มือที่มองไม่เห็น (invisible hand) : นัยแท้จริงทางเศรษฐศาสตร์


“มือที่มองไม่เห็น” (invisible hand) ถือได้ว่าเป็นวาทะกรรมยอดฮิตในแวดวงวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ (ในปัจจุบันนั้น บางครั้งยังถูกหยิบยืมไปใช้ในแวดวงอื่น ๆ อีกด้วย) ถูกประดิษฐ์คิดขึ้นโดยอดัม สมิท (Adam Smith : ค.ศ. ๑๗๒๓ – ๑๗๙๐) ผู้ที่ได้รับการยอมรับและยกย่องให้เป็น บิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งนัยความหมายของคำดังกล่าวนั้นมีไม่มากนักที่คนส่วนใหญ่จะรู้จักที่มาที่ไปของวาทะกรรมนั้น ผู้เขียนจึงขออนุญาตหยิบยกนัยของคำดังกล่าว ซึ่งท่านรศ.วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน  ได้รวบรวมไว้ในหนังสือ “เศรษฐศาสตร์ไม่ยากอย่างที่คิด” (จากหนังสือ เศรษฐศาสตร์ไม่ยากอย่างที่คิด โดย รศ.วันรักษ์  มิ่งมณีนาคิน หน้า. ๒๕ – ๒๙. ) โดยมีสาระสำคัญดังนี้        

 

               ...หากปัจเจกบุคคลในระบบเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ แรงงานและผู้บริโภคต่างมีการตัดสินใจและดำเนินการทางเศรษฐกิจใด ๆ อย่างมีเหตุมีผล (rational) เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ตนเองแล้ว เชื่อว่าผลประโยชน์ของทุกฝ่ายจะประสานกันได้ (harmony of interest) เปรียบเหมือนมี มือที่มองไม่เห็น (invisible hand) คอยกำกับอยู่

               ความข้างต้นเป็นคำอธิบาย “มือที่มองไม่เห็น” ที่ถ่ายทอดกันมาอย่างนี้ในวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิท (Adam Smith) ปรมาจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ได้นำวลีนี้มาใช้เมื่อราว ๒๐๐ กว่าปีมาแล้ว และกลายเป็นวลีอมตะที่วนเวียนอยู่ในวงวิชาการเศรษฐศาสตร์มาจนตราบเท่าทุกวันนี้

               มีผู้สงสัยว่าสมิทใช้วลีนี้ในความหมายดังข้างต้นใช่หรือไม่ และจากการค้นคว้า พบว่า อดัม สมิท มิได้ใช้วลีนี้ในความหมายข้างต้นเสียเลยทีเดียว เอ็มมา รอทส์ไชลด์ (Emma Rothschild) ได้ตรวจสอบการใช้วลีนี้อย่างละเอียดจากงานเขียนของสมิท และพบว่าสมิทได้ใช้วลีนี้ต่างกรรมต่างวาระรวม ๓ ครั้งด้วยกัน

              การใช้ครั้งแรก ปรากฏอยู่ในหนังสือ History of Astronomy (ประวัติดาราศาสตร์) ซึ่งเขียนขึ้นในกลางทศวรรษที่ ๑๗๕๐ ข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงความเชื่อมั่นอันงมงายของคนในสังคม ที่นับถือผีสาง เทวดา สมิทกล่าว

             คนในสังคม เช่นนี้ อธิบายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ไม่ปกติต่าง ๆ ฟ้าผ่า และลมพายุ เป็นต้น... โดยโยงเข้ากับสิ่งที่ไม่มีตัวตน เช่น ภูติผีปีศาจ นางฟ้า และเทวดา เป็นต้น แต่ในทางกลับกัน ไม่มีคำอธิบายความเชื่อที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้าโดยโยงเข้ากับสภาวะอันเป็นปกติของสรรพสิ่ง อีกทั้งไม่เคยนำ มือที่มองไม่เห็น ของจูปิเตอร์ ไปโยงกับสภาวะอันปกติของสรรพสิ่ง (ฉบับพิมพ์ ค.ศ. ๑๙๘๐ อยู่หน้า ๔๙)

            สมิทใช้วลี “มือที่มองไม่เห็น” ครั้งที่สองในหนังสือ The Theory of Moral Sentiments เขียนในปี ค.ศ. ๑๗๕๙ สมิทกล่าวถึงคนมั่งมีบางคนที่ขาดคุณธรรมและจริยธรรม เห็นแก่ตัว เอาแต่ประโยชน์ตน จ้างแรงงานจำนวนมากมายเพื่อผลิตแต่สินค้าฟุ่มเฟือยต่าง ๆ สมิทกล่าวว่า

 

           คนรวยเหล่านี้ถูกชักจูงโดย “มือที่มองไม่เห็น” รุกรานผลประโยชน์ของสังคมโดยไม่รู้ตัว (ฉบับพิมพ์ ค.ศ. ๑๙๗๖ อยู่หน้า ๑๘๔)

          ครั้งที่สาม สมิทใช้วลีนี้ในหนังสือ The Wealth of Nations (ชื่อเต็ม : An lnquiry into the Nature and Causes of the wealth of Nations) ซึ่งเขียนในปี ค.ศ. ๑๗๗๖ ในบทที่ว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ สมิทนั้นได้ชื่อว่า เป็นนักต่อต้านตัวยงในลัทธิกีดกันสินค้าเข้า เขากล่าวว่า

 

             การผูกขาดให้ประโยชน์แก่อุตสาหกรรมจำเพาะ... แต่ทว่าแม้ไม่มีการกีดกันสินค้าเข้า พ่อค้าก็ยังคงให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศอยู่ดี ถ้าหากว่าเป็นประโยชน์แก่พ่อค้า... จึงเท่ากับว่าพ่อค้าถูกชักจูงโดย “มือที่มองไม่เห็น” ในการสนับสนุนเป้าหมายในสังคมโดยไม่ได้ตั้งใจ (ฉบับตีพิมพ์ ค.ศ. ๑๙๗๖ อยู่หน้า ๔๕๓ – ๗๑)

 

            การใช้วลี “มือที่มองไม่เห็น” ใน ๓ ครั้งข้างต้น ได้สร้างความปวดหัวพอควรให้กับนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ เพราะดูเหมือนว่าบทบาทของวลีนี้ไม่คงเส้นคงวา อเล็ก แม็กฟี (Alec Macfie) ได้ชี้ว่า “หน้าที่ของ มืออันศักดิ์สิทธิ์ที่มองไม่เห็น ในการใช้ครั้งแรกได้เปลี่ยนจาก อานุภาพของทวยเทพในการบันดาลให้เกิดสภาวธรรมชาติอันผิดปกติ มาเป็นการรักษาสภาวะที่เป็นปกติของสรรพสิ่ง”

             แม็กฟีให้ความเห็นว่า บางทีการเปลี่ยนนี้คงเป็นเรื่องของรสนิยมทางภาษา สมิท ผู้ซึ่งนิยมใช้ภาษาที่แสดงถึงความจริงจัง ในขณะที่เขียนใจคงจะแวบไปนึกถึง มือที่มองไม่เห็น ของเทพบิดร จูปิเตอร์ แต่เผลอเขียนสลับความสัมพันธ์มาเป็นสภาวะอันปกติของธรรมชาติ

             เอ็มมา รอทส์ไชลด์ ลงความเห็นว่า ท่าทีของสมิทที่มีต่อ “มือที่มองไม่เห็น” ที่ปรากฏอยู่ ๓ แห่ง ดังกล่าวข้างต้นล้วนส่อไปในทางเยาะหยัน และประชดประชัน สมิทใช้วลีนี้ในงานเขียนทั้งหมดเพียง ๓ ครั้ง จึงไม่น่าแปลกที่ผู้ศึกษางานเขียนของสมิทก่อน ค.ศ. ๑๙๕๐ ไม่ได้ให้ความสนใจต่อวลีนี้เลย ฉะนั้นการเฟ้นหาความหมายของวลีนี้ในมุมมองของสมิทจึงขาดหลักฐานโดยตรงจำต้องอาศัยหลักฐานแวดล้อมหรือหลักฐานโดยอ้อม และอาจสรุปได้ว่าสมิทใช้วลีนี้ในแง่ลบ นั่นคือใช้กับสิ่งที่ปรมาจารย์ผู้นี้เห็นว่าไม่น่าชื่นชม

             อันที่จริงสมิทมิใช่บุคคลแรกที่คิดประดิษฐ์วลีนี้ขึ้นมา “มือที่มองไม่เห็น” ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมของชาวแองโกลสกอต ที่รู้จักกันแพร่หลาย สมิทเองก็คงคุ้นเคยกับวรรณกรรมเรื่องนี้เป็นอย่างดี ตอนหนึ่งในวรรณกรรมเรื่องนี้ ตัวเอก Macbeth ได้กล่าวกับอัศวินคนหนึ่งว่า “ด้วยมือที่เปื้อนเลือดและมองไม่เห็นของท่านได้ช่วยปกป้องข้าพเจ้าให้พ้นจากการก่ออาชญากรรมอย่างหวุดหวิด” (Macbeth, Act III, Scene ii)

            ยังมี “มือที่มองไม่เห็น” ก่อนหน้านั้นอีก ซึ่งดูเหมือนว่าสมิทรู้จักอยู่แล้วเช่นกัน โดยปรากฏอยู่ในเรื่อง Metamorphoses ของ Ovid ในตอนที่กล่าวถึงตัวเอกกำลังทำร้ายศัตรูทางด้านหลังว่า “บิดและแกว่ง มือที่มองไม่เห็นของเขา สร้างความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส” (Ovid, ค.ศ. ๑๙๘๔ หน้า ๒๑๕)

           สมิทมีทัศนะต่อ “มือที่มองไม่เห็น” อย่างไรกันแน่ เป็นปริศนาที่เรากำลังหาคำตอบ ซึ่งต้องใช้หลักฐานแวดล้อมบางประการ ดังนี้

            ประการแรก มือที่มองไม่เห็น เป็นวลีที่กำกวม อีกทั้งคำอธิบายหรือการใช้วลีนี้ในความหมายปัจจุบันก็เป็นแนวคิดที่ค่อนข้างมองข้าม “เจตจำนง” หรือ “เจตนารมณ์” ของปัจเจกชน ซึ่งไม่สอดคล้องกับแนวคิดหลักของอดัม สมิท จึงสันนิษฐานได้ว่าสมิทไม่ได้ให้ความสำคัญกับ “มือที่มองไม่เห็น” ในขณะที่ใช้คำนี้

              ดังได้กล่าวแล้วว่าสมิทใช้วลีนี้ทั้งหมดเพียง ๓ ครั้ง และใช้ในภาวะแวดล้อม คือเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของบุคคลที่ไม่น่าชื่นชมในสายตาของสมิท นั่นคือ คนเขลาที่เชื่อเรื่องผีสางเทวดา คนมั่งมีที่โลภโมโทสันและพ่อค้าที่ขาดการไตร่ตรอง คำว่า invisible มาจากภาษาละติน caecus ซึ่งแปลว่า “บอด” (blind)

             สมิทได้ชื่อว่าเป็นนักต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ในการปกป้องเสรีภาพของปัจเจกบุคคล แต่เนื้อหาแนวคิดของ “มือที่มองไม่เห็น” ในความหมายว่า บอด มองไม่เห็นมือที่จูงตน เขลา – มองข้ามเจตนารมณ์ของปัจเจกบุคคล สิ่งเหล่านี้ล้วนขัดแย้งกับสิ่งที่สมิทต่อสู้มาตลอดชีวิต ในข้อเขียนระยะหลังของสมิทได้ใช้วลี มือที่มองไม่เห็นไม่เป็นรูปเป็นร่าง (visible disembodied hand) เขากล่าวว่า “นักปฏิรูปคิดเอาเองว่าประชาชนในสังคมที่กว้างใหญ่จะทำตามที่นักปฏิรูปชี้นำอย่างง่ายดายราวกับมือที่หยิบจับตัวหมากในกระดานหมากรุก... นักปฏิรูปหาได้ตระหนักไม่ว่าสังคมที่เป็นจริงหมากรุกทุกตัวมีชีวิตจิตใจ และมีความเป็นอิสระ”

              ความเป็นอิสระของปัจเจกชนนี้ขัดแย้งกับแนวคิด “มือที่มองไม่เห็น” ที่ใช้ในปัจจุบันอย่างแน่นอน จึงอาจสรุปว่า มือที่มองไม่เห็น ที่ใช้ในปัจจุบันมิใช่แนวคิดของสมิท

            ประการที่สอง นักประวัติศาสตร์ลงความเห็นว่า มือที่มองไม่เห็นในงานเขียนโดยเฉพาะครั้งที่ ๑ และ ๓ น่าจะหมายถึงพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า เพราะสมิทมักจะสอดแทรกคำสอนทางศาสนาลงในงานเขียนของเขา

            ประการที่สาม มือที่มองไม่เห็น เป็นบทคัดย่อ (abstract) ที่สมิทใช้แทนปัญหาต่าง ๆ ที่มีอยู่มากมายในเศรษฐศาสตร์การเมือง (Political Economy) ในหนังสือ The Wealth of Nations สมิท กล่าวถึงอิทธิพลของพ่อค้า ในการแสวงหาผลประโยชน์และพยายามเข้าครอบงำฝ่ายนิติบัญญัติ “มือที่มองไม่เห็น” ปรากฏอยู่ในบทที่กล่าวถึงพ่อค้าใช้อิทธิพลกีดกันการนำสินค้าเข้าจากต่างประเทศ สมิทได้กล่าวเตือนถึงอันตรายของการสร้างอิทธิพลต่าง ๆ ในการออกกฎหมายอันมีผลต่อการกำหนดบรรทัดฐาน (norms) และการรักษาประเพณีโดยไม่คำนึงถึงภาวการณ์ที่เปลี่ยนไป

                 “มือที่มองไม่เห็น” จึงเป็นเพียงสีสันเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่แต่งแต้มงานเขียนของสมิทโดยที่เจ้าตัวมิได้ตั้งใจ สมิทเองเคยพูดถึงดาราศาสตร์ยุคนิวตันว่า แม้จะอาศัยจินตนาการในยุคแรก ๆ แต่ก็สามารถนำความรู้ทางดาราศาสตร์ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ทางการเมือง สมิทยกตัวอย่างว่า “ท่านอาจจูงใจนักการเมืองได้ถ้าชูประเด็นว่าความเอาใจใส่ทางการเมืองของเขาจะช่วยสร้างความงดงาม และความเป็นระเบียบทางการเมืองดุจดังความงดงาม และความเป็นระเบียบของระบบสุริยะจักรวาล” เราอาจเลียนแบบตัวอย่างของสมิทในที่นี้ว่า “มือที่มองไม่เห็น” อาจจะสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยทางเศรษฐกิจได้ดีกว่ามือที่มองเห็นอันหมายถึงกฎระเบียบต่าง ๆ

            คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า จักรวาลแห่งปัญญาของสมิทเป็นบ่อเกิดของทฤษฎีสมัยใหม่มากมาย อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็ว ๆ นี้บทบาทหน้าที่ของ “สังคม” ซึ่งเป็นจุดเน้นของสมิทได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ส่งผลให้มือที่มองไม่เห็นมีเสน่ห์ลดน้อยลง เพราะเมื่อประชาชนไม่เห็นความสำคัญของสวัสดิการทั่วไปในสังคม เขาเหล่านั้นย่อมไม่จำเป็นต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุดอีกต่อไป

            นอกจากนี้การแยกแยะผลประโยชน์ของปัจเจกชนที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม และที่ไม่ถูกต้องออกจากกันโดยอาศัย “มือที่มองไม่เห็น” เป็นเรื่องที่ยากมาก อีกทั้งบรรทัดฐานที่ใช้รักษาความแตกต่างของสองสิ่งนี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังปรากฏในทศวรรษที่ ๑๙๙๐ ดังนั้น การศึกษาแนวคิดของสมิทเกี่ยวกับมือที่มองไม่เห็นในศตวรรษที่ ๒๑ จะยิ่งจืดชืดมากขึ้น เมื่อเทียบกับศตวรรษที่ ๒๐ ที่กำลังจะผ่านพ้นไป



 

  วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน. (๒๕๔๗). เศรษฐศาสตร์ไม่ยากอย่างที่คิด (พิมพ์ครั้งที่ ๔). กรุงเทพมหานคร :  สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.




 

หมายเลขบันทึก: 496139เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2012 22:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กรกฎาคม 2012 22:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท