“ใกล้วัด ใช่จะเข้าถึงธรรม ใกล้โรงพยาบาล ใช่จะเข้าถึงระบบสุขภาพ” : บันทึกการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการชาติพันธุ์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน


“ใกล้วัด ใช่จะเข้าถึงธรรม
ใกล้โรงพยาบาล ใช่จะเข้าถึงระบบสุขภาพ”


ระบบสุขภาพ ไม่ใช่แค่เรื่องหมอ ยา แบบแยกส่วน ไม่ใช่แค่เรื่องมีเครื่องไม้เครื่องมือ มีหมอ พยาบาลมีรถบริการ สถานที่ ถามว่าเกี่ยวไหม ก็เกี่ยว เป็นองค์ประกอบของระบบแต่ไม่ใช่ทั้งหมดของระบบ

 

หากแต่ระบบ ชื่อก็บอกนัยยะว่าคือความสัมพันธ์ มันเชื่อมต่อ มีสายใยถักทอไปด้วยกัน มันจึงเป็นระบบ


ระบบสุขภาพ คือ ระบบความสัมพันธ์ที่ส่งผลต่อสุขภาพ หรือสุขภาวะ (กาย จิต สังคม ปัญญา) ของคน มองเห็นชีวิตคนอย่างเป็นองค์รวม


ระบบสุขภาพ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่แท้ทรู จึงต้องเข้าถึงใจชาวบ้าน ผู้รับบริการ เข้าใจความเชื่อมโยงกับปัจจัยแวดล้อมกำหนดสุขภาพทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น ชาติพันธุ์ เพศ ศาสนา ฐานะทางชนชั้น เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สถานะบุคคล ฯลฯ


ที่สำคัญ ต้องมองเห็นความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง มายาคติที่ซ้อนอยู่ในหัวของหน่วยงาน และสังคมที่กดทับลงมาต่อคนไข้ ต่อชาวบ้าน


รวมถึงมองเห็นการเกื้อหนุนกันของมิติงานพัฒนาต่างๆ 
ไม่ว่าจะเป็น ด้านการดูแลรักษาร่างกายตามกระบวนการแพทย์ การมีรายได้พอเลี้ยงปากท้อง มีสวัสดิการสังคม มีที่อยู่อาศัยที่ดีพอและปลอดภัย มีการจัดการศึกษาเรียนรู้เชิงรุก มีชุมชนที่ยอมรับคนไข้ มีกลุ่ม มีรูปธรรมของการมีส่วนร่วมในงานพัฒนา ฯลฯ (เราเรียกย่อๆว่า มี CBR : Community Based Rehabillitation)


ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องสิทธิที่ดูจะเต็มไปด้วยความขัดแย้งก็จริง แต่ต้องมีศิลปะการจัดการ งานยากและซับซ้อนเช่นนี้ ต้อง “มีจิตนุ่มนวลควรแก่งาน” มองความไม่ลงรอย มองความคิดต่างด้วยสภาวะที่เมตตาต่อกัน ทั้งต่อผู้ที่ถูกกระทำ รวมไปถึงผู้ที่กระทำ 


อันนี้เป็นจิตสิกขา เป็นสัมมาสมาธิ 
เป็น Practical Mindfulness ไปในตัว


จะเรียก Emphathy ที่แปลว่าความเห็นอกเห็นใจที่วางอยู่บนฐานคิดการมองเห็นว่าทุกคนล้วนมีศักดิ์ศรีเท่าๆกันก็ได้
 

อันนี้จึงจะถือเป็นระบบที่มีชีวิต 

 

ระบบที่มีชีวิตมันซ่อมตัวเองได้ มันมีความรัก ความรู้สึกเมตตากรุณาต่อกันภายใน คือ มันมี “ตาใน” The lively System see itself อันนี้เป็นวิธีคิดสำคัญ ที่แทรกอยู่ในอีกงานที่เรากำลังขับเคลื่อน


งานพัฒนาสุขภาวะ คุณภาพชีวิต สิทธิคนพิการ ไม่ใช่ทำแค่ผ่าน แต่จะทำให้ดี ให้ยั่งยืนได้อย่างไร


วันนี้ได้ทางศูนย์บริการคนพิการต้นแบบภาคเหนือ จากตำบลชมภู อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ มาเป็นกัลยาณมิตร
ได้ สสส.สำนัก 9 (กลุ่มประชากรเฉพาะ) มาสนับสนุนเป็นโปรเจคต์เล็กๆ เป็นโครงการพัฒนากลไกการทำงานผ่านศูนย์บริการและหน่วยจัดการให้คนพิการมีความรอบรู้ด้านสุขภาพตามแนว CBR ตำบลสบป่อง อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน

 


คณะทำงานจิตอาสา หลายคนลงดอยมาไม่ได้ โควิดต้องปิดหมู่บ้าน ไม่เป็นไร เราลุยไปก่อน
เตรียมความพร้อมเข้าพื้นที่เก็บข้อมูลลงเยี่ยมคนพิการแบบจับเข่าคุยทุกครอบครัว

 
อนึ่ง ผมไม่ถนัดทำหนังสือชี้แจงชุมชนนะครับ แต่ถ้าพ่อหลวง หรือผู้นำชุมชนบ้านไหนสงสัยก็ไลน์ หรือโทรมาสอบถามผมโดยตรงได้ 
บ้าน ร้าน รีสอร์ตผมก็อยู่ในอำเภอมาหลายสิบปีแล้ว ทำงานกับชาวบ้าน ไม่อยากให้มากขั้นตอน อยากให้เป็นการเรียนรู้แนวราบให้มากเท่าที่จะมากได้ จะได้เข้าถึงแบบพี่แบบน้อง ไม่ต้องทางการเกินไป


วันนี้ ได้นำทีมงานมาเรียนรู้เพิ่มเติมแอพพลิเคชั่นสมุดบันทึกคนพิการ เตรียมทีมจิตอาสา เพื่อพัฒนาเป็นฐานข้อมูลจากการจัดเก็บแบบมีส่วนร่วมระหว่างทีมวิจัย คนพิการ ผู้ดูแล และญาติพี่น้องที่เกี่ยวข้อง

 


อะไรที่ต้องการช่วยเหลือเร่งด่วน ก็แจ้งกับทางทีมวิจัยได้เลย อาจจะไม่ต้องข้อมูลครบทั้งตำบล ถ้าจำเป็นเร่งด่วน เราก็จะเป็นสะพานบุญช่วยประสานอีกแรง


อีกหนึ่งงานภาคประชาชน ภายใต้บริบทของความโกลาหลที่ลำพังโครงสร้างราชการหรือผู้นำเทวดาที่ไหนก็ไม่สามารถจัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ 


การสานพลังโดยชูประชาชนขึ้นมาอย่างใส่ใจ อย่างศรัทธาในคุณค่าของพวกเขา เป็นคำตอบที่สำคัญที่สุด เป็นการทำงานเชิงรุก 
เพราะถ้าไม่รุก ก็ไม่มีหวังว่าจะ “ลุก” 


หวังเป็นอย่างยิ่งว่า นี่จะเป็นจุดริเริ่ม เป็นสนามพลังให้เกิดการสร้างสุขภาวะ สร้างที่อยู่อาศัย สร้างงาน สร้างการศึกษา และสร้างสังคมคนพิการอยู่ดีมีสุขมากขึ้น บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของคนพิการ ชุมชน และเชื่อมร้อยกับเครือข่ายหน่วยงานด้านสิทธิและระบบสุขภาพคนพิการในระยะต่อไป


#สุขภาวะคนพิการ
#คนพิการก็มีศักดิ์ศรี
#CBRคนพิการ
#การพัฒนาแบบมีส่วนร่วม
#ระบบสุขภาพที่มีชีวิต

หมายเลขบันทึก: 698336เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2022 17:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2022 20:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท