อุเบกขา : คาถาป้องกันการล้วงลูก


อุเบกขา คือ หัวใจที่สำคัญของผู้บริหารในการทำงานแบบมีส่วนร่วม
      เรื่องนี้เขียนจากประสบการณ์ครับ ในการบริหารงานของผม ผมจะเน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วมครับ  ซึ่งการทำงานแบบมีส่วนร่วมก็อาจจะไม่ใช่วิธีการทำงานที่ดีที่สุดก็ได้  ในที่นี้ผมจึงขอเสนอประเด็นเฉพาะหลักคิดของผู้บริหารที่เลือกที่จะใช้การบริหารแบบมีส่วนร่วม นั่นคือหลักคิดว่าด้วย อุเบกขา ครับ  และหลักอุเบกขาที่ผมใช้อยู่ คือ หลัก เฉยมอง ครับ ไม่ใช่ เฉยเมิน   หลักเฉยมอง คือ มองดูการทำงานของผู้ที่เรามอบงานไปให้ มองอยู่ห่างๆ ถ้าไม่ผิดพลาดร้ายแรงอะไร ก็ปล่อยให้เขาทำงานไปครับ ทั้งๆที่บางครั้ง มันก็เกิดอาการ คันใจ  คันไม้คันมือ และ คันปาก  อยากจะเข้าไปปรับ ไปเปลี่ยน อยากจะเข้าไปทำเอง  แต่ก็ต้องหักห้ามใจ หักห้ามความคิด และการกระทำให้ได้ ถ้ารู้ตัวทัน  เพราะการเข้าไปล้วงลูก จะทำให้ผู้ร่วมงานเสียความรู้สึก ไม่บังเกิดความภาคภูมิใจ และ ไม่อยากทำงานการมอบงานแล้ว ไม่เข้าไปล้วงลูก จะเกิดผลดีในเรื่องของคนทำงานจะเกิดความภาคภูมิใจในการทำงาน ทำงานอย่างมีความสุข ที่สำคัญเป็นการพัฒนาความรู้ ความคิด และ ความสามารถของคนทำงานดังกล่าวด้วย  แต่ข้อจำกัดของการมีส่วนร่วมก็มีอยู่บ้าง คือ บางครั้งผลงานที่ออกมา อาจไม่มีประสิทธิภาพ เท่ากับที่ผู้บริหารต้องการ หรือไม่ตรงกับความคิดของผู้บริหาร  ข้อนี้ก็คงต้องทำใจยอมรับครับ ได้ประสิทธิภาพคน แต่อาจเสียประสิทธิภาพของงานไปบ้าง  แต่ก็ต้องใช้วิธีให้คนทำงานปรับปรุงการทำงานในครั้งต่อไป ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริหาร 
หมายเลขบันทึก: 153034เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2007 12:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 12:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สวัสดีครับท่านผอ.small man

  • ได้ใจแล้วค่อยพัฒนางาน
  • ให้โอกาสเขาผิดพลาดเพื่อเรียนรู้
  •  อดทนต่ออาการ คันใจ  คันไม้คันมือ และ คันปาก  อยากจะเข้าไปปรับ ไปเปลี่ยน อยากจะเข้าไปทำเอง  แต่ก็ต้องหักห้ามใจ หักห้ามความคิด และการกระทำให้ได้
  • สุดยอดผู้นำที่ผมศรัทธา
  • ด้วยความเคารพครับ
Pสวัสดีครับ คุณข้ามสีทันดร ขอขอบคุณมากครับที่ให้เกียรติเข้ามาเยี่ยมและร่วมแสดงความคิดเห็น ขอเสริมอีกนิดนะครับ ในเรื่องของการทำงาน เมื่อมอบไปแล้ว ผมจะดูเขาอยู่ห่างๆครับ ไม่เข้าไปยุ่มย่าม  แต่ก็มีผู้หวังดีแอบมากระซิบกับผมว่าทำไมปล่อยให้เขาทำงานกันเอง  ไม่เข้าไปสั่งการ ไว้ใจเขาได้อย่างไร

แวะมาอีกรอบครับ

..."มีผู้หวังดีแอบมากระซิบกับผมว่าทำไมปล่อยให้เขาทำงานกันเอง  ไม่เข้าไปสั่งการ ไว้ใจเขาได้อย่างไร"

เฉยมอง ครับ ไม่ใช่ เฉยเมิน 

----

ที่น่าคิดคือ ผู้หวังดีนั้น ไม่ยอมทำความรู้จักท่านผอ. ถ้ารู้จักท่านจริง จะไม่เกิดคำถามแบบนี้

ใกล้จนมองไม่เห็นหรือเปล่าหนอ อิอิ

 

สวัสดีค่ะท่านผู้อำนวยการ

  • ชื่นชมในการบริหารงานของท่านค่ะ
  • ถ้าไม่เสียงานจนเกินไปก็ปล่อยให้เขาทำ เท่าที่ความรู้ความสามารถพึงมี
  • เมื่อผลงานออกมา เราสามารถชี้แนะเพื่อพัฒนาให้ดีขึ้นได้ค่ะ
  • เขาจะได้รู้..ในสิ่งที่ยังไม่รู้  ทำ...ในสิ่งที่ยังทำไม่ดี
Pสวัสดีครับ คุณข้ามสีทันดร ขอขอบคุณครับที่ให้กำลังใจอีกครั้ง
Pสวัสดีครับ อาจารย์จุฑารัตน์ ขอขอบคุณครับที่ร่วมแสดงความคิดเห็น  การมอบงานให้ทำอย่างอิสระโดยไม่เข้าไปล้วงลูก ผมถือว่าเป็นการพัฒนาบุคลากรด้วยกระบวนการทำงานครับ ให้คิดเอง ทำเอง ประเมินผลเอง และ ปรับปรุงเองในครั้งต่อไป ผมอาจจะเสริมเติมเต็มบ้างเล็กๆน้อยๆ โดยไม่ไปก้าวก่ายอะไรมากมาย

สวัสดีค่ะ

P

  ผลงานที่ออกมา อาจไม่มีประสิทธิภาพ เท่ากับที่ผู้บริหารต้องการ หรือไม่ตรงกับความคิดของผู้บริหาร  ข้อนี้ก็คงต้องทำใจยอมรับครับ ได้ประสิทธิภาพคน แต่อาจเสียประสิทธิภาพของงานไปบ้าง  แต่ก็ต้องใช้วิธีให้คนทำงานปรับปรุงการทำงานในครั้งต่อไป ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริหาร 

ข้อความข้างบน ดิฉันว่า ดีมากค่ะ ถ้าผู้บริหาร ไม่มีความกดดันเรื่อง ผลของงาน และเวลาอันจำกัดค่ะ ถ้ามีความกดดันดังกล่าว อาจต้องเข้าไปช่วยแนะเป็นครั้งคราว จะได้เร็วขึ้น

ใกล้ปีใหม่แล้ว ผ่อนคลายหน่อยนะคะ

P สวัสดีครับ คุณพี่ sasinanda ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับที่กรุณาเข้ามาเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจ  สำหรับเรื่องการพักผ่อน  กลับไปถึงบ้านตอนเย็นผมก็พักแล้วหละครับ  เสาร์อาทิตย์ ผมก็หยุดชาร์จแบตอยู่กับครอบครัวครับ วันจันทร์ก็ต่อสู้กันใหม่ การพักผ่อนที่ดีที่สุดของผม คือ การอยู่กับครอบครัว แล้วของคุณพี่ละครับ ได้พักผ่อนบ้างหรือเปล่าครับ..ขอบคุณครับ

ผมนึกขึ้นได้อีกประเด็นนึงครับ

บรรยากาศการทำงานที่ดีแบบนี้ เอื้อให้เกิดนวัตกรรมครับ

สวัสดีครับ คุณข้ามสีทันดร  ขออภัยด้วยครับ ตอบช้าไปหน่อย พอดีไปต่างจังหวัดเสียหลายวัน สำหรับประเด็น

บรรยากาศการทำงานที่ดีแบบนี้ เอื้อให้เกิดนวัตกรรมครับ

      ขอบคุณครับที่ช่วยเสริมเติมเต็ม  จากสภาพความเป็นจริงของการทำงานด้วยบรรยากาศดังกล่าว  ก็เอื้อให้เกิดนวัตกรรมขึ้นมาจริงๆครับ เพียงแต่ว่าเป็นนวัตกรรมเล็กๆ หรือเป็นนวัตกรรมจิ๋ว  ซึ่งถ้าผู้บริหารมักจะมองไม่เห็นความสำคัญ  เพราะพอพูดถึงนวัตกรรม ก็ต้องเป็นนวัตกรรมที่เป็นทางการ ยิ่งมีภาษาต่างประเทศมาประกอบก็ยิ่งดูดีมีชาติตระกูล ซึ่งบางครั้งก็เป็นนวัตกรรมแบบ ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา    นั่นคือ บางทีเรานำเข้านวัตกรรมมาแต่รูปแบบ  เราไม่ได้ศึกษาเนื่อหาของนวัตกรรมของเขาอย่างแท้จริง  ผมว่าสู้เราสร้างนวัตกรรมขึ้นมาเองจะดีกว่า จากนวัตกรรมเล็กๆ หรือนวัตกรรมจิ๋ว แล้วค่อยๆพัฒนาออกไป....ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท