อานิสงส์ของการบวช


เกิดเป็นลูกผู้ชายต้องบวช เพราะพุทธบริษัท 4 คือ ภิกษุ ถือศีล 227 ภิกษุณี ถือศีล 311 อุบาสก และอุบาสิกา ถือศีล 5 หรือบางครั้งถือศีล 8 (อุโบสถศีล) แต่ปัจจุบันภิกษุณี ไม่มีแล้ว ตามตำนานกล่าวว่า เพราะไม่มีภิกษุณีที่จะเป็นอุปัชฌาย์บวชให้เนื่องจากการบวชเป็นภิกษุณี มีอุปสรรคต่างๆ มากมาย ภายหลังสตรีจะเป็นผู้ให้การสนับสนุน แม้ไม่ได้มาบวช บุญใหญ่จากการบวชพระนั้น มีอานิสงส์มากมาย ปิดอบาย ไปสวรรค์ มีความสุข ในปัจจุบัน ในคัมภีร์ได้บันทึกเอาไว้ว่า "บุคคลใดมีจิตเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาได้อนุญาตให้บุตรบวช ถ้าบวชเป็นสามเณร ได้รับอานิสงส์ 8 กัป ถ้าบวช เป็นพระได้รับอานิสงส์ 16 กัป สำหรับหญิง ปัจจุบันภิกษุณีไม่มีแล้ว แม้จะไม่ได้บวช แต่ก็มีใจอนุโมทนาบุญ ก็จะได้ผลบุญเช่นกัน เช่น ทำบุญตักบาตร เข้าวัดปฏิบัติธรรมตามโอกาสอันควร และฝึกตนเองที่บ้าน ศึกษาหลักธรรม แล้วนำมาปฏิบัติตนที่บ้าน ก็จะได้อานิสงส์เหมือนการบวช และอีกอย่าง สังคมไทยเรา จะมีค่านิยมเกี่ยวกับการวางตัวของผู้หญิงสูงกว่าผู้ชายจะไปสำมะเลเทเมา หรือเที่ยเตร็ดเตร่ไม่ได้ การวางตน ไม่ว่ากิริยา มรรยาท การใช้ชีวิต สังคมจะเน้นมากว่าต้องเป็นแบบอย่างที่ดี จึง เสมือนว่าได้บวชเช่นกัน นั้นเอง ก็จะได้อานิสงส์จากการฝึกฝนตนเอง ที่บ้านเช่นกัน

อานิสงส์ของการบวช

 

อานิสงส์ของการบวช

ดร.ถวิล  อรัญเวศ

        การบวช เป็นการทำความดีที่ทำได้ยากอย่างยิ่ง เพราะต้องถือปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ไม่ทำตามใจตนเอง เป็นการฝึกให้เป็นผู้มีความอดทน มีน้ำอดน้ำทน ละชั่ว ทำดี และทำให้ให้ผ่องใส ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า “ ฝืนใจได้กำไร ตามใจ ขาดทุน”

         ผู้การบวชในบวรพุทธศาสนา จะถือศีล สามเณรถือศีล 10 ข้อ พระภิกษุ ถือศีล 227 ข้อ
ภิกษุณี ถือศีล 311 ข้อ

        ขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยในฐานะที่นับถือพระพุทธศาสนา ก็คือ การบวช

        บวชเณร เรียกว่า บรรพชา อายุต่ำกว่า 20 ปี

        บวชพระ เรียกว่า อุปสมบท  อายุครบ 20 ปีขึ้นไป

        คนจะบวชเป็นพระต้องอายุ 20 ปีขึ้นไป ในภาษากฎหมาย คือ

ผู้บรรลุนิติภาวะหรือรู้จักรับผิดชอบชั่วดีแล้ว

        เวลากล่าวคำอุปสมบทจะมีรายละเอียดมาก เช่น เป็นมนุษย์ไหม

เป็นชายจริง ไม่ใช่บัณเฑาะก์ หรือกะเทย เป็นผู้ได้รับอนุญาต เช่น

พ่อแม่อนุญาต หรือภรรยา อนุญาต (กรณีแต่งงานมีภรรยาแล้ว) เป็นต้น

        เกิดเป็นลูกผู้ชายต้องบวช เพราะพุทธบริษัท 4 คือ ภิกษุ ถือศีล 227 ภิกษุณี ถือศีล 311 อุบาสก และอุบาสิกา ถือศีล 5 หรือบางครั้งถือศีล 8 (อุโบสถศีล) แต่ปัจจุบันภิกษุณี ไม่มีแล้ว ตามตำนานกล่าวว่า เพราะไม่มีภิกษุณีที่จะเป็นอุปัชฌาย์บวชให้เนื่องจากการบวชเป็นภิกษุณีมีอุปสรรคต่างๆ มากมาย ภายหลังสตรีจะเป็นผู้ให้การสนับสนุน แม้ไม่ได้มาบวชเพราะตามประวัติภิกษุณี ถูกมารร้ายมาทำมิดีมิได้ให้กับตนเองถูกข่มขืน กรณี ภิกษุณีอุบลวรรณาเถรี ความปลอดภัยกับตนเองก็ไม่มี และต่อมาก็ไม่นิยมมาบวชจนภิกษุณีต้องหายไปในเวลาต่อมา

          วิธีการบวชสมัยพุทธกาล นั้น ไม่มีพิธีกรรมที่ยุ่งยากมาก เพียงพระพุทธเจ้าตรัสคำว่า

        “เอหิ ภิกขุ วากขาโต ธมโม จร พรหมจริย

มมา ทุกข อนตกิริยาย

          เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดแห่งกองทุกข์โดยชอบเถิด" เท่านี้ก็ถือว่าได้อุปสมบทแล้ว

         ภิกษุ คือ ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เป็นผู้มีปกติขออย่างอริยะ ซึ่งเรียกว่า “บิณฑบาตเพื่อโปรดสัตว์” พุทธองค์ไม่ให้ทำมาหากินเองแต่ให้เป็นอยู่ด้วยผู้อื่นซึ่งจะทำให้สามารถศึกษาธรรมะแล้วนำมาเทศน์โปรดให้กับญาติโยมได้เข้าใจง่ายขึ้น เพราะเพศคฤหัสถ์ หรือผู้ครองเรือนไม่มีเวลามากในการศึกษาหลักธรรม เพราะต้องทำมาหาเลี้ยงชีพ ส่วนภิกษุ ผู้ออกบวช สละแล้วซึ่งกิเลส หรือให้เหลือน้อยท่านไปบิณฑบาตจึงถือว่าท่านไปในสถานะของผู้ให้บุญ ไปให้ความเป็นสิริมงคลแก่ญาติโยม ให้มีโอกาสทำทานได้สละความตระหนี่ออกจากใจ เพราะพระท่านมีความดี ความบริสุทธิ์ จึงเป็นเนื้อนาบุญให้กับญาติโยม เวลาออกบิณฑบาตก็เดินทอดสายตาลงต่ำ มีกิริยาอาการที่สงบสำรวม น่าเลื่อมใส         กล่าวกันว่า คนที่ทำทานกับพระภิกษุเพราะรู้คุณค่าของบุญ และมีความเลื่อมใสเห็นกิริยาอาการที่วัตรปฏิบัติ สงบสำรวม จึงบังเกิดศรัทธาอยากทำบุญ ต่างจากการให้กับคนขอทานที่เที่ยวขอชาวบ้าน เนื่องจากกายทุพพลภาพ ลำบากยากจน บางคนขาขาดตาบอด การให้อย่างนี้เพราะความเมตตาสงสาร แต่ให้กับพระเพราะความเลื่อมใสในวัตรปฏิบัติ เสมือนว่าส่งเสริมคนทำดีนั้นเอง

      ให้ทานกับคนยากไร้เพราะความเมตตา แต่ให้ทานกับพระสงฆ์เรียกว่า “ทำบุญ” เพราะความศรัทธาในการประพฤติปฏิบัติของท่าน

       อีกอย่างการให้ทานที่มีอานิสงส์มากคือ ให้กับบุคคลที่ประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ต่างจากการให้ทานกับมหาโจร หรือคนชั่ว ย่อมได้รับอานิสงส์น้อย

      การให้ทานกับคนยากจน คนพิการ หรือช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ก็มีอานิสงส์มาก เพราะเราแสดงออกถึงความมีเมตตาธรรมต่อมนุษยโลก เพราะพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า โลโกปตฺถมฺภิกา เมตฺตา เมตตา ค้ำจุนโลก

     ทั้งนี้เพราะคนเราย่อมมีบุญกรรมต่างกัน บ้างเกิดมาอาจอาภัพโชค บ้างอับโชค ตั้งแต่ความสมบูรณ์ของอวัยวะ 32 ประการ ก็ไม่เท่ากัน

      ฉะนั้น การให้โอกาสด้วยการเกื้อกูลต่อคนที่ด้อยโอกาสกว่า ย่อมได้บุญกุศลเช่นกัน

 

อานิสงส์การบวชพระ

         บุญใหญ่จากการบวชพระนั้น มีอานิสงส์มากมาย ปิดอบาย ไปสวรรค์ มีความสุข ในปัจจุบัน ในคัมภีร์ได้บันทึกเอาไว้ว่า "บุคคลใดมีจิตเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาได้อนุญาตให้บุตรบวช ถ้าบวชเป็นสามเณร ได้รับอานิสงส์ 8 กัป ถ้าบวช เป็นพระได้รับอานิสงส์ 16 กัป

           ส่วนบุคคลใดมีจิตเลื่อมใสแบบญาณสัมปยุตผุดขึ้นเองโดยไม่ต้องมีใครมาชักชวน หรือมาบอกกล่าว ถ้าบวชเป็นสามเณร ได้รับอานิสงส์ 32 กัป ถ้าบวชเป็นพระ ได้รับอานิสงส์ 64 กัป

           ระยะเวลา 1 กัปนั้น ท่านอุปมาไว้ว่า ภูเขาหิน แท่งทึบ หนา 1 โยชน์ กว้าง 1 โยชน์สูง 1 โยชน์ เมื่อครบ 100 ปี มีผู้เอาผ้าทิพย์ สีขาวอ่อนนุ่มมาลูบภูเขานี้สักหนึ่งครั้ง เมื่อไรที่ภูเขานี้ราบเรียบ เสมอพื้นดิน ความยาวนานนั้นนับได้ว่าเป็น 1 กัป ดังนั้น การที่บุคคลได้บวชเป็นพระมีอานิสงส์ ดังนี้

 

อานิสงส์เกิดแก่ตนเอง

            1. สามารถรักษาศีลได้บริสุทธิ์กว่าฆราวาส

            2. มีโอกาสทำสมาธิได้ดีกว่าและก้าวหน้ากว่าฆราวาส  จนสามารถได้บรรลุฌาน อภิญญา มรรคผล นิพพาน

            3. เป็นเนื้อนาบุญอันเลิศให้กับญาติโยม

            4. เป็นต้นบุญต้นแบบให้กับอนุชนรุ่นหลังได้ปฏิบัติตาม

            5. เป็นผู้นำในการสร้างสันติภาพโลกอย่างแท้จริง

.           6. ทำให้ตัวเองเป็นผู้มีความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ จะได้น้ำใจงาม ที่เรียกว่า เป็นคนมีน้ำใจ

            7. เป็นผู้มีปัญญา

 

อานิสงส์ที่เกิดแก่ผู้อื่น

         1. ช่วยให้บิดามารดาได้มีโอกาสใกล้ชิดพระศาสนา เช่น ได้ฟังธรรม เป็นต้น เพราะต้องไปเยี่ยมเยียนผู้บวชอยู่เสมอ

         2. แม้สึกออกไปแล้ว ลูกเมียก็เป็นสุข เพราะได้นิสัยดี ๆ ที่เกิดจากการขัดเกลาติดตัวไป เป็นคนรับผิดชอบต่อตนเอง รับผิดชอบครอบครัวและบุตรหลาน เมื่อก่อนเคยขี้เหล้าเมายา เมาขึ้นมาก็อาละวาด พอบวชแล้วสึกออกไปก็ละนิสัยที่ไม่ดีได้ เพราะได้เคยฝึกฝนอบรมจิตใจตนเองมาดีแล้ว ทำให้ภรรยาก็สบายอกสบายใจได้

         3. ประเทศชาติได้พลเมืองที่ดีเพิ่มขึ้น

อานิสงส์ทางธรรม

          ผู้ที่ได้มาบวช ถือได้ว่าเป็นผู้สืบทอดอายุพระพุทธศาสนา แม้จะเป็นการบวชชั่วคราวก็ตาม เช่น นักเรียน นิสิต นักศึกษาที่ได้บวชในช่วงสั้น ๆ เป็นครั้งคราว ถือว่าเป็นการบวชชั่วคราว หากตั้งใจประพฤติปฏิบัติ อย่างเคร่งครัดแล้ว ย่อมได้อานิสงส์ ดังนี้

           1. เป็นผู้รู้จักบริหารเวลา คือ รู้จักใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ภาษาศาสนาเรียกว่า กาลัญญุตา เป็นผู้รู้จักกาลอันเป็นคุณธรรมข้อหนึ่งของ

สัตบุรุษ ขณะเป็นนิสิตนักศึกษาภาระรับผิดชอบยังมีไม่มาก ความกังวลทางบ้านเรือนไม่มี หากรีบมาบวชก่อน ย่อมบรรลุธรรมได้โดยง่าย

            2. แม้ช่วงเวลาจะสั้นแต่ถ้าลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง ก็จะได้ลิ้มรสความสุขอันเกิดจากความสงบตั้งแต่เยาว์วัย เพราะตอนเป็นนักเรียนนิสิต นักศึกษา กิเลสยังไม่แก่จัด เป็นเหมือนไม้อ่อน พอดัดง่าย ครั้นบวชแล้วได้รับรสแห่งความสุขภายใน ก็จะรู้ว่าบาป บุญ นั้นมีจริง ความสุขภายในดีกว่า ก็จะไม่ติดในอามิสสุข อันเป็นสุขทางโลก

           3. มีโอกาสได้ศึกษาหลักธรรมไว้กำกับความรู้ จะได้ใช้ความรู้ไปในทางที่ถูกที่ควร ดังพุทธพจน์บทหนึ่งว่า “ความรู้ทางด้านวิชาการ ที่ชาวโลกเรียน หากเกิดแก่คนพาล ไม่มีศีลธรรม ย่อมมีแต่จะนำ

ความฉิบหายมาให้ เพราะเขาจะนำความรู้ไปใช้ในทางที่ผิด เนื่องจากไม่มีคุณธรรมกำกับ” นั้นเอง

            4. ทำให้ได้ฝึกวินัย  และเข้าใจวัฒนธรรมในการอยู่ร่วมกัน เป็นหมู่ เป็นคณะ เพราะไปอยู่ในวัดซึ่งมีสมาชิกหลายคน มีพระ มีศิษย์วัดที่

ไปศึกษาเล่าเรียน และมาขอพักอาศัยเป็นลูกศิษย์พระ ถ้าบวชแล้วตั้งใจฝึกฝนอบรมตนอย่างจริงจัง สึกออกไปแล้วจะเป็นคนรักวินัย มีวินัยในตนเอง คนส่วนมากมักจะไม่สังเกตทั้ง ๆ ที่มีพระเป็นตัวอย่างทางวินัยให้ดู เดินออกไปบิณฑบาตกันเป็นแถว สวดมนต์หรือฟังเทศน์ท่านก็นั่งเป็นแถว เพราะฉะนั้นคนที่เคยบวชแล้วความมีวินัยก็จะติดเป็นนิสัยไปตามตัวไปด้วย ถ้าฝึกใจได้ ฝืนใจได้กำไร ตามใจจะขาดทุน

               5.ทำให้ได้ฝึกสมาธิ ทำจิตให้สงบ ซึ่งเป็นผลดีต่อการศึกษาเล่าเรียนและการทำงาน

              6. เกิดความปลื้มปีติยินดีที่ได้ทำความดีไว้แล้วตั้งแต่ยังเยาว์วัย ปีตินี้จะเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงใจอยู่เสมอ ถึงคราวจะตายก็ไม่ห่วงหน้าพะวงหลัง  

            คนหนุ่มคนสาวมักมองโลกไปข้างหน้า คิดสร้างอนาคตอย่างนั้นอย่างนี้ ส่วนคนเฒ่าคนแก่จะเหลียวมองข้างหลัง คือถ้าเหลียวหลังไปดู เราได้ทำความดีอย่างนั้น ๆ นึกแล้วก็ชื่นใจ แต่ถ้าแก่แล้ว เหลียวหลังไปดู หาความดีไม่ได้ ก็จะได้ความเหี่ยวใจเป็นเครื่องตอบแทน ตอนใกล้ตาย ก็จะตายแบบใจเหี่ยว ตรงกันข้าม ถ้าเคยบวช เคยทำความดีมาก่อนก็จะปลื้มปีตีได้ทำความดีไว้ แม้จะตายก็ตายดี ตายอย่างคนที่ใช้ชีวิตคุ้มค่ามาแล้ว หรือที่เรียกว่า “ไม่หลงตาย”

           7. ทำให้รู้จักเป้าหมายของชีวิตที่แท้จริงว่า เกิดมาทำไม เพราะฝึกแล้วรู้ว่า ทำให้กิเลสหมดไปได้ ทำให้ทุกข์หมดไป เพราะเข้าใจใน

อริยสัจ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค เกิดเป็นความสุขภายในขึ้นมาตามลำดับ จะได้แก้ไขปรับปรุงตัวเองได้อย่างถูกต้อง

           8. ทำให้มีความอดทน ไม่หวั่นไหวในอุปสรรค  ตลอดเวลาที่มีชีวิตอยู่ รู้จักรับผิดชอบตนเอง แก้ปัญหาให้กับตนเองได้

        มีพระท่านได้เล่าให้ฟังว่า พระท่านสะสมอาหารไว้ไม่ได้ เก็บอาหารไว้ค้างคืนไม่ได้ ดังนั้น พรุ่งนี้เช้าจะมีฉันหรือไม่ ไม่รู้ ไม่ใช่ว่าออกบิณฑบาตแล้ว จะได้กลับมาฉันทุกวัน บางวันก็ไม่ได้ ยิ่งไปต่างจังหวัดจะเห็นชัด บางจังหวัดไปแล้วรักน้ำใจพระบางองค์ ไปเยี่ยมวัดท่านตอนใกล้เพล ถึงปั๊บท่านก็นิมนต์ เดี๋ยวฉันด้วยกันนะ ท่านยกข้าวปลาอาหารที่บิณฑบาตตอนเช้า มีเหลือถึงตอนเพล เหลือบไปดู ท่าน 3 องค์มีปลาทูอยู่ซีกเดียว แล้วยังนิมนต์พระอาคันตุกะฉันด้วย ครั้นเรามองไปที่ฝา ท่านยังบอกต่อไม่เป็นไรน้ำปลาเรายังมีอีกตั้งขวดเบ้อเร่อ นอกจากนี้ยิ่งไปนอนในกลด อยู่โคนไม้มาด้วย ได้ผ่านชีวิตอย่างนี้แล้ว ต่อไปจะมีแต่ความอดทน ไม่กลัวอุปสรรค ประเภทที่เคยหยิบโหย่งมาเท่าไร ๆ นอนห้องแอร์มาเท่าไร ๆ มาเจอฉันในบาตร ปักกลดอยู่ตามโคนไม้ โรคสำออยหายเป็นปลิดทิ้ง ขืนทำสำออยอยู่มากก็อยู่ไม่ได้ ฉะนั้น การบวช จึงได้ฝึกความอดทน ฝึกต่อสู้กับความยากลำบาก

              9. ทำให้รู้จักเข้าใจตนเอง คือ รู้ว่าตันเองมีความรู้ ความสามารถมีคุณธรรมแค่ไหน เพียงใดเมื่อก่อนเราก็ว่าเราเก่ง แต่พอมาบวชแล้วได้ฝึกตน รู้เลยว่าจริง ๆ แล้ว ความสามารถแค่ไหน แต่เราได้พัฒนาปรับปรุงตัวเองขึ้นมาได้อีกระดับหนึ่ง อย่างภาษิตจีนว่า “ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน”

          เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ทำให้เราประมาณฝีมือหรือความสามารถของตัวเองได้ กลายเป็นผู้รู้จักประมาณตน ซึ่งการที่จะรู้จักตัวเองนั้นเป็นเรื่องยาก แต่การรู้จักคนอื่นนั้นง่าย คนนั้นเป็นอย่างนั้น คนนี้เป็นอย่างนี้ วิจารณ์ได้สารพัด แต่ตัวเองเป็นอย่างไร ดูทีไรก็ดีทุกที หลังจากบวชแล้ว เจอวินัย เจอกิจวัตร จึงรู้ว่า แต่ก่อนนึกว่าเราเก่งไม่เบา ทีไหนได้ไม่ได้เรื่องเลย

               10. ทำให้เป็นคนมีเหตุมีผล เช่น เหตุแห่งสุข และเหตุแห่งทุกข์ เป็นต้น

               11. ได้ชื่อว่าได้ชำระโทษทางกาย วาจา ใจ ให้สิ้นไป เพราะ ศีล เป็นเครื่องชำระโทษทางกาย วาจา สมาธิ เป็นเครื่องชำระโทษทางใจ ปัญญาชำระโทษทางสันดาน ให้เป็นคนมีความเห็นชอบ

               12. ได้ชื่อว่าบำเพ็ญ “ปฏิบัติบูชา” ซึ่งเป็นการบูชาอันสูงสุด แม้จะเป็นช่วงสั้น ๆ ก็ตาม

               13.ทำให้มีโอกาสเอาชนะกิเลสได้ระยะหนึ่ง จึงมีเชื้อสายแห่งความเป็นผู้ชนะ  คนเราเมื่อมีเชื้อแห่งความชนะแล้ว ต่อไปเห็นอะไรก็ไม่ท้อ เพียรจนสำเร็จได้ การปฏิบัติตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนไว้อย่างเคร่งครัด จนสามารถเอาชนะกิเลสได้ในการบวชระยะสั้น ๆ นั้น ย่อมเกิดกำลังใจว่า เราก็มีฝีมือ ฉะนั้น การดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวกทั้งหลายนั้น แม้จะยากยิ่งแต่ก็มิใช่สิ่งที่เหลือวิสัย ใจสู้ขึ้นมาเมื่อไหร่ หนทางข้างหน้าก็ไปได้ไม่ยาก

               14. ทำให้แสวงหาความสุขได้มากที่สุด เท่าที่มนุษย์จะพึงมีได้

               15. ได้ชื่อว่า เป็นผู้มีกำไรชีวิตแล้ว เพราะได้กระทำกรรมที่บริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา และใจ

               16. ได้ชื่อว่าเป็นผู้เริ่มถางทางไปพระนิพพานแล้วส่วนจะได้เท่าไหร่นั้น ไม่ต้องห่วง เพราะเมื่อได้เริ่มต้นหนึ่งแล้ว สอง สาม สี่ ห้า ... ก็จะตามมาเอง แต่ถ้ายังไม่ได้เริ่มก็ยังอยู่ที่ศูนย์นั้นแหละ ตายเปล่าไปอีกชาติหนึ่ง

        ที่กล่าวมาคืออานิสงส์โดยย่อของการบวชชั่วคราว ด้วยเหตุนี้ก่อนที่จะปล่อยให้เด็กในปกครองของท่านไปหลงอยู่กับความเพลิดเพลินทางโลกหรือติดอบายมุขนานาชนิด ท่านที่เป็นพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ควรรีบสนับสนุนเขา ให้ได้มาบวชในพระบวรพระพุทธศาสนา ทั้งนี้นอกจากท่านจะได้ชื่อว่า เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองที่สมบูรณ์ที่สุดแล้วที่ได้ให้บุตรหลานได้มีโอกาสได้บวช และยังเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขอันไพบูลย์ยิ่งยืนนานสมดังพระพุทธดำรัสที่ว่า “จงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ ให้ถึงทีสุดแห่งทุกข์เถิด”

 

บทสรุปและวิพากษ์

          บุรุษหรือชายที่ได้มีโอกาสเข้าไปบรรพชาเป็นสามเณร รักษาศีล 10 และการได้ไปบวชเป็นพระภิกษุในบวรพุทธศาสนา ถือศีล 227 นั้น ได้ชื่อว่า ได้ไปฝึกฝนอบรมตนเองให้รู้จักอดทนต่อความยากลำบาก เพราะได้ฝึกกาย กิริยามรรยาท ฝึกวาจา การพูดจาไพเราะ และฝึกจิตใจ ให้รู้จักอดทนอดกลั้นต่อความยากลำบาก เพราะพุทธภาษิตก็ได้แล้ว่า “ในหมู่มนุษย์ คนที่ฝึกฝนอบรมดีแล้วด้วยกาย วาจาและใจ เป็นผู้ประเสริฐสุด” การบวชนอกจากจะได้ฝึกกาย วาจา และใจแล้ว ยังได้ชื่อว่าสืบต่ออายุพุทธศาสนาด้วย

          สำหรับหญิง ปัจจุบันภิกษุณีไม่มีแล้ว แม้จะไม่ได้บวช แต่ก็มีใจอนุโมทนาบุญ ก็จะได้ผลบุญเช่นกัน เช่น ทำบุญตักบาตร เข้าวัดปฏิบัติธรรมตามโอกาสอันควร และฝึกตนเองที่บ้าน ศึกษาหลักธรรม แล้วนำมาปฏิบัติตนที่บ้าน ก็จะได้อานิสงส์เหมือนการบวช และอีกอย่าง สังคมไทยเรา จะมีค่านิยมเกี่ยวกับการวางตัวของผู้หญิงสูงกว่าผู้ชายจะไปสำมะเลเทเมา หรือเที่ยเตร็ดเตร่ไม่ได้ การวางตน ไม่ว่ากิริยามรรยาท การใช้ชีวิต สังคมจะเน้นมากว่าต้องเป็นแบบอย่างที่ดี จึงเสมือนว่าได้บวชเช่นกัน นั้นเอง ก็จะได้อานิสงส์จากการฝึกฝนตนเองที่บ้านเช่นกัน

 

------------


 


 


 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 693752เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2021 00:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 ธันวาคม 2021 00:47 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท