ชีวิตที่พอเพียง 4116. ทบทวนชีวิตยุควิกฤติโควิด


 

ในประเทศไทย โรคโควิด ๑๙ เริ่มระบาดมาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. ๒๕๕๓   บัดนี้ ใกล้สิ้นปี พ.ศ. ๒๕๖๔   คนแก่อย่างผมเปลี่ยนแนวทางการดำรงชีวิต    จากออกจากบ้านแทบทุกวัน    ไปประชุมในที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพ และต่างจังหวัด    บางครั้งก็ค้างคืนด้วย    โดยหากไปค้างคืนบางครั้งผมก็ชวนภรรยาไปเปลี่ยนบรรยากาศด้วย   

ตอนนี้เปลี่ยนเป็นอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน    ประชุม ออนไลน์ จากบ้าน    นานๆ ออกจากบ้านครั้ง  โดยเกือบทั้งหมดไปงานศพ    สิ่งที่เปลี่ยนไปมากคือ การประชุมออนไลน์สะดวกขึ้นมาก   ผู้คนในวงเดียวกันกับผมส่วนใหญ่บอกว่า ติดใจการประชุมออนไลน์แล้ว    เพราะช่วยให้ทำงานประชุมได้มากขึ้น    บางคนบอกว่า สามารถเข้าร่วมการประชุมพร้อมๆ กันได้ถึง ๓ การประชุม   บางคนประชุมไปด้วยเลี้ยงหลานไปด้วย    ผมเองไม่สามารถประชุมหลายประชุมในเวลาเดียวกัน   แต่ความจำเป็นในครอบครัวทำให้ต้องประชุมพร้อมกับทำหน้าที่ care giver ให้เมียสมองเสื่อมไปด้วย   ทำให้บางครั้งก็หลุดจากการประชุมไปชั่วครู่      

ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ในชีวิตของผมในช่วงนี้จึงมีเรื่องสภาพสมองเสื่อมของภรรยาค่อยๆ รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ   ผมก็ต้องปรับตัวรับมือ และช่วยเหลือเธอ   หวังให้ชีวิตใหม่ของเธอเป็นชีวิตที่เธอรู้สึกว่ามีความสุข    ในการทำหน้าที่นี้ผมได้เรียนรู้มาก     แต่บางครั้งก็มีความยากลำบากด้วย    ผมพยายามบังคับใจตนเองให้มองสถานการณ์ในแง่บวกเข้าไว้       

การระบาดของโควิด ที่ทำให้เราต้องอยู่แต่ที่บ้าน ทำให้เรารู้สึกว่าคิดถูกที่เลือกซื้อบ้านอยู่ในหมู่บ้านสิวลี     เพราะหมู่บ้านของเราอยู่สุขสบายมาก  คนไม่พลุกพล่าน เพื่อนบ้านดี    เราจึงออกไปเดินออกกำลังกาย และหย่อนใจนอกบ้าน (แต่อยู่ในหมู่บ้าน) ได้อย่างสบายใจ    ไม่ต้องกังวลเรื่องติดโรค 

ก่อนหน้านี้ ผมเดินทางไปต่างประเทศปีละสองสามครั้ง (ปี ๒๕๖๒ สี่ครั้ง)    เกือบทั้งหมดเป็นงานของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ     ในช่วงสองปีนี้ต้องงดหมด    รู้สึกเสียดายโอกาสไปเปิดหูเปิดตา  โดยเฉพาะโอกาสพาภรรยาไปพักผ่อน   ซึ่งตอนนี้แม้โอกาสเปิดภรรยาก็ไปไม่ได้แล้ว     โดยครั้งสุดท้ายไปลอนดอน ตอนปลายปี ๒๕๖๒  ก่อนโควิดระบาด     ที่ผมเล่าไว้ที่ (๑)  (๒)     ที่จริงตอนปลายปี ๒๕๖๒ ผมไปลอนดอน ๒ ครั้ง (๓)    ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าการไปต่างประเทศครั้งต่อไปจะเป็นเมื่อไร    ที่รู้แน่คือ ภรรยาไม่อยู่ในสภาพที่จะเดินทางได้แล้ว   

ชีวิตช่วงนี้ของผม จึงเป็นช่วงของการเจริญมรณานุสติ ยอมรับการพลัดพราก  และความไม่แน่นอนในชีวิต   

แต่ผมก็ยังพยายามทำให้ชีวิตที่เหลืออยู่ เป็นชีวิตที่มีคุณภาพต่อตนเอง และต่อสังคม เท่าที่จะทำได้    ในท่ามกลางความเสื่อมถอยของสังขารตนเอง และของภรรยา    

และเมื่อนึกถึงชีวิตของเพื่อนร่วมโลก หรือร่วมชาติในช่วงเกือบสองปีนี้   ก็ต้องนับว่าชีวิตของผมถูกกระทบน้อย   คือไม่ต้องกังวลเรื่องขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อการดำรงชีวิต    ฐานะของเรามั่นคงพอที่จะอยู่ได้สบายในรูปแบบการดำรงชีวิตง่ายๆ และประหยัด    แถมเรายังพอจะบริจาคเงินช่วยเหลือผู้อื่น หรือจุนเจือสังคมได้บ้าง  

การวางวิถีชีวิตให้เป็นคนประหยัด กินง่ายอยู่ง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่หรูหรา ช่วยได้มาก   ทั้งช่วยให้ไม่ต้องกังวลทั้งเรื่องรายรับและรายจ่าย    การมีลูกถึง ๔ คน ช่วยให้รู้สึกว่าชีวิตครอบครัวมั่นคง    แถมลูกๆ มีชีวิตที่มั่นคง และทำประโยชน์แก่สังคมได้ดีทุกคน ยิ่งช่วยให้เรารู้สึกสบายใจ   

แวดวงสังคมของผมไม่กว้างนัก แต่ก็ไม่แคบ   เรามีกัลยาณมิตรที่คอยช่วยเหลือ หรือให้กำลังใจ ยามจำเป็น    ที่ดีมากคือ ผมยังคงเป็นประโยชน์แก่วงการต่างๆ หลายวงการ    แต่ก็รู้ตัวดีว่าบทบาทหรือประโยชน์ที่ผมให้ได้ค่อยๆ หดลงเรื่อยๆ    ความล้าหลังไม่ทันสมัยเป็นเรื่องปกติสำหรับคนแก่อายุใกล้ ๘๐    แต่ความสะดวกของ อินเทอร์เน็ต ช่วยได้มาก    สมัยนี้การค้นหาความรู้จากโลกดิจิทัลสะดวกและค้นได้กว้างขวางอย่างไม่น่าเชื่อ    ผมจึงพยายามฝึกสังเคราะห์ความรู้ความเข้าใจเรื่องที่ผมสนใจ ให้ได้การตีความในมิติที่ลึกและเชื่อมโยงกว่าในสื่อทั่วๆ ไปออกเผยแพร่    เพื่อหาทางธำรงสมอง และเครือข่ายสังคมไว้   

ปีหน้าผมจะมีงานใหม่ ที่เป็นงานของคนแก่ คือนายกสภามหาวิทยาลัยใหม่ถอดด้าม คือสถาบันพระบรมราชชนก ที่เพิ่งมีพระราชบัญญัติจัดตั้งเป็นสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (๔)     ซึ่งที่จริง พรบ. ออกตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๖๒   แต่การดำเนินการเปลี่ยนสถานะก็ล่าช้ามาจนได้ตัวอธิการบดีและนายกสภา (โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง) ตอนค่อนมาทางปลายปี ๒๕๖๔  และกว่าสภาสถาบันจะเริ่มดำเนินการได้ก็คงจะเป็นต้นปีหน้า เมื่อมีกรรมการสภาทุกประเภทครบชุด   

ดังนั้น ในปีหน้าผมก็น่าจะมีประสบการณ์การทำหน้าที่กำกับดูแลสถาบันอุดมศึกษาขนาดใหญ่มโหฬารของประเทศ  มาเล่าสู่กันฟัง    ถึงตอนนั้น ผมก็จะเป็นนายกสภาของสถาบันอุดมศึกษาที่เล็กที่สุดของประเทศ (คือสถาบันอาศรมศิลป์)   กับสถาบันอุดมศึกษาที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ (คือ สพบ.)    ที่น่าจะได้เล่าเปรียบเทียบประสบการณ์สองขั้วนี้ แก่ท่านที่สนใจ 

วิจารณ์ พานิช

๒๓ พ.ย. ๖๔ 

                           

หมายเลขบันทึก: 694749เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2021 20:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ธันวาคม 2021 20:27 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อาจารย์เป็นผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติมากมายเลยค่ะ เป็นคนที่ให้วิธีคิดกับคนทำงานและคนทั่วไป ขอให้อาจารย์สุขภาพแข็งแรงนะคะ

ขอให้อาจารย์สุขภาพดีและมีความสุขกับการทำงานตลอดไปครับ

I salute you and thank you for sharing.

This “.. ความล้าหลังไม่ทันสมัยเป็นเรื่องปกติสำหรับคนแก่อายุใกล้ ๘๐ แต่ความสะดวกของ อินเทอร์เน็ต ช่วยได้มาก สมัยนี้การค้นหาความรู้จากโลกดิจิทัลสะดวกและค้นได้กว้างขวางอย่างไม่น่าเชื่อ ..” is ‘early days’. With virtual reality (VR), augmented reality (AR), Internet of Things (IoT – in particular web cameras, web drones, remote sensors and the like) and ‘sensationalism’ added in, we could entertaining and working in metaverses. Our reasoning and judgement could be obscured by reality technologies and gadgets to the extent that ‘work’ value could only be assessed by impacts on the minds. (Remember the movie ‘Matrix’?)

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท