๑,๒๗๑ Best Practice


ผมจึงไม่เคยเดินคนเดียวและไม่เคยถูกทอดทิ้ง ตลอด ๑๖ ปีที่ผ่านมา เป็นมูลเหตุที่ว่า..ทำไม?ผมจะต้องมุ่งมั่นตั้งใจสร้างแนวปฏิบัติที่ดี(Best Practice) สิ่งเหล่านี้มีหลักฐานที่ชัดเจน อย่างน้อยก็ผลพวงที่เป็นความรู้ในตัวเด็ก ภาพความสำเร็จของงานจึงช่วยสร้างเสริมประสบการณ์แก่ผมมิใช่น้อย....

        ในภาษาไทยจะใช้คำว่าแนวปฏิบัติที่ดี หมายถึง วิธีปฏิบัติที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย และมีหลักฐานปรากฏชัดเจน โดยมีการสรุปวิธีปฏิบัติ ประมวลเป็นความรู้และประสบการณ์ ที่ได้บันทึกเป็นเอกสาร 

        ผมมีวิธีปฏิบัติอยู่เหมือนกัน ที่ทำให้งานสำเร็จเรียบร้อย แต่ไม่แน่ใจว่าจะเป็นเลิศจนเป็นที่ยอมรับหรือไม่? เพราะผมไม่เคยทำรูปเล่มเอกสารเผยแพร่ นอกจากเขียนเป็นบันทึกเล็กๆนี้ เท่านั้น 

        เพื่อเป็นที่ระลึกให้ตัวเอง เป็นตำนานชีวิตที่ได้คิดและลงมือทำ แล้วคงได้นำมาอ่านทบทวนเมื่อออกจากวงการไป หรือไม่..ลูกหลานอาจได้กลับมาดู พบเห็นงานในยุคสมัยของพ่อหรือปู่ทวด 

       แรงบันดาลใจของบันทึกวันนี้ เกิดจาก..ผู้ปกครองนำลูกมาสมัครเข้าเรียน เป็นคนที่ ๑๐ ของชั้นอนุบาล ๒ และเป็นคนที่ ๑๐๐ ของปีการศึกษา ๒๕๖๕

        บ้านผู้ปกครองอยู่กึ่งกลางระหว่างบ้านหนองผือกับโรงเรียนใหญ่ในตลาด เมื่อครูธุรการรับสมัครเป็นที่เรียบร้อย ผมจึงถามว่า..คิดอย่างไร? จึงนำลูกมาเรียนในโรงเรียนเล็กๆแห่งนี้

        ผู้ปกครองตอบว่า...โรงเรียนใหญ่เด็กเยอะ...ผมก็บอกว่า..ครูและอาคารเรียนก็เยอะด้วยนะ มีอย่างอื่นอีกไหม? ที่ผู้ปกครองรู้สึกพอใจในความเป็น..บ้านหนองผือ....?

        “หนูเห็นเด็กข้างบ้าน ๒ คนเรียนที่นี่ อ่านหนังสือออกและไม่ค่อยดื้อค่ะ..หนูเลยอยากให้ลูกมาเรียนที่นี่ค่ะ ผอ.” ผมขอบคุณ และครุ่นคิดถึงแนวปฏิบัติต่างๆของผมที่ผ่านมา กับภาพลักษณ์ทางการศึกษา จะมีส่วนเชื่อมโยงกันมากน้อยเพียงใด..?

        ในเมื่อโรงเรียนไม่มีครูวิชาเอกหลักๆเลยแม้แต่คนเดียว วิชาเอกดังกล่าวได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ซึ่งมีความสำคัญและจำเป็นสำหรับโรงเรียนทุกขนาด

        แต่การอ่านการเขียนของนักเรียนของผมไม่มีปัญหา ผลสัมฤทธิ์ด้านการทดสอบระดับชาติ(NT)ป.๓ และO-NET ป.๖ ก็มีค่าเฉลี่ยที่สูงต่อเนื่องมาหลายปี การเรียนการสอนไม่ได้สร้างภาระแก่ต้นสังกัดแต่อย่างใด

        ผม..ในฐานะผอ.ผู้ซึ่งจบเอกภาษาไทย ใช้วิธีลงไปช่วยครูสอนทุกชั้น และเข้มข้นเป็นพิเศษในชั้น ป.๓ กับ ป.๖ ช่วยปรับพฤติกรรมเด็ก นำปัญหาการเรียนรู้มาซ่อมเสริม ทำอยู่อย่างนี้ซ้ำๆตลอดทั้งปี ท้ายที่สุดก็พบว่า..เด็กอ่านได้เขียนได้ เด็กหลายคนอ่านคล่องเขียนคล่องเป็นที่น่าพอใจ

        เมื่อเด็กอ่านได้ การเรียนวิชาอื่นๆจึงไม่มีอุปสรรค เมื่อเด็กอ่านคล่อง ก็ต้องอ่านข้อคำถามในข้อสอบได้ ดังนั้นหลายปีที่ผ่านมา..จึงพบว่าคะแนนการทดสอบระดับชาติวิชาภาษาไทยมีค่าคะแนนเฉลี่ยที่สูงมาก.. อย่างต่อเนื่องยาวนาน

        ในด้านแหล่งเรียนรู้และสิ่งแวดล้อม ผมถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่จะช่วยดึงดูดความสนใจและก่อศรัทธาแก่ผู้ปกครอง ความสะอาด ร่มรื่นและสวยงาม จะเป็นสื่อสร้างสรรค์อย่างดีที่จะทำให้โรงเรียนขนาดเล็กมั่นคงและเข้มแข็งได้

       เมื่อโรงเรียนไม่มีภารโรง ผอ.ก็ต้องพร้อมที่จะทุ่มเทและเสียสละมากกว่าครู ผมรู้วิธีการจัดการ บริหารโดยใช้ศาสตร์พระราชา “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” พัฒนาทุกสิ่งให้มั่งคั่งและยั่งยืนตามบริบท แบบที่ไม่ต้องกล้ำกลืนฝืนใจ ไม่ทำเป็นเล่นหรือทำพอให้ผ่านๆไปเท่านั้น          

       ปัจจุบัน..โรงเรียนจึงมีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง ในแบบที่ไม่ต้อง”ดีเด่น”ไปกว่าใคร ไม่มีรางวัลใดๆมารองรับ แต่สำหรับผู้ที่มาเยี่ยมเยือน จะต้องประทับใจและอบอุ่นอย่างแน่นอน

       วิถีทางที่ได้ปฏิบัติมาและรู้สึกว่าได้ประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งเกิดจากความร่วมมือของผู้ปกครอง ที่ระดมสรรพกำลังเข้ามาร่วมพัฒนา หลากหลายปัญหาที่เหลือบ่ากว่าแรง ผมจะต้องขอการสนับสนุนจากองค์กรท้องถิ่น ขอความช่วยเหลือจากผู้นำชุมชนทุกครั้ง

       ผมจึงไม่เคยเดินคนเดียวและไม่เคยถูกทอดทิ้ง ตลอด ๑๖ ปีที่ผ่านมา นี่คือมูลเหตุที่ว่า..ทำไม?ผมจะต้องมุ่งมั่นตั้งใจสร้างแนวปฏิบัติที่ดี(Best Practice) สิ่งเหล่านี้มีหลักฐานที่ชัดเจน อย่างน้อยก็ผลพวงที่เป็นความรู้ในตัวเด็ก ภาพความสำเร็จของงานจึงช่วยสร้างเสริมประสบการณ์แก่ผมมิใช่น้อย

       ทุกวันนี้ ในโรงเรียนมีโครงการ”ธนาคาร”(ธกส)ที่สร้างพื้นฐานการออมแก่นักเรียน มีภาคเอกชนเกื้อหนุนลงทุนด้านบุคลากรทุกปี ทำให้มีครูพิเศษครบชั้น ความขยันอดทนและพากเพียรเรียนรู้สู้งานของผู้บริหาร จึงเป็นที่มาของ”อาคารออมสิน” อาคารเรียนที่ได้รับบริจาควงเงิน ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท

       บทเรียนที่ผ่านมา...ย้ำเตือนมิให้ยึดติด ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นใดๆ สักวันจะต้องจากไป ทิ้งไว้เป็นความทรงจำ....อาจทำให้เกิดรอยยิ้มได้บ้าง เมื่อวางงานทั้งหมด...แล้วกลับมาอ่านบันทึกนี้อีกครั้ง...หลังเกษียณ.

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๒๓  เมษายน ๒๕๖๕

หมายเลขบันทึก: 702386เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2022 07:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2022 19:39 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท