สตรีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา


สตรีหรือผู้หญิงมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดหรือบ่อเกิดแห่งพุทธศาสนา ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมก่อนที่พระองค์จะได้ตรัสรู้ก็มีมารหญิง จิญจมาณวิกา มาผจญ ลองใจพุทธองค์จะแน่วแน่มั่นคงเพียงใด ดังคำที่ว่า “มารไม่มี บารมีไม่เกิด” ก่อนตรัสรู้ ก็มีนางสุชาดา ได้ถวายข้าวมธุปายาสให้พระองค์ได้เสวย และได้ตรัสรู้ในเวลาอีกไม่นาน และหลังตรัสรู้ก็มีสตรีหลายคน ทั้งหญิงงามเมือง หรือนครโสเภณี และสิบสตรีโดดเด่นในพุทธศาสนาคือ

สตรีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา

 

 

สตรีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา

ดร. ถวิล  อรัญเวศ

          จากที่ได้ศึกษาบ่อเกิดของศาสนา มีประเด็นหนึ่งที่น่าจะนำมาศึกษา ก็คือผู้หญิงกับการมีส่วนเกี่ยวข้อง

กับพุทธศาสนา

         ในสิบชาติของพระพุทธเจ้าก่อนที่จะได้มาเป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่น พระเวสสันดรชาดกในการเทศน์มหาชาติกัณฑ์ที่ ๘ กุมาร ๑๐๑ พระคาถา กล่าวถึงชูชกผู้ผจญความลำบาก เดินทางไปขอสองกุมารจาก พระเวสสันดร ขณะที่พระนางมัทรีเข้าป่าหาผลไม้ด้วยความห่วงใยจึงสั่งเสียกุมารทั้งสองให้ระวังเนื้อระวังตัว ดังนั้น พระกัณหาชาลีจึงพากันเดินลงไป ซ่อนตัวอยู่ในสระบัว พระเวสสันดรรู้เข้าจึงเดินตามรอยเท้าไปเรียกสองกุมารขึ้นมาจาก สระให้มาเป็นสำเภาทองพาพระองค์ไปสู่นิพพาน แล้วพระองค์ทรงยกสองกุมารให้ชูชก บันดาลให้บังเกิดความมหัศจรรย์บนแผ่นดิน ชูชกผูกแขนสองกุมา แล้วเฆี่ยนตีต่อหน้าพระเวสสันดรจนพระองค์ เกิดบันดาลโทสะเกือบระงับดับไว้มิได้  การฟังเทศน์กัณฑ์นี้จะมีอานิสงส์ คือจะประสบชัยชนะในทุกกรณี จะมีปัญญาบารมีเจิดจ้า สามารถขบคิดปัญหาต่างๆ ได้ นับว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะการที่จะทำให้พระนางมัทรีเข้าใจได้พระองค์ก็ทรงอธิบายยกธรรมาธิษฐานต่าง ๆ มาให้เห็น ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยากยิ่ง

          จากตำนานพุทธประวัติก่อนที่พระองค์จะได้ตรัสรู้ มีสตรี ๒ คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา คนแรก คือจิญจมาณวิกา หรือโดยย่อว่า จิญจา จะเรียกว่าเป็นมารมาผจญหรือลองของกับพระพุทธเจ้าก็ได้ เพราะมารไม่มีบารมีไม่เกิด จิญจมาณวิกา เธอเป็นสตรีที่เชื่อว่ามีชีวิตอยู่ในพุทธกาล โดยในพระไตรปิฎกกล่าวว่านางได้ให้ร้ายพระโคตมพุทธเจ้า ต่อหน้าคนจำนวนมากว่า ทำให้นางตั้งครรภ์ ด้วยความที่นางมีความฉลาดในมารยาของหญิง นับถือศรัทธาลัทธิเดียรถีย์ มีเจตนาเพื่อทำลายพระพุทธเจ้าจึงเดินเข้าออกวัดเชตวันอยู่เสมอ ทำทีเหมือนอยู่ในพระเชตวัน แต่แท้จริงแล้วนางอยู่ในวัดเดียรถีย์ใกล้เคียง โดยกาลล่วงไป 8–9 เดือน ผูกไม้กลมไว้ที่ท้องห่มผ้าทับข้างบน ให้ทุบหลังมือและเท้าด้วยไม้คางโค แสดงอาการบวมขึ้น มีอินทรีย์บอบช้ายอมตนกล่าวตู่พระพุทธเจ้าในท่ามกลางหมู่ชน ภายหลังนางจึงถูกแผ่นดินสูบ ดังมีในพุทธชัยมงคลปราฏเป็นหลักฐานในบทสวด "พาหุง" บทที่ 5 ความว่า

          กตฺวาน กฎฺฐมุทรํ อิว คพฺภินียา จิญฺจาย ทุฏฺฐวจนํ ชนกายมชฺเฌ สนฺเตน โสมวิธินา ชิตวา มุนินฺโท ตนฺเตชสา ภวตุ เตชยมงฺคลานิ

        แปลว่า "นางจิญจมาณวิกาใช้ไม้มีสัณฐานกลมใส่ที่ท้อง ทำอาการประหนึ่งว่ามีครรภ์ เพื่อกล่าวร้ายพระพุทธเจ้า พระจอมมุนีก็เอาชนะได้ด้วยวิธีสงบระงับพระทัยในท่ามกลางหมู่คน ด้วยเดชะอันนี้ ขอชัยมงคลจงมีแก่เรา"

         ด้วยผลกรรมที่ใส่ร้ายพระศาสดา เมื่อออกจากวัด

พระเชตวัน นางจึงถูกธรณีสูบลงอเวจีมหานรก สถานที่ที่นางถูกธรณีสูบอยู่ที่สระโบกขรณี ติดกับสถานที่ที่พระเทวทัตถูกธรณีสูบ ดังคำในจิญจมาณวิกาวัตถุ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า บุคคลผู้ล่วงละเมิดธรรมอย่างหนึ่ง ผู้มักกล่าวเท็จ ปฏิเสธปรโลก จะไม่ทำบาปไม่มี

          สำหรับข้อมูลที่ปรากฏในอรรรถกถาหลักฐานในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบทมีว่า

          พระพุทธเจ้าขณะประทับที่เชตวันมหาวิหาร นครสาวัตถี เผยแผ่พระพุทธศาสนาจนเป็นที่ศรัทธาแก่มหาชนอย่างมาก ทำให้เกิดลาภสักการะในพระพุทธศาสนาอย่างมาก นักบวชในศาสนาอื่น ๆ ก็ได้รับผลกระทบเสื่อมลาภ ผู้คนนับถือน้อยลง เกิดความอิจฉา และคิดจะกำจัดพระพุทธเจ้าเสีย จึงคิดอุบาย โดยส่งสาวงามชื่อว่า "จิญจมาณวิกา" ให้ไปใช้กลอุบายตามที่พวกตนวางไว้

        นางจิญจมาณวิกาทำทีเป็นศรัทธาในพุทธศาสน จึงไปยังวัดพระเชตุวันมหาวิหาร ร่วมฟังธรรมพร้อมกับคนอื่น ๆ แต่พอถึงเวลากลับ ไม่กลับ ทำทีเดินลับหายไปยังที่ ๆ พระพุทธเจ้าประทับแล้วแอบออกไปทางอื่น พอรุ่งเช้านางมาวัดแต่เช้ามืดแล้วไปแอบซุ่มบริเวณที่ประทับ พอผู้คนมาฟังการแสดงธรรมนางก็จะแกล้งเดินออกไปเป็นกลลวงให้ใคร ๆ เห็น และเข้าใจว่านางค้างคืนที่วัด    

         ผ่านไป 3 เดือน นางได้นำผ้ามาพันผูกท้องให้นูนแล้วนุ่งผ้าปิดทับเอาไว้ให้แลดูคล้ายตั้ง ครรภ์อ่อน ๆ พอถึงเดือนที่ 8 นางก็นำท่อนไม้มาพันผ้าผูกให้แลดูเหมือนตั้งครรภ์แก่ใกล้คลอด

         วันหนึ่งขณะที่พระพุทธเจ้ากำลังแสดงธรรม นางจิญจมาณวิกา ก็ทำทีเป็นหญิงท้องแก่เดินอุ้ยอ้ายเข้าไปยืนตรงหน้าที่ประทับพร้อมกับกล่าว เสียงดังให้ทุกคนได้ยิน

          "ท่านสมณะ ท่านจะมาเสแสร้งนั่งแสดงธรรมจอมปลอมหลอกลวงผู้คนไปไย ด้วยเวลานี้ท้องฉันนั้นได้โตใหญ่จนยากจะปกปิดความลับระหว่างเราทั้งสองได้อีกต่อไปแล้ว ท่านจงหันมาไยดีในตัวฉันซึ่งเป็นภรรยา และบุตรในครรภ์ฉัน ซึ่งเป็นลูกของท่านจะดีกว่า

         พระพุทธองค์ทรงหยุดแสดงธรรมและกล่าวกับนางว่า

“ดูก่อนน้องหญิง เรื่องนี้เจ้ากับเราสองคนเท่านั้นรู้กันว่าจริงหรือไม่จริงตามคำของนาง”

         จิญจมาณวิกาจึงตอบว่า “จริงทีเดียว เพราะการที่ข้าพเจ้ามีครรภ์ขึ้นนี้ มีแต่ท่านกับข้าพเจ้าเท่านั้นที่รู้กัน”

         ผู้คนที่นั่งฟังธรรมได้ยิน นางจิญจมาณวิกา พูดก็ตกตะลึง หลายคนไม่เชื่อแต่บางคนก็เริ่มสงสัยเพราะเคยเห็นนางเดินเข้าออกที่ประทับจึง พากันซุบซิบแต่พระพุทธองค์ทรงนิ่งเฉย ชาวบ้านจึงกล่าวเตือนสติจิญจมาณวิกาว่า

        "จิญจมาณวิกาเอ๋ย การกล่าววาจาโป้ปดนั้นเป็นการผิดศีล แต่วาจาที่กล่าวเท็จใส่ร้ายต่อผู้ทรงศีลนั้น ผิดยิ่งกว่ามากมายนัก นางจงหยุดเถิด"

           แต่แทนที่จิญจมาณวิกาจะรู้สึกผิด กลับจาบจ้วงดุด่าใส่ร้ายพระพุทธองค์ต่อ หาว่าพระพุทธองค์ทรงปัดและบ่ายเบี่ยงไม่รับผิดชอบต่อบุตรในครรภ์ เทพเทวดารู้เห็นการกระทำอันเป็นบาปของจิญจมาณวิกา จึงแปลงกายเป็นหนู ปีนไต่ไปบนตัวนาง และกัดสายคาดผ้าที่ผูกท้องจนหลุดร่วงลงมากองที่พื้น

          ความจริงจึงปรากฏแก่คนทั้งหลายว่า นางมิได้ตั้งครรภ์ นางได้กล่าวตู่หาความใส่ร้ายพระพุทธองค์ คนทั้งหลายพากันลุกฮือขึ้นไล่ทุบตี พอออกไปพ้นประตูพระเชตวันมหาวิหาร นางก็ถูกแผ่นดินสูบ

           ผลกรรมจากการถูกใส่ร้ายนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่าเหตุมาสู่ผลที่ถูกกล่าวตู่ ก็เพราะเคยไปกล่าวตู่พระปัจเจกพุทธเจ้านามว่า “สุรภี” “ในชาติอื่น ๆ ในปางก่อน เราเกิดเป็นนักเลงชื่อว่าปุนาลิ ได้กล่าวตู่พระปัจเจกพุทธเจ้ามีนามว่าสุรภี ผู้ไม่ประทุษร้ายใคร” ด้วยผลของการกระทำนั้น ทำให้ตกนรก เสวยทุกขเวทนาหลายพันปี กล่าวตู่พระเถระนามนันทะ และทำให้ตกนรกถึง 100,000 ปี และเศษของการกระทำ ทำให้ต้องได้รับการกล่าวตู่จากนางสุนทรี และนางจิญจมาณวิกาหรือข้อมูลในพุทธาปทานชื่อปุพพกัมมปิโลติพระพุทธเจ้า ตรัสบุพกรรมของตนไว้ว่า เพราะการกล่าวตู่พระเถระนามว่านันทะ ผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า

ผู้ครอบงำอันตรายทั้งปวง เราจึงเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในนรกเป็นเวลานาน เราเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในนรก เป็นเวลานานถึง 100,000 ปี ครั้นได้เกิดเป็นมนุษย์ ก็ได้รับการกล่าวตู่มาก ด้วยผลกรรมที่เหลืออยู่นั้น นางจิญจมาณวิกาจึงมากล่าวตู่เราด้วยคำไม่จริงท่ามกลางหมู่ชน

        สตรีคนสำคัญที่เป็นผู้ถวายภัตตาหารก่อนที่จะได้ตรัสรู้ คือสุชาดา (บาลี: Sujātā สุชาตา) เป็นธิดาของเสนานีกุฎุมพี นางเป็นผู้ถวายข้าวมธุปายาสพร้อมถาดทองคำแก่พระโคตมพุทธเจ้า หลังพระพุทธเจ้าได้เสวยข้าวมธุปายาสแล้วจึงขึ้นประทับ ณ โพธิบัลลังก์ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชราทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ก่อนประกาศธรรมอันประเสริฐแก่เหล่าปัญจวัคคีย์ ต่อมาบุตรชายคนโตของสุชาดานามว่ายสะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ส่วนนางสุชาดาและสะใภ้ก็บรรลุโสดาบันเช่นกัน

        ภายหลังตรัสรู้ นางวิสาขา (บาลี: Visākhā, วิสาขา; สันสกฤต: Viśākhā, วิศาขา) เป็นสาวิกาของพระโคตมพุทธเจ้า ได้บรรลุโสดาบันตั้งแต่อายุได้ 7 ขวบ เป็นผู้สร้างวัดบุพพาราม เป็นผู้ริเริ่มถวายผ้าอาบน้ำฝน และได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าให้เป็นเอตทัคคะฝ่ายทายิกา

         ธัมมปทัฏฐกถาได้กล่าวถึงประวัตินางวิสาขาไว้ว่า นางวิสาขาเป็นบุตรสาวของธนญชัยเศรษฐี (บุตรคนโตของเมณฑกเศรษฐี) กับนางสุมนาเทวี (ธิดาอนาถบิณฑิกเศรษฐี) ภูมิลำเนาอยู่ภัททิยนคร แคว้นอังคะ มีน้องสาวคนหนึ่งชื่อสุชาดา (คนละคนกับนางสุชาดา มารดาพระยสะ) เมื่ออายุได้ 7 ขวบ ปู่ของท่านได้มอบหมายให้ท่านและบริวาร 500 คนไปต้อนรับพระพุทธเจ้า พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมจนนางวิสาขาและบริวารทั้งหมดได้บรรลุโสดาบัน

          ต่อมาพระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จมาหาพระเจ้าพิมพิสาร ทูลขอเศรษฐีคนหนึ่งไปอยู่ประจำแคว้นโกศล พระเจ้าพิมพิสารจึงโปรดให้ธนัญชัยเศรษฐีย้ายตามพระเจ้าปเสนทิโกศลไป เมื่อถึงสถานที่เหมาะสมแห่งหนึ่งซึ่งห่างจากกรุงสาวัตถี 7 โยชน์ เศรษฐีได้กราบทูลพระเจ้าโกศลว่ากรุงสาวัตถีคับแคบไป ขอตั้งเมืองอยู่ที่นี่ พระเจ้าโกศลจึงให้สร้างเมืองสาเกต พระราชทานแก่ธนญชัยเศรษฐี

         ทางเมืองสาวัตถีมีเศรษฐีคนหนึ่งชื่อมิคาระ ประสงค์จะหาคู่ครองให้ปุณณวัฒนะบุตรชายของตน ปุณณวัฒนะขอให้หาหญิงสาวที่เพียบพร้อมด้วยเบญจกัลยาณี มิคารเศรษฐีจึงส่งพราหมณ์ 8 คน ไปหาหญิงสาวที่มีคุณสมบัติตามนั้น แล้วฝากพวงมาลัยทองคำไปเป็นของหมั้น เมื่อพวกพราหมณ์ได้พบนางวิสาขามีคุณสมบัติตามที่ตามหา จึงได้มอบมาลัยทองคำและเดินทางไปสู่ขอนางวิสาขากับธนญชัยเศรษฐีจนเป็นที่ตกลง พระเจ้าโกศลและมิคารเศรษฐีจึงเดินทางไปรับนางวิสาขามาอยู่เมืองสาวัตถี

          สมันตปาสาทิการะบุว่านางวิสาขามีบุตรชาย 10 คน บุตรสาว 10 คน บุตรแต่ละคนก็มีบุตรชายบุตรสาวอย่างละ 10 คนเช่นกัน นางวิสาขาจึงมีหลานรวมทั้งหมด 400 คน[4]

          สุมังคลวิลาสินีระบุว่านางวิสาขามีอายุยืนถึง 120 ปีจึงถึงแก่กรรม ส่วนปรมัตถทีปนีระบุว่าหลังจากนั้นนางได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี เป็นชายาของท้าวสุนิมมิต

        กล่าวกันว่า นางวิสขามีส่วนเกี่ยวข้องกับการบัญญัติวินัย

สงฆ์ด้วยหลายประการ เช่น สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรง

ยกย่อง “นางวิสาขา” ให้เป็นผู้เลิศด้านการถวายทาน เป็นผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง กิจนานัปการที่นางวิสาขามุ่งมั่นทำเพื่อพระพุทธศาสนาแสดงให้เห็นถึงจิตใจที่เสียสละอย่างเด่นชัด ทุกครั้งที่พบว่าพระพุทธเจ้าหรือคณะสงฆ์มีปัญหาติดขัดเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมบำเพ็ญเพียร นางไม่รีรอที่จะเข้าช่วย

แก้ปัญหา นางมีบทบาทสำคัญในการช่วยอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาด้วยความเลื่อมใสศรัทธา ในการอุปถัมภ์พระภิกษุสงฆ์ สร้างถาวรวัตถุสำคัญทางพระพุทธศาสนา หรือการเป็นปฐมเหตุที่ทำให้เกิดพุทธานุญาต และพุทธบัญญัติบางประการ แม้ต้องขัดแย้งกับครอบครัวของสามีที่นับถือลัทธิชีเปลือย นางก็ยังยืนกรานจะอยู่ใต้ร่มพระบารมีของพระพุทธองค์และยังชักชวนให้พ่อแม่ของสามีได้มีโอกาสฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า เมื่อเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง นางวิสาขาจึงกลายเป็นอุบาสิกาที่บำรุงพระพุทธศาสนาอย่างเป็นเลิศ มีความประพฤติที่ดีงามมากด้วยน้ำใจ มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด รู้จักกาลเทศะ อีกทั้งยังเป็นต้นแบบของอุบาสิกาที่มีบทบาทสำคัญเพียบพร้อมไปด้วยวิชชาและจรณะ นางมุ่งอุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนา

          นอกจากนี้แล้ว แม้หญิงงามเมือง หรือคณิกา หรือคำว่า “นครโสเภณี” ซึ่งเป็นคำที่ดีงดงามทั้งทางความหมายและเกียรติยศ

          เสฐียรพงษ์  วรรณปก กล่าวว่า “นครโสเภณี”  คือสตรีที่ยังเมืองหรือนครให้งดงาม มีสง่าราศี เป็นสตรีงามเมือง เป็นตำแหน่งที่พระราชามหากษัตริย์สมัยพุทธกาลทรงแต่งตั้ง (ชื่อนี้ต่อมาเรียกว่า คณิกา บ้าง โสเภณีบ้าง)

         กล่าวกันว่า ในสมัยนั้น หญิงที่จะได้รับตำแหน่งนี้ ต้องเป็นคนที่มีรูปร่างสวยสดงดงาม ผ่านการคัดเลือกโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคล้าย ๆ กับผ่านการประกวดนางงามจักรวาลว่ากันอย่างนั้น

         ความเป็นมาและต้นกำเนิดเกิดของหญิงงามเมืองน่าจะมีขึ้นที่เมืองไพศาลี เมืองหลวงของแคว้นวัชชี เนื่องจากแคว้นนี้ผู้คนชั้นสูงมีความคิดก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ มาก ทางการปกครองได้นำเอาระบบการปกครองเป็นวาระมาใช้ ผู้ปกครองเมืองต้องผ่านการเลือกตั้งจากประชาชนอยู่กันเป็นวาระ พอหมดวาระแล้วก็จะมีการเลือกตั้งผู้ปกครองใหม่ขึ้นมาแทน

 

ทำไมจึงมีการแต่งตั้งหญิงงามเมือง ?

         จากการพินิจพิเคราะห์ดู น่าจะเพื่อดึงดูดเศรษฐกิจ หรือนำเงินตราต่างประเทศมาสู่ประเทศเป็นสำคัญ เพราะกษัตริย์ และพวกพ่อค้าวาณิชต่างเมืองสมัยนั้น เมื่อรู้ว่าเมืองไหนมีหญิงงามเมืองสวยงาม ก็จะพากันไปเที่ยวหาความสุขความสำราญ ขนเงินขนทองไปให้คราวละมาก ๆ ประหนึ่งว่าหญิงงามเป็นเสมือนแม่เหล็กที่ดูดเงินตราเข้าประเทศอย่างมากมายมหาศาล

          หญิงงามเมืองของเมืองไพศาลีคนหนึ่ง ที่เดินเข้ามาในประวัติพุทธศาสนา เธอชื่อว่า “อัมพปาลี”

          อัมพบาลี เป็นสตรีที่สวยสดงดงดงามจนพระเจ้าพิมพิสาร เจ้าเมืองราชคฤห์ ก็ได้มาชื่นชมตัวเธอถึงกับเป็นแขก “ขาประจำ” ของเธออย่างสม่ำเสมอ

           พระเจ้าพิมพิสาร ตามประวัติ เป็นชายหนุ่มเจ้าสำราญ ไม่ว่าเมืองไหนมีหญิงงามเมือง ก็จะไปใช้บริการ อย่างเมืองอุชเชนี แคว้นอวันตี อยู่ห่างเมืองราชคฤห์ตั้งหลายร้อยโยชน์ ท่านยังได้ไปใช้บริการหญิงงามเมืองชื่อ “ปทุมวดี” นางงามเมืองผู้เลอโฉมของอุชเชนี จนหญิงงามเมืองคนนี้ตั้งท้อง

        เมื่อนางปทุมวดีคลอดลูกออกมา แม่ก็เลยส่งลูกชายมาให้พระเจ้าพิมพิสาร เมืองราชคฤห์ เลี้ยงไว้ ลูกชายคนนี้ชื่อ “เจ้าอภัยราชกุมาร” ผู้เป็นพ่อเลี้ยงหมอชีวกโกมารภัจจ์ หมอที่เคยรักษาพระพุทธเจ้านั้นเอง

          กล่าวกันว่า ในช่วงระยะเวลาที่พระเจ้าพิมพิสารไปมาหาสู่กับนางอัมพปาลี อยู่นั้น นางก็ตั้งครรภ์ขึ้น อาจจะด้วยความประมาท หรือบุญทำกรรมแต่งก็ไม่ทราบ จนได้ลูก คลอดออกมาเป็นชาย ตั้งชื่อให้ว่า “วิมล” ว่ากันว่าเจ้าหนูน้อยวิมลคนนี้ก็คือทายาทของพระเจ้าพิมพิสารนั้นเอง

           ต่อมาพระเจ้าพิมพิสารก็ได้ให้ประกวดสาวงามทั่วกรุงเพื่อแต่งตั้งเป็นนางนครโสเภณี ผลการประกวดปรากฏว่าได้สตรีชื่อวา “สาลวดี” เป็นหญิงงามแห่งนครราชคฤห์

           พระเจ้าพิมพิสารเมื่อได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับหญิงงามเมืองชื่อ “สาลวดี” จนได้บุตรชายด้วยความเผลอมาคนหนึ่ง ซี่งบุตชายคนนี้ต่อมาได้กลายเป็นคนสำคัญในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา

           หญิงงามเมือง “สาลวดี” พอรู้ว่าตนเองตั้งครรภ์

กับพระเจ้าพิมพิสาร เธอก็งดรับแขก ใครมาหาเธอก็สั่งให้บอกว่าไม่สบาย ไม่พร้อมที่จะรับแขก จนกระทั่งคลอดลูกเป็นชาย เธอจึงตัดสินใจสั่งให้เอาลูกไปทิ้ง โดยเธอสั่งให้นำลูกไปทิ้งในที่ซึ่งจะมีคนเดินไปพบเห็นได้ เผื่อบุญมา วาสนาส่ง ลูกชายเธออาจมีผู้มีอันจะกินได้นำไปอุปการะเลี้ยงดูไว้ก็ได้ (เป็นแนวคิดหรือวิสัยทัศน์ของ

เธอ)

          นับว่าเธอคาดการณ์ไม่ผิด ถือว่าเป็นวิสัยทัศน์ของหญิงงามเมืองคนนี้ก็น่าจะไม่ผิด หรืออาจจะเป็นเพราะบุญของเด็กน้อยก็มิทราบ เพระเช้าวันนั้น พระอภัยราชกุมาร โอรสกษัตริย์พิมพิสาร เสด็จประภาสแต่เช้าพร้อมกับข้าราชบริพาร ได้ผ่านมาเห็นกาฝูงหนึ่งร้องเซ็งแซ่อยู่ข้างหน้า จึงรับสั่งให้มหาดเล็กวิ่งไปดูว่าฝูงการุมล้อมอะไรกัน

            มหาดเล็กไปดูและได้กลับมาทูลว่า เป็นเด็กน้อยคนหนึ่ง ไม่ทราบว่าใครนำมาทิ้งไว้

          พระอภัยราชกุมาร รับสั่งถามว่า เด็กน้อยคนนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า ?

        “ยังมีชีวิตอยู่ขอเดชะ” (ภาษาบาลีว่า ชีวโก แปลว่ายังมีชีวิตอยู่)

          พอได้ยินคำกราบทูลของมหาดเล็ก อภัยราชกุมารทรงเดินไปใกล้ๆ ทอดพระเนตรเห็นทารกน้อยดิ้นแด่ว ๆ อย่างน่าเวทนาสงสาร จึงสั่งให้นำเข้าวัง เลี้ยงดูอย่างทะนุถนอมรับไว้เป็นโอรสบุตรบุญธรรมของพระองค์

           อาศัยคำกราบทูลของมหาดเล็กว่า ยังมีชีวิตอยู่ (ชีวโก) จึงได้ทรงตั้งชื่อบุตรบุญธรรมคนนี้ว่า “ชีวกโกมารภัจจ์”

          ต่อมาเมื่อโตขึ้น ชีวกถูกพวกเด็ก ๆ ในวังล้อเลียนว่า เจ้าลูกไม่มีพ่อ (ดูแล้วน่าสงสารมาก) ด้วยสบประมาท

และการถูกล้อเลียน ทำให้มีความมุมานะจึงหนีพ่อเลี้ยงไปเรียนศิลปวิทยาที่เมืองตักสิลา สำนักที่มีชื่อเสียงโด่งดังในสมัยนั้น

          วิชาที่ “ชีวกโกมารภัจจ์” เรียนคือ วิชาแพทย์ ตอนไปเรียน ไม่ได้นำเงินติดตัวไป ไม่มีค่าเล่าเรียนอะไรให้อาจารย์ เลยอาสาอยู่รับใช้อาจารย์สารพัดแล้วแต่อาจารย์จะเรียกใช้ อาศัยความเป็นเด็กอ่อนน้อมถ่อมตน มีความเคารพนอบน้อมเชื่อฟังอาจารย์เป็นอย่างดี จึงเป็นที่โปรดปรานของอาจารย์ มีศิลปวิทยาเท่าไร อาจารย์ก็ได้ถ่ายทอดให้หมดเปลือกหมดพุงโดยไม่ปิดบังอำพรางอะไรไว้แต่อย่างใด

        ชีวกโกมารภัจจ์ เรียนหมออยู่ ๗ ปี ก็หวนระลึกถึงพ่อ คิดถึงบ้าน จึงเข้าไปเรียนถามอาจารย์ว่าเมื่อไหร่จะเรียนจบหลักสูตร

       อาจารย์บอกว่า วิชาการแพทย์เรียนเท่าไรก็ไม่รู้จบหรอก แต่ถ้าเธออยากจะกลับบ้านจริง ๆ ก็ต้องทดสอบก่อนว่าเธอมีความรู้พอที่จะไปรักษาคนได้แล้วหรือยัง

        ว่าแล้วอาจารย์ก็บอกให้ชีวกออกจากรั้วมหาวิทยาลัย เข้าป่าไปสำรวจดูว่า มีต้นไม้ต้นไหนที่เปลือกรากหรือใบใช้ทำยาไม่ได้ ให้เอาตัวอย่างต้นไม้ต้นนั้นกลับมาให้อาจารย์ดู กำหนดระยะเวลาให้สำรวจ ๗ วัน

           พอครบ ๗ วัน ชีวกเดินตัวเปล่ากลับมาหาอาจารย์ และเรียนอาจารย์ว่า ต้นไม้ใบหญ้าทุกชนิดที่เขาไปพบนั้นไม่มีต้นไม้ไหนที่ใช้ทำยาไม่ได้เลย

            อาจารย์พอได้ฟังชิวก ก็เอื้อมมือมาลูบศีรษะของเขาเบา ๆ พร้อมกล่าวว่า “ชีวก เธอเรียนจบหลักสูตรแล้ว ขอเธอจงกลับไปทำประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์เถิด”

        จากนั้นชีวกก็เดินทางจากตักสิลา มุ่งหน้ามายังนครราชคฤห์ เสบียงเดินทางหมดระหว่างทางที่เมืองสาเกต

จึงได้รับอาสารักษาเศรษฐีคนหนึ่งที่ป่วยด้วยโรคปวดศีรษะมาเป็นเวลานาน จนหายสนิท ได้รับเงินค่ารักษาเป็นจำนวนมาก

       กล่าวกันว่า หมอชีวกได้ใช้วิธีศัลยกรรมผ่าตัดกะโหลกศีรษะ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือทันสมัยเหมือนอย่างสมัยปัจจุบันนี้ จึงไม่ต้องสงสัยว่า พอเขารักษาเศรษฐีหายจากโรค ชื่อเสียงเขาก็ได้ขจรขจายไปทั่วเมือง ถึงกับลือว่าเขาเป็นหมอเทวดาเอาทีเดียว

        พอกลับมาถึงราชคฤห์ ได้ข่าวว่า เสด็จปู่พิมพิสาร (ความจริงก็ “พ่อ” ของชีวกนั่นเอง) ป่วยเป็นโรคร้ายแรงชนิดหนึ่ง ภาษาบาลีเรียกว่า “ภคัณฑลา” มีอาการโลหิตไหล หนองไหลออกมาเปื้อนภูษาจนเป็นที่น่ารังเกียจ (เหมือนกามโรคสมัย

ปัจจุบัน)

           หมอชีวกรับอาสารักษาให้จนหายสนิท จึงเป็นที่โปรดปรานมาก ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหมอหลวง พร้อมได้รับพระราชทานสวนมะม่วงนอกเมืองให้เป็นสมบัติอีกด้วย สวนมะม่วงหรืออัมพวัน นี่เองที่เขาได้ถวายให้เป็นวัดที่ประทับของพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ในกาลต่อมา หลังจากที่เขาได้ถวายพระโอสถแด่พระศาสดา เมื่อคราวพระองค์ทรงประชวรจากการที่พระเทวทัตคิดร้าย กลิ้งก้อนหินหมายทับพระองค์ แต่ก้อนหินพลาดไปมีเพียงสะเก็ดหินแตกมากระทบพระบาทจนห้อพระโลหิต พระสงฆ์สาวกจึงได้ช่วยกันหามพระพุทธองค์มาพักที่

สวนมะม่วงแห่งนี้

           เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นประมาณ ๘ ปีก่อนปรินิพพาน หมอชีวกทราบข่าวก็รีบไปถวายการรักษาพยาบาล

          นี้คือเลือดเนื้อเชื้อไขของหญิงงามเมืองอย่างมหาศาลที่หญิงงามเมือง “สาลวดี” สร้างไว้แก่พระพุทธศาสนา ซึ่งเธอได้ให้กำเนิดแก่ทารกชื่อ “ชีวกโกมารภัจจ์” ผู้ซึ่งทำประโยชน์มากมายแก่พระพุทธศาสนาและประชาชนทั่วไปในกาลต่อมา แม้ว่าจะให้กำเนิด “อย่างไม่ค่อยจะงดงาม” ก็ตาม

        หญิงงามเมืองอีกคนหนึ่งที่ทำคุณแก่พระพุทธศาสนาที่ควรทราบ แต่น่าเสียดาย ที่ตำนานมิได้จารึกชื่อเธอไว้ เพียงแต่บอกว่าหญิงงามเมืองผู้นี้โคจรมาเกี่ยวข้องกับพระพุทธองค์หลังจากพระองค์ตรัสรู้ได้ไม่นาน

            ช่วงที่พุทธองค์เสด็จไปเทศน์โปรดปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน แล้วโปรดยสกุมารพร้อมบริวารอีก ๕๐ คน เมื่อได้สาวกจำนวน ๖๐ องค์แล้วได้ส่งสาวกจาริกไปสั่งสอนประชาชนตามรัฐต่าง ๆ

          พระองค์เสด็จมุ่งหน้ามายังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ เพื่อโปรดชฎิลสามพี่น้อง นักบวชเกล้าผมที่ประชาชนชาวมคธศรัทธาเลื่อมใส ระหว่างทางทรงพบเด็กหนุ่มเจ้าสำราญ ๓๐ คน

          เรื่องของเรื่องก็คือเด็กหนุ่มเหล่านี้ได้พากันมาท่องเที่ยวพร้อมกับภริยาของตน หนึ่งในสามสิบนั้น ไม่มีภริยา จึงได้นำโสเภณีคู่ขาคนหนึ่งมาร่วมงานด้วย

       ขณะที่ทั้งหมดกำลังเล่นสนุกสนานกันอยู่นั้น โสเภณีนิรนามคนนี้ได้ฉวยโอกาส “ยกเค้า” ขโมยทรัพย์สินของพวกเขาแล้วหลบหนีไป พวกเขาจึงยกขบวนติดตามและมาพบพระพุทธองค์ จึงเข้าไปทูลถาม

       “สมณะ เห็นอิสตรีนางหนึ่งผ่านมาทางนี้ไหม”

        แทนที่พระพุทธองค์จะทรงตอบว่าเห็นหรือไม่เห็น แต่ทรงย้อนถามกลับเด็กหนุ่มเหล่านั้นไปว่า

        “พวกเธอแสวงหาตัวเองจะมิดีกว่าแสวงหาอิสตรีหรือ”

         พุทธวาทะคมคายแฝงด้วยความคิดปรัชญาประโยคเดียวนี้แท้ ๆ ได้กระทบความรู้สึกภายในของเด็กหนุ่มเจ้าสำราญพวกนี้อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

        จริงสินะ ..ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพวกเราได้ “วิ่งไล่” หาความสุขในเนื้อหนังมังสาอันจอมปลอม ยิ่งวิ่งไล่ก็ดูเหมือนว่ายิ่งจะห่างไกลความสุขที่แท้จริงออกไปทุกที มีแต่ได้รับทุกข์อย่างที่เป็นอยู่ หากหยุดไล่หันมามองที่ตัวเองบ้างบางทีอาจได้พบความสุขที่ตนกำลังไขว่คว้าหาก็อาจเป็นได้

           เมื่อพวกเขาคิดได้ดังนี้จึงนั่งลงสนทนากับพระพุทธองค์ พระองค์ได้แสดงธรรมโปรดพวกเขา จนได้บรรลุคุณธรรมชั้นสูง ทูลขอบวชเป็นสาวกของพระองค์ในที่สุด

           เพราะโสเภณีนิรนามขโมยของแท้ ๆ จึงทำให้เด็กหนุ่ม๓๐ คนเหล่านี้ได้ไล่ล่าตามเธอจนพบพระพุทธองค์ และกลายเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในเวลาต่อมา

           อย่างนี้จะไม่เรียกว่าหญิงงามเมืองหรือโสเภณีได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ศาสนาแล้วไช่ไหม ? คำโบราณก็ว่าไว้ว่าในชั่วอาจจะมีดี และในดีก็อาจจะมีชั่วได้ ขอให้แยกแยะเอา

ก็แล้วกัน

         หญิงงามเมือง หรือโสเภณีอีกคน ชื่อ สิริมา เธอเป็นน้องสาวของหมอชีวก ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหญิงนครโสเภณีต่อจากสาลวดี มารดาของเธอ (เรียกว่าเชื้อไม่ทิ้งแถว หรือลูกไม้หล่นไม่ไกลต้นก็ว่าได้)

         ว่ากันว่าค่าตัวของเธอครั้งละเป็นพันกหาปณะ กหาปณะหนึ่งคิดเป็นเงินไทยก็ตกราว ๔ บาท พันกหาปณะก็ ๔,๐๐๐ บาท (ค่าเงินสมัยโบราณนานมาแล้วนั้นก็ถือว่ามาก) ชายหนุ่มจน ๆ ระดับกระจอกๆ คงไม่มีปัญญาได้เป็น “แขก” ของเธอหรอก นอกจากเศรษฐีเงินถุงเงินถังเท่านั้น

          ความจริงวิถีชีวิตของหญิงงามเมืองหรือโสเภณีไม่น่าจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับวัดวาศาสนาเลยเพราะอาชีพสวนทางกัน แต่นางสิริมา เธอกลับกลายเป็นสาวิกาผู้ใจบุญ อุปถัมภ์ค้ำชูพระศาสดาจนตลอดอายุขัย

          เรื่องมีอยู่ว่า ครั้งหนึ่งนางสิริมา ได้รับจ้างให้ไปเป็น “เมียเช่า” ของเศรษฐีคนหนึ่ง นัยว่าภรรยาของเศรษฐีคนนี้เป็นคนเคร่งครัดในศาสนา ถือศีลอุโบสถ ไม่ค่อยยุ่งเกี่ยวกับเรื่องอารมณ์ทางเพศ แต่เศรษฐีผู้สามีมักมากในกามารมณ์ ภรรยาของเศรษฐีจึงไปว่าจ้างหญิงงามเมืองหรือโสเภณี “สิริมา” มาทำหน้าที่เป็นภรรยาชั่วคราวแทนตนเอง

          สามีเธอก็ไม่ขัดข้องกับแนวคิดภรรยาของเขา เขาคิดว่ากลับดีเสียอีก

          พออยู่กับสามีคนอื่นนานเข้า หญิงงามเมือง สิริมา เธอ

ก็นึกอยากจะเป็นภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมายบ้าง จึงคิดกำจัดภรรยาเขาเพื่อหวังฮุบเอาสามีและสมบัติ

         แต่ทำยังไง ๆ ภรรยาของเศรษฐี อุบาสิกาผู้เคร่งในศีลก็ไม่โกรธ จนสิริมาแกรู้และสำนึกในความผิดของตนในภายหลังจึงขอขมา อุบาสิกาแกก็ยกโทษให้พร้อมแนะนำให้ไปฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า

         หลังจากหญิงงามเมือง “สิริมา” พบพระพุทธเจ้าแล้ว สิริมาเธอมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา บำเพ็ญตนเป็นสาวิกาที่ดี ทำบุญใส่บาตรพระสงฆ์วันละ ๘ องค์ทุกวัน

        ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งไปบิณฑบาตที่บ้านนางสิริมาแล้วไปคุยถึงความงามของนางสิริมาให้พระอีกรูปหนึ่งฟัง จนพระหนุ่มรูปนั้นได้ฟังถึงกับหูผึ่งถามว่า “นางสิริมานี่งามมากจริง ๆ หรือ”?

        พอได้ยินเกียรติคุณแห่งความงามของนางสิริมา จนพระหนุ่มอยากพบหน้าเธอเป็นกำลัง ตื่นเช้าออกบิณฑบาตได้เดินลิ่วตรงไปยังบ้านเธอทันที

           บังเอิญ วันนั้นหลังจากใส่บาตรแล้วเธอป่วยกะทันหัน รุ่งเช้าขึ้นเธอให้คนพยุงออกมาตักบาตร พระหนุ่มพอเห็นหน้าเธอเท่านั้น ก็รำพึงในใจว่า

           “โอ้โฮ ! ขณะไม่สบายเธอยังสวยงามถึงเพียงนี้ ถ้าไม่ป่วยไข้ เธอจะงามขนาดไหนหนอ”

           พอพระหนุ่มกลับถึงวัดข้าวปลาก็ไม่ยอมฉัน เอาจีวรคลุมศีรษะนอนอยู่คนเดียว แม้พระเพื่อนพ้องจะปลอบโยนยังไงก็ไม่ฟัง

          พระพุทธเจ้าทรงทราบดีว่าเกิดอะไรขึ้นกับสาวกหนุ่มของพระองค์ ต่อมาพอได้ข่าวว่านางสิริมาซึ่งป่วยได้ตายลงจึงทรงรับสั่งไปยังพระเจ้าพิมพิสารว่าอย่าเพิ่งเผาศพนางสิริมา ขอให้นำศพเธอไปทิ้งไว้ที่ป่าช้าผีดิบสัก ๓ วัน พอครบ ๓ วันพระองค์รับสั่งให้บอกเหล่าพระสงฆ์สาวกว่าวันนี้ให้พระทั้งหมดไปดูนางสิริมา

           พระหนุ่มผู้ต้องศรกามเทพพอได้ยินคำว่าสิริมาก็รีบลุกขึ้นคว้าจีวรห่มแล้วลงกุฏิไปทันที

          พระพุทธองค์ตรัสสั่งให้ในหลวงประกาศแก่คนทั่วไปว่า ใครอยากได้นางสิริมาไปนอนด้วยให้จ่ายค่าตัวพันกหาปณะ สิ้นเสียงประกาศมีแต่ความเงียบวังเวง ไม่มีใครรับข้อเสนอ

      เสียงประกาศย้ำอีก“ใครจ่ายห้าร้อยกหาปณะรับเอาเธอไป”

      “สองร้อยกหาปณะรับเอาเธอไป ”

“หนึ่งร้อยกหาปณะรับเอาเธอไป ”

“ห้าสิบกหาปณะรับเอาเธอไป ”

“สิบกหาปณะรับเอาเธอไป ”

“หนึ่งกหาปณะ รับเอาเธอไป”

“หนึ่งมาสก รับเอาเธอไป”

“หนึ่งกากณิกรับเอาเธอไป”

ไม่มีใครสักคนเลยพูดตอบกลับ....

           “ถ้าอย่างนั้นใครอยากได้เปล่า ๆ เอาไปเลย”

เงียบ !....

         พระศาสดาทรงหันมาตรัสกับเหล่าสาวกของพระองค์ว่า

        “ดูเอาเถิดภิกษุทั้งหลาย เมื่อก่อนใครอยากจะอยู่ร่วมกับเธอสิริมาเพียงครู่เดียว

ต้องจ่ายเงินถึงพันกหาปณะ บัดนี้ยกให้ใครเอาเปล่าๆ ก็ไม่มีใครเอา ร่างกายนี้แหละ

ที่ใครต่อใครแย่งกันเพื่อหวังครอบครอง บัดนี้หาค่าอันใดมิได้ ทุกอย่างมันช่างฝันแปร

ไม่แน่นอนอะไรเช่นนี้” แล้วพระองค์ก็ตรัสว่า

ปัสสะ จิตตะกะตัง พิมพัง

อรุกายัง สะมุสสิตัง

อาตุรัง พะหุสังกัปปัง

ยัสสะ นัตถิ ธุวัง ฐิติ

จงดูร่างกายที่ว่าสวยงามนี้เถิด

เต็มไปด้วยแผล สร้างขึ้นด้วยกระดูก

เต็มไปด้วยโรค มากด้วยความครุ่นคิดปรารถนา

หาความยั่งยืนถาวรมิได้

           พอตรัสจบพลางชำเลืองสายพระเนตรมายังภิกษุหนุ่ม

ผู้ต้องศรกามเทพสิริมาที่ยืนอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์องค์นั้น ศรรักที่ปักอกเธอได้ถูกถอนออกแล้ว

เธอได้ฟื้นตื่นจากความลุ่มหลงงมงายในบัดดลทันที...

          จะเห็นได้ว่า หญิงงามเมือง หรือโสเภณีที่คลุกคลีอยู่ในทะเลตัณหาก็ยังได้ช่วยให้

พระได้บรรลุธรรมได้....

          ตำแหน่งนครโสเภณีในโบราณ แม้ว่าจะมีเกียรติยศถึงขนาดเรียกว่า ผู้ทำเมืองให้งาม

หรือผู้สร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติขนาดเป็นตำแหน่งที่พระราชาทรงแต่งตั้งก็ตาม แต่นั่นเข้าใจว่า

คงจะเป็นเพียงสมัยแรก ๆ เท่านั้น ต่อมาคงไม่มีใครคิดว่าเป็นเกียรติยศอีก ทั้งพระราชาก็คง

มิได้ตั้งใครอีกต่อไปแล้ว

         จากที่กล่าวมาข้างต้น พอจะเห็นได้ว่า หญิงงามเมือง มาจากคำว่า “นครโสเภณี” ซึ่งเคยเป็นคำที่ดีงดงามทั้งทางความหมายและเกียรติยศ ต่อมาเหลือเพียง คำว่า “โสเภณี” ได้มีมานานแล้ว ก่อนพุทธกาลเสียอีก ในสมัยพุทธกาล พวกเธอได้มีส่วนในการช่วยเหลือพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก แม้หมอชีวกโกมาภัจจ์ หมอประจำพุทธองค์ ก็เป็นลูกของหญิงงามเมืองหรือลูกโสเภณี นั้นเอง และบนโลกใบนี้ คงไม่มีประเทศใดเลยที่จะไม่มีหญิงงามเมือง หรือ “นครโสเภณี” หรือ “โสเภณี” แล้วแต่จะเรียก เพราะตราบใดที่คนเรายังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ คนเราก็ยังมีตัณหา ราคะความกำหนัดอยู่ดี คล้าย ๆ กับหลักเศรษฐศาสตร์ เมื่อมีอุปสงค์ (ความต้องการซื้อ) ก็ย่อมจะมีอุปทาน (ความต้องการขาย) นั้นเอง หรือคล้าย ๆ กับคำที่อาจารย์ของหมอชีวกได้บอกหมอชีวกว่า “จงเข้าป่าไปสำรวจดูว่า มีต้นไม้ต้นไหนที่เปลือกรากหรือใบใช้ทำยาไม่ได้” มันก็คงไม่มี เพราะต้นไม้แต่ละต้นก็มีประโยชน์ต่างกันทำนองนั้นแหละ จึงกล่าวได้ว่า โสเภณีนี้ มีมานานแล้ว และมีอยู่ทุกประเทศ มากน้อยต่างกันเท่านั้น ประเทศใดเก็บข้อมูลนี้ไว้ไม่ได้ก็อาจจะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ หรือติดแบล็กลิสต์ว่า เป็นประเทศค้ามนุษย์ ส่วนประเทศใดเก็บข้อมูลนี้ไว้ได้ดี ก็อาจจะกระหยิ่มใจที่ไม่ถูกตราหน้าว่า “ค้ามนุษย์” ดังคำพังเพยที่ว่า  “คนดีคือคนที่สามารถปกปิดความชั่วของตนไม่ให้ใครรู้ ยิ่งปกปิดไว้ได้นานเพียงใด ก็ยังเป็นคนดี (จอมปลอม) นานเพียงนั้น”และแม้ว่าในเวลาต่อมา หญิงงามเมืองจะมีภาพลักษณ์ไม่ค่อยจะดีนัก แต่ก็จะปฏิเสธไม่ได้ว่า ห้ามไม่ให้มีหญิงงามเมือง หรือห้ามไม่ให้มีโสเภณี เพราะสิ่งนี้ไม่ใช่เพิ่งมี แต่ได้มีมานานแล้วก่อนสมัยพุทธกาลนั้นเอง

         อนึ่ง ถ้าลองมองโลกในแง่ดีบ้างว่า การที่คนไปเป็นโสเภณีอาจจะสะท้อนให้เห็นถึงสภาพปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาทางสังคม ปัญหาความเหลื่อมล้ำหรือด้อยโอกาสทางการศึกษา ปัญหาความยากจน ปัญหาหย่าร้าง เป็นหม้าย เป็นต้น ก็ได้ เพราะไม่มีใครอยากเป็นเช่นนั้น เมื่อสังคม รัฐหรือประเทศ ตลอดทั้งโลก สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ คงจะทำให้หญิงงามเมืองหรือโสเภณีค่อย ๆ หมดไปก็เป็นได้ เพียงให้ร่วมด้วยช่วยกันแก้ปัญหาทางสังคมให้ดี เพราะปัญหาพื้นฐานของสังคมไม่ว่าจะเป็นเรืองของแย่งอาหารกันกิน (ทรัพยากรเริ่มมีน้อย) แย่งแผ่นดินกันอยู่ (พื้นที่เหลือน้อย) แย่งคู่พิศวาส (ถือว่าเป็นของกู) และแย่งอำนาจกันปกครอง (ไม่เป็นไปตามกฎหมายบ้านเมือง) ยังมีอยู่ แถมโลกปัจจุบัน ยังมีโควิด-19 และแตกกอเป็นโอมิครอนแพร่ระบาดหนักไปทั่วโลก จนทำให้ผู้คนทั่วโลก มีชีวิตอยู่กันอย่างแสนจะลำบาก ไม่ว่าจะเป็นการเป็นอยู่ การประกอบอาชีพ ไม่รู้ว่าโรคนี้จะหมดไปอีกนานเท่าใด หรือผู้คนทั้งโลก จะต้องใช้ชีวิตแบบปิดจมูกเหมือนคนป่วยอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ อีกนานเท่าใด ฉะนั้น เมื่อสภาพสังคมยังมีปัญหา เพราะอิทัปปัจจยตา คือความเกี่ยวเนื่องกันของเหตุและผล เมื่อมีเหตุย่อมมีผล และเมื่อเหตุดับผลก็ดับ คือเมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ย่อมมี เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ย่อมไม่มี เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้สิ่งนี้จึงดับไป และผู้คนลำยังบากในการทำมาหากินเช่นนี้ พวกเราต้องร่วมด้วยช่วยกันแก้ปัญหา เพื่อจะได้ช่วยกันจรรโลงโลกให้น่าดูน่าอยู่ น่าชมต่อไป....

  

บทวิเคราะห์/วิพากษ์

        จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า สตรีหรือผู้หญิงมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดหรือบ่อเกิดแห่งพุทธศาสนา ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมก่อนที่พระองค์จะได้ตรัสรู้ก็มีมารหญิง จิญจมาณวิกา มาผจญ ลองใจพุทธองค์จะแน่วแน่มั่นคงเพียงใด ดังคำที่ว่า “มารไม่มี บารมีไม่เกิด” ก่อนตรัสรู้ ก็มีนางสุชาดา ได้ถวายข้าวมธุปายาสให้พระองค์ได้เสวย และได้ตรัสรู้ในเวลาอีกไม่นาน และหลังตรัสรู้ก็มีสตรีหลายคน ทั้งหญิงงามเมือง หรือนครโสเภณี และสิบสตรีโดดเด่นในพุทธศาสนาคือ

 

๑.   นางสุชาดา

        เป็นธิดาของเสนิยกฎมพี ในหมู่บ้านเสนานิคม ตำบลอุรุเวลา เมื่อย่างเข้าสู่วัยสาว นางได้ทำพิธีบวงสรวงต่อเทพยดาที่สิงสถิตอยู่ ณ ต้นไทรใหญ่ใกล้บ้าน โดยตั้งความปรารถนาไว้สองประการ คือ ขอให้นางได้แต่งงานกับชายที่มีบุญ และมีทรัพย์สินเสมอกัน และขอให้นางมีบุตรคนแรกเป็นชายความปรารถนาของนางสำเร็จดังที่ตั้งใจไว้ และนางได้ทำพิธีบวงสรวงเทพยดา เมื่อบุตรชายของนางแต่งงานแล้ว โดยนำข้าวมธุปายาสใส่ถาดทองคำ ไปบวงสรวง เทพยดา ณ ต้นไทรที่นางเคยบนบานไว้ ซึ่งนางได้พบพระสิทธัตถะ โพธิสัตว์ประทับนั่งอยู่ที่นั่น มีรัศมีเปล่งปลั่ง น่าเลื่อมใส นางเข้าใจว่าเป็นเทพยดา จึงน้อมถาดทองคำที่ใส่ข้าวมธุปายาสเข้าไปถวาย พระโพธิสัตว์รับถาดทองคำนั้นไว้ เมื่อนางถวายถาดทองคำแล้วก็เลี่ยงออกไป โดยไม่เสียดายถาดทองคำอันมีค่าเลย พระโพธิสัตว์เสวยข้าวมธุปายาสแล้ว ก็ลอยถาดทองคำลงในแม่น้ำเนรัญชรา วันนั้น เป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เป็นวันแห่งการตรัสรู้ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในกาลต่อมา “ยสะ” ซึ่งเป็นบุตรชายของนางสุชาดา ได้พบพระพุทธเจ้าที่ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ได้ฟังธรรมจากพระศาสดาและได้บรรลุเป็นโสดาบันและได้บรรลุอรหัตผล เมื่อได้ฟังธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงแก่บิดาของตน แล้วทูลขออุปสมบทเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา บิดาของท่านได้เป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยคนแรก ส่วนมารดา คือนางสุชาดา พร้อมทั้งภรรยาเก่าของท่านยสะ เมื่อได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ก็ได้ถึงพระรัตนตรัย เป็นอุบาสิกาคู่แรกในพระพุทธศาสนา นางสุชาดาได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่า เป็นผู้เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลาย ในฝ่ายผู้ถึงพระรัตนตรัยก่อนอุบาสิกาทั้งปวง

๒.  นางวิสาขา มหาอุบาสิกา

          เกิดในตระกูลเศรษฐี ในเมืองภัททิยะ แคว้นอังคะ เป็นธิดาของธนญชัย และนางสุมนาเทวีขณะอายุได้ ๗ ขวบ ได้ฟังธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงแก่เมณฑกเศรษฐี ผู้เป็นปู่ ก็ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน ต่อมาได้ย้ายครอบครัวไปอยู่เมืองสาวัตถี ตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าปเสนทิโกศล ที่ประสงค์จะมีตระกูลมหาเศรษฐีอยู่ในเมืองของพระองค์

         นางวิสาขาได้มีบทบาทสำคัญในพระพุทธศาสนา ได้สร้างวัดบุพพารามในนครสาวัตถี เป็นโลหประสาท ๒ ชั้น มีห้องพักสำหรับพระภิกษุ ๕๐๐ รูป นางวิสาขาถวายความอุปถัมภ์แก่พระพุทธเจ้าและพระสาวกมิได้ว่างเว้น และเมื่อเกิดการไต่สวนเกี่ยวกับนางภิกษุณีในความไม่สมควรที่เกิดขึ้น ก็จะมีนางวิสาขาเป็นกรรมการด้วยผู้หนึ่งเสมอมา และนางได้ทำให้ตระกูลของพ่อผัวเป็นสัมมามิฐิ จนนางได้รับการยกย่องจากพ่อผัวให้เป็นมารดาทางธรรม มีชื่อว่า “วิสาขามิคารมาตา” เป็นต้น

         นางวิสาขาได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่า เป็นเลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายในฝ่ายผู้เป็นทายิกา(ผู้ถวายทาน)

๓.  นางขุชชุตตรา

           เป็นสาวพิการหลังค่อม เป็นลูกสาวของหญิงแม่นมในเรือนของโฆสกเศรษฐีในกรุงโกสัมพีต่อมาโฆสกเศรษฐีได้รับนางสามาวดีไว้ในฐานะธิดาของตนแล้ว ได้มอบหญิง ๕๐๐ คน ซึ่งมีนางขุชชุตตราอยู่ในจำนวนนี้ด้วย เป็นบริวารของนางสามาวดี ต่อมานางสามาวดี ได้รับการอภิเษกเป็นพระมเหสีของพระเจ้าอุเทนแห่งนครโกสัมพี หญิงบริวารเหล่านี้ก็ได้ติดตามไปรับใช้พระนางสามาวดีในพระราชนิเวศน์ด้วย ต่อมานางขุชชุตตราได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้วบรรลุโสดาปัตติผล และนางได้แสดงธรรมแก่พระนางสามาวดี และหญิงบริวารทั้งหมด จนได้บรรลุโสดาบันพร้อมกัน นางจึงเป็นทั้งมารดาและอาจารย์ของพระนางสามาวดีและหญิงบริวาร โดยมีหน้าที่ ไปฟังธรรมจากพระบรมศาสดา แล้วมาแสดงแก่คนเหล่านั้น จนนางเป็นผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก

          นางขุชชุตตราได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายในฝ่ายผู้แสดงธรรม

 ๔. พระนางสามาวดี

          เป็นธิดาของเศรษฐีนามว่า ภัททวคีย์ แห่งเมือง ภัททวคีย์ เดิมชื่อสามา บิดาของนางเป็นสหายกับโฆสกเศรษฐีแห่งนครโกสัมพี ต่อมาเกิดโรคระบาดในเมืองภัททวคีย์ เศรษฐีต้องพา ภรรยาและลูกสาวหนีภัยไปนครโกสัมพี แต่เมื่อเดินทางไปถึงนครโกสัมพี ไม่ทันได้พบกับโฆสกเศรษฐีผู้เป็นสหาย ก็ได้เสียชีวิตพร้อมกับภรรยา ทิ้งให้นางสามาวดี อยู่แต่ลำพัง ต่อมาโฆสกเศรษฐีทราบเรื่องจึงรับนางสามาวดีเป็นลูกบุญธรรม ตั้งไว้ตำแหน่งแห่งธิดา และต่อมาได้อภิเษกกับพระเจ้าอุเทนแห่งนครโกสัมพี

          พระนางสามาวดีได้ฟังธรรมจากนางขุชชุตตราจนบรรลุเป็นพระโสดาบัน ภายหลังพระเจ้าอุเทนเชื่อคำยุยงของพระนางมาคันทิยา ซึ่งไม่พอใจที่พระนางสามาวดี ฝักใฝ่ในพระพุทธศาสนา พระเจ้าอุเทนจึงให้นางสามาวดีและหญิงบริวารยืนเรียงแถวกันแล้วยิงด้วยธนู แต่พระนางสามาวดีและหญิงบริวารทั้งหมด แผ่เมตตาแก่พระเจ้าอุเทน ธนูที่ยิงไปจึงมิได้ทำอันตราย แต่ได้หวนกลับมาตกลงตรงเบื้องพระพักตร์ พระเจ้าอุเทนรูสึกสำนึกผิดจึงขอโทษพระนางสามาวดี ซึ่งนางไม่ได้โกรธเคืองแต่อย่างใด โดยบอกเพียงว่าให้มีพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งเถิด อย่ายึดถือเอาพระนางเป็นที่พึ่งเลย

           ในเวลาต่อมา พระนางสามาวดีก็ถูกพระนางมาคันทิยา ใช้ให้คนลอบไปเผาปราสาท พระนางสามาวดีและหญิงบริวารถูกไฟคลอกเสียชีวิตทั้งหมด พระเจ้า อุเทนทรงทราบเรื่องจึงสั่งให้ประหารพระนางมาคันทิยาและ

เหล่าญาติจนหมดสิ้น

            พระนางสามาวดีได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายในฝ่ายผู้อยู่ด้วยเมตตา

 

๕.  นางอุตตรานันทมารดา

           เป็นลูกสาวจของนายปุณณะ ซึ่งเป็นคนรับใช้ในเรือนของสุมนเศรษฐี ในกรุงราชคฤห์ เป็นคนขยันทำงาน ได้ถวายอาหารบิณฑบาตแก่พระสารีบุตร ผู้ออกจากนิโรธสมบัติ เขาจึงได้กลายเป็นเศรษฐีในวันนั้น ต่อมานางอุตตรานันทมารดาได้สมรสกับลูกชายของราชคฤห์เศรษฐี แต่เพราะนางเป็นโสดาบัน ต้องอธิษฐานอุโบสถเดือนละ ๘ วัน จึงว่าจ้างนางสิริมา หญิงงามเมืองมาบำรุงบำเรอสามีแทนตน ส่วนตนและหญิง บริวารก็จัดหาของเคี้ยวของฉัน เพื่อถวายพระพุทธเจ้าและพระสาวก ฝ่ายนางสิริมา และสามีของนางยืนดูอยู่ที่หน้าต่างด้วยความไม่พอใจ จึงใช้น้ำมันร้อน ๆ เทราดไปบนศีรษะของนางอุตตรา ซึ่งนางอุตตราเองก็ระวังตัวจึงเข้าฌานอยู่ น้ำมันร้อน ๆ จึงไม่ทำอันตรายใด ๆ ได้เลย นางสิริมาได้ระลึกถึงความผิดของตน จึงกราบแทบเท้านางอุตตราเพื่อขอโทษ ต่อมานางสิริมาได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า และได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล

       ด้วยเหตุที่นางอุตตราเป็นผู้เชี่ยวชาญในการเข้าฌาน พระบรมศาสดาจึงยกย่องว่า เป็นผู้เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายในการเพ่งฌาน หรือผู้เข้าฌาน

   ๖. พระนางสุปปวาสา

             เป็นธิดาของกษัตริย์นครโกสิยะ ทรงเจริญวัยแล้วได้อภิเษกสมรสกับศากยกุมารองค์หนึ่งจากนั้นพระนางก็ตั้งครรภ์นาน ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน จึงประสูติโอรส นามว่าสีวลี พระนางได้เข้าเฝ้าพระบรมศาสดา ครั้งแรกได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์จบแล้วก็บรรลุเป็นพระอริยบุคคลชั้นพระโสดาบัน ต่อมาพระนางได้ถวายภัตตาหารแก่พระพุทธเจ้า และพระอริยสาวกอย่างสม่ำเสมอ

          พระนางได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายในฝ่ายผู้ถวายของอันมีรสอันประณีต

๗. นางสุปปิยา

          เกิดในตระกูลหนึ่งในกรุงพาราณสี เมื่อเจริญวัยแล้วได้แต่งงานกับชายผู้มีฐานะเสมอกันนางมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้วบรรลุเป็นพระโสดาบัน วันหนึ่งไปฟังธรรมที่วัด ก่อนกลับบ้านพบพระสงฆ์อาพาธรูปหนึ่ง จึงถามว่าพระคุณเจ้าต้องการสิ่งใด พระรูปนั้นก็ตอบว่า อาตมาต้องการอาหารที่มีเนื้อ

       วันรุ่งขึ้น นางใช้ให้ทาสีไปหาซื้อเนื้อในตลาด แต่ก็หาซื้อไม่ได้ จึงเฉือนเนื้อที่ขาของตน แล้วให้นำไปปรุงเป็นอาหารถวายพระรูปนั้น พระพุทธเจ้าทรงทราบว่า นางสุปปิยาป่วย จึงเสด็จมาพร้อมกับพระสงฆ์เพื่อเยี่ยมไข้นาง เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสถามถึงนาง นางจึงลุกขึ้นจากที่นอน อาการเจ็บปวดก็หายไปเป็นปลิดทิ้ง บาดแผลหายสนิทเป็นปกติทุกประการ นางได้กราบทูลถึงเรื่องราวที่ตนกระทำไปทั้ง หมดให้พระพุทธองค์ได้ทรงทราบ พระองค์จึงบัญญัติสิกขาบท ห้ามภิกษุฉันเนื้อมนุษย์

        พระพุทธองค์ทรงยกย่องนางสุปปิยาว่า เป็นผู้เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายในฝ่ายผู้อุปัฏฐากภิกษุอาพาธ

           ๘. นางกาติยานี 

             เกิดในกุกรรฆรนคร มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาตั้งแต่เยาว์วัย มีหญิงสหายคนหนึ่งชื่อนางกาฬี ในราตรีหนึ่งขณะที่พระโกฆิกัณณโสณเถระ กำลังแสดงธรรมโปรดมารดา จนได้บรรลุธรรมโสดาปัตติผลถึงพระอรหัตมรรค โดยนางกาติยานี และนางกาฬีผู้สหายก็ได้ร่วมฟังธรรมอยู่ด้วยคืนนั้นโจรประมาณ ๙๐๐ คน ขุดอุโมงค์จากมุมหนึ่งของเมืองไปโผล่ที่บ้านของนางกาติยานี ส่วนหัวหน้าโจรทำทีเข้าไปฟังธรรม เพื่อต้องการทราบว่าคนเหล่านั้นประชุมกันด้วยเรื่องอะไร ได้ยินนางทาสีบอกนางกาติยานีว่า มีโจรเข้าบ้าน มาขโมยของ แต่นางกลับบอกว่าอย่าไปสนใจ โจรอยากได้อะไรก็ให้เขาขนไป เราจะฟังธรรม หัวหน้าโจรได้ยินดังนั้นเกิดอาการเลื่อมใส จึงสั่งให้ลูกน้องคืนสิ่งของที่ขโมยไปคืนแก่นางกาติยานีทั้งหมด และขอให้นางช่วยให้ตนได้บวชในสำนักของ พระโกฆิกัณณโสณเถระด้วย ซึ่งนางก็จัดการให้ตามประสงค์ และทั้งหมดก็ได้บวชจนบรรลุพระอรหัตผล ส่วนนางฟังธรรมแล้วบรรลุพระโสดาบัน พระบรมศาสดาทรงยกย่องนางกาติยานีว่า เป็นเลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายในฝ่ายผู้เลื่อมใสมั่นคง

๙.  นางนกุลมารดาคหปตนี

        เกิดในตระกูลเศรษฐีในเมืองสุงสุมารคีรี แคว้นภัคคะ เมื่อเจริญวัยได้แต่งงานอยู่ครองเรือนตามฆราวาสวิิสัย เมื่อบิดามารดาเสียชีวิตแล้วก็ครอบครองสมบัติสืบไป ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปสู่นครสุงสุมารคีรี ประทับในเภสกลาวัน นกุลเศรษฐีและภริยาพร้อมชาวเมืองสุงสุมารคีรีเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า และได้เรียกพระพุทธเจ้าว่าเป็นบุตรของตน พระพุทธเจ้าทรงยกเรื่องในอดีตชาติมาตรัสแก่พุทธบริษัทว่า ทั้งสองสามีภริยานี้เคยเป็นบิดามารดาของพระองค์มา ๕๐๐ ชาติ เป็นต้น จึงทำให้ชาวเมืองคลายความสนเท่ห์จนหมดสิ้น

          พระบรมศาสดาทรงยกย่องนางนกุลมารดาคหปตนี ให้เป็นผู้เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายในฝ่ายผู้มีความคุ้นเคยในพระศาสดา

๑๐. นางกาฬีกุกรรฆริกา
       เกิดในเมืองราชคฤห์ มีสามีอยู่ในกรุงกุรรฆรนคร ต่อมานางได้ตั้งครรภ์ และกลับยังเรือนของบิดามารดาใน กรุงราชคฤห์ คืนหนึ่งได้ยินพวกยักษ์ที่ยืนอยู่ในอากาศเหนือปราสาทของตน สรรเสริญคุณพระรัตนตรัยแล้วเกิดศรัทธาเลื่อมใส ได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล โดยยังมิได้เข้าเฝ้าพระบรมศาสดา และนางได้คลอดบุตรโดยสวัสดิภาพ

          พระบรมศาสดาจึงยกย่องนางกาฬีกุกรรฆริกาว่า เป็นผู้เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายในฝ่ายผู้ได้ความเลื่อมใสตามเขา คือ เลื่อมใสโดยฟังตามคนอื่น

          สตรีทั้ง ๑๐ คนนี้ นับว่ามีบทบาทสำคัญในพระพุทธศาสนาที่ไม่อาจปฏิเสธได้ เพราะเป็นรากเหง้าแห่งความเจริญของพระพุทธศาสนาสืบ ๆ ต่อกันมาจนทุกวันนี้(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 100 มี.ค. 52 โดยธมฺมจรถ)

        นอกจ่ากนี้แล้ว ภิกษุณี ถือว่า เป็นหนึ่งในบริษัท 4 ในพุทธศาสนา คือภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบากสิกา

ภิกษุณีที่มีชื่อเสียงในพุทธศาสนา เป็นกษุณีรูปแรก คือพระนางมหาปชาบดีโคตมี เป็นภิกษุณีสงฆ์รูปแรก

        ในช่วงต้น ๆ ไม่มีภิกษุณี ภิกษุณีสงฆ์เกิดขึ้นหลังจากพระนางมหาปชาบดีโคตมีบวช

        เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จนิวัติกรุงกบิลพัสดุ์ (ครั้งที่เท่าไร ลืมตรวจสอบ) รู้แต่ว่าเจ้าชายในศากยวงศ์และโกลิยวงศ์ อาทิ เจ้าชายอานนท์ เจ้าชายภัททิยะ เจ้าชายมหานาม และเจ้าชายเทวทัต ได้ออกบวชเป็นสาวกพระพุทธองค์แล้วช่วงนั้นมีวัดพระเชตวันในเมืองสาวัตถีแล้ว พระนางมหาปชาบดีโคตมี อยากบวชเหมือนเจ้าชายทั้งหลายบ้าง แต่ถูกพระองค์ปฏิเสธ เมื่อพระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์เสด็จกลับจากนครกบิลพัสดุ์ ไปประทับอยู่ที่ป่ามหาวัน นอกเมืองไพศาลี แคว้นวัชชี พระนางมหาปชาบดีโคตมี พร้อมเหล่าสากิยานีจำนวนมากปลงผมนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ พากันเดินเท้าเปล่า มุ่งหน้าไปยังป่ามหาวันเพื่อทูลขออุปสมบท

        พระนางแจ้งความประสงค์ให้พระอานนท์ทราบ พระอานนท์นำความกราบทูลพระองค์ทรงทราบ พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธว่า อย่าเลยอานนท์ การบวชสตรี อย่าเป็นที่ชอบใจของเธอเลย

        ในที่สุดพระอานนท์กราบทูลถามว่า บุรุษกับสตรีมีความสามารถไม่ทัดเทียมกันใช่หรือไม่ สตรีไม่สามารถบรรลุธรรมชั้นสูงเฉกเช่นบุรุษใช่หรือไม่

        พระพุทธองค์ตรัสว่า ในเรื่องนี้ ไม่มีความแตกต่างกันแต่อย่างใด สตรีก็มีศักยภาพที่จะบรรลุที่สิ้นสุดทุกข์เช่นเดียวกับบุรุษ

        พระอานนท์กราบทูลถามว่า ถ้าเช่นนั้น เพราะเหตุใดพระพุทธองค์จึงไม่ทรงอนุญาตให้พระนางมหาปชาบดีโคตมีบวช สตรีก็มีความสามารถที่จะบรรลุธรรมขั้นสูงได้

          พระพุทธองค์จึงทรงยินยอมตามที่พระอานนท์กราบทูลขอ แต่ก็ทรงวางกฎเหล็กอันเรียกว่า “ครุธรรม 8 ประการ” ไว้ว่า ถ้าปชาบดีโคตมีสามารถปฏิบัติครุธรรม 8 ประการนี้ได้ พระองค์ก็ทรงยินดีประทานอุปสมบทให้

          เมื่อพระอานนท์นำความแจ้งพระนางมหาปชาบดีโคตมี พระนางก็ยินดีปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ครุธรรม 8 ประการนั้นคือ

       1. ภิกษุณีแม้จะมีพรรษา 100 ก็ต้องกราบไหว้ภิกษุแม้บวชในวันนั้น

       2. ภิกษุณีจะอยู่ในวัดที่ไม่มีภิกษุไม่ได้

       3. ภิกษุณีจงถามวันอุโบสถและฟังโอวาทจากภิกษุ

       4. ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้ว ต้องปวารณาในสงฆ์สองฝ่าย

       5. ภิกษุณีที่ต้องอาบัติหนัก ต้องประพฤติมานัตในสงฆ์สองฝ่าย (คือลงโทษกักบริเวณตัวเอง ตามกรรมวิธีของสงฆ์)

       6. ภิกษุณีจะต้องได้รับอุปสมบทจากสงฆ์สองฝ่าย

       7. ภิกษุณีไม่พึงด่าไม่พึงบริภาษภิกษุไม่ว่ากรณีใด ๆ

       8. ภิกษุณีไม่พึงตักเตือนภิกษุ แต่ภิกษุตักเตือนภิกษุณีได้

          ฟังดูแล้วเป็นกฎเหล็กจริงๆ ที่เป็นเช่นนี้ คงเพราะพระพุทธองค์ไม่มีพระประสงค์จะให้สตรีบวช ทรงคำนึงถึงความปลอดภัยของสตรี ความซับซ้อนเกี่ยวกับสุขภาพร่างกายของสตรีที่สำคัญที่สุดทรงเกรงว่า ถ้าอยู่ใกล้ชิดกันมาก จะมีปัญหาในหมู่ภิกษุและภิกษุณี เพราะ “พรหมจรรย์” จะต้องเว้นขาดจากความเกี่ยวข้องทางกามารมณ์

       พระภิกษุและภิกษุณีที่ยังมีภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรงพอ ก็อาจเผลอไผลละเมิดสิกขาบทได้

       พระพุทธองค์ตรัสว่า สำหรับบุรุษ สตรีเป็นอันตรายต่อพรหมจรรย์ และสำหรับสตรี บุรุษก็เป็นอันตรายต่อพรหมจรรย์เช่นเดียวกัน

      เมื่อพระนางมหาปชาบดีโคตมียืนยันจะบวชให้ได้ และยินดีปฏิบัติตามกฎเหล็กทั้ง 8 ประการอย่างเคร่งครัด พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตให้พระนางบวช การบวชของพระนางสำเร็จได้ด้วยการยอมรับครุธรรม 8 ประการ

          พูดง่ายๆ ทันทีที่พระนางรับปากปฏิบัติครุธรรมอย่างเคร่งครัดก็เป็นภิกษุแล้ว การบวชของพระนางเรียกว่าบวชด้วยการรับครุธรรม (ครุธัมมปฏิคคหณอุปสัมปทา)

          เมื่อพระนางได้บวชแล้ว พระนางกราบทูลถามว่า แล้วจะให้ทำอย่างไรกับสตรีที่ตามพระนางมา พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ให้ภิกษุสงฆ์จัดการบวชให้เสีย การบวชสตรีบริวารของพระนางมหาปชาบดีโคตมี จึงกระทำขึ้นโดยภิกษุสงฆ์ฝ่ายเดียว (เพราะตอนนั้นยังไม่มีภิกษุณีสงฆ์)

          มีเรื่องเล่าต่อมา เมื่อสตรีเหล่านี้ได้รับการบวชจากภิกษุสงฆ์ตามพุทธบัญชาแล้ว พวกเธอจึงสำคัญว่าพวกตนเป็นภิกษุณีแท้ แต่พระนางมหาปชาบดีโคตมีมิใช่ภิกษุณีเพราะมิได้ผ่านการอุปสมบทเหมือนพวกตน

         ความทราบถึงพระองค์ พระพุทธองค์ตรัสว่า ก็การรับ

ครุธรรม 8 ประการนั้นแหละเป็นการอุปสมบทของมหาปชาบดีโคตมี

         หลังอุปสมบทแล้ว พระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรีรับเอากรรมฐานจากพระพุทธองค์ไปปฏิบัติ ไม่นานก็บรรลุพระอรหัต พระนางมหาปชาบดีโคตมีทรงเคารพในพระพุทธองค์มาก ถึงกับกล่าวว่า รูปกายของพระพุทธองค์ นางเป็นผู้เลี้ยงให้เจริญเติบโต นับเป็น “มารดา” ของพระพุทธองค์ทางร่างกาย แต่ธรรมกายของพระนาง พระพุทธองค์ทรงเลี้ยงให้เจริญ

         พูดภาษาสามัญก็ว่า ในทางโลก พระนางมหาปชาบดีโคตมีเป็น “แม่” ของพระพุทธเจ้า แต่ในทางธรรม พระพุทธองค์เป็น “พ่อ” ของพระนาง เท่านั้น เท่านั้นจริงๆ ไม่ใช่ “ธรรมกาย ธรรมเกิน” ดังที่บางพวกบางเหล่าพยายามจะลากความไปเพื่อสนองตัณหาของพวกตน

          พระนางมหาปชาบดีโคตมีได้รับยกย่องใน “เอตทัคคะ” (ความเป็นเลิศกว่าผู้อื่น) ในทาง “รัตตัญญู” แปลกันว่า “ผู้รู้ราตรีนาน” คงมิได้หมายความว่าผู้แก่เฒ่าเพราะอยู่นาน

       ความหมายที่แท้จริงน่าจะหมายถึง “ผู้มีประสบการณ์มาก” มากกว่า

       อนึ่ง ผู้หญิงที่มาบวชเป็นภิกษุณีบางรูป พระอุบลวรรณาเถรี เป็นภิกษุณีผู้เป็นอัครสาวิกาเบื้องซ้ายของพระโคตมพุทธเจ้าโดยในอดีตชาติคือ กัณหาชินาราชกุมารี พระธิดาของพระเวสสันดร จากเอกสารทางฝั่งเถรวาท พระอุบลวรรณาเถรี เกิดในตระกูลเศรษฐี ในกรุงสาวัตถี เนื่องจากความงามจึงเป็นที่หมายปองของชายทั่วทั้งชมพูทวีป พระราชาและมหาเศรษฐีต่างก็ส่งเครื่องบรรณาการมาสู่ขอ ผู้เป็นบิดารู้สึกลำบากใจ จึงออกอุบายให้ธิดาบวช แต่นางกลับศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างมาก หลังบวชไม่นานก็บรรลุพระอรหัตผล หลังได้จุดทำความสะอาด

พระอุโบสถ และจุดประทีป เพ่งดูเปลวประทีปแล้วถือเอาเป็นนิมิตพระอุบลวรรณาเถรีเที่ยวจาริกไปในชนบท อาศัยอยู่ในกระท่อมที่ชาวบ้านทำให้ รุ่งเช้าออกไปบิณฑบาต นันทมาณพ ลูกชายของลุง ซึ่งแอบรักมาตั้งแต่ตอนเป็นฆราวาส ก็แอบเข้ามาในกระท่อมและข่มขืนพระอุบลวรรณาเถรี หลังจากนั้นนันทมาณพถูกธรณีสูบ พระพุทธเจ้าจึงได้ขอให้พระเจ้าปเสนทิโกศลจัดสร้างที่อยู่ให้ภิกษุณีภายในพระนคร ทำให้ตั้งแต่นั้นมา ภิกษุณีก็มีอาวาสอยู่ในบ้านในเมืองเท่านั้น ไม่ให้อยู่ป่าเพียงลำพัง

         พระอุบลวรรณาเถรี เป็นผู้ชำนาญในการแสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่าเป็นเอตทัคคะ เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายในฝ่ายผู้มีฤทธิ์

         ในเวลาต่อมา ภิกษุณีก็หมดไป สตรีไม่นิยมมาบวช อาจจะเป็นเพราะกลัวความไม่ปลอดภัยในชีวิตร่างกาย แต่จะเป็นฝ่ายสนับสนุนเบื้องหลัง เช่น ทำบุญตักบาตร หรือเป็นแม่ชีถือศีล ๑๐ ซึ่งจะส่งเสริมในการนำหลักธรรมวินัย ศีลธรรมไปเผยแผ่อีกทางหนึ่งกับผู้หญิง อย่างเช่น บทบาทของแม่ชีแม่ชีวัดปากน้ำ เป็นกลุ่มแม่ชีที่เริ่มก่อตั้งสถาบันแม่ชีไทยขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งเกิดจากแนวคิดของสถานภาพของแม่ชีไทยโดยรวมไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมไทย สถานภาพของแม่ชีที่เกิดจากผลการปฏิรูปศาสนาพุทธในรัชกาลที่ ๕ และการออก พรบ. คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ กำหนดว่าเป็นเพียงอุบาสิกาเท่านั้น นอกจากนั้น ภายในกลุ่มแม่ชียังมีความแตกต่างกัน แบ่งออกเป็นแผนกต่าง ๆ ได้แก่ ๑) แม่ชีธรรมกาย เป็นรูปแบบของแม่ชีวัดปากน้ำเท่านั้น มีหน้าที่ปฏิบัติภาวนา ๒) แม่ชีโรงครัว มีหน้าที่ท้าครัวสนับสนุนพระภิกษุ ๓) แม่ชีศาลา มีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยในศาลาฉัน ๔) แม่ชีนักเรียน ได้รับอนุญาตให้ศึกษาบาลีและธรรมศึกษาร่วมกับสงฆ์ภายในวัด แม่ชีส่วนใหญ่มาบวชเพราะศรัทธา ครอบครัวมีความสัมพันธ์กับทางวัด และต้องการศึกษาต่อ สถานภาพของแม่ชีธรรมกายจะโดดเด่นกว่าแม่ชีกลุ่มอื่น ๆ เป็นผู้ให้ค้าแนะน้าปรึกษาปัญหา แม่ชีผู้บริหารพัฒนามาจากแม่ชีนักเรียน แม่ชีโรงครัวมีจ้านวนมากที่สุด สถานภาพของแม่ชีโรงครัวด้อยกว่าแม่ชีแผนกอื่นๆ เพราะไม่มีโอกาสในการศึกษาเล่าเรียน หรือขาดการพัฒนาด้านอื่น ๆ ซึ่งเกิดจากทัศนคติของแม่ชีเรื่องการเกิดเป็นผู้หญิงมีบุญน้อยกว่าเป็นชาย แม่ชีแผนกศาลามีสถานภาพยืดหยุ่นกว่าแม่ชีกลุ่มอื่น

          แนวทางการพัฒนาสถานภาพและบทบาทของแม่ชีนั้น เห็นควรที่รัฐจะต้องให้การสนับสนุนงบประมาณการศึกษา สถานภาพทางกฎหมาย พัฒนาที่อยู่อาศัยและส่งเสริมกิจการของแม่ชีไทย ควรมีการศึกษาเพื่อให้เข้าใจวิถีชีวิตของแม่ชีมากขึ้น และส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาของสตรีอย่างเช่น วิทยาลัยสตรีระดับปริญญาตรี ซี่งตั้งอยู่ที่ 95 หมู่ 7 ต.ภูหลวง อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา 30150 091-330-3709 ที่ให้ผู้หญิงที่สนในเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี (เฉพาะแม่ชีและสุภาพสตรี) ปีการศึกษา 2565

          - คณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาการสอนพระพุทธศาสนา รับจำนวน 30 คน

          - คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร รับจำนวน 30 คน

         - มีทุนการศึกษา อาหาร ที่พัก น้ำ ฟรี สำหรับนักศึกษาทุกคนที่ปฏิบัติตามระเบียบของวิทยาลัยได้ (สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากประกาศที่แนบนี้)

           ซึ่งนักศึกษาที่จบจากวิทยาลัยแม่ชีแห่งนี้มีศักดิ์และสิทธิ์แห่งปริญญาเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ทุกประการ สามารถสอบเข้าแข่งขันรับราชการหรือทำงานในหน่วยงานเอกชนได้

            อนึ่ง สตรีที่ประสงค์จะศึกษาธรรมศึกษาตรี โท เอกและ บาลีศึกษาจนถึงเปรียญธรรม 9 ประโยค ก็สามารถศึกษาได้เช่นเดียวกับภิกษุสงฆ์ เช่น สำนักธรรม สำนักบาลีที่วัด และศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยสงฆ์สองแห่งร่วมกับภิกษุได้ที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย  (มมร.) ที่วัดบวรนิเวศ และสาขาทั่วประเทศ และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.) ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎ์ และสาขาทั่วประเทศ

        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยขึ้น โดยให้ย้ายการสอนพระปริยัติธรรมจากศาลาบอกพระปริยัติธรรมภายในวัดพระศรีรัตนศาสดารามไปตั้งที่วัดมหาธาตุ เพื่อเป็นที่เล่าเรียนของพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกายและคฤหัสถ์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๐ และโปรดให้เรียกว่า มหาธาตุวิทยาลัยและมหามกุฏราชวิทยาลัย ที่วัดบวรนิเวศ เป็นสถาบันการศึกษาของสงฆ์ ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ที่จัดการศึกษาในรูปแบบมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา เป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกที่เริ่มประยุกต์หลักพระพุทธศาสนาให้เข้ากับสังคมสมัยใหม่

         ปัจจุบันเปิดสอนในระดับหลักสูตรปริญญาตรี โท และเอก ซึ่งมีศักดิ์และสิทธิ์แห่งปริญญา นั้น เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ของรัฐและเอกชนทุกประการ

           โดยรัฐสภา ได้ออกพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการทางพุทธศาสนา เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๕๒๗

           จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า สตรีในทุกระดับ มีส่วนเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ตั้งแต่ก่อนที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ และหลังจากที่พระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว ก็เป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พุทธศาสนา มีบริษัท 4 คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา แม้ภายหลังภิกษุณีในประเทศไทยจะไม่มีแล้วก็ตามแต่ก็มีบทบาทในการส่งเสริมสนับสนุนในการเผยแผ่พุทธศาสนาร่วมกับภิกษุสงฆ์ด้วย และการนำเอาหลักธรรมไปประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน โดยละชั่ว ทำความดี และทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส...............

 

 

 

 

ที่มาข้อมูล

https://mgronline.com/dhamma/detail/9520000022838

https://www.silpa-mag.com/culture/article_28808

https://bit.ly/32kyPXm

https://goodlifeupdate.com/healthy-mind/dhamma/11413.html

https://sites.google.com/site/dhammatharn/xetthakhkh/nang-sa-ma-wdi/nang-siri-ma

https://www.matichonweekly.com/column/article_15776

https://voicetv.co.th/read/on5JWT3La

https://talk.mthai.com/inbox/59305.html

https://www.gotoknow.org/posts/521602

https://th.nipponkaigi.net/wiki/Prostitution_in_the_United_States

https://www.winnews.tv/news/25156

http://pratripitaka.com/27-419/

https://mgronline.com/dhamma/detail/9520000022838

https://www.matichonweekly.com/column/article_218163

https://bit.ly/3tZ6vbF

https://play.google.com/books/uploads/ebooks

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 700574เขียนเมื่อ 3 เมษายน 2022 02:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 เมษายน 2022 02:26 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

WOW! Save me a lot of ‘literature research’ Thank you ;-)

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท