ชีวิตที่พอเพียง  4286. ชีวิตที่ไร้สมมาตร


 

หนังสือ Skin in the Game : Hidden Asymmetries in Daily Life (2018)  เขียนโดย Nassim Nicholas Taleb นักสถิติและนักเขียนหนังสือยอดนิยม Black Swan   บอกว่าปฏิสัมพันธ์ในชีวิตคนเราตกอยู่ในมายาหลากหลายด้าน    อันเกิดจากความเสี่ยงและอสมมาตร  โดยเราไม่รู้สึกตัว

คำว่า “skin in the game” เป็นวลีเด็ดของราชานักเล่นหุ้น Warren Buffet (๑)    หมายถึงพฤติกรรมของผู้บริหารระดับสูง ซื้อหุ้นของบริษัทที่ตนเองบริหาร    เพราะรู้ข้อมูลมากกว่าคนนอก    เป็นเรื่องความไม่สมมาตรด้านการรู้ข้อมูล    หนังสือบอกว่า ความไม่สมมาตรในทำนองเดียวกันมีมากมายในชีวิตประจำวันของคนเรา    เป็นสภาพที่มีทั้งคุณและโทษ    หรือกล่าวใหม่ได้ว่า คนเราต้องเข้าใจและรู้เท่าทันสภาพอสมมาตรของข้อมูลหรือความรู้       

 เรื่องแรก สมมาตร หรือความสมดุล ของปฏิสัมพันธ์   ที่คนเรามักมีปฏิสัมพันธ์กันโดยมีข้อมูลหรือความรู้เรื่องนั้นไม่เท่ากัน    เช่นระหว่างคนซื้อกับคนขาย     ใครรู้ดีกว่ากัน    ตัวอย่างเช่น ชาวบ้านขายที่ดินด้วยราคาไร่ละ ๕ หมื่นบาทตามราคาประเมิน   แต่เสี่ยผู้ซื้อรู้ว่ากำลังจะมีถนนตัดผ่านหน้าที่ดิน ราคาจะขึ้นไปเป็นสิบเท่า     หนังสือบอกว่าเสี่ยผู้ซื้อมี skin in the game    ที่นำสู่พฤติกรรมผิดคุณธรรม    ที่คนซื้อเอาเปรียบคนขาย   

แต่ที่เห็นดาษดื่นในปัจจุบัน คือคนขายหลอกคนซื้อ    มีโฆษณาขายสินค้า แบบกึ่งจริงกึ่งเท็จ   ที่มีทั่วไปในทีวีช่องโฆษณาขายสินค้าโดยเฉพาะ    คนที่หลงเชื่อก็ซวยไป    การมีกฎหมายกำหนดให้ผู้ซื้อกับผู้ขายมีข้อมูลสำหรับตัดสินใจเท่าเทียมกัน จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง   

ในหลายกรณี สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นไปตามหลักสมมาตร   แต่เป็นปรากฏการณ์ “คนส่วนน้อยกำกับพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่” (minority rules the majority)    โดยคนส่วนน้อยที่ยึดมั่นเพียงร้อยละ ๓  เปลี่ยนพฤติกรรมของคนร้อยละ ๙๗ ได้    เขายกตัวอย่างในอังกฤษมีคนมุสลิมเพียงร้อยละ ๔ ของประชากรทั้งหมด   แต่ทำให้เนื้อแกะที่นำเข้าจากนิวซีแลนด์ต้องเป็นเนื้อฮาลาล    คนอังกฤษเกือบทั้งประเทศกินเนื้อแกะฮาลาล    เพราะคนมุสลิมมี skin in the game คือยึดมั่นในหลักการฮาลาลโดยไม่ยอมยืดหยุ่น    

เรื่องคนส่วนน้อยกำกับพฤติกรรมและความสัมพันธ์ของคนส่วนใหญ่นี้   ผมมีความเห็นว่าเป็นเรื่องที่เกิดอยู่โดยทั่วไป ทั้งในสังคมประชาธิปไตยและสังคมเผด็จการ    เข้าใจได้ง่ายว่า สังคมเผด็จการใช้กระบวนทัศน์ “คนไม่เท่ากัน” อยู่แล้ว    แต่ในสังคมประชาธิปไตยเกิดขึ้นได้อย่างไร    เขายกตัวอย่างอาหาร GM (genetically-modified food)    บริษัทเจ้าของเทคโนโลยีบอกว่า ควรกำหนดให้คนทั่วไปกินอาหารนี้ได้ เพราะไม่ก่อโทษ (เขาต้องการขายเมล็ดพันธุ์)   แต่ไม่ชวนคนคิดว่า คนส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด ไม่มีปัญหาจากการกินอาหารที่ไม่ใช่ GM   ที่ผมตีความว่า เป็นเรื่องที่คนต้องรู้เท่าทันความซับซ้อนของเรื่องนั้นๆ     สภาพที่เกิดขึ้นคือ ครอบครัว ๕ คนที่มีคนแพ้อาหารบางชนิด ๑ คน   ทั้งครอบครัวกินอาหาร GM ที่ช่วยให้ไม่เกิดอาการแพ้อาหารชนิดนั้น     ซึ่งเป็นสภาพที่คนส่วนน้อยกำหนดพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่

เขาเตือนสติว่า การเข้าไปทำงานเป็นสมาชิกขององค์กร เท่ากับเป็นการยอมสละความเป็นอิสระส่วนหนึ่ง   ยอมให้องค์กรเป็นผู้กำหนดกติกาของพฤติกรรม    เรื่องนี้ผมไม่เคยคิดเลย   เพราะผมหาทางทำความเข้าใจหาความหมายของกติกาเหล่านั้น   สำหรับนำมาใช้คิดแนวทางทำงานของตนเองและทีมงาน    เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ (purpose) ร่วมกัน   เท่ากับผมไม่เคยทำตามกติกาแบบเซื่องๆ    แต่ตีความกติกาเพื่อเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่    หากกติกาไปไม่ถึง ผมก็ช่วยต่อให้

แต่ลูกสาวคนที่สองของผมคิดต่าง    เขาสละตำแหน่งงานดี รายได้สูง ในบริษัทญี่ปุ่น    มามีชีวิตอิสระ เป็น freelance อยู่ในปัจจุบัน เป็นเวลากว่ายี่สิบปีแล้ว    ผมก็เห็นว่า เขามีชีวิตที่มีคุณค่าต่อสังคม และมีความสุข   

หนังสือบอกว่า ความสำเร็จในชีวิต ขึ้นกับภาพลักษณ์ของตนเองในสังคม   หรืออาจขึ้นกับความสามารถที่แท้จริงก็ได้  ขึ้นอยู่กับวิชาชีพของตน    เราจะเห็นว่าคนหลายวิชาชีพ (เช่นนักการเมือง  ดารา) ต้องเอาใจใส่ภาพลักษณ์ของตน   แต่คนในวงวิชาการอย่างผมต้องหมั่นเรียนรู้พัฒนาความสามารถของตนเป็นหลัก   

แต่ผู้เขียนหนังสือไปไกลกว่านั้น    เขายกตัวอย่างวิธีเลือกหมอผ่าตัด    มีให้เลือก ๒ คน ที่เป็นหมอผ่าตัดที่ประสบความสำเร็จทั้งคู่   คนแรกรูปร่างท่าทางดี มีมาดหมอเต็มเปี่ยม  คนที่สองอ้วนล่ำหุ่นไม่ให้เลย   ผู้เขียนหนังสือบอกว่า หากให้ตนเลือก จะเลือกหมอคนที่สอง    เพราะหมอคนนี้ต้องฟันฝ่าอุปสรรคมากกว่า ในการสร้างตัวขึ้นมาเป็นหมอผ่าตัดที่มีผลงานดีมีชื่อเสียง    คือต้องฝีมือดีกว่า    เป็นการเสนอวิธีคิดแบบล้วงสู่ skin in the game    คือความรู้จริงในเรื่องนั้นๆ    ในกรณีนี้ เราต้องการหมอที่มี skin in the game สูงกว่า   

ความไม่สมมาตรอีกอย่างหนึ่งคือ   หากนักวิชาการหรือข้าราชการร่ำรวย คนจะไม่ยกย่อง    กลับจะสงสัยพฤติกรรม ว่าสุจริตหรือไม่   ในขณะที่นักธุรกิจที่รวยเป็นเจ้าสัว คนจะยกย่อง                   

เรื่องที่ ๒  ความเสี่ยง    แท้จริงแล้วทุกย่างก้าวในชีวิต  ทุกปฏิสัมพันธ์ มีความเสี่ยง    การทำความเข้าใจว่าคู่สัมพันธ์คิดอย่างไรเรื่องความเสี่ยง  ด้านที่เราให้ความสำคัญ    จะช่วยให้เราเข้าใจกันดีขึ้น      ตัวอย่างเช่นการไปหาหมอเพื่อบำบัดโรค ที่วิธีบำบัดมีความเสี่ยงว่าจะไม่ได้ผลอยู่เสมอ   แต่การตีความความเสี่ยงของหมอกับของผู้ป่วยจะไม่เหมือนกัน    เพราะหมอมี skin in the game   ผู้ป่วยและญาติไม่มี     

การรู้เรื่องข้างใน (skin in the game) มีประโยชน์ในหลายกรณี    เช่นคนออกแบบกระบวนการทำงาน ที่ไม่รู้เรื่องข้างใน มีแนวโน้มจะออกแบบวิธีการที่ซับซ้อนเกินพอดี    และทำให้งานเสียหาย          

 ผมตีความว่า สภาพความไร้สมมาตรในเรื่องข้อมูล ความรู้ความเข้าใจ เป็นเรื่องปกติ หรือเป็นไปตามธรรมชาติ    ขึ้นอยู่กับว่าคนที่มี skin in the game คือรู้เรื่องข้างใน    จะใช้ความรู้นั้นเพื่ออะไร    หากมุ่งใช้เพื่อเอาเปรียบผู้อื่น    คนนั้นก็เป็นคนเห็นแก่ตัว ที่เราเรียกว่า ฉลาดแกมโกง   หากมุ่งใช้เพื่อยังประโยชน์แก่ผู้อื่น หรือเพื่อประโยชน์ส่วนรวม  เราเรียกว่ามหาบุรุษหรือสตรี              

วิจารณ์ พานิช

๕ ส.ค. ๖๕

   

หมายเลขบันทึก: 705443เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2022 16:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 สิงหาคม 2022 16:09 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

นึกถึงวลีนี้เลยค่ะอาจารย์ Knowledge is power.

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท