ชีวิตที่พอเพียง ๔๑๓๘. สื่อสารองค์กรหรือสื่อสารสังคม


 

ในการประชุมมูลนิธิ HITAP (โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ) บ่ายวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๖๔    มีวาระเพื่อขอคำแนะนำเรื่องการปรับภาพลักษณ์และแนวทางการสื่อสาร    เป็นที่มาของบันทึกนี้    

เรื่องการสื่อสารองค์กร เป็นเรื่องค้างคาใจผมเรื่อยมาตั้งแต่เริ่มทำงาน   และมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องกับงานบริหาร   ได้สังเกตเห็นกิจการของงาน “ประชาสัมพันธ์”   ของราชการที่ผมมองว่าหลายส่วน (?ส่วนใหญ่) ใช้ทรัพยากรแบบสูญเปล่า    ราชการไม่ได้ประโยชน์   เพราะเจ้าหน้าที่มุ่งเอาใจนายด้วยการประชาสัมพันธ์นาย    โดยที่หัวหน้าบางคนก็ต้องการให้ทำเช่นนั้น   แทนที่จะประชาสัมพันธ์หน่วยงาน เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม   กลายเป็นใช้ทรัพยากรของราชการเพื่อผลประโยชน์ของหัวหน้า    เป็นพฤติกรรมที่ผมรังเกียจ ว่าเป็นคอร์รัปชั่นทางอ้อมอย่างหนึ่ง     

เวลานี้ หากสังเกตกลไกประชาสัมพันธ์หน่วยงานราชการ   จะสังเกตเห็นพฤติกรรมดังกล่าวโจ่งแจ้งยิ่งขึ้น 

สมัยผมเป็นผู้อำนวยการ สกว. ผมย้ำกับทีมประชาสัมพันธ์ว่า   ห้ามสื่อสารเพื่อโฆษณาตัวผู้อำนวยการหรือผู้บริหาร    ให้เน้นสื่อสารผลงานวิจัย ว่ามีประโยชน์ต่อสังคมอย่างไร สื่อให้ชัดว่าเจ้าของผลงานนั้นเป็นใคร สังกัดหน่วยงานใด แล้วจึงระบุว่าผลงานนั้นได้รับการสนับสนุนจาก สกว.   ทำให้ สกว. มีมิตรมากจากพฤติกรรมดังกล่าว น

ผมสังเกตว่าในยุคปัจจุบัน การสื่อสารผลงานถูกใช้เป็นกลไกเพื่อการแข่งขัน   แต่ผมมองว่า หน่วยงานวิจัยอย่าง HITAP ต้องสื่อสารเพื่อสร้างความร่วมมือเป็นเป้าหมายหลัก    จึงไม่ควรเน้นสื่อสารองค์กร    แต่ควรเน้นสื่อสารสังคม    ซึ่งหมายความว่า เป้าหมายหลักของการสื่อสารเพื่อผลประโยชน์ของสังคมวงกว้าง มากกว่าเพื่อความเด่นดังขององค์กร   

การสื่อสารเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ    ทำโดยชี้ให้เห็นว่า กว่าผลงานวิจัยแต่ละชิ้นจะสร้างผลกระทบต่อระบบสุภาพ และต่อบริการที่ประชาชนได้รับนั้น ต้องผ่านกลไกหลากหลายขั้นตอน    นอกจากนักวิจัยในโครงการแล้วยังต้องผ่านการพิจารณาของผู้เกี่ยวข้องอีกมากมาย    หากการสื่อสารของ HITAP เน้นความจริงนี้    HITAP ก็จะได้มิตรมากมาย   เหมือนอย่างที่ สกว. สมัยผมทำหน้าที่ผู้อำนวยการ เคยได้รับความช่วยเหลือจากมิตร เมื่อผมโดนศัตรูโจมตีทางหน้าหนังสือพิมพ์ (ไทยรัฐ และ The Nation)   

การสื่อสารสังคมของหน่วยงานวิจัย ที่ดีที่สุดทำโดยสื่อสารคุณค่าของผลงานวิจัย ที่มีผลกระทบต่อผู้คนและต่อสังคม    สื่อสารที่มาที่ไปของผลงานนั้น    สื่อสารความยากลำบากในการสร้างผลงานนั้น ว่าต้องการความพากเพียรและร่วมมือกันกว้างขวางเพียงใด    ต้องเอาชนะอุปสรรคสำคัญๆ อะไรบ้าง   

ผมเชื่อมาตลอดว่า การสื่อสารงานวิจัย  ต้องใช้คนละกระบวนทัศน์กับการสื่อสารธุรกิจ  และการสื่อสารการเมือง 

สำหรับผม ผมอยากให้ภาพลักษณ์องค์กรที่ผมเกี่ยวข้อง เป็นภาพลักษณ์ที่สะท้อนความจริงใจต่อสังคม   มุ่งประโยชน์สังคมวงกว้าง มากกว่าเพื่อตนเอง   

ต้องตอบคำถามว่า สื่อสารเพื่อใคร      

วิจารณ์ พานิช 

๒๓ ธ.ค. ๖๔ 

 

หมายเลขบันทึก: 696622เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2022 19:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มกราคม 2022 19:03 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Those who love self-promotion appear in the public often, say things often, make mistakes often,… If we are not just silent majority, we can use their promotion ´io´ to modify their behavior. It is called ´name and shame´ ;-)

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท