ชีวิตที่พอเพียง 4188. สุขสั้น ทุกข์ยาว  กับทักษะ “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน”


 

การใคร่ครวญสะท้อนคิดเรื่องวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เรื่อง วาทกรรมกัญชากับความรอบรู้ด้านสุขภาพต่อนโยบายกัญชาทางการแพทย์ ของไทย    ที่คุณนภินทร ศิริไทย    ที่เล่าในบันทึก 4186 ที่ลงไว้เมื่อวานซืน   นำมาสู่ชื่อบันทึกนี้   

มนุษย์ยุคปัจจุบัน ต้องมีสมรรถนะในการ “อยู่ในปากงูโดยไม่โดนพิษจากเขี้ยวงู” (คำของท่านพุทธทาส)    เพราะในสังคมปัจจุบันเต็มไปด้วยสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เป็นพิษ    มนุษย์ต้องฝึกฝนตนเองให้มีความสามารถอยู่ในสังคมแห่งความเป็นจริงได้อย่างมีความสุข    และส่งต่อความสุขให้แก่คนรอบตัว และแก่มนุษยชาติได้ด้วย   

ผมกำลังทำตามในข้อความย่อหน้าบนอยู่นะครับ

ที่จริงข้อความในย่อหน้าที่เอ่ยถึง (ย่อหน้าที่ ๒) อาจจะผิด    เพราะจริงๆ แล้ว มนุษย์ทุกยุคทุกสมัย ต่างก็อยู่ในสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เป็นพิษต่อจิตวิญญาณทั้งนั้น    มิฉะนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สมณโคดม ไม่อุบัติขึ้นหรอก   ท่านอุบัติขึ้นก็เพราะมนุษย์เรามีชีวิตอยู่ในระบบนิเวศที่ชักนำให้เกิดความทุกข์โดยไม่รู้ตัว     

มนุษย์เกิดมาพร้อมกับอายตนะที่พร้อมรับความสุขที่เกิดจากการสนองความต้องการ ที่เป็นความสุขทางกาย   และในขณะเดียวกันอายตนะนั้นก็พร้อมรับการฝึกให้เลี่ยงความต้องการนั้น เพื่อความสุขที่ยิ่งใหญ่กว่า คือความสุขทางจิตวิญญาณ     เราเรียกการฝึกนั้นว่าฝึกธรรมะ   

ความสุขทางกายจำนวนมาก หลากหลายประเภท เข้าข่ายสุขสั้น ทุกข์ยาว   เช่นการผิดศีล ๕    การเสพกัญชาเพื่อเคลิบเคลิ้มในเด็กและวัยรุ่น    ตอนเสพมันให้ความสุข    แต่ในระยะยาวมันทำลายสมอง (๑)     รวมทั้งพฤติกรรมทางเพศ    ผมโชคดีมากที่มีสติอยู่ตลอดเวลา เมื่อความต้องการมันกระตุ้นพฤติกรรมบางอย่าง   ผมจะถามตัวเองว่า หากทำไปมันจะก่อความเสียหายระยะยาวหรือไม่    เป็นสมรรถนะที่ผมมีตั้งแต่เป็นวัยรุ่น   โดยอธิบายไม่ได้ว่ามันเกิดขึ้นอย่างไร    เข้าใจว่า คำพูดเตือนซ้ำแล้วซ้ำเล่าของแม่    ว่าให้ระวังตนเอง “อย่าให้เสียคน” ก้องอยู่ในหูตลอดเวลา   

เมื่อโตขึ้น เป็นผู้ใหญ่    ได้อ่านหนังสือ  ได้ผ่านประสบการณ์ชีวิต    จึงเกิดความคิดว่า  ความเห็นแก่ตัว    พฤติกรรมที่แสดงความเห็นแก่ตัว  ให้ความสุขระยะสั้น    แต่ทำลายโอกาสระยะยาวในชีวิต    โอกาสที่จะได้เป็นคนที่เกิดมาชีวิตหนึ่ง  ได้เป็น “ผู้ให้”  มากกว่า เป็น “ผู้เอา”    และได้ประสบการณ์ตรงว่า การได้เป็น “ผู้ให้” แม้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ    มันให้ความสุขทางใจล้นเหลือ    กล่าวในภาษาฆราวาสคือ กำไรรเยอะ    แต่จะได้กำไรดังกล่าว เราต้องมีฐานใจที่เห็นคุณค่าของ “การให้”   

สมรรถนะชีวิต หรือทักษะชีวิต ที่สำคัญอย่างหนึ่งทักษะเลี่ยงสุขสั้น ทุกข์ยาว    หรือทักษะ “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน”     ที่เป็นคำที่ผมใช้สอนตนเองมาตลอดชีวิต           

วิจารณ์ พานิช 

๒๒ ก.พ. ๖๕     

 

 

หมายเลขบันทึก: 701121เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2022 19:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 เมษายน 2022 19:02 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การสอนของพ่อแม่ส่งผลให้เรามีพฤติกรรมตามคำสอน เราจะจดจำคำสอนที่เป็นหลักสำคัญที่พ่อแม่เน้นย้ำ จนถึงวันนี้ค่ะ

ขอบพระคุณอาจารย์ที่เขียนบทความดีดีเสมอมาค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท