คนดีคือคนที่ซื้อถั่วผม (Good men are those who buy my peanuts)


มีเรื่องเล่าว่าอดีตประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอเมริกา จิมมี่ คาร์เตอร์ เคยเล่าว่าตอนสมัยท่านเป็นเด็กขายถั่วต้มนั้น คนดีในความคิดของท่านคือคนที่ซื้อถั่วกับท่าน ซึ่งก็ไม่แปลกครับเพราะตอนผมเป็นเด็กเกณฑ์การตัดสินว่าใครเป็นคนดีของผมก็คือ ใครให้ขนมผม หรือให้เงินไปซื้อขนมกิน ผมก็จะมองว่านั่นคือ 'คนดี' ในสายตาของผม แต่พอโตขึ้นเกณฑ์การตัดสินคนดีของท่านคาร์เตอร์ หรือผมก็เปลี่ยนไป

สำหรับเกณฑ์ในการพิจารณาคนดีของผมในปัจจุบันจะให้นำ้หนักและความสำคัญกับการกระทำของเขาว่ามุ่งผลประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตนมากน้อยเพียงใด และมีคุณธรรมระดับใด  

การคำนึงประโยชน์ส่วนรวม

         โดยธรรมชาติแล้วสิ่งมีชีวิตทุกชีวิตย่อมคำนึงถึงผลประโยชน์และความอยู่รอดของตนเป็นที่ตั้ง พูดง่าย ๆ ก็คือ ‘การเห็นแก่ตัว’ แต่เนื่องจากคนเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่น่าจะมีสติปัญญาและความรู้สึกนึกคิดที่สุงกว่าสิ่งมีชีวิตอื่น จึงควรมีความรับผิดชอบชั่วดีได้มากกว่าสิ่งมีชีวิตอื่น ที่สำคัญคือการอยู่รอดร่วมกันจะสมประโยขน์กันทุกฝ่ายและน่าจะมีความยั่งยืนกว่าครับ 

          คำว่า ‘รับผิดชอบชั่วดี’ หมายถึงการรู้ล่วงหน้าก่อนกระทำว่า การกระทำของเราจะเกิดผลดี หรือผลเสียต่อคนอื่น หรือสิ่งมีชีวิตอื่น หรือสภาพแวดล้อมอย่างไร โดยเฉพาะผลดีผลเสียต่อคนอื่น ซึ่งถือว่าคนทุกคนเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีสติปัญญาและความรู้สึกนึกคิดเช่นเดียวกันกับตน ดังนั้นการกระทำใด ๆ ที่ตนเองไม่ชอบ หรือน่าจะเกิดผลเสียกับตนเอง ก็ไม่ควรทำสิ่งนั้นกับบุคคลอื่น และกับสิ่งมีชีวิตอื่น เร่ิมตั้งแต่สิ่งที่ง่าย ๆ เป็นพื้นฐานของชีวิต เช่น การรับผิดชอบชั่วดีในการเดินรถเดินถนนร่วมกัน เวลาเห็นเพื่อนมนุษย์คนอื่นจะข้ามถนน ก็ควรชะลอรถให้เขาได้ข้ามถนนด้วย และยิ่งถ้าเขากำลังข้ามที่ทางม้าลาย ก็ต้องหยุดให้เขาเดินข้ามด้วยความปลอดภัย หรือกรณีที่มีความไม่พอใจในการกระทำของคนอื่น ก็ไม่ควรลงไม้ลงมือ หรือฆ่าเขาทิ้ง เป็นต้น ทุกครั้งที่ผมได้เห็นข่าวแฟนเก่าฆ่าอดีตแฟนสาวเพราะหึงหวง หรือบุกฆ่าทั้งครอบครัวเพราะถูกกีดกันความรัก ฯลฯ ทำให้ผมรู้สึกแย่เอามาก ๆ ครับ 

ระดับของคุณธรรม

           ผมเคยเขียนและนิยามคำว่า  ‘คุณธรรมไว้ว่าเป็นสิ่งดีงามที่คนเราพึงปฏิบัติต่อกัน’ ไม่ใช่แนวปฏิบัติ หรือข้อกำหนดที่มีใครเขียนไว้ว่าทำอย่างนั้นหรืออย่างนี้คือคุณธรรม และถ้าไม่ทำตามนั้น ถือว่าไม่มีคุณธรรม ดังนั้นเกณฑ์คุณธรรมของผมจะดูจากการกระทำของคนเราต่อบุคคลอื่น ซึ่ง Lawrence Koklberg  แบ่งไว้  6 ระดับ คือ

          1. ปฏิบ้ติตนเป็นคน [เหมือนว่า] มีคุณธรรม ก็เพราะกลัวว่าจะถูกลงโทษ [แปลว่าถ้ามีคนช่วยให้ไม่ต้องรับโทษก็จะไม่ทำตามนั้น คือทำแบบไม่มีคุณธรรมก็ได้]

          2. ปฏิบัติตนเป็นคน [เหมือนว่า] มีคุณธรรม ก็เพราะต้องการสิ่งแลกเปลี่ยน แบบหมูไปไก่มา

          3. ปฏิบัติตนเป็นคน [เหมือนว่า] มีคุณธรรม ก็เพราะอยากให้สังคมยอมรับ มีหน้ามีตาในสังคม [แต่ถ้าคิดว่าสังคมไม่รู้ ก็จะทำอีกแบบ]

          4. ปฏิบัติตนเป็นคน [เหมือนว่า] มีคุณธรรม  ก็เพราะเป็นหน้าที่ [และมีจรรยาบรรณ หรือวินัยคำ้คออยู่ ก็เลยต้องทำอย่างนั้น]

           5. ปฏิบัติตนเป็นคน [เหมือนว่า] มีคุณธรรม ก็เพราะแนวปฏิบัติของสังคมเขายกย่องว่าทำแบบนั้น ๆ มีคุณธรรม [แต่จริง ๆ ก็ไม่ได้เป็นคนแบบนั้นหรอก ถ้าไม่ทำแบบนั้นเดี๋ยวสังคมจะตำหนิเอา]  

          ​ 6. ปฏิบัติตนเป็นคนมีคุณธรรม คือที่ปฏิบัติตนอย่างเป็นผู้มีคุณธรรมนั้นเป็นไปตามหลักการแลเหตุผลที่ควรเป็น และที่คนควรประพฤติปฏิบัติต่อกัน 

            ถ้าจะพิจารณาโดยนัยที่แท้จริงแล้ว 1-5 เป็นคุณธรรมเทียม แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีคุณธรรมเสียเลย แต่คุณธรรมที่แท้จริง คือข้อสุดท้ายครับ 

ฝากไว้พิจารณาในการดูว่าใครเป็นของจริง หรือของปลอม และใครคือคนดีที่แท้จริงครับ 

สมาน อัศวภูมิ 

 14  กันยายน  2565 

 

ปล. คุณธรรมทั้ง  6  ระดับนี้ตีความและนำเสนอจากการศึกษา  Moral Reasoning  ตามแนวคิดของ Lawrence Kohlber และคำในวงเล็บ  [ ]  เป็นคำอธิบายของผมเอง

หมายเลขบันทึก: 707213เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2022 14:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กันยายน 2022 14:08 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ชอบเนื้อหาค่ะ สังคมปัจจุบันคนทำดีแบบหวังประโยชน์ที่แฝงอยู่มีอยู่จริง

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท