เก็บตกวิทยากร (71) ความสุขและความฝันของครูรัก(ษ์)ถิ่น


จากบันทึกก่อนหน้านี้  https://www.gotoknow.org/posts/702979

ภายหลังกระบวนการสำรวจ “ความกลัว” ของเหล่าบรรดาว่าที่คุณครูรัก (ษ์) ถิ่นของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565 เสร็จสิ้นลง  

 

ผมไม่รีรอที่จะนำเข้าสู่กระบวนการ “รู้จักฉันรู้จักเธอ”  ภายใต้หัวข้อ “ความสุขของฉัน (ความทรงจำ)” และ “ความฝันของฉัน” (อนาคต)  โดยให้นักศึกษาเลือกวาดภาพในหัวข้อใดหัวข้อหนึ่ง

 


นำเข้าสู่กระบวนการด้วยการอ่านบทกลอนหลากสำเนียง


ก่อนเข้าสู่โหมดการวาดภาพ  ผมให้นักศึกษาร่วมอ่านบทกลอน “รู้จักฉันรู้จักเธอ” ที่เขียนไว้เมื่อร่วมๆ 10 ปีที่แล้ว  โดยผสมผสานการอ่านในมิติใหม่  แทนที่จะอ่านด้วยสำเนียง “ไทยกลาง” อย่างเดียว  ผมกลับชวนให้นักศึกษาอ่านด้วยสำเนียงท้องถิ่น หรือชาติพันธุ์ของตนเอง

กระบวนการเช่นนี้ ผมมีเจตนาชัดเจนที่จะปักหมุดอย่างหนักแน่นว่า  “ภาษา คือ เอกลักษณ์ของชาติ ภาษา คือ อัตลักษณ์เฉพาะของแต่ละท้องถิ่น ทุกภาษา คือ ความงาม และไม่มีภาษาใดเด่น หรือด้อยไปกว่ากัน”





ด้วยเหตุนี้จึงชวนเชิญและปลุกเร้าให้นักศึกษาออกมาอ่านด้วยท้วงทำนองของตนเอง  ซึ่งก็พบว่ามีนักศึกษาบางคนอาสาลุกขึ้นมาอ่านด้วยสำเนียงชาติพันธุ์ตนเอง  บ้างอ่านด้วยสำเนียงอีสาน  บ้างอ่านด้วยสำเนียงท้องถิ่นเฉพาะจังหวัด  หรือแม้แต่สำเนียงท้องถิ่นในภาพรวมของภาคเหนือ

สิ่งเหล่านี้ ผมยืนยันว่าผมชัดเจน – ชัดเจนในเรื่อง “พหุวัฒนธรรม”  ชัดจนในเรื่องการให้ความเคารพต่อวัฒนธรรมของแต่ละชาติพันธุ์และปรารถนาที่จะตอกย้ำให้นักศึกษารู้สึกรักและภาคภูมิใจใน “รากเหง้า” ของตนเอง  โดยเริ่มต้นจาก “ภาษา” เป็นหัวใจหลัก

 



 

กระบวนการแบ่งปัน “ความสุข” และ “ความฝัน”

เดิมตั้งใจที่จะบรรยายเรื่อง “ทักษะของความเป็นครูในศตวรรษที่ 21” โดยผูกโยงไว้กับเรื่อง Soft skills ของครูรัก (ษ์) ถิ่น  แต่พอจับอาการได้ว่านักศึกษาดูยัง “เคอะเขิน” ต่อกันอยู่มิใช่ย่อย  จึงตัดสินใจถอดกระบวนการแรกออกไปและเปลี่ยนมาใช้กระบวนการรู้จักฉันรู้จักเธอ

ผมให้นักศึกษาวาดภาพคนละ 10-15 นาที  ขณะวาดภาพก็เปิดเพลงคลอไปเบาๆ เพื่อสร้างสุนทรียะในการเรียนรู้ โดยเน้นการ “อยู่กับตัวเอง”  หรือ “ทบทวนตัวเอง”  ผ่านทุกเรื่องราวที่ผ่านเข้ามาในชีวิต  แล้วถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านั้นออกมาเป็นภาพวาด  เพื่อเตรียมสื่อสารกับคนรอบข้าง – สังคม 

อันที่จริงกระบวนการนี้ก็คือการละลายพฤติกรรมในอีกมิตินั่นแหล่ะ  เพียงแต่ไม่ใช่กระบวนการในแบบ “ตีกลอง-ร้อง-เต้น”  เท่านั้นเอง




เสร็จจากการวาดภาพก็นำเข้าสู่การ “สื่อสาร” (บอกเล่า) ให้เพื่อนร่วมกลุ่มได้รับรู้ถึงเรื่องราวอันเป็น “ความสุข” หรือแม้แต่ “ความฝัน” โดยมีกติกาง่ายๆ คือ “มีคนพูด-มีคนฟัง” 

ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่ง โดยไม่จำเป็นต้องย้ำว่าต้องเคารพให้เกียรติกันอย่างไร  ไม่จำเป็นต้องบอกว่ากำลังฝึกให้เกิดทักษะอะไรบ้าง  ซึ่งในภาพรวมต่างให้ความร่วมมือและสงบนิ่งที่จะรับฟังกันและกัน  มีบางคนถึงขั้น “หลั่งน้ำตา”  แล้วนำไปสู่การ “โอบกอดกันและกัน”

และนั่นก็เท่ากับว่า กระบวนการรู้จักฉันรู้จักเธอได้เริ่มทลายกำแพงบางอย่างของแต่ละคนลงบ้างแล้ว  พร้อมๆ กับการเปิดโอกาสให้คนรอบข้างได้เข้าไปเยี่ยมยามถามข่าวกันและกันมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา –

เรียกในอีกแบบก็คือ “เริ่มดูแลความรู้สึกกันมากขึ้น” นั่นเอง
 

 

หลอมรวมความสุขและความฝันเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน

ถัดจากกระบวนการข้างต้นก็มอบหมายให้แต่ละกลุ่มสังเคราะห์องค์รวมในเรื่องของ “ความสุข” และ “ความฝัน” ของแต่ละคน  โดยให้นำเสนอเป็นภาพรวมของแต่ละกลุ่ม

จากสถิติที่พบ – 80% เลือกวาดภาพในประเด็น “ความสุขของฉัน” (อดีต:ความทรงจำ)  ส่วนที่เหลือ 20% คือประเด็น “ความฝันของฉัน” (อนาคต) 

ประเด็น “ความสุขของฉัน” ที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงส่วนใหญ่จะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เช่น การได้อยู่กับครอบครัว-ได้อยู่กับธรรมชาติ-ได้อยู่กับบ้านเกิด-ได้เป็นลูกที่ดี  ส่วนประเด็น “ความฝันของฉัน”  ที่สะท้อนออกมาคือการมีความมั่นคงในชีวิต – มีบ้าน-มีรถ-มีเงินเก็บ




เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้จะไม่มีถ้อยคำใดที่เอ่ยถึง “อาชีพครู” ก็เถอะ แต่เมื่อมาฟังการนำเสนอของแต่ละกลุ่มกลับกลายสื่อสารหนักแน่นในทำนองเดียวกันนั่นคือ “การเป็นครูที่ดี – ครูคืออาชีพที่มีเกียรติ – ครูคือรากฐานความมั่นคงของชีวิต-ครูคือผู้ระบบและกลไกของการพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง” ฯลฯ

และที่ผมชื่นชมมากๆ คือ บางกลุ่ม หรือบางคนพูดถึงความฝันของตนเองในทำนองว่า “ได้กลับไปเป็นครูที่บ้านเกิด ได้ดูแลพ่อแม่ ได้ทำการเกษตรตามแนวพระราชดำริ ได้ยกระดับชาติพันธุ์ของตนเองผ่านการศึกษา”

 




สรุปก็คือ  ความเป็นครู เป็นทั้งความสุขและความฝันของแต่ละคนนั่นแหล่ะ และความฝันของพวกเขาก็ยึดโยงเป็นหนึ่งเดียวกับอดีตและปัจจุบัน อันหมายถึง “รากเหง้า-บ้านเกิด” ของตนเอง 

ด้วยเหตุนี้ผมจึงขมวดเป็นวาทกรรมรวมๆ ในทำนองว่า “พวกเขาโชคดีมากที่ความฝันในอนาคตผูกโยงเป็นหนึ่งเดียวกับอดีตของตนเอง  นั่นคือ การกลับไปเป็นครูที่บ้านเกิดที่ได้ทำทั้งหน้าที่ลูกๆ หลานๆ ของพ่อแม่และเครือญาติ รวมถึงการเป็นคุณครูของหมู่บ้าน” 

และไม่ลืมที่จะทิ้งประเด็นไว้ว่า “ทุกคนในห้องนี้ มีความสุขและความฝันในเรื่องเดียวกัน  เช่นนี้แล้วจงดูแลความสุขและความฝันของกันและกันให้ดี”

ใช่ครับ - ผมกำลังฝากเพิ่มเติมในเรื่องของการอยู่ร่วมกัน เรียนร่วมกัน 
 

 

จะว่าไปแล้ว
 

ถึงแม้ผมจะปรับเปลี่ยนกระบวนการอย่างกะทันหัน แต่เอาจริงๆ แล้ว กระบวนการรู้จักฉันรู้จักเธอที่มุ่งละลายพฤติกรรมของคนในเวทีเข้าหากันนั้น ก็ซ่อนนัยยะที่เกี่ยวกับทักษะการเรียนรู้ที่สำคัญอยู่ในตัวอย่างเสร็จสรรพ  เพียงแต่ผมไม่ได้โฟกัสเชิงทฤษฎี หรือเน้นย้ำให้เกิดความรู้ก่อนเท่านั้นเอง
 

พูดให้ชัดก็คือทุกกระบวนการในรู้จักฉันรู้จักเธอ  ล้วนซ่อนเรื่องทักษะในศตวรรษที่ 21 หรือ Soft skills ที่คุณครูควรบ่มเพาะไว้กับตัวเอง ซึ่งพอจะเห็นเป็นเค้าลางจากกระบวนการนี้บ้างแล้ว  เป็นต้นว่า

  • ทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น  การทำงานแข่งกับเวลา
  • ทักษะการทำงานเป็นทีม
  • ทักษะการถอดบทเรียนชีวิต  วิเคราะห์สังเคราะห์ เพื่อกำหนดเป้าหมาย และการอยู่ร่วมกับคนอื่น
  • ทักษะการสื่อสารสร้างสรรค์ ผ่านศิลปะหลากแขนง  ทัศนศิลป์ วรรณศิลป์ ดุริยางคศิลป์
  • ทักษะการสื่อสารในแบบเล่าเรื่อง – เรื่องเล่า –การบรรยาย 
  • ทักษะการฟัง การจับประเด็น
  • ทักษะในการบริหารคน – บริหารงาน – ทักษะผู้นำ
  • ทักษะในการคิดสร้างสรรค์
  • ฯลฯ
     


ด้วยความที่ผมยังมีเวลาอีก 1 วันในการจัดกระบวนการเรียนรู้ ผมจึงยังไม่คิดที่จะสรุปประเด็นของการเรียนรู้ อันหมายถึงเฉลยวัตถุประสงค์ของกระบวนการ  รวมถึงการประเมินนักศึกษาว่าได้เรียนรู้อะไรบ้างแล้ว –  

แต่พยายามสังเกตพฤติกรรมของนักศึกษาว่ามีปฏิกิริยาเช่นใดกับการเรียนรู้และการอยู่ร่วมกัน  จากนั้นจึงขยับเอานำกระบวนการที่เหมาะสมเข้ามาเป็นโจทย์เพื่อสร้างการเรียนรู้ไปด้วยกัน  


 

เขียน : ศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม 2565
 

หมายเลขบันทึก: 703371เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2022 15:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กรกฎาคม 2022 17:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เขียนดี … ผมจึงมาเยือน ;)…

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท