วิพากษ์ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙)  ๑๒๓. โอกาสใช้ DE พัฒนาระบบ ววน. ผ่านทาง สกสว. และ PMU


 

ผมเขียนบันทึกนี้จากการได้เข้าร่วม “ประชุมหารือ การประเมินผลการดำเนินงานเชิงกระบวนการของ PMU ด้วยกรอบแนวคิดการประเมินเพื่อการพัฒนา (Developmental Evaluation) ร่วมกับ คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.)”  ช่วงเช้าวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๖๔   โดยผมเข้าร่วมได้เพียงชั่วโมงแรกของการประชุม ๒ ชั่วโมง

แต่ก็ช่วยให้ผมได้เห็นโอกาสในการใช้ DE เพื่อพัฒนาระบบ ววน. ของประเทศ    เป็นโอกาสที่ DE จะทำประโยชน์ได้มาก    ในลักษณะที่ DE ช่วยให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาเชื่อมโยงกันทั้งระบบ    เพราะจริงๆ แล้ว แต่ละ PMU ไม่ได้ทำงานแบบแยกส่วน   แต่ต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม    PMU จึงเป็น stakeholder ซึ่งกันและกัน   งานที่ทำมีส่วนเสริมกัน  ทับซ้อนกัน หรือขัดกันก็อาจมีบ้าง    เมื่อเอาข้อมูลผลงานและการทำงานมาสานเสวนา (dialogue) กัน    ภายใต้เป้าหมายร่วม คือการที่ ววน. ทำหน้าที่สร้างความเข้มแข็งให้แก่บ้านเมือง   ก็จะเกิดการปรับตัวของแต่ละ PMU ให้เกิดการทำงานอย่างมีผลกระทบสูงขึ้น     และที่สำคัญ ผลรวมของผลงานของทั้ง ๗ PMU (ในไม่ช้าจะเหลือ ๕) มีคุณค่าสูง   จากการที่มีการทำงานแบบร่วมมือประสานงานกัน   

หน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ตรวจสอบผลงานของ PMU จึงต้องไม่ตรวจสอบแบบแยกส่วนเท่านั้น   ต้องมองภาพรวมของทั้งระบบด้วย    หากผลงานของทั้งระบบไม่ดี ทุก PMU ก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน รวมทั้ง สกสว. ด้วย        

ระบบ ววน. จะมีพลังสูง ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนต่างๆ ในระบบต้องเน้นความสัมพันธ์แนวราบ  ต้องระมัดระวังอย่างที่สุดที่จะไม่ใช้ความสัมพันธ์แนวดิ่งหรือสั่งการ หรือใช้อำนาจเหนือ    ผมดีใจที่ในที่ประชุม มีกรรมการ กสว. พูดว่า ที่ผ่านมา ปฏิสัมพันธ์ระหว่างบอร์ดของ สกสว. กับ บอร์ด ของ PMU มีน้อยไป หรือไม่มีเลย     ซึ่งหากเรากำหนดให้มีตัวแทนของ บอร์ด สกสว. ไปทำหน้าที่ stakeholder ใน DE ของ แต่ละ PMU ก็จะทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์อย่างซับซ้อน   ในลักษณะการช่วยกันเกื้อหนุนต่อกันให้ทำงานได้ผลงานเพิ่มขึ้น คุณภาพสูงขึ้น     

พลังที่สำคัญของ DE คือพลังของสมมติฐานว่าระบบงานที่กำลังประเมินนั้น มีธรรมชาติเป็น  complexity  และ adaptive    ความสัมพันธ์แนวราบที่ใช้ใน DE จะช่วยเผยสภาพการณ์บางอย่างที่มีความกำกวมไม่ชัดเจนออกมา   รวมทั้งช่วยเผยสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วแทบไม่รู้ตัว     ช่วยให้หน่วยงานปรับตัวทัน ไม่หลงทำงานตามสภาพเดิมที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง    แต่ความจริงแบบนี้จะไม่โผล่ หากในวง dialogue ของ DE ไม่มีความสัมพันธ์แนวราบ และสมาชิกมีความไว้วางใจกัน

DE ที่ดำเนินการอย่างถูกต้อง จะช่วยให้หน่วยงานย่อยในระบบ ววน. ตระหนักว่า ตนเป็น part of the whole   หากมีการทำงานแบบร่วมมือประสานงานกัน    ระบบทั้งระบบก็จะมีพลัง  และผลงานของหน่วยงานตนก็จะบรรลุโดยไม่ยาก คือทุกฝ่ายได้ “กำไร”    แต่หากทำงานแบบต่างหน่วยต่างทำ หรือในบางกรณีมีการแก่งแย่งแข่งดีกัน    ผลลัพธ์ในภาพรวมคือ ทุกฝ่าย “ขาดทุน” ด้วยกันหมด   

นี่คือ “การเรียนรู้” สำคัญที่สุด ที่ DE สามารถสนองให้แก่ สกสว. และ PMU ได้

ผมได้เขียนความเห็นเรื่องการใช้ DE พัฒนาระบบ ววน. จากมุมของ สอวช. ที่ (๑)   

วิจารณ์ พานิช

๒๒ ก.ค. ๖๔                                                                                                       

 

              

หมายเลขบันทึก: 693578เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2021 18:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2021 18:43 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท