทำให้การโต้แย้งนั้นๆ เป็นเหตุผลที่ไม่สมเหตุสมผลไปในที่สุด 
ดู การใช้เหตุผลวิบัติในการโต้แย้งบนเว็บบอร์ด โดย นิพัทธ ผึ้งไผ่งาม, วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาศาสตร์การศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, พฤษภาคม 2557, http://ir.swu.ac.th/jspui/bitstream/123456789/4487/2/Nipat_P.pdf 

[12]ชังชาติ (Hate Speech) เป็นคำที่แสดงคู่ตรงข้ามและความเป็นปรปักษ์อย่างชัดเจนที่สุด การใช้คำที่แสดงความถดถอยในด้านการด้อยความรู้ ด้อยภูมิปัญญาของฝั่งขั้วตรงข้าม เกิดวาทกรรมชังชาติ วาทกรรมสามกีบ วาทกรรมหนักแผ่นดิน ฯลฯ วาทกรรมชังชาติได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือผลักให้ผู้ที่มีความคิดเห็นต่างกลายเป็นฝั่งตรงข้าม

ข่าวแรงกรณีผบ.ทบ.ออกมาตำหนิขบวนการเด็ก เยาวชน คนหนุ่มสาวที่เรียกร้อง ประชาธิปไตย การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า “ชังชาติ” สื่อถึงความพยายาม ตรวจตรา ตีตรา สร้างวาทกรรมใหม่ๆ ออกมาปลุกกระแสและกำจัด คนที่ฝ่ายอำนาจมองว่าเป็นภัยคุกคาม

คำว่า “ชังชาติ” เป็นวาทกรรมที่ถูกผลิตขึ้นโดยบรรดากลุ่มคนที่เข้าใจไปเองว่า ตัวเองคือ “ผู้รักชาติ” อวยตัวเองและสถาปนาตัวเองว่า ตัวเองเป็นผู้ที่รักชาติเหนือกว่าผู้ใด และพร้อมผลักไสคนที่คิดต่างออกไปจนตกขอบความหมายของคำว่า ผู้รักชาติ รายงานการศึกษาวิจัยปี 2563 พบว่ามีการสร้างวาทกรรมที่แสดงความเป็นอื่นและความเป็นศัตรูรวม 16 วิธี

ดู วาทกรรม “ชังชาติ”, ThaiNGO, 6 สิงหาคม 2563, https://www.thaingo.org/content/detail/5079 & เราที่ชังชาติ หรือชาติที่น่าชัง, โดยธีรชัย ระวิวัฒน์, สถาบันปรีดีพนมยงค์, pridi.or.th, 8 ตุลาคม 2563, https://pridi.or.th/th/content/2020/10/446 & การวิเคราะห์วาทกรรมการสร้าง “ความเป็นอื่นคือศัตรู” ในการสื่อสารความเชื่อทางการเมืองในสื่อเครือข่ายสังคมสาธารณะ (Constructing Otherness as Enemy: A Discourse Analysis Approach in Political Ideology Communication in Social Media), โดย ศรีรัช ลอยสมุทร, วิทยาลัยนิเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยรังสิต, ใน วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตปีที่ 15ฉบับที่ 2 มกราคม-มิถุนายน 2563, https://rsujournals.rsu.ac.th/index.php/jla/article/view/1349/1269 

[13]องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, โดย ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, สถาบันพระปกเกล้า, 2546, http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

[14]การตัดสินใจ (Decision Making)บาร์นาร์ด (Barnard, 1938) ได้ให้ความหมายของการตัดสินใจไว้ว่า คือ “เทคนิคในการที่จะพิจารณาทางเลือกต่างๆ ให้เหลือทางเลือกเดียว”

[15]องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, โดย ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, สถาบันพระปกเกล้า, 2546, อ้างแล้ว

[16]องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, โดย ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, สถาบันพระปกเกล้า, 2546, อ้างแล้ว

[17]ดู ประโยชน์และความโหดของมือที่มองไม่เห็น โดย ดร.ไสว บุญมา, กรุงเทพธุรกิจ, 5 มกราคม 2561, https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/118464 & ช่วยอธิบายทฤษฎี Invisible hand / Chaos / Conspiracy / Butterfly effect คร่าวๆ หน่อย, เวบ pantip, 8 มิถุนายน 2557, https://m.pantip.com/topic/32162391? & มือที่มองไม่เห็น (invisible hand) : นัยแท้จริงทางเศรษฐศาสตร์, โดย P. Rinchakorn, ในเวบ Gotoknow, 26 กรกฎาคม 2555, https://www.gotoknow.org/posts/496139

[18]ในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายจัดตั้งของนายก อปท. กฎหมายบัญญัติให้ นายกเทศมนตรี รองนายกเทศมนตรี และพนักงานเทศบาล เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ตามมาตรา 48 เอกวีสติ แห่ง พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 ให้สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล นายกองค์การบริหารส่วนตำบล รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล และพนักงานส่วนตำบล เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ตามมาตรา 65 แห่ง พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 ให้ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด และข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด ตามมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540

[19]มอง Law enforcement ในมิติของกฎหมายอาญา (Criminal Law) กล่าวคือ กฎหมายอาญานั้นเปรียบเสมือนเป็นเครื่องมือสำหรับใช้ในการควบคุมสังคม แต่เมื่อต้องการควบคุมสังคมให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายอาญา รัฐจำเป็นต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่และหน่วยงานขึ้นมาเป็นการเฉพาะ เพื่อประโยชน์ในการบังคับใช้กฎหมายอาญา การดำเนินการกับผู้กระทำความผิดทางอาญาไม่ว่าจะเป็นการสืบสวนสอบสวน การฟ้องคดี การพิจารณาพิพากษาคดี และการบังคับโทษแก่ผู้กระทำความผิด หากปราศจากเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอาญาเสียแล้ว การที่จะนำผู้กระทำความผิดทางอาญามาลงโทษตามสมควรแก่ความผิดก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้

[20]ดู หมวด 2 การกำหนดอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะ มาตรา 16-22, แห่ง พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนในการกระจายอำนาจ พ.ศ.2542 แก้ไข (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549, http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%A1100/%A1100-20-9999-update.pdf 

[21]ค่าปรับตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก (1) กรณีปรับในเขตเทศบาลหรือกรุงเทพฯ จะคำนวณส่วนแบ่งให้เทศบาล จำนวน 50% จากเงินค่าปรับ ส่วนที่เหลืออีก 50% จะคำนวณเป็นเงินรางวัล จราจร 95% (หรือ 47.50% ของเงินค่าปรับ) เงินกองทุนเพื่อการสืบสวนฯ 99% ของเงินส่วนที่เหลือจากเงินรางวัล (หรือ 2.48% ของเงินค่าปรับ) และเงินรายได้แผ่นดิน 1% ของเงินส่วนที่เหลือจากเงินรางวัล (หรือ 0.02% ของเงินค่าปรับ) (2) กรณีปรับนอกเขตเทศบาล นำส่งส่วนราชการผู้เบิก เพื่อส่งให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 100%

[22]“การนำค่าปรับมาแบ่งให้ผู้แจ้งกึ่งหนึ่ง” ตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 

มาตรา 48 ระบุว่า บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือผู้ซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นแต่งตั้งและพนักงาน สอบสวนมีอำนาจเปรียบเทียบได้ เมื่อผู้ต้องหาชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบภายในสิบห้าวัน แล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ถ้าผู้ต้องหาไม่ยินยอมตามที่เปรียบเทียบหรือเมื่อยินยอมแล้วไม่ชำระค่าปรับภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ดำเนินคดีเพื่อฟ้องร้องต่อไป

“ค่าปรับที่ได้จากการเปรียบเทียบตามวรรคหนึ่ง ให้แบ่งแก่ผู้แจ้งตามมาตรา 51 กึ่งหนึ่งและพนักงานเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงานจราจร หรือตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการจราจรผู้จับกุมอีกกึ่งหนึ่ง”

ส่วน มาตรา 49 ระบุว่า ภายใต้บังคับมาตรา 48 วรรคสาม ค่าธรรมเนียมและค่าปรับที่เปรียบเทียบตามพระราชบัญญัตินี้ให้เป็นรายได้ของราชการส่วนท้องถิ่น

ดู กทม.กำชับ “เทศกิจ 50 เขต” บังคับใช้ ระเบียบฯ แบ่งเงินรางวัลนำจับ เข้ม “จยย.เดลิเวอรี ขับขี่บนทางเท้า”, ผู้จัดการออนไลน์, 7 กันยายน 2560, https://mgronline.com/politics/detail/9600000092071

[23]ถ้าย้อนไปดูประวัติศาสตร์สังคมไทยจะเห็นว่า คำว่า “บ้านใหญ่”ถ้าไปศึกษาจริงๆจะพบว่า เขาใหญ่จริงๆนะ เพราะเวลามีโอกาสสำคัญหรือช่วงเวลาเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งในระดับใด ทุกคนก็จะเข้าหาบ้านใหญ่หมด นักการเมืองทุกคน กระทั่งข้าราชการที่เกี่ยวข้องยังต้องเชื่อมโยง โดยเฉพาะนักการเมือง นักธุรกิจก็ต้องมาแสดงตัวเพื่อจะอธิบายว่าเรายังมีไมตรีต่อกัน นับถือกัน หรือจะใช้คำถึงขนาดว่า ยัง “สวามิภักดิ์” ต่อกันก็คงไม่ผิดนัก นี่คือลักษณะบารมีของบ้านใหญ่ ดู เจ้าพ่อ-บ้านใหญ่-เครือข่ายสืบทอด 'ตระกูลการเมือง' ยังอยู่ดีไหมใน , โดย ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า, กรุงเทพธุรกิจ, 24 กุมภาพันธ์ 2565, https://www.bangkokbiznews.com/politics/990350

[24]สำนวนไทย “กบในกะลาครอบ”หมายถึง ผู้มีความรู้และประสบการณ์น้อย แต่สำคัญตนว่ามีความรู้มาก เป็นสำนวนที่นิยมใช้กับคนที่ทะนง มั่นใจสูง ในฝีมือหรือความสามารถของตน โดยที่ไม่ได้คิดว่าความรู้ความสามารถที่ตนเองมีนั้นน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้อื่นที่เขาเชี่ยวชาญกว่า หรืออาจจะเก่งและเป็นสุดยอดฝีมือก็จริง แต่เป็นความสามารถที่จำกัดเฉพาะด้านอยู่ในกรอบแคบๆ เท่านั้น (wordyguru.com)

[25]มีหลายประเทศที่ไม่มีกฎหมายพรรคการเมืองรองรับโดยตรง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือในประเทศเหล่านั้นการเกิดขึ้น การพัฒนาและการเจริญเติบโตของพรรคการเมืองไม่ได้อยู่ที่กฎหมายพรรคการเมือง ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งมีกฎหมายเกี่ยวกับพรรคการเมืองโดยเฉพาะในประเทศเหล่านี้พรรคการเมืองมีขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองบัญญัติให้เกิดขึ้น และการพัฒนาก็อยู่ในกรอบของกฎหมายดังกล่าว 

ประเทศไทยมีการบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับพรรคการเมืองตลอดในช่วงที่ยอมให้มีพรรคการเมือง ได้ คือตั้งแต่ครั้งแรกในปี พ.ศ.2498 จนถึงปัจจุบัน กฎหมายพรรคการเมืองในระยะหลังๆ เช่น พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ.2524, พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 (รวมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2550), พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 (รวมที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554), พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 

ดู กฎหมายพรรคการเมือง :โอกาสและข้อจำกัดในการส่งเสริมและพัฒนาพรรคการเมือง โดย ศาสตราจารย์ ดร.สุจิต บุญบงการ, ใน public-law.net, 9 มกราคม 2548, 01:05 น., http://public-law.net/publaw/view.aspx?id=702

[26]ศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์ เรียก ภาวะพึ่งพิง หรือ ภาวะพึ่งพา (dependent) ตาม “ทฤษฎีภาวะพึ่งพิง” (Dependency Theory) เป็นมโนทัศน์ว่าทรัพยากรไหลจากรัฐยากจนและด้อยพัฒนาหรือ “ชายขอบ” ไปยังรัฐร่ำรวยหรือ “แกนกลาง” ทำให้ประเทศแกนกลางร่ำรวยขึ้น ในขณะที่ประเทศชายขอบยากจนลง ข้อโต้เถียงใจกลางของทฤษฎีภาวะพึ่งพิงว่ารัฐยากจนลงและรัฐที่ร่ำรวยยิ่งรวยขึ้นจากวิธีที่รัฐยากจนถูกรวมเข้าสู่ “ระบบโลก” (วิกิพีเดีย) มีผู้อธิบายว่า ประเทศร่ำรวยจะดึงเอาประเทศยากจนทั้งหลายเข้าสู่ระบบโลก ให้พึ่งพาประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งจะดูดเอาทรัพยากร บุคลากร แรงงาน และผลประโยชน์ต่างๆ จากประเทศยากจนที่ตนเองไปส่งเสริมสนับสนุน” ในนามของ “การพัฒนา”

[27]“ขุนพลอยพยัก” (Yes men) คือ ผู้ที่คอยว่าตามหรือเห็นด้วยกับผู้ใหญ่เป็นเชิงประจบสอพลอเป็นต้น คนประเภทนี้มากเหลือเกิน พวกเขาชอบเลี่ยงความขัดแย้งกับผู้อื่น จึงมักประนีประนอมด้วยการเปลี่ยนจุดยืนตัวเองให้สอดคล้องกับผู้อื่นเสมอ แต่เราก็ไม่ค่อยเข้าใจคนพวกนี้นัก ไม่รู้ว่า ที่เขาเห็นดีเห็นงามด้วย เขาทำอย่างจริงใจหรือฉาบฉวยกันแน่ แต่ไม่รู้ด้วยว่า เขาฉลาดหรือโง่กันแน่ แต่คนอีกพวกหนึ่ง จะเป็นพวกที่พูดจากระตือรือร้น ชอบแลกเปลี่ยนความคิดเห็น คนพวกนี้จะเห็นดีเห็นงามไปพร้อมกับเสนอความเห็นแย้งไปในตัว ซึ่งใครๆ ก็ชอบคุยกับคนพวกนี้ จุดนี้แหละที่แสดงให้เห็นว่าเขาเป็นคนฉลาด เพราะเขาได้สร้างสัมพันธภาพอันดีกับคนที่เขาคุยด้วยโดยไม่ทิ้งร่องรอยไว้เลย

ดู ศิลปะการพูด กับคนประเภท “ขุนพลอยพยัก” ... (1), โดย Wasawat Deemarn (วสวัตดีมาร), ใน Gotoknow, 29 พฤษภาคม 2553, https://www.gotoknow.org/posts/362177 & ขุนหลวงพลอยพยัก, บทกลอนโดย ว.แหวนลงยา ใน นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ 43 ฉบับที่ 2433 วันพฤหัสบดีที่ 6 - วันจันทร์ที่ 10 เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช 2560, https://www.koratdaily.com/blog.php?id=5816 

[28]แถ (ภาษาปาก) หมายถึง เถียงหรือชี้แจงไปข้างๆ คูๆ (วิกิพจนานุกรม) เหมือนกับ ตะแบง หมายถึง อาการที่พูดหรือเถียงข้างๆ คูๆ หรือพูดเฉไฉ (ราชบัณฑิตยสถาน) แถก หมายถึง การเสือกไป, กระเสือกกระสน เช่น “ปลาแถกจากที่ไม่มีน้ำไปหาแหล่งน้ำ” (เวบ sanook) 

แถเป็นการโต้เถียงโดยไร้ซึ่งเหตุผล เถียงโดยไร้การไตร่ตรอง เถียงไม่คิด เถียงไปเรื่อย แถเป็นพฤติกรรมของคนไร้สมอง ส่วนใหญ่แล้วการโต้เถียงไม่จบสิ้นลักษณะนี้(แถ) มักจะเกิดขึ้นหลังจากแพ้การสู้กันโดยตรรกะ หรือไม่สามารถใช้ความจริงและเหตุผลเอาชนะได้ (เวบsanook)

[29]วาทกรรมบกพร่องโดยสุจริต เป็นวาทกรรมอาบยาพิษ บกพร่องโดยสุจริตซ้ำซาก เป็นรากเหง้าแห่งความขี้โกง มาจากกรณียื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จที่โด่งดังที่สุดคือ “คดีซุกหุ้นทักษิณ” ปี 2544 กรณีซุกหุ้นไว้กับคนใช้และคนขับรถ ระหว่างการพิจารณาคดี ทักษิณให้การว่ามิได้จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สินอันเป็นเท็จ แต่ผู้ช่วยหรือเลขานุการของตนเองเป็นผู้ดำเนินการแทน หากมีความผิดพลาดในการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินหนี้สินที่ไม่ถูกต้องก็เป็นเพียงความบกพร่องของตนเอง โดยมิได้มีเจตนาทุจริตแต่อย่างใด สาเหตุเกิดขึ้นจากการ ‘บกพร่องโดยสุจริต’ ของตน ไม่ควรต้องถูกลงโทษตามรัฐธรรมนูญ โดยตอนจบอดีตนายกฯ พ้นผิดพร้อมวลีดัง 'บกพร่องโดยสุจริต' ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ทักษิณพ้นผิดด้วยคะแนนเสียง 8 ต่อ 7 ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2544 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2544

ดู ‘บกพร่องโดยสุจริต’ ตำนานวลีดังการเมืองไทย ที่มาที่ไปจากการยื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จ โดย พลวุฒิ สงสกุล, thestandard, 6 ธันวาคม 2560, https://thestandard.co/prawit-wongsuwan-showed-false-assets/

[30]การรับรู้และการถูกปิดกั้นทางการเมืองของประชาชน อาทิเช่น การมีส่วนร่วมทางการเมือง ความรู้ข่าวสารทางการเมืองที่ประชาชนได้รับจากสื่อ ถูกปิดกั้น ประชาชนถูกปิดกั้นการรับรู้ข่าวสาร กระบวนการที่ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องมีโอกาสได้เข้าร่วมในรับรู้กิจการ การตัดสินใจในเรื่องต่างๆ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันรัฐไม่สามารถที่จะปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารประชาชนได้

[31]คำว่า วัฒนธรรมทางการเมือง (Political Culture)ได้ใช้เป็นครั้งแรกในบทความที่ชื่อว่า “Comparative Political Systems” ซึ่งเขียนโดย เกเบรียล อัลมอนด์ (Gabriel A. Almond) ได้ให้ความหมายไว้ว่า “วัฒนธรรมทางการเมืองเป็นแบบแผนของทัศนคติและความเชื่อของบุคคลที่มีต่อระบบการเมือง หรือต่อระบบย่อยของระบบการเมือง และต่อบทบาททางการเมืองของบุคคล”

วัฒนธรรมการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมทางสังคมที่มีความเกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครอง ส่วนประกอบที่สำคัญของวัฒนธรรมทางการเมือง คือ ค่านิยม ความเชื่อ และทัศนคติที่บุคคลมีต่อระบบการเมืองการปกครองของตนและแสดงออกโดยการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง วัฒนธรรมทางการเมืองถูกกำหนดขึ้นหรือได้รับอิทธิพลจากภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ขนบธรรมเนียมประเพณีศาสนา โดยผ่านกระบวนการอบรมหล่อหลอมของสังคมในระดับต่างๆ แล้วถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนรุ่นต่อๆ ไปอย่างต่อเนื่อง และสอดรับกับสภาวะแวดล้อมของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในแต่ละช่วงเวลา

ค่านิยมทางการเมือง เป็นวัฒนธรรมทางการเมือง หมายถึงแบบแผนของทัศนคติและความเชื่อของบุคคล ที่มีต่อระบบการเมืองของกลุ่มสมาชิกของระบบการเมืองหนึ่ง โดยวัฒนธรรมทางการเมืองในแต่ละชุมชนก็จะมีความเป็นตัวของตัวเองซึ่งถูกกำหนดขึ้นหรือได้รับอิทธิพลจากสภาวะแวดล้อม เช่น ประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณี ศาสนา โดยผ่านกระบวนการขัดเกลาทางการเมือง (political socialization) โดยสถาบันต่างๆ เช่น ครอบครัว เพื่อน โรงเรียน กลุ่มสังคมและสื่อมวลชน เพื่อที่จะถ่ายทอดวัฒนธรรมทางการเมืองจากรุ่นหนึ่งไปสู่รุ่นหนึ่งอย่างต่อเนื่อง และมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมต่างๆ อยู่เสมอ แต่ภาวะของวัฒนธรรมทางการเมืองของไทยเราจึงอยู่ในระหว่างการยื้อยุดฉุดกระชากกันและกัน ระหว่างวัฒนธรรมทางการเมืองเก่ากับวัฒนธรรมทางการเมืองใหม่ จนทำให้เกิดภาวะประหลาดขึ้น ดังคำกล่าวของ Antonio Gramsci ที่เคยว่าไว้นานแล้ว คือ “The old world is dying away, and the new world struggles to come forth : now is time of monster.”

ดู จุลสาร เรื่อง “วัฒนธรรมทางการเมือง”, สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, ธันวาคม 2556, https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_dl_link.php?nid=34911 & วัฒนธรรมทางการเมืองของไทย, โดยชำนาญ จันทร์เรือง, กรุงเทพธุรกิจ, 10 พฤษภาคม 2559, https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/112623

หมายเลขบันทึก: 710118เขียนเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2022 23:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2022 23:32 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท