ชีวิตที่พอเพียง ๔๑๓๐. เมื่อผมถูกบังคับให้คิดแบบ either … or …


 

วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๖๔ (วันหยุด) ผมเข้าร่วม “การอบรมเชิงปฏิบัติการ แผนงานพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ ปี ๒๕๖๕ – ๒๕๖๗” ของ กสศ.  ทางออนไลน์ 

กระบวนการมี ๔ กิจกรรม ตั้งแต่ ๘.๓๐ ถึง ๑๖.๐๐ น.   การทำงานแยกกลุ่มเป็น ๓ กลุ่ม กลุ่มละ ๙ - ๑๑ คน โดยกระบวนการแรกเป็นการสอบทานเป้าประสงค์ทั้ง ๘ ข้อ ที่สำนักครูกำหนดไว้     มีโจทย์ให้สมาชิกกลุ่มจัดลำดับความสำคัญของเป้าประสงค์    ที่เมื่อผมอ่านเป้าประสงค์ทั้ง ๘  ก็เกิดชื่อบันทึกนี้    ที่สะท้อนวิธีมองเรื่องคุณภาพการศึกษา และเรื่องกลยุทธการดำเนินการเพื่ยกระดับคุณภาพการศึกษาของผม   

ผมคิดว่าเรื่องการศึกษา และการยกระดับคุณภาพการศึกษาเป็นเรื่องซับซ้อน (complexity)    ปัจจับต่างๆ เชื่อมโยงถึงกัน และมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกันอย่างซับซ้อนและเป็นพลวัต    การทำความเข้าใจเป้าประสงค์ทั้ง ๘ ข้อ จึงไม่ใช่การคิดแบบแยกส่วน   ต้องเป็นการคิดทำความเข้าใจความเชื่อมโยง    และโยงสู่การปฏิบัติและผลของการปฏิบัติ   

เป้าประสงค์ทั้ง ๘ เขียนไว้อย่างกว้างๆ มีความคลุมเครือสูง   ซึ่งมองในมุมหนึ่ง ก็เหมาะสำหรับกิจกรรมที่มีความซับซ้อนและเป็นพลวัตสูง    เพราะเปิดช่องให้มีการตีความ    ดังกิจกรรมในวันนี้ ผมมองว่า คุณค่าอยู่ที่การร่วมกันตีความ    จากเป้าประสงค์ ๘ ข้อ สู่การปฏิบัติ   และร่วมกันตีความผลของการปฏิบัติให้ชัดเจน เอาไว้เป็นเข็มทิศนำทางการปฏิบัติที่ซับซ้อน และจะต้องมีการปรับตัวตลอด ๓ ปี   

คนที่มีวิธีคิดแบบผม จึงไม่สามารถทำตามคำสั่งของการประชุมช่วงที่ ๑ ได้    คือไม่สามารถจัดลำดับความสำคัญของเป้าประสงค์ ๘ ข้อได้   แต่สามารถร่วมตีความเป้าประสงค์แต่ละข้อ   โยงสู่การปฏิบัติ และผลของการปฏิบัติ ที่วิทยากรกระบวนการเรียกว่าตัวชี้วัด (KPI – key performance indicators)           

ผมเกิดคำถามต่อตัวเองว่า KPI มีไว้เพื่ออะไร    หากมีคนตอบว่า เอาไว้ทำงานให้บรรลุผล   ผมก็จะคิดต่อทันทีว่า ท่านผู้นั้นทำงานแบบใช้ Single-loop learning   คือหาทางปรับวิธีทำงานให้บรรลุผลที่กำหนดไว้ตายตัว   

แต่ผมอยากฝึกตนเอง และผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง ทำงานแบบใช้ Double-loop learning   คือใช้การทำงานและผลที่เกิดขึ้น ตอบคำถามว่า มีทางทำให้ได้ผลดีกว่า KPI ที่คิดไว้ในตอนแรกได้ไหม    คือเมื่อบรรลุ KPI งานต้องยังไม่จบ    ยังต้องคิดหาทางตั้ง KPI ใหม่ที่มีคุณค่ายิ่งกว่าเดิม   

ดังนั้น ตอนอภิปรายกันเรื่องเป้าประสงค์ ๘ ข้อ   เพื่อจัดลำดับความสำคัญนั้น   เป้าหมายหลักของผมจึงไม่ได้อยู่ที่ผลงานจัดลำดับ    แต่อยู่ที่การได้รับฟังซึ่งกันและกัน   และทำความเข้าใจเป้าประสงค์เหล่านั้นในมิติที่ลึก    และเมื่อถึงตอนคุยกันเรื่อง KPI ก็เช่นเดียวกัน   ผมไม่ได้ทำความเข้าใจเพื่อการบรรลุ KPI    แต่ต้องการหาทางทำให้ KPI มีระดับคุณค่า หรือระดับคุณภาพ   และหาทางส่งเสริมให้เกิดผลงานคุณค่าสูง หรือคุณภาพสูง    

การคิดแบบ either … or … เป็นรูปแบบวิธีคิดแบบลดทอนความซับซ้อน (reductionism)     ผมไม่สมาทานแนวคิดนี้มาตั้งแต่เด็ก   

วิจารณ์ พานิช

๑๐ ธ.ค. ๖๔ 

 

  

หมายเลขบันทึก: 695999เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2022 21:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มกราคม 2022 21:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Thank you for sharing this. Sharing means ‘open-source’ so we can all learn.

I read ‘การคิดแบบ either … or … เป็นรูปแบบวิธีคิดแบบลดทอนความซับซ้อน (reductionism)’ and thought about ‘quantum theories’ (in ‘my’ non-math simple words: things can assume any state while interacting with other things [in its system environment] until such time when a measurement/assessment of the system is made). Applying a quantum style of thinking would mean allowing ‘all probabilities’ for all ‘factors’ until such time that a decision has to be made. Then constraints would put limits on possibilities of states [or value range].

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท