พุทธศาสนศึกษา: ไม่ง่าย (เกริ่นนำ)


จากการเฝ้าสังเกตอย่างเงียบๆ เรื่องหนึ่งที่เฝ้าครุ่นคิดมาพอสมควรคือ “อะไรคือพุทธ” เมื่อพิจารณาคนผู้อาศัยบนอาณาเขตที่กำหนดชื่อว่าประเทศไทยและนับถือพุทธศาสนา ระหว่างเนื้อหาในพุทธศาสนาที่หล่อหลอมเป็นความเชื่อกับสิ่งที่ปรากฏทางสังคม เกิดความย้อนแย้งอย่างไรชอบกล

เราจะพบ คนจำนวนไม่น้อย อาศัยการขอโชค ลาภ และผลพลอยได้ จากพลังอำนาจภายนอกมากกว่าความเชื่อในความสามารถแห่งตน 

เราจะพบ คนจำนวนไม่น้อย นั่งสนทนาถึงความเลวร้ายของคนอื่นโดยไม่รู้ว่าผู้สนทนากำลังสร้างสิ่งไม่ดี (บาป) ให้กับตน

เราจะพบ คนจำนวนไม่น้อย จัดงานฉลองในแต่ละช่วงของปี พร้อมกับการเห็นว่า การเปิดทางให้ของมึนเมาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการฉลองนั้นคือความทันสมัย โก้ เก๋ ดูดี

เราจะพบ คนจำนวนไม่น้อย ที่ยังถูกเอารัดเอาเปรียบ โดยการถูกเอารับเอาเปรียบเหล่านั้นมาจากการเพิกเฉยต่อการได้เปรียบของคนรอบข้าง

เราจะพบ คนจำนวนไม่น้อย ที่ยังมองว่า ต้นไม้มงคลสามารถให้สิ่งมงคลแก่ผู้ปลูกต้นไม้ โดยไม่ได้สนใจ “มงคลชีวิต” ตามคำอธิบายของศาสนาที่ยอมยอมรับ

เราจะพบ คนจำนวนไม่น้อย ที่ฆ่าสิ่งมีชีวิตอื่นเพื่อเลี้ยงแขกเหรื่อและเพื่อบูชาบรรพบุรุษ ทั้งที่เพิ่งตั้งสัตย์ในการไม่ละเมิดชีวิตอื่นเมื่อไม่นานมานี้

เราจะพบ คนจำนวนไม่น้อย ท่อง นะโม ตัสสะ ครบทั้ง ๓ จบ แต่ไม่รู้ความหมายและไม่สามารถเข้าถึงและ/รับรู้ความหมายนั้น

และอีกหลาย “สิ่งที่ปรากฏ” ที่เราสังเกตได้ไม่ยาก จำนวนหนึ่งอยู่ในตัวของผู้สังเกตเอง

นอกจากนั้น เมื่อเราอ่านหนังสือที่มีเนื้อหาทางพุทธศาสนา หลายคนร้อง “เฮย” มีอย่างนี้ด้วยหรือ พระข่มขืนศพ พระอุ้มผู้หญิง … ได้ด้วยหรือ? และเมื่อทดลองปฏิบัติดู "อาว…สิ่งที่อ่านกับสิ่งที่ปรากฏขณะปฏิบัติทำไม…?

คำถามที่ตามมาคือ อะไรคือพุทธ? 

เนื้อหาใน “พุทธศาสนศึกษา: ไม่ง่าย” นี้จะเป็นความพยายามเปิดเนื้อหาในพุทธศาสนามาทำความเข้าใจด้วยภาษาของผู้เขียน เท่าที่สติปัญญาของผู้เขียนจะเข้าถึงได้ การตรวจสอบความถูกต้องขอให้เป็นดุลพินิจของผู้ศึกษา ทั้งนี้เพื่อจะค้นหาว่า อะไรคือพุทธ? หรือ พระพุทธเจ้าบอกอะไรกับคนที่มาฟังพระองค์บ้าง คาดหวังว่า อาจบรรเทาความสงสัยเกี่ยวกับปัญหาข้างต้นลงได้บ้างเท่านั้น

หมายเลขบันทึก: 699933เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2022 12:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2022 14:35 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

I think we have to be clear about Buddhists and ‘Buddhist teaching’. People do not always do everything by the teaching. Many people say they are ‘Buddhists’ though they do not practice by the teach at all. Many people do a lot of things by the teaching yet do not say they are ‘Buddhists’. (So we have types of ‘errors’ as in statistics and politics.)

ขอบคุณท่าน srผมเห็นด้วยกับข้อคิดเห็นนั้น และคิดเพิ่มเติมว่า ศาสนาพุทธอาจไม่จำเป็นต้องมี ถ้าสิ่งที่คนทำอยู่แล้วคือสิ่งที่ศาสนาพุทธสอนการแยกระหว่างผู้นับถือศาสนากับศาสนา อันนี้น่าคิดครับ การที่เราบอกว่า ฉันนับถือคุณนะ แต่ไม่ได้หมายความว่า ฉันปฏิบัติได้อย่างคุณนะ และ ถ้าฉันจะนับถือคุณก็ต่อเมื่อฉันปฏิบัติได้อย่างที่คุณว่ามา จำนวนหนึ่งในสังคม รวมระหว่างผู้นับถือกับศาสนาเป็นเนื้อเดียวกัน ศาสนาจึงกลายเป็นข้ออ้างเพื่อกระทำ/ไม่กระทำในหลายลักษณะขอบคุณสำหรับความเห็นที่ทำให้คิดครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท