ชีวิตที่พอเพียง  4308. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา  ๑๖๒. โจทย์วิจัยเพื่อขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาไทย


 

สกสว. มอบหมายให้ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินการเชิงยุทธศาสตร์เพื่อนำสู่การตั้งโจทย์วิจัยเชิงระบบด้านการศึกษา ที่เป็นการวิจัยเพื่อขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษา   ไม่ใช่งานวิจัยเชิงวิชาการ   

งานแรกคือจัดการประชุมวิชาการ“Education Journey 50 ปี การศึกษาไทย” ในวันที่ ๑๓ และ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๕    ใช้เวลาวันละ ๕ ชั่วโมง   

เดิมผมกะจะไปร่วมประชุม onsite ทั้งสองวัน    แต่หนึ่งวันก่อนการประชุมครั้งแรก ผมกลายเป็นผู้เสี่ยงติดเชื้อโควิด ๑๙  และเสี่ยงเป็นผู้แพร่เชื้อ   จึงต้องฟัง online อยู่ที่บ้าน    จบวันแรกก็ได้โจทย์วิจัยหลายโจทย์ 

 

โจทย์แรก ระบบสอบเทียบ (accredit) ความรู้และสมรรถนะ (VASK) ที่ได้จากการเรียนรู้แบบไม่เป็นทางการ    ผมได้โจทย์นี้จากการอภิปรายในช่วงบ่ายของวันที่ ๑๓    จากข้อคิดเห็นของคุณวรุตม์ นิมิตยนต์ เครือข่าย Edupreneur  และคุณพฤหัส พหลกุลบุตร มะขามป้อมอาร์ตสเปซ   ที่อยากให้มีการยอมรับการเรียนรู้จากหลากหลายรูปแบบ     

และจากการเข้าฟังการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเซีย – แปซิฟิก ว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ ๔ (การศึกษา 2030) ครั้งที่ ๒  ระหว่างวันที่ ๕ - ๗ มิถุนายน ๒๕๖๕ (๑)    ผมได้เข้าฟังการประชุมวิชาการเฉพาะเรื่อง ในวันที่ ๕ มิถุนายน   ที่ผมเลือกเข้าฟังเรื่อง Higher Education & Adult Learning   ที่วิทยากรเสนอว่า ต่อจากนี้ไป อุดมศึกษา กับการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ (ALE – Adult Learning Education) ต้องเชื่อมโยงเป็นเนื้อเดียวกัน   และประเทศมาเลเซียมีหน่วยงานดำเนินการอย่างเป็นระบบ    Eddy S.C. Chong, แห่ง FAA (Finance Accreditation Agency) ของมาเลเซียเสนอเรื่อง Case of Flexible Higher Education : Case of Malaysia ที่แสดงให้เห็นว่า อุดมศึกษาของเขามีทั้งส่วนที่เรียนอย่างเป็นทางการ กับที่เรียนจากการปฏิบัติงาน ที่เรียก Experiential Learning    ที่เขามีระบบ APEL (Accreditation of Prior Experiential Learning) สำหรับนำมาใช้เป็นเครดิตเข้าสู่ระบบอุดมศึกษาได้ที่หลากหลายระดับ        

ผมจึงเกิดไอเดียว่า แนวทางดังกล่าวน่าจะเอามาใช้กับระบบการศึกษาระดับต่ำกว่าอุดมศึกษาได้    เพื่อช่วยหนุนให้การศึกษาภาคบังคับดำเนินการได้หลายแนวทาง    คือมีความยืดหยุ่นมากขึ้น   

เส้นทางดังกล่าวไม่ง่าย    ต้องมีระบบ accreditation หรือสอบเทียบการเรียนรู้ที่แม่นยำน่าเชื่อถือ     ที่จะต้องมีการวิจัยเพื่อพัฒนาวิธีสอบเทียบที่แม่นยำน่าเชื่อถือ    โดยน่าจะทำร่วมกับสถาบันการทดสอบการศึกษาแห่งชาติ     เพื่อให้เมื่อผลการวิจัยออกมาน่าเชื่อถือ จะได้ร่วมกันทำให้เป็นที่ยอมรับอย่างเป็นทางการ 

 

โจทย์ที่สอง วิธีจัดระบบ (organize) ของพลังในพื้นที่ เพื่อหนุนการเรียนรู้คุณภาพสูงให้แก่เด็กและเยาวชนในพื้นที่     

โจทย์นี้มาจากความเชื่อว่า แม้โรงเรียนจะเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อการเรียนรู้ของนักเรียน   แต่จะปล่อยให้โรงเรียนรับภาระการเรียนรู้ของนักเรียนและเยาวชนในพื้นที่แบบโดดเดี่ยวเดียวดายนั้น    ผลลัพธ์ต่อนักเรียนและเยาวชนจะไม่ดีเท่าที่ควร    พลังอื่นๆ ในพื้นที่ต้องช่วยเข้าไปเสริม   หรือในบางด้านช่วยทำเรื่องที่โรงเรียนทำไม่ได้     เรื่องนี้พูดกันมากในการอภิปรายกลุ่มเรื่อง “ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงการศึกษา” ในช่วงบ่าย  

ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า ฝ่ายต่างๆ ในพื้นที่ต้องเข้าไปช่วยหนุนการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน    แต่ต้องไม่ต่างหน่วยต่างทำ หรือต่างคนต่างทำ    ต้องมีการจัดระบบ    จึงควรมีโครงการวิจัยจัดระบบการสนับสนุนในพื้นที่    มีตัวอย่างของจังหวัดระยอง และอีกหลายจังหวัด   รวมทั้งโครงการพัฒนาการศึกษาระดับพื้นที่ (ABE – Area-Based Education) ของ กสศ. ด้วย   

หัวใจสำคัญคือ กลไกนี้ทำงานเสริมแรง (synergy) กันกับระบบที่เป็นทางการ    ช่วยเสริมส่วนที่ระบบที่เป็นทางการไม่ยืดหยุ่นพอ  หรือขาดศักยภาพ    ต้องไม่เป็นกลไกที่สร้างความขัดแย้งกับระบบที่เป็นทางการ   

 

โจทย์ที่สาม วิจัยประวัติศาสตร์คุณภาพของการศึกษาไทย   โดยมีข้อมูลจาก นพ. สุภกร บัวสาย อดีตผู้จัดการ กสศ. และ สสส. ดังนี้

คำถามคือ อะไรเป็นปัจจับหลักที่ทำให้คุณภาพการศึกษาไทยดิ่งลงตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๘ (ค.ศ. 1995) เป็นต้นมา    โดยที่ก่อนหน้านั้นมีแนวโน้มสูงขึ้น   

ดร. กฤษณพงศ์ กีรติกร บอกผมว่า ความเห็นเบื้องต้นของท่านคือ     หลังปี ๒๕๓๘ เราส่งนักเรียนเข้าสอบ PISA ทั้งสายสามัญ และสายอาชีพ   

หากดูกราฟข้างบน จะเห็นว่าประเทศอื่นอีก ๓ ประเทศ ก็มีแนวโน้มผลการเรียนตกลงเช่นเดียวกัน     

แต่โจทย์ของผมไปไกลกว่าของคุณหมอสุภกร    เพราะหลังฟัง ดร. อมรวิชช์ นาครทรรพ เสนอเรื่อง “แนวคิดและพัฒนาการการจัดการศึกษาไทยในรอบ 50 ปี”   ซึ่งท่านเสนอได้อย่างดีเยี่ยม   แต่ผมยังไม่ได้คำตอบว่าทำไมคุณภาพการศึกษาไทยจึงตกต่ำลง   

 ผมมีความเห็นว่า ประวัติศาสตร์คุณภาพการศึกษาไทย ในระดับการศึกษาพื้นฐาน มีปัจจัยเกี่ยวข้องที่ซับซ้อน   ศึกษาข้อมูลเฉพาะด้านการศึกษาไม่พอ   ต้องศึกษาปัจจัยด้าน socio-political และปัจจัยอื่นๆ ด้วย   

หากไม่เข้าใจ root cause ของปัญหา   เราจะแก้ปัญหาให้ถูกจุดได้อย่างไร

ผมเชื่อว่า เวลานี้เรายังแก้ปัญหาไม่ถูกจุด ในเรื่องคุณภาพการศึกษาไทย    ต้นเรื่องความรู้ที่ควรเข้าไปศึกษาลงรายละเอียดคือ WDR 2018   ที่ผมตีความเขียนเสนอความเห็นไว้ที่ (๒) 

 

โจทย์ที่สี่   ได้จากคำอภิปรายของ รศ. ประภาภัทร นิยม จากประสบการณ์การทำงานในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดระยอง และสตูล    พบว่ามีการปลดล็อกเรื่องหลักสูตรและกฎเกณฑ์ต่างๆ ช่วยความคล่องตัวมากขึ้น   แต่ที่ไม่สามารถปลดล็อกได้เลยคือเรื่องงบประมาณ และเรื่องครู   

จึงเป็นโจทย์วิจัย   หาหลักการและวิธีปลดล็อก และทดลองปลดล็อก ในเรื่องการบริหารงบประมาณ และเรื่องครู ในบางจังหวัดพื้นที่การศึกษา 

 

โจทย์วิจัยที่ห้า    สืบเนื่องมาจากเมื่อเช้าวันที่ ๑๕ สิงหาคม  ผมได้รับลิ้งค์รายการ deschooling ใน ThaiPBS    ซึ่งเข้าไปชมได้ที่ www.thaiPBS.or.th/deschooling    ทำให้ผมได้โจทย์วิจัย     ที่สนองคำพูดของ รศ. ดร. สุธีระ ประเสริฐสรรพ์  ที่ว่า โมเดลการบริหารงานของระบบการศึกษาในปัจจุบัน   เป็นการบริหารงานที่เน้นสนองผลงานของผู้บริหารระดับต่างๆ     แทนที่จะเน้นสนองการเรียนรู้ของนักเรียน    โจทย์วิจัยคือ คำกล่าวดังกล่าวจริงหรือไม่   และหากจริงจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร 

ที่จริงในรายการ Deschooling   ที่ www.thaiPBS.or.th/deschooling     ยังมีโจทย์วิจัยอีกหลายโจทย์ เช่น การเปลี่ยนแรงจูงใจและการตอบแทนครูตามผลงานที่ตัวเด็ก    และอื่นๆ      

 

หลังจากฟังการประชุมในวันที่ ๒๐ สิงหาคม  น่าจะมีโจทย์วิจัยเพิ่มเติม    

วิจารณ์ พานิช

๑๔ ส.ค. ๖๕

 

 

 

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท