๑,๒๕๙ หนังสือเรียน...สำคัญที่สุด


  หลังจากที่ ใบงาน(ON HAND) ในภาคเรียนที่ ๑ ไม่ได้ผล ครูประจำชั้นไม่มีโอกาสได้ใช้หนังสือเรียนอย่างเต็มที่ ภาคเรียนนี้ผมจึงบอกครูช่วยส่งเด็กมาให้ วันละครั้ง พบกันที่ห้อง ผอ.

          ผมพูดได้อย่างมั่นใจว่าผมไม่ใช่คนแบบ”ยึดติดตำรา” เพราะวิธีสอนของผมไม่ได้ทำตามตำราหรือทฤษฎีที่เรียนมาทั้งหมด ผมยึดบริบทหรือสภาพจริงของผู้เรียนที่อยู่ตรงหน้าผม

          “นวัตกรรม”ผมก็ไม่มี เป็นหน้าที่ของครูประจำชั้น ผมแค่สอนเสริมให้โดยใช้เพียงแบบเรียนหรือตำราเรียนเพียงเล่มเดียว ที่สามารถสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ได้ไม่รู้จบ ค้นพบศักยภาพผู้เรียนได้อย่างมหัศจรรย์ และกำลังพลิกผันสู่คุณภาพได้อย่างไม่ยากเย็น

          ผมไม่เคยปฏิเสธ”เทคโนโลยี” หรือ “ไอซีที”ทั้งหลาย แต่ประสบการณ์ที่พานพบ มันไม่เคยเหมาะสมกับเด็กเริ่มเรียน(ป.๑) ที่ต้องสร้างพื้นฐานทักษะภาษาไทย

          ก.ไก่ ถึง ฮ.นกฮูก การแจกลูก และการสะกดคำ..ชั้น ป.๑ หนังสือเรียนคือหัวใจ เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ผมกับเด็กจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันได้อย่างราบรื่นและมีความสุข

          ผมสามารถอธิบายให้ผู้ปกครองและท่านผู้สนใจให้เห็นภาพได้อีกครั้ง ดังนี้..

          หลังจากที่ ใบงาน(ON HAND) ในภาคเรียนที่ ๑ ไม่ได้ผล ครูประจำชั้นไม่มีโอกาสได้ใช้หนังสือเรียนอย่างเต็มที่ ภาคเรียนนี้ผมจึงบอกครูช่วยส่งเด็กมาให้ วันละครั้ง พบกันที่ห้อง ผอ.

          สื่อที่ใช้ขั้นต้น เป็นเพียงเอกสารเย็บเล่มที่คล้ายหนังสือ มันคือบัญชีคำพื้นฐาน ป.๑ เป็นคำที่มีตัวสะกดและไม่มีตัวสะกด มากกว่า ๓๐๐ คำ พิมพ์เรียงกันเป็นแถวๆ

          ผมกับเด็กๆ อ่านกันไปคุยกันไป ทีละแถวสองแถวทุกวัน ไม่ต้องรีบร้อน มีทั้งอ่านแบบสะกดคำและอ่านเป็นคำ บางคำผมก็ให้เด็กพูดแต่งประโยคเพื่อให้รู้ความหมาย งานนี้เด็กได้ทักษะพยัญชนะ สระและวรรณยุกต์ ไม่หลงลืมง่ายเหมือนตอนภาคเรียนแรก

          เมื่อเห็นว่านักเรียนพร้อม ผมก็เริ่มใช้หนังสือเรียนทันที ทบทวนกันตั้งแต่บทแรก ถึงแม้นักเรียนจะอ่านมาแล้วก็ตาม แต่ถามครูแล้ว พบว่ายังอ่านไม่คล่องเลย งานนี้จึงต้องเรียนซ้ำย้ำทวน

          “หนังสือเรียน”ภาษาไทย ของกระทรวงศึกษาธิการ คณะผู้เชี่ยวชาญได้เรียบเรียงเนื้อหาไว้ดีมาก ดีทั้งเรื่องและภาพ ตรงตามธรรมชาติและจิตวิทยา ความถนัดและความสนใจของผู้เรียน

          ผมจึงใช้เป็นสื่อหลักของผม และใช้ทุกหน้าหนังสืออย่างรู้คุณค่า หน้าแรกของแต่ละบท นักเรียนต้องรู้จักคำนำเรื่อง...ถึงแม้นักเรียนจะอ่านได้ แต่ผมจะทบทวนการสะกดคำเพื่อเพิ่มความแม่นยำยิ่งขึ้น   

          ก่อนอ่านเนื้อเรื่อง ผมจะอธิบายเพิ่ม เติมความรู้ จากท้ายบทเสียก่อน ให้นักเรียนทบทวนพยัญชนะ ให้อ่านสระและฝึกแจกลูก โดยให้นักเรียนออกเสียงและใช้นิ้วลากตามเส้นประไปด้วย 

           เมื่ออุ่นเครื่องได้แบบนี้ พอเข้าสู่เนื้อหาที่มีตัวละครและเหตุการณ์ นักเรียนจะอ่านได้คล่อง จบแล้ว ผมก็จะสนทนาและตั้งคำถามง่ายๆ ให้นักเรียนตอบ เป็นการฝึกคิดวิเคราะห์ขั้นพื้นฐาน

          ท้ายที่สุด ก็มาจบด้วยเพลงท้ายบท”อ่านคล่องร้องเล่น” เป็นเนื้อเพลงสั้นๆ แต่ไม่ได้บอกทำนอง ผมจึงไม่เคยได้ยินครูร้องเลยสักคน ผมจะใส่ทำนองให้ทุกครั้ง พร้อมให้ปรบมือเป็นจังหวะด้วย

          หนังสือเรียน..จึงมีประโยชน์มาก ถ้าครูจับหลักได้ และอ่านคำอธิบายกระบวนการสอนให้ชัดเจน อย่าไปห่วงกังวลกับเทคโนโลยีหรือวิชาอื่นมากนัก และอย่าหลงลืมว่านี่คือทักษะที่เป็นเครื่องมือการเรียนรู้ ยิ่งสถานการณ์โควิดแบบนี้ด้วย..ถ้าอ่านไม่ออก เลื่อนชั้นขึ้นไป รับรองจะงงเป็นไก่ตาแตกแน่

ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕

    

      

หมายเลขบันทึก: 697747เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2022 21:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2022 21:10 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท