๑,๒๘๕ ดนตรี..สร้างสุข


  เมื่อวิชาดนตรี ถูกนำร่องโดยกลองยาว ส่งผลให้โรงเรียนคึกคัก เด็กสนุกสนาน ครูอย่างผมก็มีความสุข สามารถสร้างโอกาสให้โรงเรียนเข้มแข็งและเป็นที่ยอมรับจากผู้ปกครองมากขึ้น

          ผมเกือบจะบริหารและจัดการเรียนการสอนได้อย่างลำบากยากเย็น เมื่อวันที่ต้องตัดสินใจเข้ามาสู่โรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีเด็กไม่ถึง ๕๐ คน

          วันนั้น...บรรยากาศแห่งความเงียบงัน สัมผัสอยู่รอบตัว ผมอยากเห็นสีสันในโรงเรียน ต้องการสร้างความมีชีวิตชีวาให้เกิดขึ้น จึงมองหาจุดที่ต้องเปลี่ยนแปลง..เป็นอันดับแรก

          โอกาสเปิดกว้างขึ้นมาทันที เมื่อผมเดินเข้าไปในห้องเก็บของเก่าของโรงเรียน ที่ถูกปิดไว้เป็นเวลานาน ผมต้องเดินผ่านฝุ่นละอองและหยากไย่อย่างยากลำบาก

          แต่ก็คุ้มค่า เมื่อเห็น”กลองยาว”ตรงหน้ามากกว่า ๑๐ ใบ..ตั้งเรียงรายอยู่ตรงมุมห้อง ความรู้สึกในเวลานั้น เหมือนว่าได้จุดประกายความหวัง มองเห็นหนทางที่จะพัฒนาผู้เรียน

          ด้านคุณภาพทางวิชาการ คงต้องใช้”ภาษาไทย”เป็นแกนหลัก แต่ถ้าเรื่อง”ทักษะชีวิต”และระเบียบวินัย ตลอดจนคุณธรรมนำความรู้..ดนตรี..คือสื่อที่จะช่วยหล่อหลอมผู้เรียนได้

          ผมไม่ใช่ครูกลองยาวโดยตรง อาศัยครูพักลักจำ จึงสามารถถ่ายทอดผู้เรียนเรื่อยมา จากรุ่นสู่รุ่น กว่า ๑๐ ปีแล้ว...ที่กลองยาวยังคงเป็นดนตรีพื้นบ้านของโรงเรียน ที่มั่นคงและยั่งยืนจริงๆ 

          จากโรงเรียนสู่ชุมชน..ใช้กลองยาวสานสัมพันธ์ แบ่งปันความสุขมานับครั้งไม่ถ้วน และที่แปลกมากก็คือ ตัวกลองยาว..ยังคงไว้ซึ่งกลองในรุ่นแรก ผมซื้อเพิ่มเติมเพียง ๔ ใบเท่านั้น

          กลองบางลูก..สภาพหนังผุพังไปตามกาลเวลา ผมจ้างช่างกลองให้ทำเป็นหนังแก้ว โดยใช้ตัวกลองลูกเดิม เวลาตีเสียงจะดังกังวาน และไม่เจ็บมือเหมือนหนังแท้

          เมื่อวิชาดนตรี ถูกนำร่องโดยกลองยาว ส่งผลให้โรงเรียนคึกคัก เด็กสนุกสนาน ครูอย่างผมก็มีความสุข สามารถสร้างโอกาสให้โรงเรียนเข้มแข็งและเป็นที่ยอมรับจากผู้ปกครองมากขึ้น

          รวมทั้งได้ความรู้สึกที่ดี..เมื่อเห็นดนตรี ช่วยสร้างสรรค์จิตใจนักเรียนให้อ่อนโยน มีกิริยาวาจาที่เรียบร้อย มีความสมัครสมานสามัคคีในหมู่คณะ

          ดนตรียังได้สร้างจังหวะชีวิตที่ดีงามให้แก่ครู นักเรียน สร้างสัมพันธภาพที่ดีงาม และตราตรึง ซึ่งยังรำลึกนึกถึงกันเสมอเมื่อนักเรียนไปศึกษาต่อและเติบโตอยู่ในชุมชนและสังคม

          จากเครื่องดนตรีเล็กๆ ที่เล่นเป็นวงกันไม่กี่คน...ค่อยๆสานฝัน ขยับขยายพื้นที่ความสุขในการเรียนการสอนเรื่อยมา ถึงแม้จะพบปัญหาและอุปสรรคบ้าง แต่ผมก็ไม่เคยทอดทิ้ง...ดนตรี

          ดนตรีช่วยชูชุบให้หัวใจครูชุ่มชื้น ไม่ต้องหวานอมขมกลืนกับทุกปัญหาที่มากระทบ ช่วยลบความขุ่นมัวของอารมณ์ และช่วยบ่มเพาะให้หัวใจ เกิดความสดใสและสุนทรีย์

          จากวันนั้นถึงวันนี้ วิชาการดนตรีที่อาจจะยังไม่สำเร็จมากนัก แต่ความเป็นรูปธรรมของโรงเรียนขนาดเล็ก นี่คือภาพเชิงประจักษ์...ของการเรียนรู้สู้สิ่งยากอย่างแท้จริง

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๒  กรกฎาคม  ๒๕๖๕

         

          

          

หมายเลขบันทึก: 703393เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2022 20:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กรกฎาคม 2022 20:51 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท