การเมืองบ้านๆ ของท้องถิ่นที่ไม่มีใครคาดถึง


การเมืองบ้านๆ ของท้องถิ่นที่ไม่มีใครคาดถึง

9 กันยายน 2565

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)[1] 

 

ว่าด้วยเรื่องบ้านๆ ของท้องถิ่น หรือเรื่องนอกสายตาที่คนในไม่ค่อยใส่ใจมีมาก แต่ไม่รู้ว่าจะขึ้นต้นว่าอะไรดี เพราะองคาพยพต่างๆ สูญพลังไปหมด ต้องเท้าความไปที่ภาพรวมสังคมไทย มีปัญหาสะสมคั่งค้างที่ปล่อยไว้นาน ไม่ว่าจะเรื่อง อุปถัมภ์เส้นสาย (Connection, Patronages) รวมไปถึงอำนาจรัฐที่ผูกขาด รวมศูนย์ ที่ล้วนนำไปสู่ปัญหาเรื่องการตรวจสอบที่ขาดประสิทธิภาพ เป็นช่องทางของการทุจริต คอรัปชั่น เอื้อประโยชน์พวกพ้อง โดยเฉพาะการทุจริตเชิงนโยบายที่มีมากขึ้น แถมยังฉงนกับคำว่า ระบบอำนาจแฝง อำนาจมืด อำนาจรัฐซ้อนรัฐ (state within a state) รัฐพันลึก (Deep State)[2] เป็นประเด็นวิพากษ์มานานแล้ว แต่ไม่จบรอปัญหาเกิด ในที่นี้ มิได้หมายถึงเพียง การใช้อำนาจของรัฐที่ถูกต้องโดยอำนาจเท่านั้น หากแต่ยังเหมารวมการใช้อำนาจรัฐที่ไม่ถูกต้อง ราชการลับ หรือที่ทำภารกิจซ้ำซ้อนหน่วยงานกัน ที่เป็นความฉ้อฉลของฝ่ายอำนาจ เช่น ไอโอ กอ.รมน. กองทัพ หน่วยราชการลับต่างๆ รวมถึง connection (เส้นสาย) [3] วปอ. นปส. ต่างๆ มองว่าหน่วยงาน กอ.รมน. มีภารกิจซ้ำเอาเปรียบข้าราชการทั่วไปมีสิทธิมาก ตรวจสอบไม่ได้ อาจสร้างสถานการณ์เงื่อนไข ทำเอานักวิชาการหลายๆ คนออกแนวงงกับสภาพวิกฤตสังคมที่เกิดขึ้น ผู้รู้ส่วนหนึ่งที่มองในมิติตรงข้ามก็บ่นว่าสังคมไทยตรรกะวิบัติมากขึ้น เพราะโลกไร้ระเบียบมากขึ้น

นักวิเคราะห์เห็นว่า[4] เราจะอยู่ในโลกที่อันตรายมากขึ้น ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และอาจไม่สงบเหมือนที่เราเคยคุ้นชินในอดีต ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศจะเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม ความเป็นหนึ่งเดียวของเศรษฐกิจโลกหรือโลกาภิวัตน์จะหายไป กลายเป็นเศรษฐกิจโลกที่ประเทศจะแตกแยกเป็นกลุ่มๆ ค้าขายกันระหว่างประเทศในกลุ่มเป็นหลัก ต้นทุนในการทำธุรกิจจะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เศรษฐกิจโลกที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำจะเป็นเรื่องในอดีต อนาคตคือเศรษฐกิจโลกที่แต่ละประเทศจะต่างคนต่างอยู่และต้นทุนการผลิตหรืออัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้น

จากสังคมโลกวกมาสังคมไทย กาฝากสังคม ชั้นยศเจ้ายศเจ้าอย่าง การแสวงเอื้อประโยชน์จากงบประมาณแผ่นดิน (ปลิง) ลองมาว่ากันด้วยปรัชญาแนวคิด ที่ไม่เกี่ยวกับวัตถุปัจจัย เช่น เรื่องยาเสพติด สิ่งผิดกฎหมาย อาชญากรรม ปัญหาสังคมต่างๆ ที่ล้วนมาเป็นผลสืบเนื่องมาจากวิถีแนวคิดของคนทั้งสิ้น คำถามคือประเทศเราจะอยู่อย่างไรในโลกที่ไร้ระเบียบ และควรเตรียมรับสถานการณ์อย่างไรดี

มีใครสักคนไหมที่บอกว่าสังคมไทยไม่ “ตรรกะวิบัติ” บ้าง ภายใต้สภาพสังคมที่มีแรงปะทะกันสูงระหว่างกลุ่มอนุรักษ์กับกลุ่มประชาธิปไตยหัวก้าวหน้า ที่เริ่มสรรหาเหตุผล (ตรรกะ) มาอธิบายคำพูดหรือพฤติกรรมที่แสดงออก ที่ช่างขัดแย้งกับบริบท หรือกรอบโลกทัศน์ของคนปกติทั่วไปเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่มีแนวคิดแบบ “สุดโต่ง” 

เรากำลังวิตกในการใช้ “เหตุผลวิบัติ” (fallacy) หรือในที่นี้ขอเรียกว่า “ตรรกะวิบัติ” [5] ยังมีอีกหลายๆ คำ ที่สื่อความหมายเดียวกัน อาทิคำว่า เหตุผลลวง, มิจฉาทิฐิ, การอ้างเหตุผลบกพร่อง, การยกเหตุผลผิด, การไม่ดูข้อยกเว้นหรือการใช้ข้ออ้างข้อยกเว้นที่ผิด, ความผิดพลาดเชิงตรรกะ เป็นต้น คำเหล่านี้ใช้แทนกันได้ ที่นัยยะความหมายคือ การพิสูจน์โดยการอ้างเหตุผลที่มีน้ำหนักอ่อนเพื่อสนับสนุนในข้อสรุป แต่อาจมีความน่าเชื่อถือในทางจิตวิทยา ส่งผลให้คนจำนวนมากเกิดความเข้าใจผิดและยกเหตุผลอย่างผิดๆ โดยใช้เป็นเหตุผลที่จะเชื่อในข้อสรุปนั้นๆ ผลสุดท้ายก็จะกลายเป็นว่า “เหตุผลที่ไร้เหตุผล” ไป ที่เป็นปัญหาของคนโลกปัจจุบันที่มี มีโลกทัศน์ส่วนใหญ่อิสรเสรีไปตามบริบทของโลก หลากหลายความคิด ท่ามกลางความเห็นต่าง ท่ามกลางความขัดแย้งเชิงความคิด การไม่ยอมรับความเห็นต่าง แม้เพียงนิดเดียวย่อมเกิดปัญหา เป็นการแยกพวก หรือมีอคติ[6] (discrimination, bias) มีการเหยียดหยันกัน (bullying) [7] และนำไปสู่ความขัดแย้ง[8] (conflict)ในมิติต่างๆ ได้ง่าย เป็นเรื่องของปรัชญาความคิดที่น้อยคนนักจะได้ฉุกคิดกัน หลายคำอาจกลายเป็นวาทะคำคม (discourse, motto, proverb) ที่จดจำนำมาพูดต่อๆ กัน ไม่ว่าถ้อยคำนั้น อาจแสลงใจของอีกฝ่ายฝั่งตรงข้าม หรือฝ่ายที่มีแนวคิดตรงข้าม เพราะเป็นปรัชญาแนวคิด โลกทัศน์ที่แต่ละคนมีเจตจำนงที่เสรี[9] (will) ดังวาทะของ Che Guevara ว่า “ถ้าคุณตัวสั่นเทาเมื่อเห็นความอยุติธรรม เราเป็นสหายกัน” [10]

ความพอดีไม่มี ขาดหายไป ในสภาพสังคมที่สั่งสมร้อยเรียงกันมาอย่างยาวนาน บริบท (context) หรือเนื้อหาความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกันในสภาพแวดล้อมต่างๆ ย่อมแตกต่างกันไป แต่มันมีพัฒนาการ และวิวัฒนาการ[11] (evolution, development, development administration : DA) ซึ่งวิวัฒนาการเหล่านี้ตามหลักการต้องนำไปสู่หนทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะมองในมิติใด แต่มันกลับกันโดยสิ้นเชิงในบริบทของสังคมไทย[12] (Thai Social Context) เช่น มิติเชิงการบริหารยุคทักษิณนำระบบ CEO : Chief Executive Officer[13] ให้อำนาจตัดสินใจสูงสุดแก่ผู้มีอำนาจรับผิดชอบสูงสุดในองค์กรตามแนวคิดระบบธุรกิจอเมริกัน มายุคอภิสิทธิ์ลดอำนาจลง อาจทำให้ช้าตามขั้นตอน มายุคประยุทธ์ก็รวมอำนาจไว้ เป็นต้น

 

ยำใหญ่ท้องถิ่นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 

เป็นเพียงความคิดความเห็นส่วนหนึ่ง แวบหนึ่ง ในฝั่งตรงข้าม ที่มิใช่ว่าท้องถิ่นจะเลวร้ายดั่งที่คิด เพราะท้องถิ่นไทยยังมีเอกลักษณ์ที่ทรงพลังอีกมาก คือ soft power[14] ที่เก็บซ่อนไว้ที่ท้องถิ่นมากมาย รอการเจียรนัย ทั้งนี้มุ่งหวังฉายภาพให้เห็นมุมมืด ภาพลบ เพื่อส่องทางแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น ในส่วนของท้องถิ่นพบว่ามีหน่วยงานภาครัฐต่างๆ หลากหลายมาเกี่ยวข้องกับท้องถิ่น ที่สำคัญคือ หน่วยงานเขี้ยวๆ ที่ชาวบ้านเอือม แม้ชาวบ้านอาจไม่รู้สึกว่าเอือมระอา แต่ในความรู้สึกของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานท้องถิ่นย่อมทราบดี เพราะบรรดาเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่รับศึกในยังไม่พอ ต้องพร้อมรับและสู้ศึกนอกไปด้วยพร้อมๆ กัน 

วัฒนธรรมที่กดทับท้องถิ่น[15] มาจากการบริหารรัฐส่วนกลางที่กดราชการส่วนท้องถิ่นไว้แบบแยบยลโดยให้ สตง. มาตรวจสอบอย่างเข้มข้น และจ้องจับผิดระเบียบโดยหวัง ด้อยค่าท้องถิ่นเอาไว้ไม่ให้มีบทบาทและน่าเชื่อถืออะไร (No matter)[16] ทำให้ อปท.ไม่กล้าใช้งบประมาณแบบสร้างสรรค์เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะคนรากหญ้าในพื้นที่ที่เป็นคนส่วนใหญ่ ข้าราชการส่วนท้องถิ่นติดธรรมเนียมนิสัยจากส่วนกลางประเภท “ใช่ครับพี่ดีครับนาย” มีเพิ่มขึ้น ไม่กล้าแม้แต่การโต้แย้งในสิ่งผิดๆ ที่มิใช่การวิธีประนีประนอม หากเป็นความสมยอม และยอมรับในสถานะที่เป็นอยู่ (Status quo) [17] เพื่อความอยู่รอดของตนเองไปวันๆ 

ข่าวการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของ อปท.เข้มข้นขึ้น แต่ในทางกลับกัน ฝ่ายเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหลายคนยังดำรงตนเพื่อความอยู่รอดในสถานะ การบริหารงบประมาณมันช่างยากเย็นเสียนี่กระไร เพราะงบรับรอง งบเอนเตอร์เทนไม่สามารถเบิกจ่ายได้เลย แต่งานต้อนรับขับสู้ฝ่ายอำนาจ ทั้งฝ่ายอำนาจภายใน อปท.เอง หรือฝ่ายอำนาจภายนอก ผู้กำกับดูแล เป็นภาระของเจ้าหน้าที่ฝ่ายประจำ และฝ่ายการเมืองท้องถิ่นยิ่งนัก อปท.บางแห่งมีสภาพเป็น “ดงกระสือ” [18] ที่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นยังทำอยู่ ด้วยความเกรงใจ เกรงบารมี หรือถูกสั่ง(ขอ) งานจัดอบรมชาวบ้าน มีเพียงค่ารับรองขนมอาหารว่าง แต่แขกรับเชิญรับรองด้วยสุราอาหารชั้นดี มันช่างสวนทางกับงบประมาณที่เบิกจ่าย แล้วเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจะเอางบประมาณส่วนใดมาเบิกจ่ายในส่วนนี้ มันน่าคิด การเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นช่างเหน็ดเหนื่อยกับระบบของท้องถิ่นยิ่งนัก นี่เป็นเหตุผลว่าท้องถิ่นต้อง Disruption[19] มีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างทันทีทันใด ต้องลบของเดิมๆ ที่เป็นเหตุแห่งความชะงักงัน ล่าช้า ฉิบหายไปให้หมด ณ บัดนี้ ไม่ต้องรอ หากทำไม่ได้ทั้งหมด ก็ต้องค่อยปรับตัวทำไปเรื่อยๆ จนหมด ทั้งนี้เพื่อความอยู่รอดและภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร และบุคคลกรท้องถิ่นทั้งหมด

 

ภัยเงียบของท้องถิ่นที่รอประทุ

บุคลากรท้องถิ่นไม่ตระหนักถึงภัยใกล้ตัวที่เกิดอยู่ในทุกวันนี้ ที่อาจเป็นเพียงในบางสถานการณ์ ที่แตกต่างกันไป เพราะบริบทของท้องถิ่นมิใช่เสื้อโหล ท้องถิ่นขนาดใหญ่มีวัฒนธรรมที่ต่างจากท้องถิ่นขนาดกลางและขนาดเล็ก จึงเปรียบเทียบกันตรงๆ ไม่ได้ ขอยกตัวอย่าง คือ

(1) ด้วยจำนวนฝ่ายประจำที่มีประมาณ 5 แสนคน[20] ภัยจากการทุจริตซื้อขายตำแหน่ง การเข้าสู่ตำแหน่งในช่องทางที่มิใช่ระบบคุณธรรม (merit) [21] มีการเรียกรับ การเสียเงิน จ่ายตังค์ อันถือเป็นการทุจริต เป็นช่องทางในการ “ถอนทุนคืน” ของนักการเมืองท้องถิ่นที่ต้องหมดไป รวมทั้งฝ่ายประจำที่ต้องยุติการกระทำในช่องทางนี้ลง ข่าวการสอบ (สรรหา)ทั้งการสอบแข่งขัน (บรรจุใหม่สายปฏิบัติ) และการสอบคัดเลือก (สายบริหาร) รอบที่ผ่านๆ มา มักมีข่าวคราวมาเป็นระลอก แต่ก็จับไม่ได้สักที เพราะเป็นช่องทางหมากที่วางไว้แบบนี้เป็นธรรมเนียมเคยตัวมานานแล้ว เป็นความสมยอมของผู้กระทำผิด จึงยากในการหาพยานหลักฐาน แต่เสียงเล่าขานกันปากต่อปากในวงในเชื่อว่าเป็นจริง กลุ่มก๊วนซื้อขายตำแหน่งยังมีระบาดเชื่อมโยง ทั้งส่วนภูมิภาคส่วนกลาง เกิดปัญหาไม่รายงานยอดตำแหน่งว่าง เพื่อสร้างการต่อรอง จึงเป็นปัญหาในการดำเนินการของ ป.ป.ช.

(2) ภัยจากการใช้เงินงบประมาณที่ไม่ตอบสนองความจำเป็น และปัญหาที่แท้จริงของ อปท. (ถูกล้วงตับ)

ภัยจาก การใช้จ่าย โรคระบาดซาร์ไวรัสโควิด 19 ที่เริ่มต้นภาครัฐล้วงกระเป๋า อปท.หลายแห่งไปมาก จนโครงการหลักของ อปท.ชะงัก 

การล้วงลูกทางการบริหาร 4 M[22] นอกจากงบประมาณ คือ ล้วงเอาคน (man) อปท.ไปใช้งานต่างๆ เช่น ช่างโยธา ไปทำงานช่วยส่วนภูมิภาค ในโครงการต่าง เช่น โคก หนอง นา, ธนาคารน้ำ, ประชารัฐ เป็นต้น ล้วงเอาเครื่องมือ (material) อปท.ไปใช้งานสารพัด ส่วนผู้บริหาร อปท.ที่เข้ามาใหม่ ไม่เข้าใจบริบท ก็ใช้อำนาจกดดันฝ่ายประจำ จนเกิดความระส่ำ เกิดการโอนย้ายหนีของเจ้าหน้าที่ กดดันพนักงานจ้างด้วยการไม่ต่อสัญญาจ้าง ทำให้การบริหารงานไม่ต่อเนื่อง เกิดช่องโหว่เรียกรับเงิน[23] ค่ารับโอน ค่าต่อสัญญาจ้าง ด้วยข้ออ้างสารพัด พูดง่ายๆ มีการบีบ กดดัน ให้มีการโยกย้าย เพื่อให้เกิดการอยากโอนย้าย เป็นการหมกเม็ด หมกปมให้เกิดประเด็น แทนที่จะบริหารงานด้วยความโปร่งใส เชื่อมั่นและศรัทธา กลับใช้วิการโยกโย้ สร้างภาระเงื่อนไขเยี่ยงนี้ขึ้น

การจัดสอบ การจัดอบรม การจัดงานการกุศลวิ่ง จัดกฐิน จัดผ้าป่า ฯลฯ ตามมาเป็นพรวน ล้วนเป็นรายการคุณขอมาทั้งนั้น 4 M ของ อปท.จึงขาดอิสระ ฝ่ายกำกับกำหนดระเบียบ ชี้นำ ล้วงลูก

 

การล้วงลูก ล้วงตับ (ท้องถิ่น) คืออะไร 

ฝ่ายอำนาจถนัดก็คือการล้วงลูก[24] การสร้างระบบ connection สร้างรุ่น สร้างพวก ใช้หมู่พวกสังคมอุปถัมภ์พวกพ้องในการล้วงลูก ทำให้ระบบราชการเสียหายได้ เป็นคำกล่าวหาที่ต้องหาคำตอบ แค่ดูถ้อยคำก็เดาไว้เลยว่าคือ “การแทรกแซง” ในด้านการงบประมาณ (Money ปัจจัยการบริหารตัวสำคัญ) ของฝ่ายอำนาจเหนือ ล้วงทั้งรายจ่าย ล้วงทั้งรายรับ ในที่นี้หมายถึง ฝ่ายผู้กำกับดูแลท้องถิ่นนั่นเอง ซึ่งหลายครั้งการล้วงลูกเป็นเรื่องของ trust ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเชื่อถือศรัทธา ไม่อยากกล่าวหาว่า ใครผู้ใดฝ่ายใดเป็นผู้ล้วงลูกท้องถิ่น หากจะกล่าวในภาพรวมก็มีอยู่ 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายการเมือง และฝ่ายข้าราชการประจำ โดยเฉพาะผู้กำกับดูแลฯ ซึ่งอาจมีฝ่ายอิทธิพล ฝ่ายการเมืองบ้านใหญ่ระดับชาติในพื้นที่ด้วย อปท.จึงเป็นแหล่งในการผันงบประมาณ ทั้งเพื่อหาส่วนต่าง หากำไร ทำธุรกิจ ดังกล่าว ไปจนถึงการเอื้อประโยชน์ทุจริตทุกรูปแบบ ครั้นมีเรื่องแดง มีปัญหา โดยเฉพาะการทุจริตกลับหาคนผิดไม่ได้ แต่โยนผิดให้แก่คน อปท.รับกรรม ที่ผ่านมาพบว่า บุคลากรฝ่ายประจำของท้องถิ่นจำนวนมาก ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลทุจริตต่อหน้าที่ราชการ เป็นวินัยร้ายแรง และมีโทษทางอาญา ต้องสูญเสียอนาคต ถูกไล่ออก ปลดออกจากราชการหลายราย เป็นปัญหาวิกฤตซ้ำซากที่ไม่รู้จบของ อปท.

ประเด็นเหตุใดจึงคงปล่อยให้ภาครัฐ และคนส่วนกลางมาครอบงำสั่งการ (ถลุง)การใช้งบเงินของท้องถิ่นได้อย่างง่ายดาย ผลก็คือเกิดหนี้ อปท.บาน ในช่วงภาวะวิกฤตนับแต่ช่วงโควิดมา (ปี 2563) เพียง 2 ปีเศษๆ อปท.ก็แย่แล้ว นโยบายรัฐบาลไม่ตอบสนองท้องถิ่นที่ส่วนใหญ่คือ “คนรากหญ้า” ราชการเสื่อมลง ภาคราชการผู้ปฏิบัติหวั่นไหว เดินหน้าไม่ออกหรือเดินไม่เป็น บ้างอาจเกิดความท้อไม่เอาด้วย ขอยกตัวอย่างเช่น (1) คลังไม่ยืดเก็บภาษีเป็น 10%[25] ตามนโยบาย แต่เก็บเต็ม 100% หรือเก็บยืดหยุ่นมากขึ้น (2) เพิ่มงบอาหารกลางวันเด็กนักเรียน จากหัวละ 21 บาท เป็น 28 บาท[26] แต่ตามหนังสือแจ้ง มท. ยังยืนแจ้ง 21 บาทเท่าเดิม มันชี้ให้เห็นเอกภาพในการบริหารจัดการ และบีบบังคับให้ท้องถิ่นต้องปรับตัวในภาวะวิกฤตที่ขาดเงินขาดงบ ขาดคนด้วย แถมด้วยปัญหาต่างๆ ที่ทับถมซ้ำเติมหนักหน่วง ทั้งโควิด ทั้งสาธารณภัย เป็นต้น

สภาพปัจจุบัน อปท.ขนาดเล็กและขนาดกลาง ด้วยงบประมาณท้องถิ่นที่จำกัด ผู้บริหารท้องถิ่นอาศัยประมาณจากงบเงินเดือนตั้งไว้ที่เหลือ ในกรอบอัตรากำลังข้าราชการที่ว่าง เพื่อโอนไปใช้จ่ายใน (1) งานก่อสร้าง งานซ่อมแซม (2) การจ้างเหมาบุคคล ที่มาจากหัวคะแนน หรือผู้ทำงานช่วยเหลือทางการเมือง เพราะเพียงลำพังเงินงบของ อปท.หร่อยหรอ เพราะก่อนหมดวาระ ผู้บริหารคนเก่าได้ใช้งบประมาณไปจนเกลี้ยง ใช้จ่ายเงินสะสมไปมาก หรือจนหมดยอดงบเงินสะสมแล้ว เป็นต้น แถมรายได้ท้องถิ่นไม่มีเข้า ฉะนั้น งบประมาณประจำของ อปท.ที่มีจึงไม่สามารถผันแปรไปทำโครงการต่างๆ ได้ หากจะมีบ้างก็คืองบเงินอุดหนุนจากส่วนกลาง ที่เป็นช่องทางในการล้วงลูกหาเงินดังกล่าวได้

 

การรวมศูนย์ของระบบราชการเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ 

คำที่ใหญ่กว่าการล้วงลูกอีกคำ คือ การรวมศูนย์ของระบบราชการ ระบบรวมศูนย์ ทำให้ อปท.ขาดประสิทธิภาพ ไม่เป็นผลดี กับการขับเคลื่อนสังคม ที่ควรพัฒนาไปตามทิศทางของมัน งานใหญ่ๆ ให้เป็นของผู้รับเหมาที่มีหัวคิว มีการเอื้อแสวงประโยชน์ ส่วนงานวิชาชีพของคน อปท.ไม่เด่นชัด และไม่ส่งเสริม เส้นทางสายอาชีพ (career path) [27] จึงแคบตีบตัน ไม่โต

“รัฐราชการรวมศูนย์” เป็นข้อกล่าวหาราชการส่วนกลาง ที่ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จในการควบคุมราชการ และท้องถิ่น ด้วยข้อกฎหมายที่สวนทางกับการกระจายอำนาจ จึงมีข้อเสนอมากว่าสิบปีที่ผ่านมา “จังหวัดจัดการตนเอง” [28] การให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด การกระจายอำนาจ และการปฏิรูปการปกครอง (3 ส่วนโดยกลุ่ม We’re all voters, 1 กันยายน 2565)[29] ที่กระเทือนอำนาจรัฐส่วนกลางมาก โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย (มท.) และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เพราะ ท้องถิ่นมีกระแสเรียกร้องหลายประการให้ สถ.ลดอำนาจ ในการควบคุม อปท. เพียงการกำกับดูแล เท่าที่จำเป็น และ เร่งการถ่ายโอนภารกิจ การกระจายอำนาจให้มากขึ้น เพราะกฎหมายท้องถิ่นทุกฉบับให้อำนาจราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมากเกิน แถมส่วนกลางยังตีกรอบการปฏิบัติต่างให้ท้องถิ่นทำแบบผิดๆ ถูกๆ ที่สวนทางกับการปฏิบัติและข้อเท็จจริงในพื้นที่ ดังปัจจุบันที่กำลังพูดถึงกันมาก ที่กำลังดราม่ากันตอนนี้ คือ เรื่อง ซักซ้อมแนวทางปฏิบัติการใช้แผนพัฒนาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อจัดทำบริการสาธารณะหรือกิจกรรมสาธารณะ ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0810.3/ว 6086 ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2565[30] เป็นเรื่องวุ่นๆ ของแผนพัฒนาท้องถิ่น ที่ มท.(โดย สถ.) ได้จัดทำไว้เพื่อการซักซ้อมตนเอง (สถ.) มากกว่าการซักซ้อมแก่ท้องถิ่น ประหนึ่ง “วิทยานิพนธ์” ของนักศึกษาที่หนามากกว่า 90 หน้า ที่น่าจะสร้างภาระมากส่งผลกระทบในวงกว้างแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานแผนพัฒนาท้องถิ่น กรณีวัสดุที่ไม่มีในแผนจะแก้ไขปัญหาอย่างไร เจ้าหน้าที่ต้องทำอะไรบ้าง หรือว่าต้องรอหนังสือชี้แจ้งแนวปฏิบัติเพิ่มเติม เป็นต้น

 

ทำไมท้องถิ่นจึงอาภัพ ลองย้อนนึกภาพตามที่นำเสนอ นี่เพียงความเห็นเล็กเพื่อการต่อยอดสร้างสรรค์


 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), บทความพิเศษ, สยามรัฐออนไลน์, 9 กันยายน 2565, https://siamrath.co.th/n/380978

[2]ดีปสเตต (deep state) แปลตรงตัวว่า “รัฐลึก”) หรือ รัฐซ้อนรัฐ (state within a state) เป็นการปกครองลับรูปแบบหนึ่งซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายอำนาจที่ดำเนินการอย่างเป็นอิสระจากคณะผู้นำทางการเมืองของประเทศ เพื่อผลักดันระเบียบวาระหรือเป้าหมายของตนเอง ตัวอย่างของดีปสเตต คือ องค์กรของรัฐ เป็นต้นว่า กองทัพ หรือเจ้าหน้าที่

ดู 'รัฐซ้อน' คืออะไร , Voice TV, 10 ธันวาคม 2556, https://www.voicetv.co.th/read/90750

& ความจริงของรัฐซ้อนรัฐ คือความฉ้อฉลของผู้มีอำนาจ, ผู้จัดการออนไลน์, 15 มกราคม 2564, https://mgronline.com/daily/detail/9640000004048

[3]connectionในภาษาไทยแปลว่า สายสัมพันธ์ ความสัมพันธ์ ความเกี่ยวโยง ความเกี่ยวข้อง มีความเกี่ยวข้องกันในทางบวก ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกันในทางใด เป็นเพื่อนเก่า เพื่อนเรียน เพื่อนร่วมงาน เพื่อนบ้าน เป็นญาติ เป็นนายจ้างลูกจ้าง เป็นคู่รัก คนรู้จัก ฯลฯ และบรรดาคนที่มีสายสัมพันธ์หรือเคยมีความเกี่ยวข้องกันมาเหล่านี้ ตราบใดที่พวกเขายังไม่ตัดสัมพันธ์กันหรือขาดจากกันไปด้วยเหตุใดก็ตาม ก็ย่อม “ง่าย” และมีโอกาสที่จะหวนกลับมาติดต่อกันเพื่อจุดประสงค์ใดๆ ก็ได้ นี่คือ ความหมายที่ช่วยขยายความคำว่า connection การมีคอนเนคชั่นเยอะๆ ก็เหมือนเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับตัวเอง สรุปแปลอย่างง่ายว่า “การมีเส้นสาย” 

ดู คอนเนคชั่น คืออะไรครับ, เวบ pantip, 19 ตุลาคม 2564, https://pantip.com/topic/41049886 

[4]เราพร้อมหรือยังที่จะอยู่ในโลกที่ไร้ระเบียบ, ไทยโพสต์, 22 สิงหาคม 2565 เวลา 18:54 น., https://www.thaipost.net/economy-news/205767/

[5]ตรรกะวิบัติ (Logical Fallacy or Fallacy Reasoning) หมายถึงการใช้เหตุผลที่ไม่สมเหตุสมผล เป็นการอ้างเหตุผลที่บกพร่อง ไม่สมเหตุสมผล การอ้างเหตุผลไม่เป็นไปตามกฎของการอุปนัยและนิรนัยที่ถูกต้อง เป็นการการยกเหตุผลที่มีน้ำหนักอ่อนเพื่อสนับสนุนข้อสรุป เป็นการให้เหตุผลแบบผิดๆ เป็นการใช้เหตุผลที่ไม่ดี เป็นเหตุผลแบบไหนที่ไม่ใช่เหตุผล ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ

ดู บทความ - ชวนลูกคิด เหตุผลแบบไหนที่ไม่ใช่เหตุผล, Starfish Labz, Starfish Academy(รร.บ้านปลาดาว), 10 กันยายน 2563, https://www.starfishlabz.com/blog/248-ชวนลูกคิด-เหตุผลแบบไหนที่ไม่ใช่เหตุผล 

[6]การเลือกปฏิบัติ (Discrimination)หมายถึง “การกระทำใดๆ โดยการกีดกัน แบ่งแยก จำกัด หรือการปฏิบัติใดๆ ต่อบุคคล หรือกลุ่มคนโดยไม่เท่าเทียมกันและไร้ เหตุผลอันเป็นการปฏิบัติที่แตกต่างกันในสถานการณ์เดียวกัน อันทำให้บุคคลได้รับ สิทธิน้อยกว่าสิทธิที่ตนพึงได้โดยมีมูลเหตุ จูงใจ (Motive) เนื่องจากเหตุความแตกต่างทางถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม และความคิดเห็นทางการเมือง

มีคำศัพท์หลายคำที่สื่อความหมายนี้ คือคำว่า อคติ, ความลำเอียง ได้แก่ คำว่า discrimination, bias, prejudice คำว่า "อคติ" ในศาสนาพุทธ แปลว่า ไม่ ควรถึง หมายถึงไม่ควรประพฤติ

ซึ่งหลักการความเท่าเทียม (equality) และไม่เลือกปฏิบัติ (non-descrimination) เป็นหลักสำคัญของสิทธิมนุษยชน เช่น การไม่เลือกปฏิบัติระหว่างกันในที่ทำงาน (Anti-discrimination in workplace)

ดู ความผิดฐานเลือกปฏิบัติ (Offence of Discrimination) โดยชนกานต์ สังสีแก้ว, นักศึกษาปริญญาโท หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใน วารสารบัณฑิตศึกษานิติศาสตร์ (Graduate Law Journal), 2559, https://so01.tci-thaijo.org/index.php/gradlawtujournal/article/download/147735/108782/395087

[7]การกลั่นแกล้ง (Bullying)หมายถึง พฤติกรรมที่ไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม โดยพฤติกรรมนั้นเป็นความตั้งใจกระทำให้ผู้อื่นได้รับความทุกข์ความเจ็บปวด เพื่อให้ตนเองรู้สึกมีอำนาจ หรือมีพลังเหนือกว่าผู้อื่น อีกทั้งการกระทำดังกล่าวจะเกิดขึ้นซ้ำๆ อย่างต่อเนื่องและมีระยะเวลายาวนาน 

ดู การกลั่นแกล้ง (Bullying) ความรุนแรงในสังคม, มูลนิธิยุวพัฒน์, 1 เมษายน 2562, https://www.yuvabadhanafoundation.org/th/ข่าวสาร/บทความทั่วไป/การกลั่นแกล้ง-bullying-วัยรุ่น/ 

& 6 แนวทาง Stop Bullying หยุดการกลั่นแกล้ง ยุติความรุนแรงในสังคม, Starfish Labz, 29 มีนาคม 2565, https://www.starfishlabz.com/blog/735-6-แนวทาง-stop-bullying-หยุดการกลั่นแกล้ง-ยุติความรุนแรงในสังคม

[8]ความขัดแย้ง (Conflict)คือ ความไม่ลงรอยกัน หรือสภาวะที่ไม่เห็นพ้องต้องกัน หรือความเป็นปฏิปักษ์กัน ระหว่างบุคคล หรือกลุ่มบุคคล ตั้งแต่ 2 กลุ่มขึ้นไป โดยมีสาเหตุมาจากวัตถุประสงค์ ที่ไม่สามารถเข้ากันได้ ความไม่ลงรอยกัน ทางด้านความต้องการ ความปรารถนา ค่านิยม ความเชื่อ และหรือทัศนคติ (Catherine Morris , 2004) เมื่อมีความขัดแย้งก็ต้องมี "การบริหารความขัดแย้ง" (Conflict Management)

[9]เจตจำนงเสรี (free will)หมายถึงความสามารถในการเลือกกระทำสิ่งหนึ่งจากการกระทำต่างๆ ที่เป็นไปได้ โดยที่ไม่ถูกบังคับ เป็นการกำหนดการเลือกตัดสินใจในการกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เห็นว่าเป็นความดี และจงใจกระทำเพื่อบรรลุถึงความดีของตัวเองนั้น กล่าวคือ อิสระและความสามารถในการเลือกระหว่างการกระทำมากกว่าหนึ่งอย่าง โดยไม่ต้องมีใครหรืออะไรมาบังคับและกำหนดการกระทำ

[10]“ถ้าคุณตัวสั่นเทาเมื่อเห็นความอยุติธรรม เราเป็นสหายกัน” “If you tremble with indignation at every injustice, then you are a comrade of mine : Che Guevara.”

[11]วิวัฒนาการ (Evolution) เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงหรือคลี่คลายไปสู่ภาวะที่ดีขึ้นหรือเจริญขึ้น เช่น วิวัฒนาการแห่งมนุษยชาติ วิวัฒนาการแห่งศิลปวัฒนธรรม คือ กระบวนการเปลี่ยนแปลงหรือคลี่คลายไปสู่ภาวะที่ดีขึ้นหรือเจริญขึ้น เช่น วิวัฒนาการแห่งมนุษยชาติ วิวัฒนาการแห่งศิลปวัฒนธรรม

[12]บริบททางสังคม (Social Context)นั้นอ้างอิงถึงสภาพแวดล้อมทั่วๆ ไปหรือสถานการณ์ที่กระบวนการสื่อสารระหว่างบุคคลนั้นเกิดขึ้น และมีการสร้างความสัมพันธ์บางอย่างที่อาจเกิดขึ้นในกลุ่มคนหมู่มาก ซึ่งบริบททางสังคมนี้จะสร้างให้เกิดเป็นวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม หรือกลายเป็นแนวทางที่มีคุณค่ากับคนจำนวนมาก เช่น การทำงานในองค์กร กลุ่มสมาชิก กลุ่มชมรม

Context หรือที่เราเรียกว่าบริบทนั้นคือสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องและมีผลต่อการประมวลผลข้อมูลต่างๆ ที่จะเป็นตัวกำหนดความสำเร็จของกระบวนการสื่อสารผ่านกลุ่มคนที่หลากหลาย บริบทนั้นจะเป็นตัวช่วยในการตีความและแปลความต่างๆ เพื่อสร้างให้เกิดความเข้าใจกับผู้รับข้อมูลข่าวสาร โดยบริบทก็จะมีความแตกต่างกันออกไปตามบทบาท สถานการณ์ รวมไปถึงสถานที่รู้จัก Context สำหรับการสื่อสาร, โดย popticles, ปรีดี นุกุลสมปรารถนา, 8 กุมภาพันธ์ 2564, https://www.popticles.com/communications/what-is-context-in-communication/ 

[13]CEO : Chief Executive Officer แปลว่า “ประธานคณะผู้บริหาร” หรือ “หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหาร” เป็นบุคคลที่มีอำนาจและความรับผิดชอบสูงสุดในองค์กรหรือบริษัท ในสหรัฐอเมริกาให้ความ สำคัญทั้งตำแหน่งและบทบาทของ CEO จึงเรียกบางตำแหน่งว่า Chairman & CEO ประธานบอร์ดใหญ่และผู้บริหารสูงสุดและผู้บริหารสูงสุดขององค์กรในการกำหนดทิศทางและนโยบาย

ดู CEO (Chief Executive Officer) ผู้บริหารสูงสุดขององค์กร โดย พล ต.อ.ดรุณ โสตถิพันธู์, DSpace,nstru.ac.th,มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช, 2548, http://dspace.nstru.ac.th:8080/dspace/bitstream/123456789/327/1/CEO%20(Chief%20Executive%20Officer)%20ผู้บริหารสูงสุดขององค์กร.pdf

[14]Joseph S. Nye ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ของวิทยาลัยการปกครองเคเนดี้ แห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ให้นิยามว่า อำนาจ หมายถึง ความสามารถในการทำให้ผู้อื่นทำสิ่งที่ตัวเขาไม่ได้อยากทำ โดยอำนาจแบ่งเป็น อำนาจแข็ง (Hard Power) และอำนาจอ่อน (Soft Power) อำนาจทั้ง 2 แบบนี้ หากนำมาใช้อย่างเหมาะสม ก็จะเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศให้เข้มแข็งจนมีอิทธิพลเหนือประเทศ หรือสังคมได้ตามที่เจ้าของอำนาจต้องการ ซึ่งเขาได้พัฒนาแนวคิดนี้ร่วมกับ Robert Keohane โดยได้เขียนหนังสือ Power and Interdependence ตั้งแต่ปี 1977 

ดู แกะ 'สี่แผ่นดิน' ซอฟต์พาวเวอร์ไทยกับปฏิวัติ 2475, 24 มิถุนายน 2565, https://youtu.be/B4CRn2_RoUw

(อพท. ขอเชิญชวนชุมชนท่องเที่ยวเข้าร่วมกิจกรรมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องรูปแบบ “การท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสุขภาพ”) 

& Soft Power คืออะไรในมุมมองของเศรษฐศาสตร์ โดยเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว, กรุงเทพธุรกิจ, 24 เมษายน 2565, https://www.bangkokbiznews.com/columnist/1000787

& ซอฟต์พาวเวอร์ (soft power) คือ อะไร?, โดยชำนาญ จันทร์เรือง, ประชาไท, 28 ตุลาคม 2564, https://prachatai.com/journal/2021/10/95654

[15]'วัฒนธรรมเชิงอำนาจ' ที่กดทับและทำลาย 'อัตลักษณ์ท้องถิ่น' , The Momentum, 13 ธันวาคม 2564, https://themomentum.co/video-isansound-attapon-buapat-2/ & อ้างจากคำผกา, voicetv สืบค้นเมื่อ 23 สิงหาคม 2565

[16]matterแปลว่า สสาร, เรื่อง no matter แปลว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรก็ตาม ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม 

[17]status quo (ภาษาLatin) แปลว่า สถานภาพปัจจุบัน, สถานภาพที่เป็นอยู่, ฐานะที่เป็นอยู่, สถานการณ์ที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน ในความหมายก็คือ การดำรงตน เพื่อคงสถานะตัวเองไว้อย่างเดิมให้ได้ ไม่เปลี่ยนแปลง

[18]เปรียบเปรยว่า ผีกระสือชอบหากินอาหารดิบ กินอาหารพิเศษ กินไม่ปกติเหมือนคนทั่วๆ ไป

[19]Disruptionแปลว่า”การหยุดชะงัก” แต่ในแวดวงธุรกิจจะหมายถึง การเปลี่ยนแปลงของภาวะแวดล้อมทางธุรกิจอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ในอัตราทีไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ด้วยเทคโนโลยีทีพัฒนา ไปอย่างรวดเร็วมาก จนส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจที เปลี่ยนแปลงรูปแบบเดิมไปอย่างสินเชิง

[20]ข้อมูลบุคลากรของ อปท. ค่อนข้างสับสน ไม่เป็นปัจจุบัน แม้ว่า ระบบข้อมูลบุคลากร กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, ศูนย์บริการข้อมูลบุคลากรท้องถิ่นแห่งชาติ, (มีระบบ LoginBySmartCard) ตามโครงการศูนย์บริการข้อมูลบุคลากรท้องถิ่นแห่งชาติระยะที่ 2 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้เปิดใช้มาแต่ปี 2561 ก็ตาม แต่การนำข้อมูลที่เป็นปัจจุบันมาใช้ไม่สามารถกระทำได้ สังเกตได้จากการรายงานตำแหน่งว่าง จำนวนอัตราว่าง การบรรจุแต่งตั้ง ไม่สามารถอ้างอิงได้ว่า ตำแหน่งอัตราว่างที่แท้จริงเป็นอย่างไร เพราะ เป็นความจงใจของเจ้าหน้าที่ หรือ ของ อปท.ที่ไม่รายงาน ไม่บันทึกข้อมูล เพื่อผลประโยชน์แอบแฝงอื่นใด เป็นต้น จากข้อมูลเมื่อ 7 ปีที่แล้ว พบว่า อปท.มีบุคลากรทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายประจำ จำนวน 5 แสนเศษ

สรุปจำนวนบุคลากรของ อปท. (1) ผู้บริหารและสมาชิกสภา 153,601 คน (2) ข้าราชการประจำ (2.1) ข้าราชการ 173,547 คน (2.2) ลูกจ้างประจำ 19,687 คน (2.3) พนักงานจ้าง 211,279 คน รวม 404,513 คน รวมบุคลากรทั้งหมด 558,114 คน, ข้อมูล สถ. 23 มีนาคม 2558 

ดู ข้อมูลไม่ลับของ อปท., 2 กุมภาพันธ์ 2561, https://www.gotoknow.org/posts/644392

[21]ระบบคุณธรรม (Merit system)สามารถเรียกได้หลายอย่าง เช่น ระบบคุณวุฒิ ระบบความรู้ความสามารถ ระบบความดีหรือระบบความดีความสามารถ หมายถึง “เป็นวิธีการเลือกรับบุคคลเข้าทำงาน เป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามต้องการ วัดโดยใช้การสอบเพื่อประเมินความรู้ความสามารถของแต่ละบุคคล โดยไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองและความสัมพันธ์ส่วนตัวเป็นสำคัญ, วิกิพีเดีย

[22]ปัจจัยที่นำมาใช้ในการบริหารสำคัญ 4 ประการ คือ คนหรือบุคคล (Man) เงินหรืองบประมาณ (Money) วัสดุสิ่งของหรือวัสดุอุปกรณ์ (Material) และการบริหารจัดการ (Management) หรืออาจ เรียกง่ายๆ ว่า 4M's การที่จัดว่าปัจจัยทั้งสี่เป็นปัจจัยพื้นฐานของการบริหาร ก็เพราะว่าในการบริหาร เกือบทุกประเภทจำเป็นต้องอาศัย คน เงิน วัสดุอุปกรณ์ และ การบริหารจัดการ

[23]อปท.มีปัญหาการทุจริต เช่น การให้และรับสินบน หรือ การเรียกรับเงินจากฝ่ายผู้บริหารท้องถิ่น (บางแห่งหลายแห่ง) เป็นกรณีเจ้าพนักงานเรียกรับสินบน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 เจ้าพนักงาน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เป็นคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ (คดี ป.ป.ช.) การเรียกรับเงินจากข้าราชการเป็นช่องโหว่ในการใช้อำนาจของนายก อปท.ที่ใช้ตำแหน่งหน้าที่ ราชการเรียกและรับเงินจากผู้สมัครสอบเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น เช่น

การเรียกรับเงินเพื่อช่วยเหลือการบรรจุเป็นข้าราชการ, เรียกรับค่าใช้จ่ายในการเปิดกรอบตำแหน่งเจ้าหน้าที่ และใช้บัญชีผู้สอบแข่งขัน, เรียกรับเงินประโยชน์ตอบแทนอื่น (เงินตอบแทนจ่ายโบนัส พนง.), เรียกรับเงินจากผู้สมัครสอบตำแหน่งผู้ช่วยครูดูแลเด็ก, เรียกรับเงินค่ารับโอนย้าย, เรียกรับเงินสอบเลื่อนชั้นตำแหน่งต่างๆ ทั้งการสอบแข่งขันและการคัดเลือก/สอบคัดเลือก เป็นต้น ซึ่งตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 8/2560 วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 ได้แก้ไขปัญหาการทุจริตนี้ที่มาจากระบบอุปถัมภ์ โดยการมอบหมายให้ ก.กลาง เป็นผู้ดำเนินการสรรหาการสอบแข่งขันและการคัดเลือก/สอบคัดเลือก แต่ล่าสุด สมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่น โดยนายก อปท. ได้เรียกร้องและยื่นหนังสือให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณายกเลิก โดยอ้างว่า เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ และเป็นคำสั่งที่สร้างปัญหาการบริหารงานบุคคลแก่ อปท.

ดู 3 สมาคมท้องถิ่นร้อง ยกเลิกคำสั่งเชิงบริหาร ยุค คสช., นิตยสารผู้นำท้องถิ่น, 27 กรกฎาคม 2565, https://poonamtongtin.com/a/3-สมาคมท้องถิ่นร้อง-ยกเลิกคำสั่งเชิงบริหาร-ยุค-คสช.

[24]การล้วงลูก เป็นคำเรียกเปรียบเปรยว่า เข้ามาล้วงลูก ล้วงความลับ การหยั่งเอาความรู้ความคิดที่เขาปิดบังไว้ โดยเข้ามายุ่มย่าม ก้าวก่ายงานคนอื่น โดยเข้ามาฉกฉวยเอาประโยชน์ หรือ มุ่งหวังสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ส่วนมากจะหมายถึงบุคคลอื่นที่มีอำนาจเหนือเข้ามาก้าวก่ายงานในหน้าที่ของคนอื่น ของหน่วยงานอื่น การเข้าไปล้วงลูก จะทำให้ผู้ร่วมงานเสียความรู้สึก ไม่บังเกิดความภาคภูมิใจ และ ไม่อยากทำงานการมอบงานแล้ว ไม่เข้าไปล้วงลูก วิธีแก้ไขโดย อุเบกขา คือ หัวใจที่สำคัญของผู้บริหารในการทำงานแบบมีส่วนร่วม

ดู อุเบกขา : คาถาป้องกันการล้วงลูก, โดยวิชชา ครุปิติ, 12 ธันวาคม 2550, https://www.gotoknow.org/posts/153034

[25]เก็บภาษีที่ดิน 100% ทุนยักษ์ยังสะเทือน นอกจากดีเวลลอปเปอร์อสังหาฯ หลัง กระทรวงการคลัง อปท.ลุยเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ไม่ลดหย่อน 90% เหมือนสองปีก่อน กรณีกระทรวงการคลังประกาศ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เรียกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2565 ในอัตราเต็ม 100% โดยให้เหตุผลว่า เศรษฐกิจเริ่มพลิกฟื้น ประเทศเปิดเต็มรูปแบบ ธุรกิจเดินหน้าประกอบกิจการต่อได้ ท้องถิ่นมีรายได้ลดการพึ่ง พางบประมาณจากรัฐบาล ดู เก็บภาษีที่ดิน100%ทุนยักษ์ยังสะเทือน!, ฐานเศรษฐกิจ, 12 พฤษภาคม 2565, https://www.thansettakij.com/property/524636

[26]ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ปรับอัตราต่อคนต่อวันจาก 20 บาทเป็น 21 บาท ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0816.2/ว3924 ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2564 ดู ก.มหาดไทย แจ้ง ปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวัน เป็น 21 บาทต่อคน เริ่ม ปีงบประมาณ 2565 โดย แอดมินรักครู, 16 ตุลาคม 2564, https://rukkroo.com/30297/ 

& และ จากวันละ 21 บาท/คน/วัน เป็น 28 บาท/คน/วัน ดู ลุ้น! “ลุงตู่” เพิ่มงบอุดหนุนรายหัว “เรียนฟรี” แบบขั้นบันได สูงสุด 5.4 หมื่น ล.อานิสงส์ “ค่าอาหารกลางวันเด็ก” 28 บาท/คน/วัน, ผู้จัดการออนไลน์, 1 กรกฎาคม 2565, https://mgronline.com/politics/detail/9650000062751 

& ตาม หนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ด่วนที่สุด ที่ มท 0816.2/ว2019 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2565, ดู ด่วนที่สุด! ปรับเพิ่มงบอาหารกลางวัน จาก 21 บาท เป็น 28 บาท ปรับอัตราเงินอุดหนุนรายหัว ตามข้อเสนอปรับเพิ่ม, ครูวันดีดอทคอม, 10 กรกฎาคม 2565, https://www.kruwandee.com/news-id49202.html 

& อนุมัติแล้ว ! เพิ่มงบอาหารกลางวันนักเรียนต่อหัว จาก 21 เป็น 28 บาท, ThaiPBS, 11 กรกฎาคม 2565, https://program.thaipbs.or.th/watch/H9dcQO 

[27]Career Path คือเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพ เปรียบเสมือนถนนการทำงานที่พนักงานคนหนึ่งสั่งสะสมประสบการณ์และผลงานเพื่อไปถึงเป้าหมายต่างๆ ในเส้นทางนั้น พูดง่ายๆ ก็คือ เส้นทางอาชีพที่จะเริ่มต้นในตำแหน่งหนึ่ง ก่อนเลื่อนขั้นไปอีกตำแหน่งหนึ่ง นับเป็นการเติบโตทางอาชีพนั่นเอง 

ดู เหตุผลที่ต้องสร้าง Career Path ให้พนักงานในองค์กร, โดยSahatorn Petvirojchai, ใน HRnote Thailand, 22 กันยายน 2564, https://th.hrnote.asia/personnel-management/210922-career-path/

[28]จังหวัดจัดการตนเอง : แนวคิดในการปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่น, โดยศรันยา สีมา, กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2558, https://peaceresourcecollaborative.org/wp-content/uploads/2020/05/hi2558-042.pdf & จังหวัดจัดการตนเอง หนทางแห่งการลดความขัดแย้งและเหลื่อมล้ำ, โดยสร้อยแก้ว คำมาลา, ใน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน), พอช., 28 มีนาคม 2559, https://ref.codi.or.th/public-relations/news/14902-2016-07-04-04-45-50 & จังหวัดจัดการตนเอง: นวัตกรรมของภาคประชาสังคม, โดยชำนาญ จันทร์เรือง, ประชาไทย, 14 เมษายน 2559, https://prachatai.com/journal/2016/04/65233 

[29]ในวันศุกร์ที่ 2 กันยายน 2565 สภาผู้แทนราษฎร มีการอภิปราย เกี่ยวกับการ ให้ประชาชนในต่างจังหวัดทุกจังหวัดมีอำนาจเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดของตนเอง ตลอดทั้งข้อเสนอให้ ยุบรวมราชการส่วนภูมิภาคเข้าเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น . ตามหลักการ เรื่อง ‘จังหวัดจัดการตนเอง’ ซึ่งเป็นข้อเสนอในรายงานคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจฯ โดยมีคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจฯ และ ‘อาจารย์ชำนาญ จันทร์เรือง’ กับ ‘บรรณ แก้วฉ่ำ’ เข้าร่วมชี้แจงในที่ประชุม

ดู 'We're all voters' ยื่น 15,775 ชื่อ ต่อ กมธ.กระจายอำนาจฯ เรียกร้องให้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ, ข่าวประชาไท, 2 มิถุนายน 2565, https://prachatai.com/journal/2022/06/98885 & กลุ่ม ‘We’re all voters เลือกผู้ว่าฯ ทั่วประเทศต้องเกิดขึ้นจริง’ เตรียมยื่นสภา เที่ยงวันนี้ หลังชื่อหนุนทะลุหมื่น, ข่าวประชาไท, 1 มิถุนายน 2565, https://prachatai.com/journal/2022/06/98870

[30]หนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0810.3/ว 6086 ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2565 เรื่อง ซักซ้อมแนวทางปฏิบัติการใช้แผนพัฒนาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อจัดทำบริการสาธารณะหรือกิจกรรมสาธารณะ, https://drive.google.com/file/d/1yCjLZ4w_WsJtxPgzKX9OOH5pIPB8vfQn/view?fbclid=IwAR1MOQbwXkHQv9N3NKfDWgSdoXFxcrRC9B9q0hvO5WecYZ2Dtd3loPsWAzo



ความเห็น (2)

เห็นด้วยเป็นส่วนมาก แต่ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าไม่เป็นการให้ท้ายกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่บ้างน่ะครับ…วิโรจน์ ครับ

@Wiroj Tirakungovit เป็นการกล่าววิเคราะห์ในภาพรวม เพราะ คน อปท.ในส่วนดีมีจำนวนที่เยอะกว่าในส่วนที่เสีย คนเขียนเป็นคนท้องถิ่น (ฝ่ายประจำ) อยู่วงการท้องถิ่นมาหลายแห่ง หลายปี สัมผัสฝ่ายการเมืองท้องถิ่นมานานมาก ตั้งแต่สมัยสุขาภิบาล และสมัยก่อนตั้ง อบต.

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท