ข้อเสนอ "หลักสูตรการศึกษาแบบบูรณาการเพื่อการมีชีวิตที่ดี" แบบฟรี


คนบางคนมีชีวิตอยู่ได้เพราะการได้คิด บางคนคิดแล้วได้เงิน เพราะสามารถกลั่นความคิดออกเป็นสินค้าได้ แต่บางคนคิดเพียงเพราะได้คิด ความคิดจำนวนหนึ่งอยู่บนกระดาษและถูกปล่อยทิ้งไปท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของกาลเวลา

จากการเฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของสังคม เราคงปฏิเสธไม่ได้ถึงความไม่เท่าของทุนในการขยับชีวิตให้เหมือนกับผู้มีความเป็นคนและเป็นทรัพยากรบุคคลของประเทศเหมือนกัน โดยเฉพาะทุนทรัพย์ที่เป็นเครื่่องมือในการคว้าโอกาสที่สังคมยอมรับ อย่างหนึ่งคือ การมีวุฒิการศึกษาที่สูงขึ้น/มีหนังสือรับรองความก้าวหน้าในการศึกษาเรียนรู้ สิ่งดังกล่าวนี้นอกจากต้องลงทุนด้านสติปัญญา ร่างกายและการจัดการแล้ว เงินคือสิ่งสำคัญ ปัญหาคือ ไม่มีเงินจะทำอย่างไร? คำตอบแบบง่ายคือ ไม่มีเงินก็ไม่เรียน สิ่งที่อยู่เบื้องหลังคำตอบคือ หลักสูตรการศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศต้องใช้เงินแลก แต่บางคนก็ไม่ได้ยุติความคิดเพียง “ไม่มีเงินก็ไม่เรียน” แต่ “ถ้าอยากเรียนก็ต้องปลูกทุเรียน” / “ถ้าอยากเรียนก็ต้องทำงานเพื่อให้ได้เงินแล้วนำเงินไปซื้อผลการเรียนรู้” 

ในความเป็นคนนั้น นอกจากจะมี “ความอยากได้” แล้ว ยังมี “ความอยากให้” ด้วย หลายคนรอให้รวยก่อนจึงให้ แต่หลายคนให้ทุกครั้งที่อยากให้ สังคมที่เป็นที่รวมของคนที่แตกต่างก็มีลักษณะเดียวกัน

หน่วยงานทางการศึกษามีทุนที่โดดเด่นคือการศึกษาและเป็นหน่วยงานรับรองความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของคน มีบางคนไม่ได้เรียนรู้ผ่านระบบที่สถาบันการศึกษาจัดให้แต่มีความรู้ลึกและกว้างกว่าผู้ที่ได้รับการรับรอง สถาบันการศึกษาก็มีความพยายามในการรับรองด้วยวิธีการอื่น กรณีแบบนี้ แม้จะเป็นการบ่งชี้ได้ว่า การจะมีความรู้อาจไม่จำเป็นต้องมาแสวงหาจากสถาบันการศึกษาก็ได้ แต่สถาบันการศึกษามีเคล็ดลับบางอย่างตลอดถึงอุปกรณ์ในการที่ผู้เรียนไม่ต้องลงทุนมากนัก การเข้ามาสู่ระบบการศึกษาจึงได้ประโยชน์ในระยะเวลาที่สั้นกว่า ตลอดถึงประโยชน์อื่นเช่น ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนที่อาจกลายเป็นผู้ร่วมหุ้นในอนาคตของผู้เรียน

ปัญหาคือ ถ้าผู้อยากเรียนไม่มีเงินจริงๆ และต้องการจะเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้น ขณะที่สถาบันการศึกษามีหลักสูตรที่คำนวณความคุ้มทุนไว้เรียบร้อยแล้ว เราจะทำอย่างไร?

เคยเสนอเรื่อง “หลักสูตรฟรี” ให้หน่วยงานทางการศึกษาของรัฐแห่งหนึ่ง แต่สิ่งที่ได้รับคือ “เป็นไปไม่ได้” ข้อเสนอและคำตอบเป็นสิ่งที่สวนทางกันเพราะมาจากฐานคิดต่างแบบ ฐานคิดหลักสูตรฟรีมาจากความอยากจะให้ แต่ฐานคิดที่มาจากเป็นไปไม่ได้ มาจากความอยากได้ อาจต้องกั้นกำแพงไว้ตรงนี้ก่อนว่า การเสนอหลักสูตรฟรีไม่ใช่ผู้เสนอเป็นผู้ดีเลิศประเสริฐศรี เพราะคำว่า ฟรี อาจไม่มีอยู่จริงอย่างที่เขาว่ากันก็ได้ อย่างไรก็ตาม เกือบสิบปีผ่านมาในช่วงเวลานี้ พบว่า บางสถาบันการศึกษามีหลักสูตรฟรีให้เรียนแล้ว

การเสนอเรื่องหลักสูตรฟรี ไม่ได้มีความคิดอะไรลึกซึ้ง เพียงมองว่า มีผู้ไม่สามารถเอื้อมและ/หรือสามารถเอื้อมแต่เอื้อมอย่างยากลำบาก เช่น ต้องกินข้าววันละมื้อ ต้องทำงานเข้ากะหาเงินรายชั่วโมงขณะที่เพื่อนนั่งค้นคว้าแสวงหาความรู้ ต้องนั่งเรียนทั้งที่ร่างกายอิดโรย ขณะที่เพื่อนนั่งเรียนรู้แบบสดชื่น 

หลักสูตรฟรีเป็นหลักสูตรเพื่อการสังคมสงเคราะห์ทางการศึกษา หลักสูตรเพื่อการช่วยเหลือชีวิตอื่นและสังคมโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน แต่สิ่งตอบแทนจะถูกหยิบยื่นมาเอง เหมือนพระดำรัสนี้ "ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศ จะตกแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ ให้บริสุทธิ์" อาจตั้งชื่อหลักสูตรเป็น “ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์” เป็นการบูรณาการจากฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับ “คุณค่าของความเป็นคน” จากคณาจารย์นักจิตอาสาเพื่อเยาวชน สิ่งที่จะได้รับจากคนเหล่านี้อาจไม่ใช้เงินค่าลงทะเบียนเรียนในระยะ 3-4 ปี หากแต่เป็นแรงกายและใจที่ทำเพื่อสังคม ฐานคิดแบบนี้มาจาก “ถ้าเราสอนเรื่องการให้ เขาจะคิดเรื่องให้มากกว่าเรื่องเอา” จริงๆแล้วคุณค่าเรื่องการให้นั้นมีอยู่ใน “ความเป็นมนุษย์” ของทุกคนอยู่แล้ว หากแต่พื้นที่ทางสังคมถูกปิดทับด้วยการเอา มาถึงตรงนี้ มีความคิดที่ผุดขึ้นมาเป็นพระดำรัสประมาณว่า “กำไรของการลงทุนคือการที่ประชาชนอยู่ดีกินดี”

หมายเหตุ วัดน่าจะยังเป็นที่อยู่อาศัยของเหล่าเด็กๆผู้ใฝ่เรียน

๒๕๖๕๐๔๑๑
๐๘.๔๑

 

หมายเลขบันทึก: 702140เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2022 08:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2022 08:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท