บทเรียนจากนิยาย "คำพิพากษา" (Lesson from "The Judgement)


      ใจจริงของผมยังอยากให้ทุกท่านได้อ่านนิยายเรื่อง “คำพิพากษา” ของชาติ กอบจิตติ ทั้งเล่มครับ เพราะนอกจากจะได้แง่คิดและมุมมองที่ดีแล้ว ชาติ กอบจิตติ เขียนนิยายเรื่องนี้ได้ดีมาก ๆ ครับ แต่สำหรับผู้ไม่ค่อยมีเวลา ผมก็เลยนำเรื่องนี้มาแแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในบทเขียนนี้ด้วย เพื่อเป็นบทเรียนร่วมกันของสังคมไทยครับ 

       หลังจากผมเปลี่ยนนิสัยมาเป็นคนที่รักการอ่านมากขึ้นแล้ว ผมอ่านหนังสือทุกประเภทครับ แม้ว่าหลัก ๆ แล้วผมจะอ่านงานวิชาการก็ตาม เฉพาะหนังสือนิยายนั้นผมก็อ่านอีกหลายเรื่องซึ่งพบว่านิยายที่ดีนั้นตัวละครแต่ละตัวก็จะมีพัฒนาการเช่นเดียวกันกับคนในสังคม ความเป็นอยู่และเป็นไปก็คล้ายกับชีวิตจริง แม้ว่าเรื่องเหล่านั้นจะเป็นแค่นิยาย การเดินเรื่องของนิยายคำพิพากษาเป็นไปอย่างเข้มข้นและกระเทาะความรู้สึกของผู้อ่านอย่างต่อเนื่อง 

        ตัวเอกของนิยาเรื่องคำพิพากษาชื่อ “ฟัก” เป็นลูกตาฟูซึ่งมีฐานะยากจนต้องอาศัยวัดอยู่จนกระทั่งมีการตั้งโรงเรียนขึ้นในหมู่บ้าน ตาฟูจึงได้เป็นภารโรงของโรงเรียนแห่งนั้น 

         ด้วยการที่ฟักได้รับเลี้บงดูและผูกพันกับวัด ฟักจึงเป็นเด็กดี มีความเมตตา และขยันขันแข็ง พอโตขึ้นฟักก็บวชที่วัดในหมู่บ้าน จนกระทั่งตาฟูผู้เป็นพ่อเสียชีวิตลง ฟักจึงสึกมาเพื่อรับผิดชอบเลี้ยงดูแม่เลียงซึ่งไม่ค่อยเต็มเต็งนัก ถ้าจะปล่อยให้อยู่ด้วยตนเองก็คงลำบาก แต่แทนที่ฟักจะได้รับการยกย่องว่าเป็นคนดีมีกตัญญู แต่สังคมกลับเร่ิมซุบซิบนิทากันว่า (ไอ้)ฟักสึกออกมาเพื่อเอาแม่เลี้ยงเป็นเมีย  หลังจากนั้นก็จะมีกองสอดแนมไปแอบดูว่าเป็นจริงไหม ซึ่งภาพที่เห็นก็คือแม่เลี้ยงมุดมุ้งทิดฟัก (อย่าลืมว่าแม่เลี่ยงไม่เต็มเต็งนะครับ) แต่ด้วยทิดฟักไม่ได้คิดเรื่องชู้สาว แม่ก็คือแม่ แม้ว่าจะเป็นแม่เลี้ยงก็ตาม จึงนำแม่เลี้ยงกับไปนอนที่มุ้งตัวเอง ขณะที่กองสอดแนมสรุปว่าสองคนย้ายมุ้งประกอบกิจกรรมกันทั้งคืน 

        เรื่องเข้าใจผิด คำพิพากษาของสังคม และการนินทาทิดฟักและแม่เลี้ยงเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์เลยครับ แต่เรื่องที่ผมสะเทือนใจที่สุดคือวันที่ทิดฟักรับจ้างไปดายหญ้าส่วนคนในหมู่บ้าน และแม่เลี้ยงทิดฟักตามไปปล้ำทิดฟักถึงสวนขณะกำลังทำงานอยู่ แม่เลี้ยงถอดผ้าถุงจะปล้ำทิดฟัก ขณะที่ทิดฟักพยายามจะใส่ผ้าถุงให้แม่เลี้ยง อีลุงตุงนังกันพักใหญ่กว่าเรื่องจะจบลง ขณะที่ผู้พิพากษาสังคมลือกันให้แซดว่า “(ไอ้)ฟักปล้ำแม่เลี้ยงกลางวันแสก ๆ” ผลการพิพากษาของสังคมวันนี้ทำให้ไม่มีใครจ้างทิดฟักอีกเลย ทิดฟักจึงต้องหันหน้าพึงสุรา และสังคมก็ซำ้เติมว่า “นั่นไง มันเลวสมบูรณ์แบบจริง” 

        คำพิษากษาเช่นนี้ในสังคมไทยนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในนิยายเท่านั้น แต่ละบาดกันทั่วไป โดยเฉพาะในสื่อออนไลน์ที่ใครจะพิพากษาใครก็ทำได้ที่ปลายนิ้วมือ แม้จะไม่รู้จักกัน หรือเกี่ยวข้องกับผู้พิพากษาสังคมดังกล่าวก็ตาม 

        แล้วเราจะใช้บทเรียนนี้ให้เป็นประโยชน์ในการอยู่ร่วมกันของคนไทยได้อย่างไร นี่คือโจทย์สำคัญทุกวันนี้ครับ 

 

สมาน อัศวภูมิ 

24 มิถุนายน 2565

          

หมายเลขบันทึก: 703191เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2022 12:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2022 12:13 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท