เก็บตกวิทยากร (70) ความกลัวเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์


ผมบอกกับพวกเขาว่า “ความกลัวเป็นธรรมชาติของมนุษย์”  และการเริ่มต้นที่จะแก้ปัญหาความกลัวก็คือ “อยู่กับความจริงและเริ่มต้นที่จะลงมือทำ”

ภาคเช้าของวันนี้ (วันที่ 7 มิถุนายน 2565)  ผมได้รับโจทย์ของการสร้างกระบวนการเรียนรู้มาในหัวข้อ “ความคิดถึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต” ซึ่งเป็นหนึ่งในวาทกรรมหนังสือที่ผมเขียนขึ้นเมื่อหลายปีก่อน นั่นคือ “ความรักความคิดถึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต”

 

 

โอกาส : โจทย์การเรียนรู้


ประเด็นที่ถูกกำหนดขึ้นเป็น  “โจทย์” ในภาคเช้าก็คือ “โอกาส” – ซึ่งผมต้องบูรณาการคำว่าโอกาสให้เป็นหนึ่งเดียวกับวาทกรรม “ความคิดถึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต” และ “มหาวิทยาลัยแห่งความสุข” อันเป็นแก่นสารหลักที่ผมถูกเชิญมาเป็นกระบวนกร
 

นักศึกษาที่เข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้ในครั้งนี้ เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 เนื่องในโครงการ “ครูรัก (ษ์) ถิ่น” ของคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ 
 

 

 

รุ่นนี้มีนักศึกษาร่วมๆ จะ 30 คนก็ว่าได้  ทั้งหมดเป็นคนพื้นเพ “ภาคเหนือ” ผ่านระบบการคัดกรองสัมภาษณ์แบบมีส่วนร่วมระหว่างผู้บริหาร  อาจารย์ และผู้นำชุมชน  บนฐานคิดสำคัญๆ เช่น  ทัศนคติการอยากเป็นครู  รายได้ที่อยู่ในเกณฑ์เป็นผู้มีรายได้น้อย  สุ่มเสี่ยงการขาดโอกาสที่จะศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ฯลฯ

ที่สำคัญคือนักศึกษากลุ่มนี้มีหลายต่อหลายคนที่มาจากพื้นเพของการเป็น “ชนเผ่า”  ซึ่งผมถือว่านี่คือ “จุดแข็ง-จุดเด่น”  ของการสร้างบัณฑิตที่ควรต้องชื่นชมมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่เป็นอย่างยิ่ง

 

 

 

 

บูรณาการโจทย์ 3 In 1 : โอกาส-ความคิดถึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต-มหาวิทยาลัยแห่งความสุข

 

ผมใช้เวลาใคร่ครวญอยู่นานเกี่ยวกับโจทย์ที่ว่าด้วย “โอกาส”  เพื่อผสมผสานให้เข้ากับหัวข้อหลัก “ความคิดถึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต” หรือแม้แต่ “มหาวิทยาลัยแห่งความสุข”  จนในที่สุดก็มาสรุปกรอบแนวคิดเองว่า “การเข้ามาเป็นนักศึกษาโครงการครูรัก (ษ์) ถิ่น คือโอกาสของเติบโตทั้งในมิติตัวเองและสังคม เพราะคือการได้รับทุนการศึกษา ทั้งค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายรายเดือน รวมถึงมีอัตราบรรจุเป็นคุณครูที่บ้านเกิดเมืองนอนรองรับเมื่อจบการศึกษา”

 

ใช่ครับ – ผมนิยามความเกี่ยวกับคำว่า “โอกาส” ในทำนองนั้น  แล้วแปลงคำว่าโอกาสมาเป็น “เป้าหมาย” ที่หมายถึง “การเรียนและการใช้ชีวิต” เพื่อให้ก้าวไปสู่เส้นทางแห่งความเป็นแม่พิมพ์ของชาติ  โดยเริ่มจากการเปิด “คลิป” เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ หรือแม้แต่เป็นประเด็นปลุกเร้าชวนคิดอ่านร่วมกัน





 

ถึงแม้คลิปบางเรื่องจะถูกเผยแพร่มานานแล้ว  แต่จากการสำรวจก็พบว่านักศึกษามากกว่า 95% “ยังไม่เคยดู” 

จะว่าไปแล้ว การที่นักศึกษายังไม่เคยดูคลิปเหล่านี้มาก่อนก็กลายเป็นโอกาสอันดีของผมไปในปริยาย เพราะนักศึกษาต่างตั้งใจดูตั้งใจชมอย่างไม่กะพริบตา 

เสร็จสิ้นการดู ผมก็โยนคำถามชวนคิดชวนคุยร่วมกันผ่านคำถามกว้างๆ ว่า “เห็นอะไรในคลิปบ้าง – เรียนรู้อะไรในคลิปบ้าง-เห็นเครื่องมือในการเรียนรู้ของตัวละครในคลิปอะไรบ้าง”

 

 

ทุกคำตอบที่นักศึกษาสะท้อนกลับมา  ผมไม่บอกว่า “ผิด” หรือ “ถูก”  แต่เน้นที่การขยายความ และยึดโยง-เข้ากับแก่นสารอันเป็นแนวคิดหลักของคลิป  เพื่อให้นักศึกษาเกิดความมั่นใจในการขบคิดและแสดงออก

 

 

ความกลัว : ทบทวนความกลัว

เอาจริงๆ เลยนะ  ผมมองเห็นแววตาของนักศึกษาตั้งแต่ก่อนเข้าสู่เวทีของการจัดกระบวนการเรียนรู้ ประหนึ่งพวกเขาครุ่นคิด-หวาดหวั่น-วิตกกังวลอยู่ตลอดเวลาเลยทีเดียว  ด้วยเหตุนี้ผมจึงตั้งคำถามขึ้นกลางเวทีว่า “อะไรคือความกลัวของนักศึกษา” โดยให้แต่ละคนลอง “ทบทวน” และ “เขียน” ลงในสมุดบันทึก

ผมให้เวลาในราว 1-3 นาที  จากนั้นก็เริ่มชักชวนนักศึกษาออกมาเล่าสู่กันฟัง  โดยเน้น “ความสมัครใจ-ความสบายใจที่จะบอกเล่า”  เป็นหัวใจหลัก  

 

 

และนี่คือข้อมูล 3 อันดับแรกที่เป็นความกลัวของนักศึกษา “ครูรัก (ษ์) ถิ่น

  • กลัวเรียนไม่จบ/กลัวสอบใบ ประกอบวิชาชีพไม่ผ่าน
  • กลัวสูญเสียในสิ่งที่รัก/กลัวความผิดหวัง
  • กลัวเป็นครูที่ดีไม่ได้ / กลัวการไม่ได้อยู่กับครอบครัว

ส่วนความกลัวอื่นๆ ที่ค้นพบก็เรียงลำดับได้ประมาณนี้

  • กลัวการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย
  • กลัวความยากจน / กลัวความไม่มั่นคงในชีวิต 
  • กลัวใช้ชีวิตไม่คุ้ม
  • กลัวความเปลี่ยนแปลง
  • กลัวการถูกหักหลัง
  • กลัวความสูง / กลัวความมืด
  • ฯลฯ

 

 

ความกลัว : เป็นธรรมชาติของการมนุษย์


ผมยืนยันว่า ผมไม่อาจละเลยแววตาที่เต็มไปด้วยความหวั่นหวาดของนักศึกษาได้ จึงจำต้องปรับกระบวนการมาเป็นการชวนทบทวนเรื่องความกลัวของชีวิต  โดยหวังว่า กระบวนการเล็กๆ นี้จะช่วยให้นักศึกษาได้ระบาย ปลดปล่อยออกจากจิตใจของตนเอง หรือแม้แต่การเปิดเปลือยให้เพื่อนร่วมรุ่นได้ช่วยในการเยียวยา-หนุนเสริมต่อกัน

แน่นอนครับ  เป็นธรรมดาที่พวกเขาจะรู้สึกแบบนี้ เพราะพวกเขายังเป็น “เด็กใหม่” ที่เพิ่งก้าวพ้นออกมาจาก “อ้อมกอดของบ้านเกิด” ก็ไม่แปลกที่จะเกิดความรู้สึกหวั่นหวาดต่อสิ่งแวดล้อม หรือเส้นทางสายใหม่ของชีวิต

และไม่แปลกที่เขาจะรู้สึกกดดันกับ “เป้าหมาย” หรือ “จุดหมาย” ของชีวิต ทั้งเพื่อตนเองและครอบครัว  หรือแม้แต่สังคม เพราะพวกเขาคือนักศึกษาที่ได้รับโอกาสในการศึกษาเล่าเรียน เพื่อจบออกไปสู่การพัฒนาสังคมอันเป็นบ้านเกิดของพวกเขาเอง

 

 

สำหรับผมแล้ว ผมฟังและอ่านในสิ่งที่เป็นความกลัวของนักศึกษา  พร้อมๆ กับการจับประเด็นความกลัวของนักศึกษามาขยายความใน “มุมบวก” เพื่อเปิดโลกทัศน์ใหม่ให้เกิดเป็น “พลัง” ในการที่จะขับเคลื่อนไปสู่ “เป้าหมาย” หรือการปกปักษ์รักษา “โอกาส” ที่ได้รับมา

เสมือนการย้ำให้พวกเขาเชื่อในการพลิกวิกฤตไปสู่โอกาส  พลิกความกลัวเป็นความท้าทาย – เป็นพลัง เป็นแรงบันดาลใจในการก้าวเดิน ทั้งด้วยตนเองและร่วมก้าวเดินอย่างเป็นทีม

 

 

และที่สำคัญก็คือ ผมบอกกับพวกเขาว่า “ความกลัวเป็นธรรมชาติของมนุษย์”  และการเริ่มต้นที่จะแก้ปัญหาความกลัวก็คือ “อยู่กับความจริงและเริ่มต้นที่จะลงมือทำ”

 

หรือแม้แต่การปลุกปลอบให้ผ่อนคลายจากภาวะของการคิดถึงบ้านว่า “เราต่างเดินทางไกลเพียงเพื่อจะกลับบ้าน”  ที่หมายถึง  การห่างบ้านมาเพื่อบ่มเพาะตัวเอง  ห่างไกลบ้านและคนรักเพื่อมาเรียนรู้โลกและชีวิต ห่างไกลบ้านเพื่อมาแสวงหาสิ่งต่างๆ เพื่อกลับไปพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง  

โดยยกเอาเรื่องราวจากวรรณคดี  ละคร  นิทาน  หรือกระทั่งตำนานในพระพุทธศาสนา  ที่มักกล่าวถึงการพลัดบ้านพลัดเมืองเสียก่อน  จากนั้นค่อยกลับไปครองบ้านครองเมือง-
 

ผมพยายามเล่าเรื่องไปเรื่อยๆ  สอดแทรกวาทกรรมของตนเองเป็นโจทย์เป็นระยะๆ  รวมถึงนำคลิป / หนังสั้นมาทยอยเปิดให้ดู  จากนั้นก็ชวนคิดชวนคุย  - แอบซ่อนการละลายความกลัวของพวกเขาไปอย่างช้าๆ และเงียบๆ 

 

 

 

เขียน : 10 มิถุนายน 2565
บ้านตาก จังหวัดตาก

 

 

หมายเลขบันทึก: 702979เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2022 09:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กรกฎาคม 2022 13:58 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ขอบคุณที่ตอบจดหมายรับเชิญกลับมาที่นี่อีกครั้ง

ขอบคุณครับ ;)…

หวังว่า นักศึกษาคงจะได้นำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้ในการดำเนินชีวิตต่อไปในอนาคต

ครับ อ.Wasawat Deemarn

จริงๆ ต้องขอบพระคุณทุกท่านจาก มรภ.เชียงใหม่ครับที่ให้เกียรติ และให้โอกาสผมได้เรียนรู้ และต่อเนื่องมาเป็นระยะๆ

และนั่นก็ช่วยให้ผมได้ทบทวนชีวิต และเพิ่มพลังชีวิตให้กับตัวเอง เช่นกันครับ

ครับ พี่ใบบุญ

ผมก็ได้แต่หวังว่า นักศึกษา จะได้ตระหนักถึงการทบทวนตัวเอง และก้าวย่างไปข้างหน้า โดยใช้ปัจจุบันเป็นปัจจัยเกื้อหนุน

เด็กๆ นักศึกษา น่ารัก สดใส และงดงามครับ ทุกคนตั้งเป้าเหมือนกัน คือการจบออกไปเป็นครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นตัวเอง และสร้างความมั่นคงให้กับตัวเองและครอบครัว ครับ

สวัสดีครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

เสียดายเวทีนี้ เรา ไม่ได้ผนึกกำลังร่วมกัน และหวังว่าครั้งหน้าจะมีโอกาสได้เรียนรู้กับอาจารย์ฯ นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท