๑,๒๕๑ ห้อง....อเนกประสงค์


  ความรู้สึกของผมในตอนนั้น ก็เข้าใจได้ถึงความเป็นห้องสมุดเล็กๆที่ได้รับบริจาค แต่ก็คิดได้ในตอนนั้นอีกเหมือนกันว่า พ.ศ.๒๕๔๙ เป็นปีที่การศึกษาไทยก้าวมาไกลแล้ว ผมจะวางเฉยเรื่องห้องสมุดคงไม่ได้ ต้องทำให้มีมาตรฐานมากกว่านี้...วันนั้น...จึงได้แรงบันดาลใจ ว่าต้องสร้างห้องสมุดใหม่.. ในอีก ๗ ปีต่อมา

          ไม่ใช่เรื่องเล่าต่อกันมา แต่เป็นเรื่องจริงเชิงประจักษ์ แบบว่าได้ทำมากับมือ มีการเปลี่ยนแปลงให้เห็น ตลอดระยะเวลา ๑๕ ปีที่ผ่านมา ความเดิมก็คือห้องนี้มีอายุกว่า ๔๐ ปีแล้ว

          ผมอยากพูดถึงและบันทึกไว้ เพราะมีโอกาสได้รู้จักครูคนแรกของโรงเรียนบ้านหนองผือ ท่านอยู่ตั้งแต่ปี ๒๕๒๒ ซึ่งตอนนั้นท่านมีส่วนร่วมอยู่ในบรรยากาศของการสร้างห้องนี้ด้วย

          จุดประสงค์ของคนสร้าง ต้องการใช้เป็นห้องสมุดขนาดเล็ก สร้างโดยคณะนักศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตนครปฐม มาออกค่ายอาสาพัฒนา ก็นับว่าได้สร้างคุณูปการให้แก่โรงเรียนไว้มิใช่น้อย

          ขนาดของห้องราวๆ ๒๕ – ๓๐ ตารางเมตร ซึ่งไม่เหมาะที่จะเป็นห้องเรียน ผนังห้องก่ออิฐถือปูน ส่วนใหญ่ใช้อิฐบล๊อกเป็นแบบทึบและแบบมีช่องให้แสงและลมผ่านได้ ส่วนผนังด้านล่างโดยรอบก่อด้วยอิฐแดงหรืออิฐมอญ จึงคงทนถาวรอยู่ได้นานมาถึงปัจจุบัน มีอิฐบล๊อกบางส่วนเท่านั้น ที่เริ่มผุกร่อนไปตามกาลเวลา

          จากบันทึกในสมุดหมายเหตุและคำบอกเล่าของครูคนแรก บอกว่าห้องนี้ใช้เป็นห้องสมุด ผมมองเห็นภาพได้ชัดเจน เพราะผมมาทันได้เห็นห้องสมุดพอดี ในปี ๒๕๔๙ วันที่มารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ผมเดินเข้าไปดูด้วยความสงสัยว่าเป็นห้องอะไร

          ภายในห้องมองดูโทรมๆ มีชั้นวางหนังสืออยู่เต็มไปหมด ดูทึบๆและอึดอัดมาก หนังสือกระจัดกระจายเรี่ยราดอยู่ตามพื้นห้อง ไม่มีหลอดไฟ ห้องจึงมืดมัว ไม่มีฝ้าเพดาน ห้องจึงร้อนอบอ้าว ที่รู้สึกเย็นตาก็มีอย่างเดียวคือพื้นปูนที่ขัดมัน ถือได้ว่าเทปูนได้พิถีพิถันมาก

          ความรู้สึกของผมในตอนนั้น ก็เข้าใจได้ถึงความเป็นห้องสมุดเล็กๆที่ได้รับบริจาค แต่ก็คิดได้ในตอนนั้นอีกเหมือนกันว่า พ.ศ.๒๕๔๙ เป็นปีที่การศึกษาไทยก้าวมาไกลแล้ว ผมจะวางเฉยเรื่องห้องสมุดคงไม่ได้ ต้องทำให้มีมาตรฐานมากกว่านี้...วันนั้น...จึงได้แรงบันดาลใจ ว่าต้องสร้างห้องสมุดใหม่.. ในอีก ๗ ปีต่อมา

          ในระหว่างที่แสวงหางบประมาณสร้างห้องสมุด ผมก็เริ่มสังคายนาห้องสมุดหลังเก่าไปพลางๆ ทั้งงานทาสี ติดไฟฟ้าฝ้าเพดาน ติดพัดลม และปูกระเบื้อง หนังสือบางส่วนนำไปใส่กระเช้าไว้โคนต้นไม้ ทำเป็นห้องสมุดเคลื่อนที่ เอาไว้ที่มุมหนังสือในแต่ละห้อง เพราะครูมีน้อย เด็กจะได้ไม่ต้องไปมั่วสุมกันอยู่ในห้องเล็กๆแบบนี้

         พอได้ห้องสมุดใหม่ ห้องสมุดหลังเดิมก็กลายเป็นห้องเรียนชั้น ป.๔ อยู่ประมาณ ๓ – ๔ ปี จากนั้นเมื่อมีอาคารเรียนหลังใหม่ ที่ชื่อ “อาคารออมสิน” ป.๔ ก็ย้ายขึ้นไป ห้องนี้จึงโล่งสะอาดตายิ่งนัก คณะครูลงความเห็นว่า สมควรจะได้ปรับปรุงอีกครั้ง ทั้งประตูหน้าต่างและติดแอร์ เพื่อทำให้เป็นห้องส่วนตัวของ ผอ.

          ผมรีบปฏิเสธทันที ขอใช้ห้องนี้เป็นห้องธุรการ เป็นห้องประชุมครู และใช้ต้อนรับคณะผู้มานิเทศและประเมินโรงเรียนในแต่ละภาคเรียน เป็นห้องสำหรับเก็บข้อมูลสารสนเทศของโรงเรียนทั้งหมดจะดีกว่า แต่ด้วยเป็นห้องที่เล็กและคับแคบ ก็ขอให้ครูช่วยกันตกแต่งให้โล่ง โปร่ง ดูสบายตา เน้นความสะอาดและให้เป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่เสมอ

          ห้องนี้ จึงมีความเป็นอเนกประสงค์ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ใช้ปฏิบัติการหลายรูปแบบ ใช้งานได้อย่างหลากหลาย ทั้งห้องสมุด ห้องเรียน ห้องธุรการและห้องประชุม คุ้มค่าและสมประโยชน์จริงๆ

          ขอบคุณคณะครูรุ่นแรกๆ และขอบคุณน้องๆนักศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่รังสรรค์ผลงานเอาไว้ แม้ว่าผมจะได้ปรับปรุงไปมากมายหลายอย่าง แต่ก็ยังรักษาพื้นฐานโครงสร้างเดิมเอาไว้ ไม่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะหน้าต่างและประตู ยังดูคลาสสิกอยู่เสมอ

          นี่ล่ะ...สถานศึกษาพอเพียงอย่างแท้จริง

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๒๖  มกราคม  ๒๕๖๕

          

      

   

หมายเลขบันทึก: 696801เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2022 22:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มกราคม 2022 22:26 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท