ประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้ง


สาเหตุของความขัดแย้ง

          ในอดีตมนุษย์มีปัญหาความขัดแย้งไม่ลงรอยกัน ทั้งความคิดและการกระทำ ซึ่งนำไปสู่การต่อสู้หรือทำสงครามทำลายล้างกัน โดยมีสาเหตุสรุปได้   ดังนี้

1.แย่งชิงดินแดนและที่อยู่อาศัย

2.แย่งชิงแหล่งน้ำและอาหาร

3.แย่งชิงทรัพย์สินและกวาดต้อนผู้คน เพื่อนำมาใช้เป็นกำลังแรงงาน

4.ความขัดแย้งในความเชื่อและศาสนา

5.ความแตกต่างทางด้านอารยธรรม

เมื่อชาติตะวันตกเริ่มเดินทางสำรวจทางทะเลในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างมนุษยชาติเพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวาง โดยมีสาเหตุดังนี้

1. ความต้องการแหล่งวัตถุดิบและตลาดในการระบายสินค้าของชาติตน

          2. ความต้องการในสินค้าจากภูมิภาคอื่นๆของโลกที่ในทวีปยุโรปยังไม่มี เพื่อเป็นการผูกขาดสินค้าประเภทนั้นๆ

          3. ความต้องการเข้าไปเผยแพร่คริสต์ศาสนาในดินแดนที่ผู้คนนับถือศาสนาอื่นๆ

4. ความต้องการสร้างชาติของตนให้ยิ่งใหญ่ในแนวทางของลัทธิชาตินิยม

          5. ความเหนือกว่าทางด้านกำลังอาวุธและศักยภาพในการทำสงครามของเหล่าชาติที่เป็นมหาอำนาจ

          6. ความเชื่อเรื่อง“ภาระของของผิวขาว”ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่ของชนชาติตะวันตกที่มีความเจริญทางอารยธรรมสูงกว่าชาติที่ด้อยกว่าในด้านต่างๆที่ทำให้ต้องเข้าไปปกครองดินแดนที่ล้าหลังเหล่านั้น เพื่อที่จะช่วยพัฒนาประชาชนที่ด้อยความเจริญในภูมิภาคต่างๆของโลก

1. เกิดขึ้นจากความแตกต่างทางด้านสังคมและวัฒนธรรม 

2. ความแตกต่างในด้านอุดมการณ์ทางการเมืองและระบบเศรษฐกิจ

3. การแข่งขันด้านอาวุธ

4. ลัทธิชาตินิยม ( Nationalism)

5. ความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ระหว่างชนชาติต่างๆ

6. การต่อต้านบทบาทของชาติมหาอำนาจ

7. ความขัดแย้งทางความคิด

8.ความขัดแย้งทางศาสนา

9.ความขัดแย้งทางอารยธรรม

10. ความขัดแย้งทางด้านผลประโยชน์

11.ความขัดแย้งทางอุดมการณ์

1. ความแตกต่างทางด้านสังคมและวัฒนธรรม   มีสาเหตุดังนี้

        1.1 ลัทธิเผ่าพันธุ์นิยม (Ethnicism) เป็นความรู้สึกของผู้คนในประเทศหนึ่งที่ผูกพันกับเผ่าพันธุ์เดิมของตน เกิดความคิดที่จะแบ่งแยกดินแดนเพื่อตั้งเป็นประเทศเอกราชใหม่และเป็นที่อยู่อาศัยเฉพาะเผ่าพันธุ์ของตน เช่น 

ชาวโครแอต(Croat)ก่อตั้งประเทศโครเอเชีย(Republic or Croatia)โดยแยกตัวออกจากสหพันธรัฐยูโกสลาเวีย เมื่อปี ค.ศ.1991

ชาวสโลวัก(Slovak)แยกตัวออกจากประเทศเชคโกสโลวาเกีย ก่อตั้งเป็นประเทศเอกราชใหม่ในนาม สาธารณรัฐสโลวัก 

(Slovak Republic) เมื่อปี ค.ศ.1993

       1.2 ความขัดแย้งทางด้านศาสนา เช่น ความขัดแย้งระหว่าชาวฮินดูกับชาวมุสลิมในอินเดีย หรือความขัดแย้งระหว่างผู้นับถือศาสนาเดียวกันแต่เป็นคนละนิกาย เช่น ผู้นับถือศาสนาอิสลามนิกายซุนหนี่ (Sunni) กับนิกายชีอะห์ (Shi’a) ในประเทศอิรัก เป็นต้น

       1.3 ความแตกต่างทางด้านอารยธรรม ทำให้มนุษย์เกิดความไม่เข้าใจกันและกลายเป็นสาเหตุความขัดแย้งระหว่างประเทศได้อารยธรรมที่สำคัญของโลกในปัจจุบัน เช่น อารยธรรมตะวันตก อารยธรรมจีน อารยธรรมฮินดูและอารยธรรมของโลกอิสลาม  เป็นต้น

2. ความแตกต่างในด้านอุดมการณ์ทางการเมืองและระบบเศรษฐกิจ  มีสาเหตุ ดังนี้

       2.1 ความแตกต่างในด้านอุดมการณ์ทางการเมือง เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ได้ก่อให้เกิดระบบการเมืองเป็น 2 ฝ่าย

ฝ่ายการปกครองแบบประชาธิปไตย มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ และฝ่ายการปกครองในระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ มีสหภาพ    โซเวียตเป็นผู้นำ   ทำให้ความขัดแย้งในอุดมการณ์ทางการเมืองและการแข่งขันกันแผ่ขยายอิทธิพลของชาติมหาอำนาจทั้งสองฝ่ายในภูมิภาคต่างๆของโลก ทำให้สถานการณ์โลกเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่า “สงครามเย็น” ( Cold War) ในช่วงปี ค.ศ.1945-1991 และสงครามเย็นได้สิ้นสุดลงพร้อมๆกับการล่มสลายของสหภาพโซเวียต

       2.2. ความแตกต่างในระบบเศรษฐกิจ ประเทศต่างๆในโลกมีระบบเศรษฐกิจแตกต่างกัน จึงเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งกันได้ ระบบเศรษฐกิจที่สำคัญจำแนกได้ 3 ระบบใหญ่ๆ ดังนี้

          2.1.1 ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ซึ่งรู้จักกันในชื่อต่างๆ เช่น ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม (Capitalism) และระบบเศรษฐกิจแบบการตลาด (Market Economic System) โดยให้เอกชนมีเสรีภาพในการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รัฐจะไม่เข้าแทรกแซงหรือแทรกแซงแต่น้อย

          2.1.2 ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม (Socialistic Economic System) หรือระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนจากส่วนกลาง (Central Planning System) โดยรัฐเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตต่างๆ และเป็นผู้ประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญเสียเอง เช่น การธนาคาร การอุตสาหกรรม การสื่อสารและโทรคมนาคม และการสาธารณูปโภคอื่นๆ

          2.1.3 ระบบเศรษฐกิจแบบผสม (Mixed Economic System) มีลักษณะผสมผสานระหว่างระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมกับระบบสังคมนิยม โดยเอกชนยังคงมีเสรีภาพในการผลิตแต่รัฐจะผูกขาดดำเนินกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญบางอย่าง เช่น ไฟฟ้า ประปา การคมนาคม และสาธารณูปโภคอื่น

3. การแข่งขันในการสะสมอาวุธร้ายแรงระหว่างชาติต่างๆ กลายเป็นสาเหตุทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศได้ ดังนี้

          3.1 การแข่งขันกันผลิตและสะสมอาวุธร้ายแรงของประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นสาเหตุทำให้ประเทศในภูมิภาคเดียวกันเกิดความหวาดระแวง และเร่งดำเนินการผลิตเพื่อเตรียมป้องกันตนเองทำให้เกิดการแข่งขันเป็นวัฏจักรการสะสมอาวุธระหว่างประเทศขึ้น

          3.2 ประเทศที่มีการสะสมขีปนาวุธร้ายแรง (นิวเคลียร์)ในปัจจุบัน ซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งและความหวาดระแวงระหว่างประเทศในภูมิภาคเดียวกันหรือคู่กรณีที่เคยมีปัญหาความขัดแย้งกันมาก่อน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย อินเดีย ปากีสถาน จีน เกาหลีเหนือ และอิหร่าน เป็นต้น

4. ลัทธิชาตินิยม (Nationalism)

          ลัทธิชาตินิยม (Nationalism) คือ ความจงรักภักดีต่อชาติของตนสูงสุดเหนือสิ่งอื่นใดคิดว่าชาติของตนมีความสำคัญเหนือกว่าครอบครัว ท้องถิ่น หรือประชาชาติอื่น ๆ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศและกลายเป็นสงคราม

ประหัตถ์ประหารกันได้

          แนวความคิดชาตินิยมในทวีปเอเชียและแอฟริกา เริ่มปรากฏในคริสต์ศตวรรษที่ 20 เมื่อญี่ปุ่นทำสงครามรบชนะรัสเซีย 

ในปี ค.ศ.1905 กระตุ้นให้ชาติเล็ก ๆ เชื่อว่าจะสามารถเอาชนะประเทศยุโรปได้

          พลังชาตินิยมปรากฏชัดเจนภายหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 (ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1945 เป็นต้นไป) เมื่อขบวนการชาตินิยมได้ต่อสู้เรียกร้องเอกราชจนประสบผลสำเร็จ ทำให้ประเทศของตนหลุดพ้นจากสภาพดินแดนอาณานิคมของชาติมหาอำนาจตะวันตก

5.ความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ระหว่างชนชาติต่างๆ  เกิดขึ้นจาก

          5.1 ประเทศที่อยู่ใกล้เคียงกันในภูมิภาคต่าง ๆของโลกที่เคยมีความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ถึงขั้นทำสงครามหรือรุกรานกัน ความรู้สึกบาดหมางไม่เป็นมิตรต่อกันย่อมยังคงมีอยู่ และอาจเป็นชนวนสาเหตุทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นใหม่ได้ 

ตัวอย่างของประเทศที่เคยมีความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์มาก่อน เช่น 

กรณีความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่น หรือจีนกับเกาหลีใต้ ในช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 หรือกรณีอิสราเอลกับปาเลสไตน์ เป็นต้น

6. การต่อต้านบทบาทของชาติมหาอำนาจ

          6.1 บทบาทของสหรัฐอเมริกาในฐานะชาติมหาอำนาจของโลกในปัจจุบัน ได้สร้างความไม่พอใจแก่ประเทศหรือกลุ่มองค์กรทางการเมืองอื่น ๆ โดยเฉพาะการขยายอิทธิพลเข้าแทรกแซงประเทศอาหรับในตะวันออกกลาง ในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งความขัดแย้งทางด้านวัฒนธรรม จึงทำให้เกิดความคิดต่อต้านสหรัฐอเมริกาและอารยธรรมตะวันตก ซึ่งกลายเป็นปัญหา

ความขัดแย้งที่รุนแรงในเวลาต่อมา

          6.2 ลัทธิก่อการร้าย (Terrorism) เป็นปฏิกิริยาต่อต้านบทบาทของสหรัฐอเมริกาและอารยธรรมของโลกตะวันตก เช่น ขบวนการอัล เคดา หรืออัล กออิดะห์ (Al Qa’ida) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นผู้ปฏิบัติการจึ้เครื่องบินโดยสารไปชนตึกเวิร์ดเทรด (World Trade Center) นครนิวยอร์กสหรัฐอเมริกา ในเหตุการณ์วันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 แสดงถึงผลร้ายของความขัดแย้งระหว่างมนุษยชาติ

7. ความขัดแย้งทางความคิด

          เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่แสดงถึงความขัดแย้งทางความคิดระหว่างมนุษย์ด้วยกัน คือ กรณีนักปรัชญาชาวกรีกที่ชื่อ “โซกราตีส” (Socrates) ในยุคประวัติศาสตร์สมัยโบราณ มีระบบความคิดที่ไม่เหมือนใคร โดยปฏิเสธความเชื่อแบบดั้งเดิมจนถูกผู้ปกครองตัดสินลงโทษประหารชีวิต สรุปได้ ดังนี้

          1.ไม่ยอมรับวิธีการปกครองของนครเอเธนส์ วิธีการเลือกผู้ปกครองที่ได้คนไม่มีความสามารถ และการทำหน้าที่ที่หย่อนประสิทธิภาพของสมาชิกรัฐสภาในขณะนั้น

          2.ไม่เห็นด้วยกับวิธีสอนแบบท่องจำ แต่ใช้วิธีสอนแบบตั้งคำถามให้เด็กคิดเพื่อค้นหาคำตอบด้วยตนเอง ซึ่งต่อมาวิธีสอนแบบถาม – ตอบของโซกราตีส ได้รับการยอมรับจากนักศึกษาในสมัยปัจจุบันว่าเป็นวิธีการสอนที่ดีแบบหนึ่ง เรียกว่า “วิธีการสอนแบบโซกราตีส” 

          3.ปฏิเสธเทพเจ้าของกรีก ซึ่งทำให้โซกราตีสถูกต่อต้านอย่างมาก

8.ความขัดแย้งทางศาสนา

          เหตุการณ์ความขัดแย้งทางศาสนาในประวัติศาสตร์ที่สำคัญ คือ ความขัดแย้งระหว่างผู้นับถือศาสนาคริสต์กับศาสนาอิสลามในสมัยโบราณ ที่เรียกว่า “สงครามครูเสด” (Crusade) มีสาเหตุเกิดจากฝ่ายคริสต์ต้องการยึดปาเลสไตน์ (Palestine) ดินแดนอันศักดิ์สิทธ์จากฝ่ายมุสลิมกลับคืนมา เพราะเป็นสถานที่ที่พระเยซูประสูติและเผยแพร่คำสั่งสอน 

9. ความขัดแย้งทางอารยธรรม

          9.1 ความขัดแย้งทางอารยธรรมในประวัติศาสตร์สมัยโบราณ เกิดจากชาติที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านศิลปวัฒนธรรมถือว่าอารยธรรมของตนสูงกว่าชนชาติอื่น ๆ และดูหมิ่นชาติที่ล้าหลังด้อยความเจริญว่าเป็นพวกป่าเถื่อน เช่น จีนในสมัยโบราณถือว่าตนเป็น “อาณาจักรกลาง” (หรือจงกว๋อ) ของโลก

          9.2 เหตุการณ์ความขัดแย้งทางอารยธรรมในช่วงประวัติศาสตร์สมัยใหม่ คือ สงครามฝิ่น (ค.ศ.1839-1842) ระหว่างอังกฤษกับจีน โดยพ่อค้าอังกฤษลักลอบนำฝิ่นเข้ามาขายในจีนจึงถูกทางการจีนปราบปรามและขยายตัวเป็นสงคราม จีนเป็นฝ่ายแพ้ สงครามฝิ่นจึงเป็นตัวอย่างของความขัดแย้งระหว่างอารยธรรมตะวันตกกับอารยธรรมตะวันออก กล่าวคือ

          (1) ฝ่ายจีนต้องการให้อังกฤษเข้ามาติดต่อค้าขายในฐานะ “รัฐบรรณาการ” คือ ยอมอ่อนน้อม และนำเครื่องบรรณาการมาถวายพระจักรพรรดิจีน (ระบบจิ้มก้อง)

          (2) การเข้าเฝ้าจักรพรรดิจีนต้องปฏิบัติตามธรรมเนียมจีน คือ คุกเข่าและคำนับให้หน้าผากจรดพื้น แต่ทูตอังกฤษถือว่าชาติตนมีอารยธรรมสูงกว่าจึงไม่ยอมทำตาม จีนจึงไม่ยอมเจรจาด้วย         

10. ความขัดแย้งทางด้านผลประโยชน์

การแย่งชิงผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและการค้าเป็นสาเหตุประการหนึ่งของความขัดแย้งระหว่างประเทศ ดังตัวอย่างเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น ตัวอย่าง เช่น   การแย่งชิงเส้นทางเดินเรือสู่หมู่เกาะอินเดียตะวันออก (East Indies) ระหว่าง

โปรตุเกสกับสเปนใน คริสต์ศตวรรษที่ 15 เพื่อแสวงหาแหล่งเครื่องเทศในหมู่เกาะอินเดียตะวันออก (ในปัจจุบันคือหมู่เกาะอินโดนีเซีย) ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศทั้งสอง

11. ความขัดแย้งทางอุดมการณ์

เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่มีสาเหตุเกิดจากความขัดแย้งทางอุดมการณ์ มีดังนี้

          1.ความขัดแย้งที่เกิดจากอุดมการณ์ประชาธิปไตย ได้แก่ การปฏิบัติเพื่อเอกราชของสหรัฐอเมริกาค.ศ.1776 การปฏิวัติใหญ่ฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 และการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ค.ศ. 1991

2.ความขัดแย้งที่เกิดจากอุดมการณ์สังคมนิยม เช่น การปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. 1917 และการปฏิวัติในจีน ค.ศ.1949 ซึ่งนำประเทศทั้งสองเข้าสู่ระบอบการปกครองสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์

 

หมายเลขบันทึก: 698260เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2022 14:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2022 14:44 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท