ช่วงนี้คงไม่มีประเด็นการเมืองใดที่สำคัญและสมควรร่วมกันคิดมากว่า ‘การนับปีการดำรงตำแหน่งของนายกคนปัจจุบัน’
ที่ผมบอกว่าประเด็นนี้เป็นการเมืองเพราะ (1) นายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และ (2) ถ้าเรื่องนี้ไม่มีข้อสรุปว่าหลังวันที่ 23 สิงหาคม 2565 นี้นายกฯ ยังมีสถานฐานะเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญแห่างราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หรือไม่
ถ้าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าไม่ใช่ แต่ยังเป็นอยู่ต่อแล้ว กิจกรรมการเมืองต่อจากนั้นไปจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันคิด ครับ
มีข้อมูลและความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้จากหลายฝ่าย แต่ผมยังไม่เห็นใครกล่าวถึงประเด็นที่ผมจะนำเสนอต่อไปนี้เลย จึงอยากนำเสนอเพื่อประโยชน์ร่วมกันครับ
กล่าวคือ ต้นตอของปัญหาเกิดจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 158 กับ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พุทธศักราช 2561 มาตรา 102 และ 105 ดังนี้ครับ
ถ้าผู้ร่างรัฐธรรมนูญเขียนมาตรา 158 วรรค 3 โดยระบุไว้ให้ชัดว่า ‘นายกรัฐมนตรีตามรัฐนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560’ เสียก็ไม่เกิดเรื่องครับ
แต่ก็อีกนั่นแหละครับ คือ ถ้าจะเถียงข้าง ๆ คู ๆ ต่อไปว่า แม้จะไม่เขียนไว้ในมาตรา 158 วรรค 3 ว่าเป็น ‘นายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560’ ก็ตาม นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันและวาระปัจจุบันก็เกิดขึ้นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จึงต้องนับวาระใหม่ตามรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็ต้องใช้มาตรฐานนี้ในการตีความมาตรา 102 และมาตรา 105 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พุทธศักราช 2561 ดังจะกล่าวถึงในข้อ 2 ครับ
2. มาตรา 102 และมาตรา 105 บัญญัติไว้ดังนี้ครับ
มาตรา 102 ความว่าบุคคลต่อไปนี้ต้องย่ินบัญชีทรัพทย์ศิน (1) ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (2) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ฯลฯ
มาตรา 105 วรรค 3 ความว่า ในกรณีตาม (1) [ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง] ถ้าพ้นจากตำแหน่งและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเดิม หรือตำแหน่งใหม่ภายในหนึ่งเดือน ผู้นั้นไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินกรณีพ้นจากแหน่งและกรณีเข้าดำรงตำแหน่งใหม่ แต่ไม่ห้ามที่ผู้นั้นจะยื่นเพื่อเป็นหลักฐาน
เท่าที่ทราบจากรายงานข่าวว่าที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีและคณะใช้สิทธิตามมาตรา 105 วรรค 3 แปลว่าท่านยอมรับว่าเป็นการดำรงตำแหน่งต่อเนื่อง ซึ่งหมายความว่า คำว่า ‘ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง’ในรัฐธรรมนูญนี้หมายความถึงตำแหน่งทางการเมืองทั่วไป ดังนั้นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นตามรัฐธรรมนูญใด ก็เป็นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเช่นเดียวกัน
แปลว่าต้องนับอายุต่อเนื่องครับ
ถ้าไม่นับอายุต่อเนื่อง สิทธิตามมาตรา 105 วรรค 3 ก็หมดไป เพราะยังไม่เคยมีผู้ใดในรัฐบาลนี้เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญนี้มาก่อน
ผมฝากประเด็นนี้ให้ผู้มีอำนาจและหน้าที่ทุกคนพิจาณาครับ เพราะการเมืองเป็นการตัดสินใจสาธารณา และการตัดสินใจของท่านส่งผลต่อทุกคนในประเทศครับ
หวังว่าข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์กับท่านนายกฯ และทุกฝ่ายครับ
สมาน อัศวภูมิ
ปล ที่เขียนแก้ไขก็เพียงเพื่อให้อ่านเข้าใจง่ายขึ้น แต่สาระเหมือนเดิมครับ (23 สิงหาคม 2565)
ไม่มีความเห็น