เรียนรู้จากการทำหน้าที่นายกสภา สบช.  4. หาโอกาสรับฟังเพื่อเรียนรู้


 

ในวันประชุมสภา สบช. ครั้งที่ ๕/๒๕๖๕   คือวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๕ ผมนัดกรรมการสภาจากอาจารย์และบุคลากรภายใน ซึ่งมี ๔ ท่านมารับประทานอาหารเช้า   และพูดคุยทำความรู้จักกัน   รวมทั้งเพื่อร่วมกันทำความเข้าใจการทำหน้าที่กรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษา    ในฐานะที่เป็นส่วน “skin in the game”   

“skin in the game” เป็นวลีที่ว่ากันว่า ราชานักเล่นหุ้น Warren Buffet ใช้เป็นคนแรก   หมายถึงดำเนินกิจกรรมโดยรู้เรื่องภายในของกิจกรรมนั้นมากกว่าคนอื่นๆ (๑)     และ Nassim Taleb เอามาเขียนเป็นหนังสือ (๒) ชี้ให้เห็นว่า เป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน (ผมตีความหนังสือเล่มนี้ไว้ที่ (๓))    ผมจึงหาทางเรียนรู้จากทั้ง ๔ ท่านนี้    และเชิญ ผอ. สำนักงานสภา มาร่วมอีกท่านหนึ่ง   

ท่าทีอย่างหนึ่งที่ผมสอนตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ คือ ผมเป็นคนตกยุค

ด้วยวัย ๘๐   และคนที่ทำงานส่วนใหญ่อยู่ในวัย ๔๐    ห่างกันถึง ๔๐ ปี   สองเจนเนอเรชั่น    วิธีคิดย่อมต่างกันมาก     ผมเตือนตัวเองให้ย้อนกลับไปคิดถึงสมัย ๕๐ ปีก่อน    ผมอายุ ๓๐  ฟังผู้ใหญ่อายุ ๕๐ กว่าๆ พูด ผมรู้สึกรำคาญ    ว่าพูดอะไรเชยๆ    ไม่น่าสนใจ    และเป็นวิธีคิดที่ล้าหลังตกยุค    มารู้หลังจากนั้นเป็นยี่สิบปีว่า ความรู้สึกตอนนั้นเกิดจากตัวผมเองมีข้อจำกัดในการทำความเข้าใจ    และร้ายกว่านั้นคือไม่สนใจที่จะฟัง 

   กลับมาที่วงอาหารเช้าวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๕    ที่ผมได้รับฟังเต็มอิ่มสมใจ    โดยเฉพาะฟังจากคนที่มี skin in the game   ที่อยู่ในระบบนิเวศที่เปลี่ยนจากแบบเดิมที่เป็น สบช. ในฐานะกองในสำนักปลัดกระทรวง   มาเป็น สบช. ช่วงอธิการบดีรักษาการ   และเป็น สบช. ช่วงที่ ศ. (พิเศษ) วิชัย เทียนถาวร ได้รับการสรรหามาเป็นอธิการบดี จนถึงปัจจุบัน   ที่จะต้องมีการเปลี่ยนวัฒนธรรมการบริหารงาน และวัฒนธรรมการทำงาน จากวัฒนธรรมแนวดิ่งของราชการ    มาเป็นวัฒนธรรมแนวราบของสถาบันอุดมศึกษา   

สิ่งที่ผมได้รับฟังจากการพูดแบบกันเอง พูดจากใจ    รับฟังโดยไม่มีเงื่อนไข ไม่มีอัตตา    เป็นข้อมูลที่มีคุณค่ายิ่ง    โดยเฉพาะใน สบช. ที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีลักษณะพิเศษ    คือมีวิทยาลัย ๓๙ แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ   

ท่านอธิการบดี อยากเข้าร่วมการพูดคุยในวันนี้ด้วย   แต่ผมห้ามไว้   เพราะเกรงว่าจะทำให้ทั้ง ๕ ท่านนี้ ไม่กล้าพูดจากใจ     การสนทนาเช้านี้บอกชัดเจนว่า ความเห็นของผมถูกต้อง    และถ้าท่านอธิการบดีอยากฟังข้อมูลแบบนี้ ท่านต้องจัดวงคุยเอง     แต่ท่านจะไม่ได้ข้อมูลเหล่านี้ หากความสัมพันธ์ระหว่างท่านกับผู้ปฏิบัติงานเป็นความสัมพันธ์แบบผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา    เพราะคนที่เป็น “ลูกน้อง” จะไม่กล้าเสนอความเห็นที่ขัดใจจ้าวนาย   

ผมยืนยันต่อท่านผู้อ่านได้ว่า    วงคุยของเราเป็นวงคุยที่มุ่งหาทางพัฒนา สบช. เป็นหลัก    โดยผมชี้ให้เห็นภาพใหญ่ว่า สบช. กำลังอยู่ในช่วง transformation  ดังนั้นทุกคน ทุกฝ่าย ต้องเห็นอกเห็นใจกัน ว่ายังอยู่ในช่วงปรับตัว    แต่ทุกฝ่ายต้องพร้อมปรับตัว และร่วมกันปรับตัว    วงคุยนี้มุ่ง blame no one    แต่มุ่งหาทางพัฒนา สบช.        

บันทึกนี้ เป็นเรื่อง “หาโอกาสรับฟัง เพื่อเรียนรู้” เล่าประสบการณ์ตรง เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับท่านผู้ใหญ่ที่ต้องการรู้ skin in the game ในหน่วยงานของท่าน   ว่าผมใช้วิธีการอย่างไร   ได้ผลอย่างไร   แต่บันทึกนี้ผมเป็นผู้เขียน ผมจึงอาจ “ยกหาง” ตนเองมากไปก็เป็นได้    โปรดอย่าเชื่อไปเสียทั้งหมด   

บันทึกนี้มุ่งสื่อความเชื่อ และวิธีการของผม ในการแสวงหาพลังของ skin in the game     ที่ผมมีคำแนะนำสำหรับผู้บริหารไทยว่า    หากท่านต้องการ ท่านต้องจัดวงของท่านเอง    โดยต้องมีวิธีสร้างบรรยากาศที่คนในวงสบายใจที่จะพูดออกมาจากใจ โดยไม่กังวลว่าจะไม่ถูกใจผู้ใหญ่   ผมโชคดีที่ไม่เคยเป็นใหญ่เป็นโตในวงราชการ    จึงไม่ติดวัฒนธรรมเจ้าขุนมูลนาย   

ย้ำอีกทีว่า ข้อความในบันทึกนี้อาจผิดทั้งหมด   เพราะเขียนใน creative mode       

วิจารณ์ พานิช

๑๒ ส.ค. ๖๕     

วันแม่   

 

   

 

 

หมายเลขบันทึก: 708187เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2022 17:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2022 17:05 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท