“จะสร้างคนรุ่นใหม่ มาสืบทอดและต่อยอดงานที่มีอยู่ได้อย่างไร?”


เรื่องการสร้างคนรุ่นใหม่มาสืบทอดและต่อยอดงาน อันนี้เป็นปัญหาปวดกบาลในทุกๆภาคส่วนนะครับ แต่ภาคราชการนี่อาจจะน้อยหน่อย เพราะมีระบบการสอบ การคัดเลือกที่ชัดเจน แต่ในส่วนประสิทธิภาพมันก็อาจจะเป็นอีกเรื่อง

พอดีวานนี้ รุ่นใหญ่จากภาคประชาสังคมท่านหนึ่ง แชตมาปรึกษา อืม จริงๆผมก็ไม่ได้มีทฤษฎีอะไรมากมาย ก็จะเล่าจากประสบการณ์และการเรียนรู้ที่ผมเก็บเล็กผสมน้อยมาเรื่อยๆละกันครับ

การสร้างคนเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ส่วนตัวผมคิดว่า ในการสร้างคนรุ่นใหม่มาสืบทอดและต่อยอดงานมีอยู่สองเรื่องใหญ่ๆที่ต้องทำ 
คือ 1. การมองไปข้างนอก และ 2.การมองกลับมาข้างใน

1.การมองไปข้างนอก
    1.1 การมองภาพรวมเชิงบริบท
อย่างแรกเลยนี่คือ มองภาพรวมของยุคสมัย พูดง่ายๆคือเข้าใจว่าในปัจจุบันนี้ สถานการณ์โลก เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี มันเปลี่ยนไปอย่างไร  คนแบบไหนที่จะเป็นผู้ขับเคลื่อน  เป็นแนวหน้า  แนวร่วม หรือแนวหลัง ที่สอดรับกับโลกแบบ VUCA World ไม่ใช่เราเอาภาพเก่าว่าเราเคยสร้างแบบแผนการหล่อหลอมคนมายังไง แล้วเอาแบบนั้นมาใช้ทั้งกะบิ อันนี้ก็พัง ก็ต้องเลือกเอามาใช้  แต่ก็ต้องหมั่นตั้งคำถามและตรวจสอบชุดประสบการณ์เก่าที่เราเคยใช้บ่มเพาะคนขึ้นมาด้วย 

ยังไงๆ เราต่างก็มีข้อจำกัดในการมองภาพใหญ่ โดยมากเราจะเห็นเป็นภาพเชิงเดี่ยว คือ เห็นในมุมของเรา จะให้ดีควรมีครูบาอาจารย์ มีแหล่งเรียนรู้ มีกัลยาณมิตรมาช่วยเป็นกระจกสะท้อน จึงจะมองเห็น ภาพรอบด้าน แล้ววิเคราะห์สังเคราะห์ออกมาเป็น“ภาพรวม” ได้ง่าย 


ตรงนี้ ถ้าไม่เห็นภาพรวมของยุคสมัย อะไรๆก็เป๋ไปแต่แรกละครับ อย่าหวังว่าจะสร้างใครเลย เพราะถ้ามองไม่เห็นทาง แค่จะเอาตัวเองให้รอด ก็หนักหนาแล้ว

    1.2 การมองหาคนที่ “ใช่” 
ถ้าเราต้องการคนคุณภาพ มาทำงานที่ยาก และมีความรับผิดชอบสูง เราต้องเลิกวิธีสร้างคนแบบหว่านไปทั่ว แต่จะหาคนที่ใช่ ได้อย่างไร อันนี้ มีหลายวิธี ซึ่งเราใช้ร่วมกันได้ เช่น ใช้ประกาศ , ใช้แมวมอง , ใช้การสำรวจ ,  ฯลฯ

ขั้นตอนการคัดคนนี่สำคัญมาก เพราะถ้าเอาคนที่ไม่ใช่เข้ามานี่นอกจากจะเสียเวลาแล้ว ยังทำให้คนอื่นที่ควรจะได้งาน เสียโอกาสไปด้วย ไม่นับรวมสิ่งต่างๆที่เราลงทุนลงแรงลงไป

สิ่งสำคัญต่อมา คือเมื่อได้คนที่ใช่มาแล้ว ก็ต้อง “บ่มเพาะ” และ “ฟูมฟัก” ไม่ว่าจะเป็น ทุน ความรู้ เครื่องมือ รวมถึงการดูแลมิติอื่นๆในชีวิตของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็น สุขภาพ ครอบครัว การเงิน พูดภาษาสมัยใหม่คือเหมือนเป็น Life Coach เป็น Mentor หรือพี่เลี้ยงที่เชื่อมโยงกันในหลายมิติ ไม่ใช่เอาแค่งานสั้นๆแบบแยกส่วน แต่มองเสมือนคนที่มีชีวิต ที่จะผูกพันต่อกันไปอีกยาว ซึ่งกลวิธีบ่มเพาะ ฟูมฟัก ดูแลนี้ ต้องเป็นกระบวนการที่มีความรักความเมตตาต่อกัน มี Soft-Skill เป็นพื้นฐาน อย่างการใช้กระบวนการสุนทรียสนทนา (Dialogue) ฯลฯ ซึ่งทำควบคู่กันไปทั้งในแบบส่วนบุคคล (Personalized) และแบบทีม (Team Learning) เพื่ออุดช่องว่าระหว่างวัฒนธรรมที่รวมไปถึงช่องว่างระหว่างรุ่น (Generation Gap)

กลวิธีบ่มเพาะ ฟูมฟัก ดูแลนี้ จำเป็นต้องมีโครงสร้าง และระบบอยู่บ้าง ไม่งั้นจะลอย แต่ให้เป็นโครงสร้าง และระบบที่ยืดหยุ่น (Resilience & Agility) ที่สำคัญคือมี Core Culture แห่งความรัก ความเมตตาแบบ Emphathy เป็นแก่นแกน  Core Cultureแบบนี้ อาจจะไม่ชัดนักในตอนแรก แต่ระยะยาวมันจะพัฒนาขึ้นจนเป็นวิถี

เมื่อถึงเวลานั้น จากที่เคยมองหาคนเข้าร่วม ตัวเราก็ดี กลุ่มที่เราสร้าง งานที่เราทำก็ดี จะแปรสภาพเป็นเสมือนสนามพลังที่ดึงดูดคนที่ใช่เข้ามาเอง ตามกฏธรรมชาติ ที่ว่า “สิ่งที่เหมือนกัน ย่อมดึงดูดกัน”

2.การมองกลับมาข้างใน

การมองกลับเข้ามาข้างในนี่ เป็นการสำรวจหรือสแกนตัวเอง ซึ่งจริงๆทำได้หลายแบบมาก ถ้าเป็นแบบผมนี่ก็จะเช็คสมดุลชีวิต สุขภาพ  ครอบครัว งาน เงิน  สังคม จิตวิญญาณ มองกลับมาที่ตัวเอง แต่ต้องระวังเพราะเรามักโน้มเอียงที่จะมองตัวเองด้วยอคติแบบต่างๆ ตรงนี้ เป็นไปได้ถ้ามีครูบาอาจารย์ มีแหล่งเรียนรู้ มีกัลยาณมิตร หรือแม้แต่รู้จักใช้ IT มาช่วยเป็นกระจกสะท้อนก็จะทำให้เห็นตัวเอง รู้จักตัวเองชัดขึ้น

การรู้จักตัวเองนี้ จริงๆแล้วเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะไม่เพียงแต่เป็นเงื่อนไขที่ส่งผลในการออกแบบการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ที่จะมาเป็นทีม แต่ยังช่วยให้เรามีเซนส์ ในการ Touch หรือเข้าถึงผู้คนอื่นๆ โดยเฉพาะ “คนที่ใช่” อีกด้วย

และถ้าโฟกัสไปที่การรู้จักตนเองในทางความคิด เราก็จะค่อยๆพบหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นความรู้ เป็นวิธีคิด เป็นทักษะที่ล้าสมัยไปแล้วหากแต่มันยัง Function หรือคอยขับเคลื่อนพฤติกรรมต่างๆของเรา ตรงนี้เราก็ต้องหากลยุทธ์ในการ Rethinking , Reform , Re-vision ,Re-skill รวมถึง Up-skill โดยต้องรู้จักสร้างเงื่อนไข หรือนิเวศของการเรียนรู้ให้กับตัวเอง ซึ่งก็ทำได้มากมายหลายวิธี

แต่สิ่งที่เป็นปัจจัย ที่จะจะช่วยให้เรารู้จักตัวเอง รวมถึงมีเซนส์ในการเข้าใจคนอื่น และโฟกัสความคิดได้อย่างมีพลังมากขึ้น คือ การฝึกสติ (Mindfulness) ซึ่งควรฝึกฝนทำทั้งในรูปแบบเจริญสติแบบนิ่งๆ และรูปแบบของการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวเช่น การออกกำลังกาย การทำงานศิลปะ รวมถึงการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน

อ้อ อย่าลืมใส่ความตื่นตัว  ความมีสีสันให้การมองกลับมาข้างใน เป็นกิจกรรมที่ท้าทาย  ยิ่งทำยิ่งดี ยิ่งทำยิ่งได้พบสิ่งใหม่ๆ ยิ่งทำยิ่งได้แรงใจ ยิ่งทำยิ่งสดใสเพลิดเพลิน ด้วยนะครับ จึงจะเป็นการมองกลับเข้ามาข้างในที่ไม่เพียงแต่เป็นทางของผู้รู้ ผู้ตื่น แต่ยังเป็นผู้เบิกบาน มีใจสะอาดผ่องแผ้ว ที่ฉายแววส่องประกายออกมาจากภายใน


สรุป

การพัฒนาแกนนำคนรุ่นใหม่เพื่อทดแทน และทำให้งานขับเคลื่อนต่อไปอย่างต่อเนื่อง เป็นโจทย์ใหญ่ของทุกองค์กร ทุกภาคส่วน เอาเข้าจริงก็ไม่ได้มีความซับซ้อนอะไรมาก แค่มีหลักการสองข้อข้างต้น 

หากสิ่งที่ยากคือการก้าวข้ามตนเอง และเปิดใจยอมรับความผิดพลาด ยอมเดินเข้าไปหา ลดทิฐิอัตตา แต่ไม่ใช่การยอมแบบ เอ้อ ฉันยอมอ่อนข้อ ฉันยอมเป็นผู้เสียสละ เพราะนี่ก็ยังมี “อัตตาที่ซ้อนอัตตา”อยู่ คือ อัตตาของผู้ให้อันมีนัยยะว่าผู้ให้ดีกว่าสูงส่งกว่า หากแต่เป็นการเข้าหาด้วย Mindset หรือวิธีคิดแบบ Emphathy เห็นเขาอยู่เรา เห็นเราในเขา เห็นความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน เหมือนรักแบบเมตตาโดยไม่ต้องให้รู้สึกกดดัน บีบรัด ซึ่งตรงนี้สังคมไทยที่มี seniority หรือการถืออาวุโสสูง และชินกับการ “สอน-สั่ง” (Ordering) ก็เป็นกำแพงทางวัฒนธรรมที่หนาและหยั่งรากลึกมาก 

                      ในขณะที่โลกยุคใหม่ ด้วยบริบทของการต้องปรับตัวต่อวิกฤตโรคระบาดก็ดี อุบัติภัยจากสิ่งแวดล้อมก็ดี การเกิดขึ้นของ Digital Disruption ส่งผลให้โลกกำลังปฏิรูปไปในหลายๆด้านด้วยอัตราเร่งแบบสปีดชนิดที่เร็วอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ประเด็นงานพัฒนา การเมือง เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม ย่อมต้องตกอยู่ในมือคนรุ่นใหม่อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง 

บางทีโจทย์ที่เราตั้งต้นนี้ อาจจะไม่ถูกถามหรือแก้โดยคนรุ่นเรา (หมายถึงกลุ่มคนที่ทำงานมานานๆ เป็นกลุ่ม Gen BBB , Gen X ) แต่อาจจะเป็นคำถามที่คนรุ่นใหม่ตั้งและหาทางแก้ด้วยตัวเขาเองในวันหน้า 

คำถามคือ “ทำไมเราไม่ชวนพวกเขามาร่วมหาคำตอบในวันที่เราพอจะมีแรงกันวันนี้ซะเลย?”
 

หมายเลขบันทึก: 696006เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2022 21:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มกราคม 2022 22:00 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท