การประชุม R2R Core Team ของศิริราช เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๕ มีความสร้างสรรค์มาก สะท้อนวิธีทำงานที่เต็มไปด้วยความยืดหยุ่นและสร้างสรรค์ ของทีมบริหารโครงการ ที่นำโดย อ. นพ. อัครินทร์ นิมมานนิตย์ สนับสนุนโดยทีมบริหารของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ความก้าวหน้าชิ้นใหญ่น่าจะเป็นเรื่อง R2I – Routine to Innovation ที่มีได้ ๒ แบบ คือ (๑) R2Iโดยตรง ไม่ต้องผ่านการวิจัย (๒) R2R2I มีงานวิจัยเพื่อนำสู่นวัตกรรม
ที่น่าชื่นชมคือ คณะกรรมการบริหารคณะของศิริราชรับลูกทันที โดยยืดหยุ่นให้ใช้ทุน R2R ตามปกติ แก่ทุน R2I ได้ รวมทั้งสนับสนุนให้กลไกปลายทางคือตลาดเข้ามาร่วมมือตั้งแต่ต้น โดยตลาดใกล้ตัวที่สุดคือร้านศิริราชฉลาดคิด
บัดนี้ ผมได้แนวคิดชนิดของ R2I อีกแบบหนึ่ง คือ innovation ด้าน “การดูแล” (care) โดยผมได้แนวคิดนี้จากการอ่านหนังสือแปล วิญญาณของการดูแล : การบ่มเพาะทางศีลธรรมของแพทย์คนหนึ่ง แปลจาก The Soul of Care : The Moral Education of a Doctor เขียนโดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ Arthur Kleinman ที่คุณหมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ กรุณาส่งมาให้
นวัตกรรมด้าน “การดูแล” (care) หมายถึง การพัฒนารูปแบบการดูแลที่มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้การดูแลกับฝ่ายผู้รับการดูแล (ผู้ป่วยและญาติ) ที่ดีขึ้น หรือใกล้ชิด ได้ใจกันมากยิ่งขึ้น โดยไม่สูญเสียประสิทธิภาพของระบบบริการ และไม่เพิ่มค่าใช้จ่ายต่อระบบ หรือเพิ่มก็นิดหน่อยและคุ้มค่า และน่าจะขอทุนสนับสนุนการดำเนินการโครงการจาก สปสช. หรือ สวรส. ได้ เพราะจะเป็นการสร้างระบบสุขภาพที่ไทยจะเป็นผู้นำระดับโลกได้
ผมเสนอในการประชุม R2R Core Team เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๕ ว่า หากจะดำเนินการตามข้อเสนอนี้ ควรเริ่มจากการซื้อหนังสือนี้มาจำนวนหนึ่ง ประกาศหาทีม Book Club สู่กิจกรรม “R2I ด้านระบบบริการที่มีวิญญาณของการดูแล” มอบหมายให้สมาชิกทีมที่มาสมัครและได้รับคัดเลือก อ่านหนังสือคนละบท (หนังสือมี ๑๑ บท) นำข้อสรุปมาเสนอต่อทีม เพื่อร่วมกันสะท้อนคิดหาจุดเริ่มต้นของการทดลองเล็กๆ สองสามจุด นำประสบการณ์จากการทดลองมาสะท้อนคิดร่วมกัน ตามแนวทาง Kolb’s Experiential Learning Cycle ก็จะค้นพบหลักการของการพัฒนา “ระบบบริการที่มีวิญญาณของการดูแล” เป็นนวัตกรรมเชิงระบบที่มีคุณค่ายิ่ง ทั้งต่อระบบสุขภาพไทย และนำออกเผยแพร่ทำประโยชน์แก่ระบบสุขภาพโลก
ย้ำว่า ข้อเสนอดังกล่าวมีเป้าหมาย ๓ ชั้น คือ นวัตกรรมของระบบริการของศิริราช นวัตกรรมของระบบบริการสุขภาพไทย และหลักการสู่นวัตกรรมของระบบสุขภาพโลก
วิจารณ์ พานิช
๑๗ ส.ค. ๖๕
ไม่มีความเห็น