"ซอ เพลงพื้นบ้านล้านนา"


**ความเป็นมาของ “เพลงซอล้านนา”

    *เริ่มแรกนั้น การซอพื้นเมืองมีมาตั้งแต่ยุคใดสมัยใด ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัด แต่เท่าที่ได้สอบถามจากคนรุ่นเก่า ก็ปรากฏพบว่ามีการแสดงซอขึ้นในสมัยพญาอโศก ซึ่งมีหลักฐานอักษรธรรมโบราณได้กล่าวถึงการซอพื้นเมืองในงานเฉลิมฉลองพระวิหารในสมัยของพญาอโศก จึงอาจจะกล่าวได้ว่า ซอพื้นเมืองนั้นมีมาเมื่อหลายร้อยปีมาแล้วการซอเป็นการขับขานของคนล้านนาที่มีอยู่คู่กับสังคมและวิถีชีวิตมาช้านาน ซึ่งหากจะค้นหาถึงต้นกำเนิดว่า “เพลงซอ” เกิดขึ้นในยุคสมัยใด ก็ยังไม่สามารถระบุวันเวลาได้แน่ชัด แต่จากหลักฐานในหนังสือลิลิตพระลอก็พบว่ามีมาตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว โดยเป็นการซอ
“ประกาศความงามของพระเพื่อน พระแพง”

 

 

    *ในปัจจุบันได้แบ่งประเภทของการซอออกเป็นหลายประเภทและจะเรียกชื่อของแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน การนำมาใช้งานก็จะต่างกันด้วย บุญศรี รัตนัง ศิลปินซอพื้นเมืองซึ่งได้อนุรักษ์การซอเอาไว้กล่าวว่า การซอของคนพื้นเมืองนั้นแบ่งออกเป็นหลายทำนอง แต่ละทำนองก็จะใช้ซอในโอกาสที่ต่างกัน เช่น ทำนองตั้งเชียงใหม่ จะใช้ซอเป็นบทแรกของการซอ นอกจากนั้นก็จะมีทำนองจะปุ ทำนองระไม้ ทำนองอือ ทำนองเจ้าสุวัฒน์นางบัวคำและทำนองล่องน่าน เป็นต้น

 


  *ซอพื้นเมืองได้มีการพัฒนารูปแบบการแสดงไปจากอดีตอย่างมาก รูปแบบของการซอในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบด้วยกัน หากจะแบ่งรูปแบบของการซอในปัจจุบัน พบว่ามีด้วยกัน 2 รูปแบบคือ การซอแบบดั้งเดิมและการซอประยุกต์ เช่นในอดีตเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการซอแต่เดิมมีเพียงปี่อย่างเดียว ต่อมาในช่วงปี พ.ศ.2520 ได้เริ่มมีการนำซึงเข้ามาใช้แทนปี่แม่ จากรูปแบบของการซอเข้าปี่ธรรมดาก็เริ่มมีซอเข้าซึง ขณะเดียวกันในยุคนั้นเครื่องขยายเสียงเริ่มแพร่หลายมากขึ้น ช่างซอจึงเริ่มมีการใช้ไมค์โครโฟนและเครื่องขยายเสียงในการซอ ตั้งแต่นั้นมาเมื่อมีการซอที่ไหนช่างซอก็นิยมใช้เครื่องขยายเสียงและไมค์โครโฟนในการซอมาจนถึงปัจจุบัน

    *ต่อมาก็เริ่มมีการซออีกรูปแบบหนึ่งคือ “ละครซอ” เรื่องแรกที่นำมาทำเป็นละครซอเมื่อยุค 20 กว่าปีก่อนคือ ซอเรื่องน้ำตาเมียหลวง แอ่วสาวเมืองพร้าว ซอก้าระแหง โดยพ่อครูบุญศรี สันเหมืองและแม่บัวซอน เมืองพร้าว

   *นอกจากนั้นเครื่องดนตรีสำคัญที่ใช้ประกอบการซอของเชียงใหม่ ได้แก่ ปี่และซึง ซึ่งเครื่องดนตรีทั้งสองนับว่ามีความสำคัญคู่กับการซอมาโดยตลอด ทำให้การซอของช่างซอราบรื่น สนุกสนาน บางครั้งยังพบว่าหากช่างปี่ไม่สามารถบรรเลงหรือประสานเสียงปี่ให้เข้ากันได้ การซอก็จะเกิดความติดขัด ปี่ที่ใช้ในการซอนั้นจะใช้เป็นชุดเรียกว่า “ปี่จุม” บรรเลงร่วมกันเป็นวงเรียก “วงปี่จุม” ในสมัยก่อนจะมีปี่ที่เล่น 3 เล่มคือ ปี่ก้อย ปี่กลางและปี่แม่ แต่ในปัจจุบันวงปี่จุมที่ร่วมกับคณะซอประกอบด้วยเครื่องดนตรี 4 ชิ้น คือ ปี่ก้อย ปี่กลาง ปี่ตัดและซึง"

 

**ตัวอย่าง.."ซอ เพลงพื้นบ้านล้านนา"

คำสำคัญ (Tags): #"ซอล้านนา"
หมายเลขบันทึก: 702719เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2022 08:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2022 06:06 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท