๑,๒๗๗ เยียวยา...โรคไม่รู้หนังสือ


ผมต้องการคืนความสุขให้แก่เด็กกลุ่มนี้ ไม่ทิ้งเขาไว้ข้างหลัง ถึงแม้โรงเรียนจะไม่อยู่ในภาวะที่จะต้อง “พาน้องกลับบ้าน” เพื่อมอบโอกาสไม่ให้เด็กออกกลางคัน แต่เด็กเหล่านี้อยู่กับเราทุกวัน...คำถามคือ..เราได้ให้โอกาสพวกเขา เราได้เติมเต็มศักยภาพให้เด็กกลุ่มนี้ เต็มที่แล้วหรือยัง?

          ผมมองไปรอบๆบริเวณหน้าอาคารเรียน กวาดสายตาไปตลอดแนวของห้องพักครู มาหยุดลงตรงเด็กกลุ่มหนึ่งที่อยู่ตรงหน้า ทำให้ผมคิดเปรียบเปรยไปว่า โรงเรียนก็คล้ายกับโรงพยาบาลหรือคลินิคแห่งหนึ่งเหมือนกัน

          ในหลายวันที่ผ่านมา ซึ่งเริ่มต้นจากการเปิดเรียนวันแรก การสำรวจตรวจสอบและเฝ้าสังเกต ตลอดจนเก็บข้อมูลของผมพบว่า ในโรงเรียนมีเด็กพิเศษรวมกันทุกชั้น มากกว่า ๑๐ คน ดูเหมือนจะไม่มาก แต่ก็เป็นปัญหาที่ไม่อาจละเลยได้

          “เด็กพิเศษ”กลุ่มนี้ มิใช่เด็กพิการ มิใช่เด็กที่มีปัญหาทางอวัยวะหรือสมอง แต่พวกเขาไม่ตอบสนองการเรียนรู้ใดๆ ในทางวิชาการเรียกว่า..เรียนรู้ช้า..

          ส่งผลให้อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ หรือได้บ้าง แต่ก็ไม่ตรงตามศักยภาพ หรือความน่าจะเป็นในระดับชั้นนั้นๆ ผลพวงที่ตามมาก็คือเรียนไม่ทันเพื่อน ขาดความกระตือรือร้น ไม่สนใจที่จะร่วมกิจกรรม ไม่ทำการบ้าน ขาดปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ มาเรียนทุกวันแต่ไม่ได้อะไรเลย

          ผมรู้ปัญหาและเข้าใจสาเหตุเป็นอย่างดี เพราะเราไม่มีการตกซ้ำชั้น เราขาดการสอนซ่อมเสริมที่ต่อเนื่องและเข้มแข็ง โดยเฉพาะวิชาภาษาไทยในขั้นพื้นฐานหรือเริ่มต้น การอ่านสะกดตัวผสมคำ ครูต้องเน้นย้ำพยัญชนะและสระเดี่ยวสระผสมให้เด็กแม่นยำเสียก่อน

          กระบวนการสอนดังกล่าว ขาดสะบั้นอย่างสิ้นเชิง เมื่อสถานการณ์โควิดตลอดปี ๒๕๖๓ – ๒๕๖๔ ชี้ให้เห็นชะตากรรมของการเรียนการสอนอย่างไม่ต้องสงสัย นี่คือ..ภาพเชิงประจักษ์ของโรงเรียน..ที่อยู่ตรงหน้าผม

          เรามักจะโยนที่มาของปัญหาไปให้โควิดอยู่เสมอ แต่ในทางสังคม การอบรมเลี้ยงดูและปัญหาเศรษฐกิจครัวเรือน ล้วนเป็นต้นเหตุด้วยทั้งสิ้น ซึ่งไม่นับรวมการวินิจฉัยของแพทย์ ฟันธงลงมาว่าเด็กบางคนของเรามีความบกพร่องทางสติปัญญา เรียนอะไรก็ได้ แต่ไม่มีความรู้ความจำ ครูต้องสอนซ้ำๆหลายครั้ง

          ไม่มีเวลาอีกแล้ว ที่จะมากล่าวโทษโกรธเคือง ในทุกสาเหตุ ทั้งตัวเด็กเองและสิ่งแวดล้อมที่พวกเขาประสบอยู่ เพราะปัญหาซ้ำซากและท้าทาย ย่อมเป็นเป้าหมายสำคัญให้โรงเรียนต้องรีบเร่งแก้ไข ก่อนที่จะสายเกินแก้..

          หากเด็กยังไม่มีความสุขในการเรียนรู้ ไม่ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าภาคภูมิใจ ในแต่ละวันที่มาโรงเรียน อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อเลื่อนชั้นขึ้นไป หรือเมื่อจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน

          ครูและโรงเรียนจะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด แต่เด็กและครอบครัวตลอดจนสังคมไทย จะได้รับอานิสงค์เต็มๆ “คุณภาพ”ของคนไทยจะเป็นอย่างไร ไม่ยากเลยที่จะคาดเดา เพราะอนาคตเด็กกับอนาคตชาติ..เป็นเรื่องที่สอดคล้องต้องกันทั้งสิ้น

          ผมไม่ได้คาดหวังให้เด็กกลุ่มนี้ ถึงขนาดต้องอ่านคล่องเขียนคล่อง ผมต้องการเยียวยาให้พวกเขารู้หนังสือ อ่านคำพื้นฐานง่ายๆได้ แม้จะต้องกลับไปทบทวนและเรียนรู้พยัญชนะและสระ อ่านคำและประโยคสั้นๆ จากหนังสือเรียนของรุ่นน้องก็ตาม

          ผมต้องการคืนความสุขให้แก่เด็กกลุ่มนี้ ไม่ทิ้งเขาไว้ข้างหลัง ถึงแม้โรงเรียนจะไม่อยู่ในภาวะที่จะต้อง “พาน้องกลับบ้าน” เพื่อมอบโอกาสไม่ให้เด็กออกกลางคัน แต่เด็กเหล่านี้อยู่กับเราทุกวัน...คำถามคือ..เราได้ให้โอกาสพวกเขา เราได้เติมเต็มศักยภาพให้เด็กกลุ่มนี้ เต็มที่แล้วหรือยัง?

          จึงเป็นหน้าที่ของครูและผู้เกี่ยวข้องทางการศึกษาทุกฝ่าย ต้องกลับมาคิดทบทวน เพื่อหันมาร่วมมือกัน..เยียวยา.. โรคไม่รู้หนังสือต่อไป

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๕

       

 

หมายเลขบันทึก: 702786เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2022 13:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2022 14:00 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท