ขอทราบเหตุผลที่ไม่ของบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ


ขอทราบเหตุผลที่ไม่ของบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ

27 มกราคม 2565

อปท. ที่ไม่ส่งคำขอโครงการของบอุดหนุนเฉพาะกิจ (ฉก.) ปี 2565 ขอทราบเหตุผลที่ไม่ส่ง รวม 6 ข้อ

จากเหตุผลของผู้กำกับดูแล (25 มกราม 2565)

ยืนยันว่าการของบประมาณของ อปท. เป็นหน้าที่ ไม่ใช่สิทธิ  เมื่อเงินที่มีหมดกับรายจ่ายประจำและบุคลากร ก็ต้องขอเงินอุดหนุนเฉพาะกิจมาช่วยในการพัฒนา จึงมี 6 คำถามเพื่อขอทราบเหตุผล

ผมไม่อาจ ปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านไปเฉยๆ ผมก็ทำหน้าที่ของผม ท่านทำหน้าที่ของท่านหรือยัง ไม่ต้องรุมด่าผมว่าให้เงินมาเลย หรืออ้างโน่นนี่นั้น เพราะผมไม่ใช่ผู้กำหนดกติกาประเทศ เมื่อกติกาบอกไว้ให้ขอก็ต้องขอ ไม่ขอ ถ้าไม่มีเหตุผลอันควร ก็ถือว่าละเลยหน้าที่ ผมมีหน้าที่ส่งเสริมและเป็นผู้ช่วยเหลือ ผวจ. ในการกำกับดูแล จึงต้องทำหน้าที่ โดยยิงคำถาม 6 คำถาม เพื่อขอทราบเหตุผลที่ไม่ขอรับงบประมาณ เพื่อกระตุ้นให้ อปท ทำหน้าที่

รวมความเห็นการไม่ของบอุดหนุนเฉพาะกิจ จาก facebook

(1) โครงการที่ยกตัวอย่างในหนังสือ เป็นโครงการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนมาก ถ้าไม่ขอรับก็ถือว่า แปลกมาก แต่การขอไปจะได้รับการอุดหนุนงบหรือไม่เป็นอีกกรณีหนึ่ง มันมีมุมมองสองมิติ คือ ด้านดี และด้านด้อย อย่ามองด้านเดียว ด้านดีคือ งบด้านพัฒนา อปท.มีค่อนข้างจำกัด ถ้าไม่ขอเงินอุดหนุน สงสารประชาชนในพื้นที่จริงๆ ที่ อปท.ในพื้นที่ไม่คิดจะลงมือทำอะไรเลย
(2) เรื่องมันซับซ้อนกว่าที่คิดเยอะ ยกเลิกเงินงบประมาณอุดหนุนเฉพาะกิจแล้วเอาเงินมาอุดหนุนทั่วไปกระจายอำนาจให้ประชาชนได้ประโยชน์ตรงๆ ดีกว่าเยอะ
(3) จนท.แรกๆ ก็มีอุดมการณ์ทำเพื่อประชาชนนานๆ อุดมการณ์ก็ทำเพื่อตัวเองระบบมันผิดหรือผิดที่ตัวคน
เพราะคนมี 4 พวก คือ 1.คนที่ทำเพื่อตนเอง แต่ไม่ทำเพื่อคนอื่น 2.คนที่ทำเพื่อคนอื่น แต่ไม่ทำเพื่อตนเอง 3.คนที่ไม่ทำเพื่อตนเอง และไม่ทำเพื่อคนอื่น 4.คนที่ทำเพื่อตนเอง และทำเพื่อคนอื่นตนเอง
(4) ปัญหาคืองบอุดหนุนเฉพาะกิจให้ในโครงการที่สุ่มเสี่ยง เช่นถนนยางพารา สนามฟุตซอล เสาไฟโซล่าเซล สนามเด็กเล่น งบขุดลอก ซึ่งไม่มีความจำเป็น แถมเวลาจัดซื้อจัดจ้างจะสั่งใช้วิธีคัดเลือก ซึ่งคือการฮั้วชนิดหนึ่งนั่นเอง หลาย อบต.จึงไม่เอางบอุดหนุนเฉพาะกิจ และทางกรมต้องอุดหนุนมาเป็นงบอุดหนุนทั่วไป แทน
(5) หากโครงการที่จัดมาไม่เหมาะสม อปท.ก็ควรมี นส.ให้รัฐบาลทบทวนโครงการที่ อปท.ไม่เห็นด้วยหรือที่ไม่เหมาะสมผ่านตามช่องทางตัวแทน อปท. น่าจะเป็นทางออก มาโต้แย้งกับ หน่วยปฎิบัติงานซึ่งไม่มีอำนาจเปลี่ยนแปลงคงไม่เกิดประโยชน์
(6) จนท.จึงสุ่มเสี่ยง โครงการมักมาพร้อมผู้อำนวยความสะดวก ชี้จุด พร้อมเดินโครงการให้ แต่กระนั้นระบบต่างๆ ในการจัดซื้อจัดจ้างจะเป็นคนในเท่านั้นที่เอาคอพาดเขียงรอวันชี้มูล ปปช. คนอื่นรอด

(7) อปท.ทุกที่อยากได้งบประมาณแต่พอได้มามักมีเหตุไม่พึงประสงค์ตามมา เช่น การตามมาเอางานที่อ้างว่าตนเป็นคนเอางบมาให้ แล้วเกิดความขัดแย้งกันระหว่างผู้รับเหมา เมื่อไม่ได้งานก็ผูกใจเจ็บ นำหน่วยตรวจสอบมาตรวจโครงการหาข้อบกพร่อง ผู้ที่เกี่ยวข้องก็ทุกข์ร้อนกันถ้วนหน้า ถ้าแก้ปัญหาตรงนี้ได้เชื่อว่าคงไม่มีใครไม่ของบ ทางออกอีกทางคือเอาอุดหนุนเฉพาะกิจมาจัดสรรเป็นอุดหนุนทั่วไปกำหนดสัดส่วนให้เป็นธรรมกับ อปท.ที่งบประมาณน้อยกับ อปท.ที่งบประมาณมาก เป็นข้อปัญหาเพื่อพัฒนาแก้ไข
(8) ปกติทั่วไปเป็นเรื่องที่ดีมาก ในการสอบถามเหตุผลให้ชี้แจงจึงดีแล้ว เพราะบางแห่งละเลย แต่บางแห่งไม่ได้ละเลย เช่น แต่ละเลยเพราะมันล่วงเลยเวลาส่งโครงการไปนานแล้วหนังสือเพิ่งแจ้งให้ส่งโครงการ หรือ ส่งโครงการไม่ทัน ทำไม่ทัน หนังสือมาตอนเช้า ให้ส่งโครงการให้ทันตอนเย็น หากไม่ส่งถือว่าไม่ขอรับงบประมาณ แบบนี้ ก็ต้องชี้แจงเรื่องจริงไปให้ทราบ ขอไม่ทันถือว่าไม่เอา เหตุผลมันชัดเจนในตัวเองแล้ว เช่น โครงการเศรษฐกิจฐานรากให้ส่งภายใน 3 วัน
(9) อปท.บางแห่ง ไม่มีปลัด คลัง ช่าง  การขอโครงการ ต้องมีแบบ ปร.4 ปร.5 ไปขอ อปท.ข้างเคียง ก็ลำบากเพราะเขาก็ต้องทำงานใน อปท.เขาเช่นกัน สรุปว่าต้องลงทุนสูง หลายแห่งลงทุนจ้างใครก็ได้เขียนโครงการเลย หากโชคดีมีนายทุนอาสาวิ่งโครงการก็ยังไม่ดี เพราะจะมีการถอนทุนคืนทีหลัง เสี่ยงการทุจริตสูง คนที่ไม่เคยอยู่ท้องถิ่น อปท.เล็กๆ ที่ขาดแคลนบุคลากร ขาดทุกอย่าง คงไม่เข้าใจ
(10) มีข้อเสนอ 1.นส.ให้ถึงอปท.ก่อนสัก 2 อาทิตย์ได้ไหมจะได้มีเวลาทำงานให้รอบคอบรัดกุมมากยิ่งขึ้น 2.เงื่อนเกี่ยวกฎหมายพื้นที่ที่ทำโครงการฯ ต้องทำ นส.ด่วนสอบถามหรือขออนุมัติ หรือขออนุญาต เป็นอุปสรรคในการขอ 3.ทุก อปท.อยากได้ งปม.มาพัฒนาตำบล อาจมีปัญหาอุปสรรคจาก อปท.เองหรือ ที่มีเหตุอื่นๆ ทำให้ไม่ได้งบมาจากเหตุต่างๆ นานาๆ
(11) อปท.บางแห่ง พื้นที่มีจำกัดโครงสร้างพื้นฐานทำจนไม่มีอะไรจะทำแล้ว ปรับปรุง ซ่อมแซม จนไม่รู้จะทำอะไรอีกงบโครงสร้างพื้นฐานกับรถขยะควรเปลี่ยนมาให้เงินอุดหนุนมาพัฒนาด้านคุณภาพชีวิต การพัฒนาทางด้านการศึกษาบ้าง
(12) ขอไปแล้วไม่ใช่ได้ทุกโครงการตามที่ขอ ขอไปอาจถูกตัดงบลงก็ได้ หรือไม่ได้เลย ทำไมไม่จัดสรรงบเหมือนก่อน ส่วนกลางมีเจตนาอย่างอื่นแฝงหรือไม่ 

(13) จริงๆ คือ รัฐต้องกำหนดให้ อปท.ตาม พรบ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ ร้อยละเท่านั้นเท่านี้ แต่ผู้มีอำนาจไม่ทำ เอาเงิน อปท.ไปรวบใว้ที่ส่วนกลาง แล้วให้ อปท.ขอ เหมือนว่า อปท.ขอเงินตัวเอง ถ้าไม่ขอ(เงินตัวเอง) ก็ไม่ได้ ทั้งที่เป็นเงินของ อปท.เอง เป็นอย่างนี้หรือไม่ อย่างนี้ถูกต้องหรือไม่ เข้าใจถูกหรือไม่
(14) ผู้กำกับเก่งแต่มาบี้กับ อปท. ทั้งๆ ที่รู้ปัญหา ว่าเบื้องบน มั่วขนาดไหน หลักเกณฑ์การอนุมัติงบอุดหนุนเฉพาะกิจไม่ได้มีมาตรฐานอะไร ใช้เส้นขนาดไหน ขอไปไม่รู้กี่ปีๆ ก็ไม่เคยได้ แต่ไม่กล้าว่าส่วนกลางกับเบื้องบนสักนิด แบบนี้ถือว่าเก่งจริงไหม เพราะต้องมองข้อจำกัด อุปสรรคด้วย เส้นทางมิได้โรยด้วยดอกกุหลาบ ความเหลื่อมล้ำของการคลังท้องถิ่นยังมีมาก 

ข้อสังเกต

(1) admin เคยเขียนบทความเรื่องนี้เมื่อ 5-6 ปีก่อน เกี่ยวกับเทคนิคการวิ่งเอางบเงินอุดหนุนเฉพาะกิจจากส่วนกลาง สมัยนั้นคือ สถ. (อาจมีงบ อุดหนุน ฉก.ส่วนราชการอื่นๆ ด้วย) เป็นบทความอยู่ในเวบโกทูโนว และลงพิมพ์ในสยามรัฐ
เหตุการณ์พฤติการณ์ก็เดิมๆ มึการซื้อขายโครงการ จ่ายเงินล่วงหน้าเพื่อแลกโครงการด้วย เป็นหลักแสนหลักล้าน (เรื่องจริง) บางรายถึงขนาดถูกหลอก หรือถูกหักหลัง ไม่ได้โครงการ ทั้งๆ ที่จ่ายเงินไปแล้ว ก็จะไม่ได้เงินคืน เพราะมีการย้าย อสถ. จึงมีการอนุมัติสลับเปลี่ยนโครงการใหม่ เป็นต้น

ฉะนั้น จึงมีข้อเสนอว่า ให้ปรับจากเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ เป็นอุดหนุนทั่วไปจะดีกว่ามาก เพราะจะแก้ไขปัญหาการทุจริตต่างๆ และลดความเหลื่อมล้ำของท้องถิ่นลง

(2) การเสนอขอแล้วได้ ก็น่าทำ ขอ =ได้/ไม่ได้ แต่ถ้าไม่ขอ = ไม่ได้ แน่ๆ การเสนอขอโครงการจึง “เป็นหน้าที่” แต่ท้องถิ่นจังหวัดมีการตั้งกรรมการตรวจสอบโครงการ แล้วก็ปัดโครงการตกไป โดยมิใช่การตรวจสอบว่าเอกสารถูกต้องหรือไม่ เพื่อการส่งต่อส่วนกลาง 

(3) การล็อกโครงการเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ที่พบเห็นได้แก่ ต้องเสนอขอโครงการ ด้านน้ำอุปโภคบริโภค (ป๊อกแท้งค์) ด้านท่องเที่ยว/โครงสร้างพื้นฐาน (โซล่าเซลล์) ด้านพัฒนาการศึกษา (สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา) เป็นต้น ซึ่งจะมีโอกาสได้รับการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนสูง 

 

อ้างอิง

อ้างจากเฟซบุ๊ก มนัส สุวรรณรินทร์, 25-27 มกราคม 2565

"ป๊อกแทงค์" (บริษัท วอเทอร์ป๊อก จำกัด) เพื่อคนไทยทุกท้องถิ่น ได้ "น้ำประปาสะอาด" มีมาตรฐาน โดย ผู้จัดการออนไลน์, 2 กรกฎาคม 2564, https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9640000063991 

การวิ่งงบประมาณของ อปท.ที่ “ไม่มีใบเสร็จ” ตอนที่ 1-2, โดย Phachern Thammasarangkoon & Ong-art saibutra, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม 2559 และฉบับวันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559, ในเวบโกทูโนวดอทโออาร์จี, 21 มกราคม 2559, 4 กุมภาพันธ์ 2559, https://www.gotoknow.org/posts/599786 & https://www.gotoknow.org/posts/600421 

หมายเลขบันทึก: 696851เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2022 18:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2022 15:47 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท