พุ่งเป้าจดจ่อ


 

หนังสือ Hyperfocus : How to Work Less to Achieve More  เขียนโดย Chris Bailey    แนะนำวิธีควบคุมสมาธิของตนเอง ให้อยู่กับเรื่องสำคัญ ไม่วอกแวกไปกับเรื่องสัพเพเหระ    เพื่อชีวิตที่มีผลิตภาพและสร้างสรรค์   

คนเราทุกคนเคยมีประสบการณ์การทำงานหรือกิจกรรมด้วยใจจดจ่อเพลิดเพลิน เวลา ๑ ชั่วโมงผ่านไปโดยไม่รู้ตัว   นั่นคือสภาพที่เราสามารถขยายให้ยาวขึ้น เกิดบ่อยขึ้น หรือเกิดเป็นชีวิตประจำวัน    หนังสือเล่มนี้แนะนำให้เราฝึกตนเพื่อสภาพนั้น   เป็นเส้นทางสู่ชีวิตที่ดี   โดยมีคำแนะนำ ๔ ข้อ  (๑) เลือกประเด็นที่มีความหมายและให้ความสำคัญเรื่องเดียว   (๒) ขจัดสิ่งรบกวนใจทั้งหลาย รวมทั้งภายในตัวเราเอง เช่นภาวะใจลอยฝันกลางวัน (๓) โฟกัสความสนใจในเรื่องที่เลือกนั้น  (๔) ตั้งใจดึงสมาธิกลับมาทุกครั้งที่ใจวอกแวก   

เขาใช้คำว่า meta-awareness  ที่น่าจะแปลว่า อภิสติ   และคำว่า intentional focus ที่น่าจะแปลว่า ตั้งใจจดจ่อ    โดยที่ธรรมชาติของสมองมนุษย์มีข้อจำกัด    มีงานวิจัยบอกว่าสมองมนุษย์รับข้อมูลได้ถึง ๑๑ ล้าน bit ต่อวินาที    แต่สมองรับมาสู่จิตสำนึกได้เพียง ๔๐   จิตรู้สำนึกที่เรียกว่า ความจำใช้งาน (working memory) หรือความจำระยะสั้น (short-term memory) ยิ่งจำกัด คือโดยเฉลี่ย จำได้เพียง ๔ รายการ หรืออย่างมาก ๗   

ข้อจำกัดโดยธรรมชาติเช่นนี้ บอกให้เราฝึกสติ หรืออภิสติ และความสามารถในการตั้งใจจดจ่อ    โดยหนังสือแนะนำให้เราสมมติว่ามี “พื้นที่จดจ่อใจ” (attentional space)   เป็นพื้นที่หวงห้ามไม่ให้ “ขยะความคิด” เข้าไป    เป็นพื้นที่ที่ตัวเราเป็นผู้ควบคุม ว่าจะเอาอะไรเข้าไป   โดยผู้ควบคุมคือ อภิสติ ของเรา    ที่บอกว่า ในหนึ่งชั่วโมงนั้น เราจะพุ่งเป้าความคิดไปที่เรื่องใด    

   เมื่อจบชั่วโมงแห่งพื้นที่จดจ่อเรื่อง ก    ถามตัวเองว่า ชั่วโมงต่อไป เป็นพื้นที่จดจ่อใจ เรื่องอะไร   สมมติว่าเรื่อง ข   ทำเช่นนี้จนเป็นนิสัย   เราจะเกิดสมรรถนะ “พุ่งเป้าจดจ่อ”     

เพื่อให้ “พื้นที่จดจ่อใจ” มีความศักดิ์สิทธิ์ เราต้องป้องกันสิ่งรบกวน ทั้งที่เป็นสิ่งรบกวนภายนอก และสิ่งรบกวนภายใน    สิ่งรบกวนภายนอก เช่น โทรศัพน์  อีเมล์ หรือสื่อโซเชี่ยล จัดการไม่ยาก    แค่ปิดเครื่องก็มารบกวนเราไม่ได้    แต่สิ่งรบกวนภายใน คือใจของเราเอง    ที่มีเรื่องกวนใจอยู่    เขาแนะนำให้จดเรื่องเหล่านั้นลงกระดาษแล้วลืมมันชั่วคราว       

สมองมนุษย์ไม่ได้สร้างมาให้พุ่งเป้าจดจ่ออยู่ตลอดเวลา    ต้องการเวลาผ่อนคลายด้วย   จิตที่มีพลังจึงเป็นจิตที่มีช่วงพุ่งเป้าจดจ่อ สลับกับช่วงผ่อนคลาย    เพื่อให้สมองมีพลังสร้างสรรค์   

พลังสร้างสรรค์ มากับจิตจดจ่อแบบที่เขาเรียกว่า “พุ่งเป้าแบบกระจัดกระจาย” (scatterfocus)    ซึ่งหมายถึง มีช่วงพุ่งเป้าจดจ่อ สลับกับใจลอย    โดยเน้นลอยสู่อนาคต    คำว่า “กระจัดกระจาย” ในที่นี้เน้นที่เวลา    จิตพุ่งเป้าจดจ่อเน้นที่ปัจจุบัน    จิตที่พุ่งเป้ากระจัดกระจาย มีส่วนเน้นอนาคต   

เขาแนะนำให้ฝึกจิตพุ่งเป้ากระจัดกระจายโดยแบ่งออกเป็น ๓ แนวทาง (mode) ที่ต้องฝึกทั้ง ๓ แนว  คือ (๑) การรวบรวมประเด็น (capture mode)    (๒) การจัดการปัญหา (problem-crunching mode)  (๓) ทำให้เป็นนิสัย (habitual mode)  

การรวบรวมประเด็น (capture mode) ทำสัปดาห์ละ ๑ – ๒ ครั้ง พร้อมกระดาษและดินสอหรือปากกาในมือ   ทบทวนว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีงานสำคัญอะไรบ้าง    ส่วนใดทำได้ดี  ส่วนใดยังคั่งค้างหรือไม่สำเร็จ  หรือถูกละเลย  จดบันทึกไว้   เพื่อปลดปล่อยใจจากปัญหาค้างคาใจ   สำหรับเอาสมองไปใช้ในเรื่องสำคัญ 

   การจัดการปัญหา (problem-crunching mode) คือช่วงใช้พลัง “พื้นที่จดจ่อใจ”     

 ทำให้เป็นนิสัย (habitual mode) คือการใคร่ครวญสะท้อนคิดระหว่างทำกิจกรรมง่ายๆ เช่นระหว่างอาบน้ำ   ระหว่างล้างจาน เป็นต้น    ช่วยให้ไอเดียดีๆ หรือวิธีแก้ปัญหาคาใจ ผุดขึ้นมาในช่วงนั้น   

เทคนิค “พุ่งเป้าแบบกระจัดกระจาย” (scatterfocus) คือหัวใจของหนังสือเล่มนี้    ที่จะช่วยให้เราเชื่อมโยงเรื่องที่ดูเผินๆ ไม่เกี่ยวข้องกัน    สู้การสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่    ผ่านกลไกสมองที่เรียกว่า Zeigarnik Effect    คือ การที่สมองจะสาละวนอยู่กับงานที่ยังไม่เสร็จ    ในสภาพสมองช่วงผ่อนพัก ที่เครือข่ายใยประสาทอยู่ในสภาพ default network    ที่ใจไม่ได้โฟกัสที่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง    สมองจะนำเอาข้อมูลต่างๆ มาเชื่อมโยงกันอย่างอิสระ   นำสู่ไอเดียดีๆ หรือวิธีแก้ปัญหาค้างคาใจมานาน   

นี่คือวิธีใช้กลไกของสมอง ที่สมองมีช่วงคิดเอง โดยจิตไม่ได้เข้าไปยุ่ง   ไม่รู้ตัว      เทคนิค “พุ่งเป้าแบบกระจัดกระจาย” จึงเป็นกลยุทธใช้พลังสมองที่มีอยู่ตามธรรมชาติ  ผ่านการปล่อยใจให้ว่าง   โดยเอาเรื่องวุ่นใจไปฝากไว้ในกระดาษ 

 เทคนิค “พุ่งเป้าแบบกระจัดกระจาย” (scatterfocus) ไม่ได้เกิดขึ้นจากอวกาศ   แต่ต้องการข้อมูลที่ดีสำหรับนำไปให้สมองเอาไปปะติดปะต่อใหม่ หาความหมายใหม่    การ “พุ่งเป้าแบบกระจัดกระจาย” ที่มีพลังจึง เป็นสภาพที่สมองมีข้อมูลมาก    แต่จิตว่างจากเรื่องกวนใจ     เพราะเรื่องกวนใจทำให้จิตไม่ว่าง จึงยังไปข้องแวะสมอง   ทำให้สมองไม่อิสระ    ไม่เกิดการ“พุ่งเป้าแบบกระจัดกระจาย” อย่างมีพลัง   

ต้องการสร้างสรรค์ในเรื่องใด ต้องบรรจุข้อมูลเรื่องนั้นเข้าสมองให้มาก    แล้วปล่อยให้สมองใช้กลไก  “พุ่งเป้าแบบกระจัดกระจาย” ปะติดปะต่อข้อมูลในรูปแบบใหม่ เพื่อหาความหมายใหม่ ในเรื่องนั้น   โดยที่จิตสำนึกไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว   เพราะหากไปยุ่งเกี่ยวก็จะตกร่องความคิดเดิมๆ   

สรุปว่า หากต้องการทำงานที่ใช้พลังสมองแบบใช้เหตุผล ให้ใช้ intentional focus   หากต้องการทำงานสร้างสรรค์ ให้ใช้ scatterfocus   สองพลังนี้เสริมกันเป็น hyperfocus    เขาลงท้ายว่า กาแฟหนึ่งถ้วยจะช่วย hyperfocus    ซึ่งผมเถียง ว่าแล้วแต่คน  บางคนอาจชอบชา บางคนอาจชอบแอลกอฮอล์ (ในระดับที่พอดี) 

วิจารณ์ พานิช

๘ พ.ค. ๖๕

    

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 702689เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2022 20:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2022 20:50 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท