พระพุทธศาสนากับการพัฒนาประเทศไทยอย่างสมดุล โดย ศ. นพ. ประเวศ วะสี


 

พระพุทธศาสนากับการพัฒนาประเทศไทยอย่างสมดุล

 

โดย

 

ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเวศ วะสี

ประธานกิตติมศักดิ์มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ

 

โลกวิกฤตเพราะเสียสมดุลอย่างรุนแรง

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาเพื่อความสมดุล

 

 

 

 

 

จัดพิมพ์โดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

(ควรอ่านคู่กับ “คู่มือพัฒนาอำเภออย่างบูรณาการ สู่ แผ่นดินศานติสุข”)
 

 

ภาค ๑

ความสมดุลคืออนาคตของโลก


 

๑.

ความสมดุล

โลกวิกฤตเพราะเสียสมดุลอย่างรุนแรง

 

ความสมดุล ทำให้เกิดความสงบ ความเป็นปรกติ และความยั่งยืน เพราะสภาวะสมดุล ใช้พลังงานเพื่อดำรงตนเองน้อยที่สุด

         ความไม่สมดุล ทำให้เกิดความปั่นป่วน วุ่นวาย รุนแรง และไม่ยั่งยืน เพราะสภาวะที่ปั่นป่วน วุ่นวาย รุนแรง ต้องใช้พลังงานในการดำรงสภาวะมาก จึงไม่เสถียร

         ระบบร่างกายที่สมดุล จะมีสุขภาพดี และอายุยืน

         ความเจ็บป่วยทุกชนิดคือการเสียสมดุล ถ้าเสียมากก็ป่วยมาก และชีวิตไม่ยั่งยืน

         ความสมดุลเกิดจากการเชื่อมโยงส่วนต่างๆ ของระบบเป็นองค์รวมเดียวกัน ที่เรียกว่า บูรณาการ

         เซลล์และอวัยวะในร่างกายเชื่อมโยงสู่องค์รวมเดียวกัน ทำให้ทั้งร่างกายมีความสมดุล จึงปรกติสุข หรือสุขภาพดี และอายุยืน เซลล์มะเร็งเป็นตัวอย่างของเซลล์ที่สูญสำนึกองค์รวม มันทำตัวแยกส่วนเป็นเอกเทศ ไม่คำนึงถึงองค์รวม ทำให้ร่างกายเสียสมดุล จึงป่วย และชีวิตไม่ยั่งยืน

         โดยสรุป การคิดและทำแบบแยกส่วนทำให้เสียสมดุล

         ขณะนี้โลกเสียสมดุลอย่างรุนแรง เพราะเต็มไปด้วยการคิด และทำอย่างแยกส่วน

         จะหายวิกฤตต่อเมื่อ คิดและพัฒนาอย่างบูรณาการ


 

 

๒.

อารยธรรมโลกที่นำโดยตะวันตกวิกฤตเพราะวิธีคิด

 

         ขณะนี้โลกเกิดวิกฤตครั้งใหญ่ และไม่พบทางออก รวมทั้งประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน เพราะเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่วิกฤตนั้นด้วย

            พระพุทธศาสนาเป็นทุนอันยิ่งใหญ่เพื่อการพัฒนา จึงควรร่วมกันพิจารณาวิถีทางที่พระสงฆ์จะมีบทบาทในการแก้วิกฤต

         อารยธรรมที่แผ่ไปทั่วโลกในปัจจุบัน เกิดจากอิทธิพลวิธีคิดของชาวยุโรป ซึ่งเริ่มต้นเมื่อประมาณ ๔ - ๕ ร้อยปีที่ผ่านมา เมื่อชาวยุโรปค้นพบการสร้างความรู้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มีความคมชัดลึก เมื่อเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้เป็นเทคโนโลยี ก็ได้เทคโนโลยีที่ทรงพลังมาก เช่น เครื่องจักร และอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ทำให้เกิดอุตสาหกรรมขึ้นทางหนึ่ง กับอีกทางหนึ่งเกิดอำนาจยิงที่ยิ่งใหญ่อย่างที่มนุษย์ไม่เคยมีมาก่อน ชาวยุโรปได้ใช้อำนาจที่พบใหม่แย่งชิงดินแดนและทรัพยากรของชนเผ่าและประเทศต่าง ๆ ไปทุกทวีป ทำให้ยุโรปมั่งคั่งและมีอำนาจ ทั้งอำนาจทางความรู้ และอำนาจทางการรบ ยิ่งกว่าประเทศใด ๆ บนพื้นพิภพ และได้ใช้อำนาจนี้ขยายความคิดและระบบครอบคลุมไปทั้งโลก โลกซึ่งเดิมมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและอารยธรรม จึงกลายเป็นอารยธรรมเดียวกันทั้งโลก ที่เรียกว่า อารยธรรมตะวันตก (Western civilization)

            อารยธรรมนี้ได้สร้างความมหัศจรรย์ทางวัตถุและเทคโนโลยีต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับอะตอมไปจนถึงระดับจักรวาล แม้มีความเจริญและนวัตกรรมต่าง ๆ อย่างเหลือประมาณ ผลรวมที่เกิดขึ้นเชิงประจักษ์คือ โลกเสียสมดุลอย่างรุนแรง เช่น

  1. มีจำนวนมนุษย์ล้นโลกไม่สมดุลกับสิ่งมีชีวิตอื่น และเป็นเหตุแห่งการสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์เป็นแสน ๆ สปีชีส์ ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นมรดกของโลก เมื่อสูญพันธุ์แล้วก็สูญเลย ไม่สามารถกู้กลับคืน
  2. สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายจนมีผู้คิดว่าธรรมชาติสิ้นสุดแล้ว (The End of Nature) ธรรมชาติเป็นมารดาของสรรพสิ่ง มาตุฆาตเป็นอนันตริยกรรม 

           วิถีชีวิตของมวลมนุษย์ปล่อยมลภาวะสู่แผ่นดิน ลำน้ำ และอากาศ รวมไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงของชั้นบรรยากาศที่ทำให้โลกร้อน เกิดมหันตภัยต่าง ๆ 

  1. ทางเศรษฐกิจและสังคมเกิดการเสียสมดุลอย่างรุนแรง คือ ความเหลื่อมล้ำสุด ๆ อันนำไปสู่สิ่งเลวร้ายตามมาเกือบทุกมิติ รวมทั้งทำให้ระบบการเมืองทำหน้าที่พิการ (Dysfunction) 
  2. ตัวมนุษย์เองก็เสียสมดุลอย่างรุนแรง เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล การไร้ความสุข ความรู้สึกหมดหวัง ซึมเศร้า ใช้ยาเสพติด ติดยาแก้ปวด ฆ่าตัวตาย ฆ่าคนอื่นตายโดยไม่มีเหตุผล เช่น กราดยิงสาธารณะ
  3. การเสียสมดุลทำให้วุ่นวาย ปั่นป่วน รุนแรง วิกฤต เป็นโลกแห่งความรุนแรง มีสงครามน้อยใหญ่ รบกันทั้งโลกก็มี ทิ้งระเบิดปรมาณูใส่เมืองทั้งเมือง ค้าอาวุธ สะสมหัวรบนิวเคลียร์จำนวนมาก ที่สามารถทำลายโลกทั้งใบได้หลายเที่ยว

         มนุษย์ฉลาดกว่าสัตว์ แต่ทำไมไม่สามารถสร้างระบบการอยู่ร่วมกันด้วยสันติ คงจะมีอะไรผิดพลาดไปอย่างฉกรรจ์


 

 

๓.

วิธีคิดของตะวันตก

 

          วิธีคิดที่ผิดพลาดเป็นธรรมชาติของมนุษย์ โดยทั่วไปเนื่องจาก “อวิชชา” 

          แต่เนื่องจากชาวตะวันตกมีอำนาจและอิทธิพล และมีวิธีคิดทำนองนี้รุนแรงกว่าคนพื้นเมืองทั่ว ๆ ไป จึงเรียกว่า วิธีคิดตะวันตก

          คนตะวันตก      คิดแบบตายตัว

                               เมื่อตายตัวก็แยกส่วน

                               เมื่อแยกส่วนก็แบ่งข้างแบ่งขั้ว

                               เมื่อแบ่งข้างแบ่งขั้วก็ขัดแย้งและรุนแรง

ยุโรปจึงเต็มไปด้วยสงคราม และขยายความรุนแรงออกไป สงครามโลกทั้ง ๒ ครั้ง ก็เริ่มจายุโรป

การคิดและทำแบบแยกส่วน นำไปสู่การเสียสมดุลและวิกฤต

การคิดแบบตายตัวและแยกส่วน ไม่สอดคล้องกับความจริงตามธรรมชาติ


 

 

๔.

การคิดแบบพุทธมีฐานอยู่ในความจริงตามธรรมชาติ

 

         ธรรมชาติล้วนเปลี่ยนแปลง ไม่ตายตัว นั่นคือ อนิจจัง

         เปลี่ยนตามเหตุปัจจัย หรือความเป็นเหตุเป็นผล นั่นคือที่เรียกว่า อิททัปปัจจยตา

         ทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งรูปธรรมและนามธรรม ล้วนเป็นกระแสของเหตุปัจจัยที่หนุนเนื่อง ย้อนกลับไปไม่มีที่สิ้นสุด และต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีส่วนสุดทั้งสอง (Extreme) คือไม่สุดโต่ง เป็นทางสายกลาง

              ไม่มีอะไรดำรงอยู่อย่างแยกส่วน เป็นเอกเทศ โดยไม่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับสิ่งอื่นอย่างเป็น ปัจจยาการระหว่างกัน

         ฉะนั้น จึงไม่แยกส่วน แยกข้างแยกขั้ว ไม่มีตัวตนโดยตัวของตัวเอง มีแต่ความเป็นกระแสของเหตุปัจจัย หรือความเป็นเหตุเป็นผล

         มนุษย์ เพราะความไม่รู้ (อวิชชา) มีความยึดมั่นในตัวตน ทำให้ขัดแย้งกับความจริงดังกล่าวข้างต้น ยิ่งเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางมากเท่าไร ยิ่งขัดแย้ง ทั้งในตัวเอง กับคนอื่น และสิ่งอื่น ทำให้เกิดความทุกข์และการก่อทุกข์

         โลกเป็นเช่นนี้ รวมทั้งโลกที่นำในตะวันตก

         ทางพุทธไม่ได้มีแต่ทฤษฎีที่ว่าด้วยกฎของธรรมชาติ แต่มีวิธีปฏิบัติให้เป็นไปตากฏของธรรมชาติ เพื่อลดความยึดมั่นในตัวคน หรือการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง หลักพุทธศึกษา ๓ ประการ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ล้วนเป็นไปเพื่อลดอหังการ และมมังการ ทำให้เกิดความสงบเย็น และการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล หรือสันติภาพ

         เมื่อวิถีทางตะวันตกได้ทำลายโลกมาถึงทางตันแล้ว

         สังคมไทยมีพื้นฐานทางพุทธอยู่แล้ว เป็นจุดแข็งของประเทศไทย คนไทยควรจะตระหนักรู้ว่าวิถีตะวันตกไม่ว่าเขาจะเก่งอย่างไร มีปัญหามาก ไปต่อไปไม่ได้ด้วยวิถีอย่างเคย ต้องหันมาทำความเข้าใจวิถีพุทธอย่างถ่องแท้ และสร้างระบบการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล ทั้งในประเทศไทยและขยายไปในโลกสากล

         และเนื่องจากกฎของธรรมชาติเป็นสากล ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่ต้องใช้คำว่าพุทธ ก็สามารถเข้าถึงความจริงสากลได้ ฉะนั้นมนุษย์จึงสามารถร่วมมือกันได้ทั่วโลก โดยใช้ความจริง (ตามธรรมชาติ)

         “ความจริงมีชัยเหนือทุกสิ่ง” - จารึกเสาพระเจ้าอโศก


 

 

ภาค ๒

พระพุทธศาสนากับการพัฒนาอย่างสมดุล


 

 

๑.

พระพุทธศาสนา คือ ทุนอันยิ่งใหญ่เพื่อการพัฒนาอย่างสมดุล

 

         พระพุทธศาสนามีความมุ่งหมายเพื่อเสริมสร้างชีวิตและการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล จึงเหมาะที่จะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาอย่างสมดุล เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตโลกที่เสียสมดุลอย่างรุนแรง

         ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ แม้จะหันไปสมาทานวิธีคิดและการพัฒนาแบบตะวันตก จะด้วยถูกบังคับด้วยกระแสโลก หรือเพราะเห็นดีเห็นงามก็ตาม แต่รากเหง้าของความเป็นพุทธก็ยังฝังอยู่ในแผ่นดินไทย ซึ่งอาจทำให้งอกงามกลับมาใหม่และดีกว่าเดิมได้ โดยเฉพาะเมื่อโลกถึงทางตันด้วยวิธีคิดและการพัฒนาแบบเดิม

ถ้าจะใช้คำว่าทรัพยากร ทรัพยากรทางพระพุทธศาสนาก็มีมากมายมหาศาล คือ มีวัดกระจายอยู่ทั่วประเทศประมาณ ๓๐,๐๐๐ วัด มีพระสงฆ์ประมาณ ๒๕๐,๐๐๐ รูป มีมหาวิทยาลัยสงฆ์ ๒ แห่ง มีประชาชนชาวพุทธกว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์ของประชากร ที่มีศรัทธาทำบุญด้วยเงินทองข้าวของจำนวนมหาศาล ที่สำคัญคือมีพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นปัญญาสูงสุด

คงต้องตั้งคำถามว่าทำไมทรัพยากรทางพระพุทธศาสนาอันมหาศาลเหล่านี้ จึงไม่สามารถพัฒนาประเทศไทยให้เจริญรุ่งเรืองหายวิกฤต

คำตอบหนึ่ง คงเป็นเพราะถูกกระแสการพัฒนาแบบตะวันตกพัดพาอย่างรุนแรง จนคนไทยและสถาบันต่าง ๆ หันไปสมาทานวิธีคิดและพัฒนาแบบตะวันตก

อีกคำตอบหนึ่ง น่าจะเป็นความอ่อนแอในสังคมไทยเอง


 

 

๒.

การคิดเชิงระบบและการจัดการ

กุญแจในการสร้างพลังของความสำเร็จ

 

ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยอ่อนแอ คือ ขาดสมรรถนะในการคิดเชิงระบบและการจัดการ แต่คิดเชิงกรรมส่วนบุคคลและคิดเชิงเทคนิคหรือวิชาการเท่านั้น

แต่ความเป็นจริง คือ โครงสร้างและระบบเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดพฤติกรรมของบุคคลและขององค์กร การจัดการเป็นปัญญาอีกประเภทหนึ่งอาจเรียกว่า อิทธิปัญญาหรือปัญญาที่ทำให้สำเร็จ (อิทธิ = สำเร็จ) การจัดการต้องสร้างและใช้ความรู้เชื่อมโยงระบบครบวงจร อย่างเช่น

  1. ถ้าเรามีปูน ทราย กระเบื้อง ไม้ เหล็ก ถ้าเราทำเป็นส่วน ๆ ต่อให้พัฒนาส่วนเหล่านั้นให้ดีวิเศษอย่างไร เราก็ยังจะไม่มีบ้านอยู่ ถ้าไม่ออกแบบบ้าน ซึ่งเป็นระบบและโครงสร้าง แล้วเอาชิ้นส่วนต่าง ๆ เหล่านั้น เข้ามาประกอบอย่างลงตัว 

           การพัฒนา ปูน ทราย กระเบื้อง คือ การคิดและทำเชิงเทคนิค 

การออกแบบระบบ และโครงสร้างของบ้าน แล้วเอาส่วนประกอบเข้ามาประกอบเป็นองค์รวม คือ บ้าน องค์รวมเกิดคุณสมบัติใหม่อันมหัศจรรย์ คือ อยู่อาศัยได้ และอยู่สบาย

  1. ถ้าเราต้องการอะไรที่บินได้ ก็ออกแบบระบบและโครงสร้างของเครื่องบิน และเอาชิ้นส่วนซึ่งมีหลายหมื่นชิ้นมาประกอบให้สมบูรณ์ เมื่อบูรณาการกันสมบูรณ์เป็นองค์รวม คือ เครื่องบิน คุณสมบัติใหม่อันมหัศจรรย์ คือ บินได้ 

           องค์รวมบินได้ แต่ชิ้นส่วนต่าง ๆ เป็นหมื่น ๆ ชิ้น ไม่มีชิ้นใดบินได้เลย 

           เราพัฒนาแบบแยกส่วน เป็นส่วน ๆ หรือชิ้น ๆ เราจึงไม่เคยมีองค์รวมประเทศไทยที่บินได้ ทั้ง ๆ ที่เรามีทรัพยากรเพื่อการพัฒนามากมาย รวมทั้งพระพุทธศาสนาด้วย

 

ฉะนั้น กุญแจจึงอยู่ที่การคิดเชิงระบบและการจัดการ มีการออกแบบระบบและโครงสร้างประเทศไทย ที่เป็นแผ่นดินศานติสุข และเอาชิ้นส่วนต่าง ๆ หรือทรัพยากรเข้ามาประกอบโครงสร้างให้สมบูรณ์ เป็นองค์รวมประเทศไทยที่บินได้ คือ มีคุณสมบัติใหม่อันมหัศจรรย์ เช่น เป็นแผ่นดินศานติสุข หรือประเทศไทยที่สมดุล
 

๓.

พระพุทธศาสนากับ “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา”

 

สังคมปัจจุบันต่างจากสังคมโบราณ ที่เต็มไปด้วยระบบที่ซับซ้อนและยาก เป็นระบบความซับซ้อน (Complexity system) ในระบบอย่างนี้การใช้อำนาจไม่ได้ผล การใช้อำนาจรัฐจึงได้ผลน้อยหรือไม่ได้ผล

เราได้ค้นพบวิธีทำงานที่เรียกว่า “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” หมายถึง เขยื้อนเรื่องที่ยาก ๆ ได้ถ้ามีองค์ประกอบ ๓ อย่างเข้ามาบรรจบกันเป็นรูปสามเหลี่ยม (ตามรูป) กล่าวคือ

  1. การสร้างความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ ถ้าปราศจากความรู้จะเขยื้อนเรื่องยากก็ไม่ได้
  2. การขับเคลื่อนสังคม คือ สังคมเข้ามาสนใจ เรียนรู้ เคลื่อนไหว สนับสนุน
  3. อำนาจรัฐ ระดับและประเภทต่าง ๆ สุดแต่ประเด็น

ทั้ง ๓ นี้ อย่างใดอย่างหนึ่งอย่างเดียวก็ไม่ได้ผล หรือ แม้ ๒ อย่าง ก็ยังไม่ได้ผล แต่ถ้าบรรจบครบ ๓ เมื่อใด จะมีพลังขับเคลื่อนเรื่องยาก ๆ ไปสู่ความสำเร็จ

อำนาจรัฐ เช่น การเมือง หรือคณะสงฆ์ ไม่ว่าจะมีสมรรถนะมากน้อยเพียงใด ถ้ามีอีก ๒ องค์ประกอบ คือ การสร้างความรู้และการเคลื่อนไหวสังคม ก็สามารถทำเรื่องดี ๆ ให้สำเร็จได้

เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปรอว่าต้องปฏิรูปการเมืองเสียก่อน หรือปฏิรูปการบริหารคณะสงฆ์เสียก่อน จึงจะสามารถทำเรื่องดี ๆ ได้ ซึ่งจะเป็นการรอที่สูญเปล่า ลงมือจัดการพัฒนาด้วย “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” ได้เลย

ในการขับเคลื่อนเรื่องพระพุทธศาสนากับการพัฒนาประเทศไทยอย่างสมดุล “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” ประกอบด้วย

  1. การสร้างความรู้ ควรเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่ง ซึ่งเป็นที่รวมของปัญญาชนชาวพุทธจำนวนมาก ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล สร้างความรู้ที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อน พัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสม เพื่อพัฒนากำลังคนที่เชื่อมโยงกับการปฏิบัติจริง และเชื่อมโยงกับนโยบาย (องค์กรรัฐในข้อ ๓)
  2. การขับเคลื่อนสังคม สังคมมีทั้งสังคมข้างบน และสังคมข้างล่าง คือ ชุมชนท้องถิ่น ต้องมีการสื่อสารอย่างเข้มข้นทุกวิถีทาง ให้สังคมเข้าใจเห็นคุณค่าและร่วมขับเคลื่อน
  3. องค์กรรัฐ ได้แก่ องค์กรปกครองคณะสงฆ์ ตั้งแต่มหาเถรสมาคม หน ภาค จังหวัด อำเภอ ตำบล และวัด กับองค์กรทางราชการ เช่น สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรรมการศาสนา และอื่น ๆ องค์กรรัฐทำหน้าที่สนับสนุนทางนโยบาย

 

ถ้าทั้ง ๓ คือ มหาวิทยาลัยสงฆ์ สังคมเข้มแข็ง และองค์กรนโยบาย ทำงานเชื่อมโยงกันไปมา (ไม่ใช่ one way) ด้วยการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ จะมีพลังมหาศาล


 

 

๔.

มหาวิทยาลัยสงฆ์กับการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างสมดุล

 

มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่ง คือ มหามกุฏราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นที่รวมของปัญญาชนชาวพุทธจำนวนมาก มีบารมีจะเชิญใคร หรือองค์กรใดมาร่วมอีกก็ได้ สามารถเข้าถึงแหล่งความรู้อะไรก็ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด จึงมีพลังมากที่จะประสานการพัฒนาอย่างสมดุล

โดยที่วิกฤตการณ์โลก คือ การเสียสมดุล การพัฒนาอย่างสมดุลจึงเป็นระเบียบวาระใหญ่ที่สุดของโลกและของไทย

เครื่องมือของมหาวิทยาลัยสงฆ์ คือ การจัดหลักสูตรพระพุทธศาสนากับการพัฒนาอย่างสมดุล เป็นหลักสูตรกลางหรือหลักสูตรรวม การพัฒนาอย่างสมดุล คือ การพัฒนาอย่างบูรณาการ การพัฒนาอย่างบูรณาการต้องเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง พื้นที่ คือ หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด

วัดกระจายอยู่ในพื้นที่อย่างทั่วถึง มีประมาณ ๔ - ๕ วัดต่อตำบล หลักสูตรควรส่งพระนิสิตไปปฏิบัติการ เชื่อมโยงวัดกับสภาผู้นำชุมชนระดับหมู่บ้าน[*] การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติในสถานการณ์จริง ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ระดับตำบล และระดับอำเภอ จะทำได้ง่ายและทุกคนเป็นคนฉลาดหมด อำเภอทั้งอำเภอจะกลายเป็นมหาวิทยาลัยในรูปใหม่ อาจเรียกว่า มหาวิชชาลัยอำเภอ ซึ่งควรมีทุกอำเภอทั่วประเทศ ๘๐๐ กว่าอำเภอ มหาวิชชาลัยอำเภอ ๘๐๐ แห่ง จะเป็นมหาวิชชาลัยแห่งการเรียนรู้ร่วมกันของคนทั้งประเทศ ในการสร้างการพัฒนาอย่างบูรณาการ หรือการพัฒนาอย่างสมดุล

ถ้ามหาวิทยาลัยสงฆ์ร่วมพัฒนามหาวิชชาลัยอำเภอทั่วประเทศ ด้วยการวิจัยและพัฒนา และด้วยวิธีคิดทางสายกลางแบบพุทธ มหาวิชชาลัยอำเภอจะมีคุณภาพสูงขึ้นเรื่อย ๆ และพระสงฆ์ทั้งหมดก็ได้เรียนรู้และมีส่วนร่วมสร้างชุมชนเข้มแข็งให้เป็นฐานการพัฒนาประเทศ สร้างเสริมชีวิตที่สงบเย็นและสังคมที่สงบเย็น

จุดประสงค์ของพระพุทธศาสนา คือ การเสริมสร้างชีวิตที่สงบเย็น และสังคมที่สงบเย็น

ชีวิตและสังคมมีผลต่อกันและกัน

ชีวิตที่สงบเย็นเป็นปัจจัยสร้างสังคมสงบเย็น สังคมสงบเย็นเป็นปัจจัยให้ชีวิตสงบเย็น

ในสังคมที่ปั่นป่วน วุ่นวาย รุนแรง วิกฤต การบรรลุธรรมย่อมเป็นไปได้ยาก เช่น สังคมปัจจุบัน การจะพัฒนาจิตใจอย่างเดียวโดยไม่สร้างสังคมที่สงบเย็น จึงได้ผลน้อย ธรรมะของพระพุทธเจ้าจึงมุ่งสร้างทั้งสองอยู่คู่กันเหมือนคู่แฝด คือ ชีวิตสงบเย็น – สังคมสงบเย็น ไม่ได้แยกส่วน อาจเรียกว่า นิพพานคู่แฝด (Twin Nippan หรือ Twin Nirvana)

“การพัฒนาอำเภออย่างบูรณาการสู่แผ่นดินศานติสุข” เป็นการออกแบบสังคมศานติสุข หรือสังคมสงบเย็น เมื่อมี “แบบ” ก็เป็นการง่ายที่ทุกฝ่ายจะเข้าไปร่วมประกอบชิ้นส่วนของตน ๆ ตามโครงสร้างของแบบ เมื่อประกอบชิ้นส่วนครบ เหมือนประกอบโครงสร้างเครื่องบินครบ ก็เกิดองค์รวมคือเครื่องบินที่บินได้

ฉะนั้น ถ้ามหาวิทยาลัยสงฆ์พยายามทำความเข้าใจตาม “คู่มือพัฒนาอำเภออย่างบูรณาการสู่แผ่นดินศานติสุข” ที่เขียนไว้ให้ ก็จะเหมือนมีลายแทงที่ง่ายต่อการปฏิบัติไปสู่ความสำเร็จ คือ สร้างแผ่นดินศานติสุขหรือสังคมที่สงบเย็น และชีวิตของคนทั้งหมดสงบเย็น บรรลุคู่แฝดแห่งความสงบเย็น คือ “ชีวิตสงบเย็น – สังคมสงบเย็น” ตามวัตถุประสงค์ของพระพุทธศาสนา


 

 

๕.

การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติในสถานการณ์จริง

นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Transformation) ในทุกมิติ

 

พุทธศาสนา เป็นปัญญานิยมไม่ใช่อำนาจนิยม 

แต่โลกปัจจุบันเป็นอำนาจนิยม ทั้งอำนาจรัฐ อำนาจเงิน และอำนาจอื่นๆ ในสังคมเต็มไปด้วยโครงสร้างอำนาจที่สลับซับซ้อนถักทอกันแน่นหนาที่ทำให้ไม่เกิดความเป็นธรรม ในประวัติศาสตร์นานาประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน มีความพยายามต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมนานาวิธี แต่ไม่เคยสำเร็จ แต่มีการสูญเสียชีวิตของผู้คนจำนวนมาก และเพราะโครงสร้างดังกล่าว การสอนศีลธรรมจึงไม่ได้ผล

ควรสังเกตว่าการ “ออกแบบ” ระบบและโครงสร้างของการพัฒนาพื้นที่อย่างบูรณาการจากหมู่บ้านมาถึงตำบลและถึงอำเภอนั้นขับเคลื่อนด้วย “การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ” (Interactive learning through action) ในสถานการณ์จริง ระหว่างทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายอำนาจรัฐ ชุมชน ท้องถิ่น ฝ่ายการศึกษา ศาสนา ธุรกิจ และใครอื่นอีกก็ได้

ในเรื่องที่ยากและซับซ้อนการใช้อำนาจไม่ได้ผล การใช้ความรู้สำเร็จรูปก็ไม่ได้ผล ต้องใช้การเรียนรู้ในการปฏิบัติในสถานการณ์จริง ใครคนใดคนเดียวก็ทำให้สำเร็จไม่ได้ จึงต้องเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ

การต้องร่วมกันในการปฏิบัติให้สำเร็จ ทุกคนมีความสำคัญหมด จึงเกิดความเสมอภาคและภราดรภาพ ซึ่งสอดคล้องกับวิถีทางพุทธศาสนา กระบวนการนี้ยิ่งทำ

  • ยิ่งรักกันมากขึ้น 
  • ยิ่งเอื้ออาทรและจริงใจต่อกันมากขึ้น
  • ยิ่งเชื่อถือไว้วางใจกันมากขึ้น
  • ยิ่งฉลาดมากขึ้นและฉลาดร่วมกัน ถ้าเรียนรู้คนเดียวโดด ๆ จะยาก เลยดูเหมือนเป็นคนโง่ แต่เรียนรู้ร่วมกันง่ายและสนุก ทุกคนกลายเป็นคนเก่งหมด
  • เกิดปัญญาร่วม (Collective wisdom) นวัตกรรมและอัจฉริยภาพกลุ่ม 
  • ทั้งหมดทำให้เกิดพลังมหาศาล ที่ทำให้ฝ่าความยากไปสู่ความสำเร็จ
  • ทุกคนมีความสุข ประดุจบรรลุนิพพาน
  • อะไรที่ต้องการปรับเปลี่ยน ซึ่งตามปรกติทำไม่ได้ ก็จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เพราะความเชื่อถือไว้วางใจกัน และปัญญาร่วม

 

ทั้งหมดนี้คือการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Transformation) ในทุกมิติ ตั้งแต่ความรู้สึกนึกคิด จิตใจ ไปจนถึงสัมพันธภาพ และโครงสร้าง ซึ่งการปฏิรูป (Reform) ก็ดี การปฏิวัติ (Revolution) ก็ดี ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้

Transformationทำให้เกิดได้โดยปัญญา สันติ และความรัก ไม่ใช่โดยอำนาจ 

ปัญญา สันติ และความรัก เป็นวิถีของพุทธศาสนา


 

 

๖.

Transformation ของระบบพระพุทธศาสนา

 

มีความพยายามที่จะปฏิรูประบบพระพุทธศาสนาในประเทศไทย บางคนใช้คำว่าผ่าตัดพระพุทธศาสนา บางคนพูดถึงการปฏิวัติ ทั้งหมดไม่เคยสำเร็จ

แต่กระบวนการทำงานในเรื่อง พระพุทธศาสนากับการพัฒนาประเทศไทย ดังกล่าวข้างต้น กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ จะปรับเปลี่ยนสัมพันธภาพระหว่างองค์กรปกครอง คณะสงฆ์ วัด มหาวิทยาลัยสงฆ์ และสังคม หรือชุมชน ให้เป็นการเรียนรู้ร่วมกันแทนการใช้อำนาจ ทุกฝ่ายฉลาดขึ้นและฉลาดร่วมกัน

ที่เคยต้องการการปฏิรูปการเรียนรู้ของพระสงฆ์ แต่ไม่เคยทำสำเร็จและทำให้สำเร็จไม่ได้ ถ้าเป็นการเรียนรู้แบบแยกส่วน เช่นเดียวกับระบบการศึกษาของฆราวาส แต่ในการพัฒนาอย่างสมดุลที่กล่าวข้างต้น ใช้หลักบูรณาการเป็นการเรียนรู้แบบบูรณาการ ที่บูรณาการการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างทุกฝ่าย บูรณาการการเรียนรู้กับการปฏิบัติ และบูรณาการกับปฏิเวธใหญ่ คือ แผ่นดินศานติสุข หรือชีวิตสงบเย็นควบคู่กับสังคมสงบเย็น ในกระบวนการนี้จะเป็นการเรียนรู้ของพระสงฆ์ทั้งนั้นร่วมกับสังคม โดยต้องทำความเข้าใจหลักพุทธธรรมอย่างลึกซึ้งรอบด้าน ที่ประยุกต์ใช้เพื่อเสริมสร้างชีวิตที่สงบเย็นควบคู่กับสังคมที่สงบเย็น การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติระหว่างพระสงฆ์กับสังคม จะทำให้ง่าย คุณภาพสูง และทั่วถึง การได้ผลเป็นแผ่นดินศานติสุข จะทำให้คณะสงฆ์มีกำลังใจ และความสุขที่จะทำงานให้ดียิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ นับเป็นการปฏิรูปการเรียนรู้อย่างแท้จริงของพระสงฆ์และสังคม ดังที่กล่าวว่า อำเภอทั้งอำเภอจะกลายเป็นมหาวิทยาลัยในรูปใหม่ ที่เรียกว่ามหาวิชชาลัยอำเภอ ในแต่ละอำเภอมีวัดประมาณ ๕๐ วัด วัดและพระสงฆ์ทั้งหมดในอำเภอก็จะเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยอำเภอ

อนึ่งการที่วัดทำงานร่วมกับชุมชนจะมีอานิสงส์ใหญ่เกิดตามมา คือ วัดจะมีการจัดการที่ดีขึ้น ถ้าวัดมีการจัดการที่ดีจะเป็นพลังสร้างสรรค์อันมหาศาล สังคมรู้มานานแล้วว่าวัดต้องการการจัดการที่ดี แต่ไม่รู้ว่าจะทำได้อย่างไร

คำตอบอยู่ที่ วัดทำงานร่วมกับชุมชน

            ในชุมชนมีผู้นำตามธรรมชาติอยู่ประมาณ ๕๐ คน ต่อหมู่บ้าน และประมาณ ๕๐๐ คน ต่อตำบล ๕,๐๐๐ คน ต่ออำเภอ

ผู้นำตามธรรมชาติไม่มีการแต่งตั้งโดยทางราชการ แต่เกิดขึ้นเองจากการทำงานร่วมกัน แล้วเป็นที่ประจักษ์แก่คนทั้งชุมชนว่าคนบางคนมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

  1. เป็นคนเห็นแก่ส่วนรวม
  2. เป็นคนสุจริต
  3. เป็นคนมีปัญญารอบรู้
  4. เป็นคนสื่อสารเก่งเข้าใจง่ายทำให้ผู้คนมีความมุ่งมั่นร่วมกันเพื่อส่วนรวม
  5. เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป

นั่นคือคุณสมบัติ ๕ ประการ ของผู้นำตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นคุณภาพที่สูงกว่าผู้นำที่เป็นทางการโดยทั่ว ๆ ไป

ทั้งประเทศมีผู้นำตามธรรมชาติอยู่ประมาณ ๔ ล้านคน นับเป็นพลังมหาศาลที่ฐานของประเทศที่ชนชั้นนำไม่รู้จัก เพราะลอยตัวอยู่ข้างบนโดยไม่รู้ความจริงของแผ่นดินไทย

ฉะนั้นการที่พระสงฆ์จากทุกวัดและพระนิสิต ตลอดจนคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยสงฆ์ ทำงานร่วมกับชุมชน จะได้ร่วมงานกับผู้นำตามธรรมชาติในชุมชนซึ่งล้วนเป็นคนเก่งคนดี การที่พระสงฆ์และผู้นำตามธรรมชาติในชุมชนมีโอกาสเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ เพื่อพัฒนาพื้นที่อย่างบูรณาการเป็นการเรียนรู้ที่ประเสริฐยิ่งในอันจะนำไปสู่สิ่งดีงามต่าง ๆ

ความสนิทสนมใกล้ชิด ความเชื่อถือไว้วางใจกัน และปัญญาร่วมที่เกิดขึ้นระหว่างพระสงฆ์และผู้นำชุมชน จะนำไปสู่การที่ผู้นำชุมชนเหล่านั้นเข้ามาสนับสนุนการร่วมจัดการวัด ทำให้วัดทุกวัดมีการจัดการที่ดี เกิดพลังสร้างสรรค์อันมหาศาลทั้งแผ่นดิน

ทั้งหมดที่กล่าวมาและยังมิได้กล่าวแต่เข้าใจได้ จะเป็นการเปลี่ยนรูป (Transform) ระบบพระพุทธศาสนาด้วยความสุขความเต็มใจของทุกฝ่าย เพราะไม่ได้ทำด้วยอำนาจแต่ทำด้วยปัญญาและความรัก อันเป็นหลักการทางพุทธศาสนา ระบบพระพุทธศาสนาในประเทศไทยจะกลายเป็นพลังอันมหาศาลในการพัฒนาประเทศไทยอย่างสมดุล และจะแผ่กว้างไปในโลกสากลด้วย


 

 

๗.

สรุป

 

พระพุทธศาสนาเป็นปัญญานิยม ไม่ใช่อำนาจนิยม

โลกเต็มไปด้วยโครงสร้างอำนาจ เช่น คิดเชิงอำนาจ อำนาจรัฐ อำนาจอาวุธ อำนาจเงิน อำนาจความรู้ อำนาจข้อมูลข่าวสาร ฯลฯ

การใช้อำนาจทำให้โลกวิกฤติ เพราะเสียสมดุลอย่างรุนแรง

อำนาจทำให้เกิดการชำแหละออกเป็นส่วน ๆ การพัฒนาแบบแยกส่วนทำให้เสียสมดุลและวิกฤต

ปัญญาทำให้เกิดการเชื่อมโยงหรือบูรณาการ

การพัฒนาอย่างบูรณาการต้องเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง เอาหน่วยงานหรือเทคนิคเป็นตัวตั้งไม่ได้

กุญแจจึงอยู่ที่ การร่วมจัดการพัฒนาอย่างบูรณาการในพื้นที่ คือ ชุมชนประมาณ ๘๐,๐๐๐ หมู่บ้าน ๘,๐๐๐ ตำบล ๘๐๐ อำเภอ ๗๗ จังหวัด

เครื่องมือ คือ “การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ” (Interactive learning through action) ในสถานการณ์จริง เป็นกระบวนการที่ทรงพลังมากในการก่อให้เกิดการเปลี่ยนรูป (Transformation) ในทุกมิติ ตั้งแต่ความรู้สึกนึกคิด จิตใจ สัมพันธภาพ และโครงสร้างต่าง ๆ โดยทำให้เกิดปัญญาร่วมที่ฝ่า ความยากทุกชนิดไปสู่ความสำเร็จ ที่คนทุกคนเกิดความปีติสุขประดุจบรรลุนิพพาน

โดยกระบวนการเช่นนี้ ระบบพระพุทธศาสนาจะเกิดพลังทางปัญญาและการจัดการมหาศาล ร่วมกับอุบาสกอุบาสิกาในสังคมทุกฝ่าย สังคมไทยจะเปลี่ยนจากสังคมอำนาจนิยม ไปเป็นสังคมปัญญานิยมตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา และเปลี่ยนจากสังคมระทมทุกข์ด้วยความเหลื่อมล้ำอย่างสุด ๆ ซึ่งขาดความเป็นธรรม ไปเป็นสังคมที่มีความเสมอภาค ภราดรภาพ และศานติสุข เป็นสภาวะสมดุล สันติ หรือสันติภาพ ตั้งแต่ระดับชุมชนท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ


 

 

เป็นตัวอย่างให้โลกเห็นว่า แผ่นดินศานติสุขนั้นสร้างได้ด้วยปัญญาและความรัก ตามแนวทางสายกลางหรือพุทธธรรม แต่สร้างไม่ได้ด้วยอำนาจและความรุนแรง

ชาวพุทธในประเทศไทยจะสามารถร่วมกับเพื่อนร่วมโลกในการขับเคลื่อนโลกไปสู่ยุคใหม่ คือ โลกที่สันติสมดุลหรือโลกสันติภาพ มนุษยชาติมีศักยภาพที่สร้างโลกที่มีความสมดุล หากเข้าถึงความจริงตามธรรมชาติ

“ความจริงมีชัยเหนือทุกสิ่ง”

สตฺยเมว ชยเต – จารึกเสาพระเจ้าอโศก ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

 

 


 

[*] “คู่มือการพัฒนาอำเภออย่างบูรณาการ” ...........................

หมายเลขบันทึก: 702696เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2022 16:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2022 16:02 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท