เรียนรู้จากการทำหน้าที่นายกสภา สบช.  1. ค้นหาเป้าหมายที่ทรงคุณค่าและมีพลัง


 

บันทึกชุด เรียนรู้จากการทำหน้าที่นายกสภา สบช. นี้    ปิ๊งแว้บขึ้นมาในเช้าวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๕    หลังผมกลับมาจากการประชุมแบบ รีทรีต    และประชุมสภา สบช. (สถาบันพระบรมราชชนก) ที่จังหวัดระยอง    ระหว่างวันที่ ๓๐ - ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๕    โดยที่เป็นช่วงเวลาที่ผมเหนื่อยที่สุดในชีวิตช่วงหนึ่ง     เป็นช่วงเวลาที่ให้สติผมในเรื่องความเป็นจริงของวัย   

หลังจากนอนพักหนึ่งคืนที่บ้าน     ชื่อบันทึกชุดนี้ก็ผุดออกมา

บันทึกชุดนี้จะเน้นที่ข้อเรียนรู้ ด้านการทำหน้าที่นายกสภาสถาบันอุดมศึกษา   โดยใช้บริบทของ สบช. ที่เป็น  “สถาบันอุดมศึกษาแปรรูป” จากการออกกฎหมาย     คือ พระราชบัญญัติสถาบันพระบรมราชชนก พ.ศ. ๒๕๖๒    เปลี่ยนสถาบันพระบรมราชชนก จากการเป็นหน่วยงานระดับกอง ในสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข    มาเป็นคล้ายๆ หน่วยงานระดับกรม และแปรรูปเป็นสถาบันอุดมศึกษา   

สบช. จึงเป็น “หน่วยงานลูกครึ่ง” ที่ไม่เหมือนใคร    คือครึ่งหน่วยราชการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข  ครึ่งสถาบันอุดมศึกษาที่มีความอิสระ    คือมีระบบกำกับดูแล (governance) ของตนเอง     

เป็นสภาพที่มี cultural clash (ความขัดแย้งเชิงวัฒนธรรม) ในสถาบัน  ของผู้ปฎิบัติงานในสถาบันทุกระดับ   และของกรรมการสภาสถาบันเอง    จากวัฒนธรรมปฏิบัติตามคำสั่ง    สู่วัฒนธรรมรับผิดชอบตนเอง   

สภาพเช่นนี้ ผู้ทำงานในองค์กร  และผู้เกี่ยวข้องต้องปรับตัวมาก    จากความเคยชินเดิมๆ  ทำงานตามคำสั่งของเบื้องบนโดยไม่ต้องคิด    มาสู่วัฒนธรรมใหม่  วัฒนธรรมของสถาบันอุดมศึกษา  ที่มีอิสระในการคิดเอง หาวิธีทำเอง    เพื่อทำหน้าที่สถาบันอุดมศึกษาให้แก่ระบบสุขภาพของประเทศ      เป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทาง 

ผมตีความว่า พระราชบัญญัติสถาบันพระบรมราชชนก พ.ศ. ๒๕๖๒ ทำหน้าที่ปลดปล่อย สบช. ออกจากพันธนาการ   สู่ความมีอิสระ (autonomy)   ที่เป็นอิสระอย่างมีความรับผิดชอบ (responsibility)    และมีความรับผิดรับชอบ (accountability) ต่อบ้านเมือง    โดยสภาสถาบันเป็นกลไกหนึ่งของความมีอิสระอย่างรับผิดชอบต่อบ้านเมืองนี้    

ในการประชุมสภา วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๕   ท่านอธิการบดี ศ. (พิเศษ) นพ. วิชัย เทียนถาวร (อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข) กล่าวในวาระการประชุมเชิงนโยบาย เรื่องแผนยุทธศาสตร์ สบช.  พ.ศ. ๒๕๖๕ – ๒๕๖๙ (ที่สภาแนะนำให้ปรับเป็น พ.ศ. ๒๕๖๖ - ๒๕๗๐) ว่า  วิสัยทัศน์ของสถาบันพระบรมมราชชนกคือ “มุ่งสร้างผู้นำและนวัตกรรมสุขภาพสู่ชุมชน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน”     โดยท่านเน้น   “Family Health Innovation Team”    ที่ “สร้างเครือข่ายระดับประเทศและระหว่างประเทศ”    ที่สภาเห็นชอบเป็นเอกฉันท์   

ตึความได้ว่า สบช. เน้นทำงานเพื่อสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพ   โดย สบช. โฟกัสบทบาทที่ ระบบสุขภาพปฐมภูมิ (primary health care)   

สภาสถาบันชุดนี้  มีมติให้ สบช. มุ่งทำงานเพื่อสร้างสรรค์วิชาการด้าน PHC    ทำงานทุกด้านของ สบช. ตามที่ระบุใน พรบ. จัดตั้ง เพื่อสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพพื้นฐาน หรือสุขภาพชุมชนของประเทศไทย เชื่อมโยงกับนานาชาติ   

เมื่อวิสัยทัศน์ (vision) และพันธกิจ (mission) ชัด    ขั้นตอนต่อไปคือสำรวจตนเอง    และสำรวจสภาพแวดล้อม     เพื่อหาจุดคานงัด ให้ตนเองทำงานได้อย่างได้ผล เกิดผลงานที่มีคุณค่าสูง และเป็นที่ยอมรับ    นำมาสื่อสารสังคมเพื่อหาแรงสนับสนุน    ว่า องค์กรนี้เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีคุณค่าสูง   

สำรวจตนเอง โดยค้นหาผลงานที่ทำได้ดี ตามวิสัยทัศน์และพันธกิจที่กำหนด     นอกจากสำรวจตนเอง ควรหาคนนอกที่ “สายตามคม” มาช่วยค้นหา     ทั้งผลงานด้านการผลิตบัณฑิต  ด้านการวิจัยและนวัตกรรม  ด้านบริการวิชาการ  และด้านทำนุบำรุงวัฒนธรรมและศิลปะ รวมทั้งการจรรโลงวัฒนธรรมแห่งความดีงานซื่อสัตย์สุจริต   มุ่งทำเพื่อประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ มากกว่าเพื่อตนเอง (ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง)    ทั้งหมดนั้น เน้นบูรณาการอยู่ในกิจกรรมสุขภาพปฐมภูมิ ที่เชื่อมสู่ระบบสุขภาพองค์รวม

งานค้นหานี้ควรมีกำหนดดำเนินการอย่างรวดเร็ว ภายในเวลาไม่เกิน ๖ - ๑๒ เดือน    หากทำได้ภายใน ๓ - ๖ เดือนยิ่งดี

 นี่คือกลยุทธ ค้นหาความสำเร็จ นำมาต่อยอดขยายผล     ที่ไม่ได้ทำแบบลอยๆ  แต่มีเป้าหมายทิศทางที่ชัดเจน    คือเป็นการ “ค้นหาอย่างมีเป้าหมาย”   ค้นหาตวามสำเร็จทั้งภายในสถาบัน  และจากภายนอกสถาบัน    นำมาตีความ ทำความเข้าใจ ตกผลึกเป็นข้อเรียนรู้ ทั้งด้านวิธีคิด (conceptualization)    ด้านการออกแบบโครงการหรือกิจกรรม    และด้านการดำเนินการ    ในหลากหลายมิติ    สำหรับนำมาใช้คิดออกแบบ “ชาลาปฏิบัติการ” (operation platform) ของ สบช. เอง   

เป็น operation platform สองชั้น   คือชั้นบริหารองค์กร ที่ส่วนกลางของ สบช.    กับชั้นปฏิบัติการที่วิทยาลัย หรือหน่วยปฏิบัติที่เรียกชื่ออื่น   

เพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการของสถาบัน  operation platform ต้องมี “วงจรเรียนรู้จากการปฏิบัติ” (experiential learning cycle) บูรณาการอยู่เป็นเนื้อเดียวกันกับงานเชิงปฏิบัติ    ในลักษณะของ double-loop learning(DLL)

และต้องมีการกระจายอำนาจการตัดสินใจไปให้หน่วยปฏิบัติมากที่สุด    โดยที่ส่วนกลางสามารถยึดกุมเป้าหมาย ทิศทาง กลยุทธ และข้อมูลการดำเนินการและผลงาน ไว้ในลักษณะที่มีข้อมูล real-time   

การพัฒนากลยุทธค้นหาตัวอย่างความสำเร็จ  นำมาออกแบบวางแผนดำเนินการภาพใหญ่    น่าจะเป็นเรื่องหลัก ที่สภา สบช. ทำหน้าที่ strategic mode of governance   คือการช่วยหนุนให้ผู้บริหาร สามารถส่งมอบผลงานตามแผนยุทธศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๖๖ – ๒๕๗๐ ได้จริง  และอย่างมีความเป็นเลิศ   

วิจารณ์ พานิช

๑ ส.ค. ๖๕

 

หมายเลขบันทึก: 707058เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2022 17:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กันยายน 2022 17:45 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท