พลังภายในของมนุษย์


 

หนังกำลังภายในบอกเราว่า มนุษย์มีพลังภายในซ่อนอยู่ ต้องฝึกจึงจะเอาพลังที่ซ่อนนั้นออกมาใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมได้    โดยหนังแสดงให้เห็นรูปธรรมของ “กำลัง” ทางกายภาพ   ใช้ในการสู้รบกับศัตรู 

แต่ผมกำลังสะท้อนคิดเรื่อง “พลัง” ทางปัญญา หรือในทางการทำงานในชีวิตประจำวัน    เพื่อการทำงานสร้างสรรค์เพื่อสังคม   

ผมเพิ่งค้นพบว่า คนแก่ มีพลังภายในมาก    เพราะคนมักเชื่อถือ (มากกว่าที่ควรเชื่อ)    สามารถนำมาใช้สร้างแรงบันดาลใจแก่คนรอบข้างได้    โดยการแสดงออกทางอ้อมว่า เราเชื่อในศักยภาพของเขาในการทำงานในหน้าที่   เชื่อว่าเขาพัฒนาตนเองได้ เพื่อทำงานให้เกิดผลดียิ่งขึ้น    และช่วยชี้ว่า ผลงานที่มีคุณภาพสูงมีลักษณะอย่างไร   มีแนวทางทำงานเพื่อบรรลุผลงานระดับนั้นอย่างไร    แล้วเชียร์ให้เขาหาทางค้นพบวิธีการเอง   

พลังนี้มากับความเชื่อในความเป็นมนุษย์ (human dimension)   ว่ามีพลังความดี ความสร้างสรรค์อยู่ในตัว    คนแก่ทำหน้าที่เปิดประตู เปิดโอกาส หรือส่องทาง ให้แก่เขา   

วิธีส่องทางอย่างหนึ่งคือ แนะวิธีเรียนรู้จากการทำงาน   ให้เห็นว่าการทำงานนั้นเองคือเส้นทาง หรือช่องทาง ที่เขาจะพัฒนาตนเอง ให้เป็นที่ยอมรับ และนำไปสู่โอกาสก้าวหน้าในชีวิต   

เชื่อมโยงผลงาน ที่เขาทำอยู่เป็นงานประจำ   เข้ากับการยกระดับคุณภาพงาน   และความก้าวหน้าในชีวิตการงานของเขา   

แนะวิธีค้นคว้าหาความรู้และทักษะเพิ่มเติม เพื่อความกว้าวหน้า และความสุข ความสำเร็จ ในชีวิตของตน    ด้วยท่าทีที่เคารพในตัวตนของเขา    ที่ไม่ใช่เขาที่เป็นคนอื่น แต่เป็น “พวกเรา”   

แนวทางดังกล่าวมีพลังทางจิตวิทยามาก    แต่ไม่พอ สำหรับให้เกิดผลจริงในยุคปัจจุบัน    ต้องการการพัฒนาเชิงระบบเข้ามาเป็นพลังที่แท้จริง   

พลังภายในอีกอย่างหนึ่งของมนุษย์คือ ความเป็นสัตว์สังคม   มีสัญชาตญาณของการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ   เมื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการหนุนพลังภายในนี้    ทำได้โดยแนะหรือสนับสนุนให้ทำงานเป็นทีม  ร่วมมือเป็นเครือข่ายกับภายนอกองค์กร    ช่วยเชื่อมโยงเครือข่ายให้    คนแก่ทำได้ดี เพราะมีประสบการณ์มาก  สั่งสมเครือข่ายไว้มาก   

ความสนุกอยู่ที่การเรียนรู้แนวทางล่อหรือดึงให้พลังด้านบวกของมนุษย์โผล่มาออกฤทธิ์   และในขณะเดียวกันก็มีผลให้พลังด้านลบด้านทำลายของมนุษย์ไม่มีโอกาสโผล่ออกมา     

ผมใช้กลยุทธ์ ชื่นชม (appreciation)    ใช้ถ้อยคำแนว appreciative inquiry   เชื่อมต่อกับพฤติกรรมหรือถ้อยคำของเขา    ที่สะท้อนคุณค่าต่อองค์กร ต่อสังคม และต่อส่วนรวม   โดยผมมุ่งฝึกฝนตนเองให้ตีความถ้อยคำและพฤติกรรมสู่คุณค่าดังกล่าว    นำออกสื่อสาร 

เป็นการสื่อสารเพื่อดึงพลังด้านดี ด้านสร้างสรรค์ ของมนุษย์ออกมากระทำการ                

 เพื่อจรรโลงสังคม และโลก 

วิจารณ์ พานิช

๖ ก.ค. ๖๕

 

 

หมายเลขบันทึก: 705442เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2022 16:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 สิงหาคม 2022 16:07 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท