๑,๒๕๖ โรงเรียนสิ่งแวดล้อมศึกษา


กระบวนการทำปุ๋ยหมักใบไม้ ในทุกปีการศึกษา จึงเป็นส่วนหนึ่งของการลดภาวะโลกร้อน สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนเป็นการบำรุงรักษาสภาพดินก็เท่ากับดูแลรักษาสภาพแวดล้อมด้วยเช่นกัน

          นโยบายของเขตพื้นที่การศึกษามีด้วยกัน ๖ ข้อ ในทุกข้อ โรงเรียนต้องสร้างพันธกิจและตัวชี้วัดที่จับต้องได้ ไม่หลงลืมที่จะวิเคราะห์เจาะลึกว่าได้ทำอะไรไปแล้วบ้างในปีที่ผ่านมา เพื่อที่จะบูรณาการงานเข้าด้วยกัน งานจะได้ไม่ซ้ำซ้อน

          กิจกรรม/งาน/โครงการ ที่ทำมานานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตรงกับนโยบายข้อที่ ๖ เกี่ยวกับ “สิ่งแวดล้อม” ต้องยอมรับว่าชัดเจนมากมาย โดยเฉพาะงานบำรุงรักษาต้นไม้ในโรงเรียนที่ให้ความร่มรื่นตลอดกาล

          การเจริญเติบโตของต้นไม้ เป็นที่มาของการผลัดใบอย่างหนักหน่วง ฤดูแห่งใบไม้ร่วงหล่นมากเป็นประวัติการณ์ ทำให้บ่อปุ๋ยหมักใบไม้เต็มหมด จนล้นทะลักไปถึงแปลงนาข้าวหน้าโรงเรียน

          เมื่อไม่มีการเผา ก็ต้องเอามาทำประโยชน์ โดยใช้สูตรใหม่ คือใบไม้ผสมผสานผักตบชวา งานนี้ต้องไปขอผักตบชวาจากเทศบาล เพราะในสระของโรงเรียนได้นำไปทำปุ๋ยและเลี้ยงไก่หมดแล้ว

          ปีที่ผ่านมา ใบไม้ในนาข้าวของโรงเรียน ที่เกือบจะเน่าเปื่อย จะต้องถูกไถกลบ เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการดำนา ปีนี้เปลี่ยนใหม่ ใช้ใบไม้มารองพื้นทำเป็นแถวกวัางประมาณ ๒ เมตร จากนั้นวางทับด้วยผักตบชวา แล้วเททับด้วยมูลวัว รดน้ำให้ชุ่มฉ่ำ

          ชั้นต่อไปก็ทำเหมือนเดิม คือใส่ใบไม้ ผักตบชวา และมูลวัว ทำเช่นนี้จนครบ ๓ ชั้น จริงๆ จะทำมากกว่า ๓ ชั้นก็ได้ แต่พอดีใบไม้หมดเสียก่อน ต่อไปในทุกๆวัน สิ่งที่สำคัญจะลืมไม่ได้คือ ต้องหมั่นรดน้ำให้ชุ่มชื้นไว้ เพื่อให้เกิดการย่อยสลายเร็วขึ้น

          ๓ – ๔ เดือนก็จะได้ “ปุ๋ยหมัก” หรือ ดินที่มีอินทรีย์วัตถุ เหมาะสำหรับการใส่ในแปลงผักหรือใช้เป็นส่วนผสมในการปลูกต้นไม้ ก็เคยใช้ได้เป็นอย่างดีมาแล้ว ไม่ต้องสิ้นเปลืองเงินในการซื้อดินหรือปุ๋ยเคมี ปุ๋ยหมักในลักษณะนี้ จะให้ธาตุอาหารไนโตรเจนเป็นจำนวนมาก

          กระบวนการทำปุ๋ยหมักใบไม้ ในทุกปีการศึกษา จึงเป็นส่วนหนึ่งของการลดภาวะโลกร้อน สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนเป็นการบำรุงรักษาสภาพดินก็เท่ากับดูแลรักษาสภาพแวดล้อมด้วยเช่นกัน

          ทุกวันนี้...โรงเรียนจึงมีแหล่งเรียนรู้”แปลงผักปลอดสารพิษ”ที่มั่นคง ซึ่งเกิดจากผลิตผลของดินในบ่อปุ๋ยหมัก ด้วยความรักในสิ่งแวดล้อมนั่นเอง จึงพร้อมที่จะศึกษาเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนสืบไป

ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕

          

   

  

   

 

 

          

 

หมายเลขบันทึก: 697388เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2022 07:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2022 07:25 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท